ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี พระผู้เป็นศิษย์เอกใกล้ชิดหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว
หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี |
หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว หรือ พระโสภณสมาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยท่านมีนามเดิมชื่อ เหรียญ รัศสุวรรณ เกิดเมื่อ ปีชวด เดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๙ ณ บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โยมบิดาชื่อคุณพ่อโผ รัสสุวรรณ โยมมารดาชื่อคุณแม่แย้ม รัสสุวรรณ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน ที่บ้านประกอบอาชีพทำนา-ทำไร่
เมื่อหลวงพ่อเหรียญยังเป็นเด็ก โยมบิดาและโยมมารดา ได้นำตัวไปฝากอยู่กับเจ้าอธิการยิ้ม วัดหนองบัว (วัดศรีอุปลาราม) ได้เรียนหนังสือไทยและขอมพออ่านออกเขียนได้ ต่อมาได้ลาออกไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ
ภาพถ่ายหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว และหลวงปู่เหรียญวัดหนองบัว |
ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ในขณะที่หลวงพ่อเหรียญ มีอายุย่าง ๒๒ ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที ได้รับฉายาว่า "สุวรรณโชติ" โดยมี
เจ้าอธิการยิ้ม วัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูสิงคิบุรณคณาจารย์ (คง ทองสุด) วัดเทวสังฆาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์อยู่ วัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่ได้รับอุปสมบทแล้ว หลวงพ่อเหรียญได้อยู่จำพรรษาอยู่วัดศรีอุปลารามตลอดมา ครั้นมีพรรษาพอสมควร หลวงปู่ยิ้ม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้มอบกิจการต่างๆ ให้ช่วยดูแล และเป็นพระกรรมวาจาจารย์สวดนาค
ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ท่านเจ้าอธิการยิ้ม ถึงแก่มรณภาพลง พระครูวิสุทธิรังษี (อินฺทสโร เปลี่ยน) วัดชัยชุมพลชนะสงคราม เจ้าคณะจังหวัด พร้อมด้วยพระครูสิงคิบุรคราจารย์ (สุด) วัดเทวสังฆาราม รองเจ้าคณะจังหวัด จึงแต่งตั้งให้หลวงพ่อเหรียญ เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีอุปลารามสืบต่อมา เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ มีตำแหน่งเป็นพระอธิการ
หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี |
วัดศรีอุปลาราม หรือ วัดหนองบัว เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่ดินตั้งวัด มีเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวา มีแม่น้ำศรีสวัสดิ์ (แควใหญ่) ไหลผ่าน
วัดศรีอุปลาราม เดิมชื่อว่า วัดหนองบัว สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสร้างขึ้นประมาณระหว่างราวปี พ.ศ. ๒๓๓๕ – ๒๓๕๒ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่เดิมยังไม่มีซึ่งถาวรวัตถุใดๆ
ปัจจุบันภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ชุมชนหลวงพ่อเฒ่ายิ้ม-หลวงพ่อเหรียญ จัดแสดงวัตถุสิ่งของในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ ชั้นบนจัดเป็นห้องประชุมอเนกประสงค์ และที่จัดแสดงภาพวัตถุของทางวัด และถ่ายของหลวงปู่ยิ้ม (พระอุปัชฌาย์ ธรรมโชติ) และหลวงพ่อเหรียญ โดยรายนามเจ้าอาวาสที่มีบันทึกไว้คือ
๑. หลวงปู่จีน
๒. หลวงปู่โบ้ย
๓. หลวงปู่เหม็น
๔. หลวงปู่กลิ่น
๕. พระอธิการยิ้ม จนฺทโชติ
๖. พระโสภณสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ)
๗. พระอธิการเขียน กิตฺติคุโณ
๘. พระครูแหนง กลฺญาโณ
๙. พระใบฎีกาบุญเรือง ปภสฺสโร
๑๐. พระมงคลสิทธิคุณ (ลำใย ปิยวณฺโณ)
๑๑. พระมหาคมคิด อติเมโธ
๑๒. พระครูสิริกาญจโนบล (วิเชียร วชิรปญฺโญ)
๑๓. พระอธิการเจริญ กนฺตวีโร
๑๔. พระราชคุณาธาร (ถาวร ถาวโร)
๑๕. พระสัญชัย วชิโร
๑๖. พระครูศรีกาญจนวัฒน์ (ปิยวัฒน์ จารุธมฺโม)
เมื่อหลวงพ่อเหรียญ ท่านได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านก็มิได้นิ่งนอนใจ ท่านได้พัฒนาวัดหนองบัว ให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป ทั้งด้านถาวรวัตถุและด้านการสั่งสอนญาติโยมและชาวบ้านในพื้นที่ของวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา
หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี |
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เจ้าคณะจังหวัด ได้แต่งตั้งให้หลวงพ่อเหรียญ เป็นผู้รั้งเจ้าคณะแขวงเมือง เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๘
ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทานตราตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงเมือง เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐
ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูนิวิฐสมาจาร เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ (ในรