โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี เจ้าของพระเนื้อดินลึกลับและหายากของดำเนินสะดวก

ภาพถ่ายหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี
หลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี

         หลวงพ่อรอด วัดสีดาราม หรือ พระอธิการบุญรอด วัดสีดาราม ท่านเป็นพระเกจิยุคก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ อีกรูปหนึ่งของอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ที่เก่งกาจด้านวิชาคาถาอาคมอีกรูปหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ประวัติของท่านไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานมีแต่พระเครื่องของท่านที่เล่นหากันมาเท่านั้นที่ยืนยันการมีอยู่ของท่านได้

         ในส่วนประวัติอื่นๆนั้นไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ มีแต่เพียงข้อมูลสั้นๆว่า ท่านมีนามเดิมว่า "บุญรอด" เป็นชาวดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี 

         เมื่อหลวงพ่อบุญรอดมีอายุครบบวช ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสีดาราม ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า "อินทสโร" โดยมี

         หลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อพลอย วัดใหม่สี่หมื่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลวงพ่อนิ่ม วัดสีดาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดสีดารามเรื่อยมา เพื่อเล่าเรียนวิชาคาถาอาคม และวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ตำแหน่งเจ้าอธิการวัดสีดารามได้ว่างลง ชาวบ้านและคุณสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อรอดขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

ภาพถ่ายหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี
หลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี

         วัดสีดาราม เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๗๘ หมู่ที่ ๑ ตําบลแพงพวย อําเภอดําเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๒ งาน ๘๖ ตารางวา

         วัดสีดาราม ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๓ ผู้ดําเนินการก่อสร้างวัดคือ นายนิ่ม ศรีสารากร ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และได้ถึงแก่มรณภาพ 

         ภายในวัดมีปูชนีย์วัตถุสำคัญคือพระพุทธรูปทำด้วยไม้แก่นจันทร์ ที่อยู่คู่กับวัดมาเป็นเวลานาน เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านเชื่อกันว่าใครมาขอพรสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้นสมความตั้งใจ  

         วัดสีดารามได้รับความอุปถัมภ์จากราษฎรในหมู่บ้านมาโดยตลอด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๔ เมตร มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบดังนี้

         ๑. พระนิ่ม

         ๒. หลวงพ่อรอด พ.ศ. ๒๔๖๓ - ๒๔๗๒

         ๓. พระครูแขก พ.ศ. ๒๔๗๒ - ๒๔๘๒

         ๔. พระแสน พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๔๘๔

         ๕. พระเถา พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๙

         ๖. พระวินัยธรสมบุญ โชติปาโล พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๕๓๘

         ๗. พระครูสมุห์ขิง ถิรคุโณ พ.ศ. ๒๕๓๘ - ๒๕๔๔

         ๘. พระครูสุทธิวรคุณ (เล็ก อนาลโย) พ.ศ. ๒๕๔๔ - ปัจจุบัน

ภาพถ่ายหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี
หลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี

         หลังจากที่หลวงพ่อรอดได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสีดาราม ท่านได้พัฒนาและบูรณะวัดจนเริญรุ่งเรืองโดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านด้วยดี

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ทดแทนของเก่าที่เป็นไม้ แล้วขอวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗

         หลวงพ่อรอดปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ นับระยะเวลาที่ปกครองวัดได้ ๙ ปี

         และเมื่อหลวงพ่อรอด ท่านมรภาพลงแล้ว ชาวบ้านได้ร่วมใจกันหล่อรูปเหมือนท่านเอาไว้เป็นที่เคารพสักการะ และจัดงานปิดทองประจำทุกปี. 

วัตถุมงคลของหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม

         พระขุนแผน หลวงพ่อรอด วัดสีดาราม

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ลักษณะเป็นพระพิมพ์ทรงคล้ายพระขุนแผนบ้านกร่าง เนื้อพระสร้างจากดินผสมผง แล้วจึงไปจุ่มลักน้ำเกลี้ยง เพื่อรักษาสภาพพระไว้ จัดเป็นพระพิมพ์เนื้อดินผสมผงที่มีเอกลักษณ์ของหลวงพ่อรอด สามารถจดจำได้ง่าย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระขุนแผนหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี เนื้อดิน
พระขุนแผนหลวงพ่อรอด วีดสีดาราม ราชบุรี เนื้อดิน ของคุณวุฒิ ลุ่มน้ำ

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับนั่งปางสมาธิในซุ่มเรือนแก้ว องค์พระมีหน้าตา มีผ้าสังฆาฏิพาดผ่าน ประทับนั่งบนฐานบัวสวยงาม

         ด้านหลัง มีการจารอักขระยันต์

         พระสมเด็จไพ่ตอง หลวงพ่อรอด วัดสีดาราม

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ลักษณะเป็นพระพิมพ์ทรงคล้ายไพ่ตอง เนื้อพระสร้างจากดินผสมผง แล้วจึงไปจุ่มลักน้ำเกลี้ยง เพื่อรักษาสภาพพระไว้ จัดเป็นพระพิมพ์เนื้อดินผสมผงที่มีเอกลักษณ์ของหลวงพ่อรอด สามารถจดจำได้ง่าย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระเนื้อดินหลวงพ่อรอด วีดสีดาราม ราชบุรี พิมพ์ไพ่ตอง
พระสมเด็จไพ่ตองหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี เนื้อดิน ของคุณภัทรเมท ธรรมกิจวัฒน์

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับนั่งปางสมาธิ บนฐานเขียง ๗ ชั้น คล้ายพระสมเด็จ

         ด้านหลัง มีการจารอักขระยันต์ 

         พระลีลา หลวงพ่อรอด วัดสีดาราม

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ลักษณะเป็นพระพิมพ์ปางลีลา เนื้อพระสร้างจากดินผสมผง แล้วจึงไปจุ่มลักน้ำเกลี้ยง เพื่อรักษาสภาพพระไว้ จัดเป็นพระพิมพ์เนื้อดินผสมผงที่มีเอกลักษณ์ของหลวงพ่อรอด สามารถจดจำได้ง่าย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระลีลาเนื้อดินหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี
พระลีลาเนื้อดินหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี ของคุณอโศก สุกสาน

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายืนปางลีลา คล้ายพระลีลาทุ่งเศรษฐี องค์พระมีลิ้วจีวรสวยงาม

         ด้านหลัง มีการจารอักขระยันต์

         เหรียญหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กว่าๆ ในยุคของหลวงพ่อบุญ เป็นเจ้าอาวาส ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว พระรุ่นนี้ถึงแม้จะสร้างไม่ทันท่านแต่ก็ได้รับการปลุกเสกจากพระเกจิชื่อดังในสมัยนั้น มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อรอด วีดสีดาราม ราชบุรี รุ่นแรก เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อรอด วีดสีดาราม ราชบุรี รุ่นแรก เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อรอดครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อรอด อินทสโร วัดสีดาราม จ.ราชบุรี" รอบขอบเหรียญมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง มีหลวงพ่อปู่สีดา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดอยู่ที่กลางเหรียญ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่สีดามหาลาภ" ใต้องค์พระมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "อุ อะ ระ หัง" 

         รูปถ่ายขนาดเล็กหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม

         ไม่ทราบปีสร้างที่ชัดเจน ลักษณะเป็นภาพถ่ายกระดาษหนังไก่ขนาด ๑ นิ้ว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ภาพถ่ายหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี ขนาด 1 นิ้ว
ภาพถ่ายหลวงพ่อรอด วัดสีดาราม ราชบุรี ขนาด ๑ นิ้ว ของคุณภัทรเมท ธรรมกิจวัฒน์

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อรอดนั่งเต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่ มือทั้งสองข้างจับที่หัวเข่า

         ด้านหลัง เรียบ มีจารอักขระยันต์ด้วยปากกาอ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ"



โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้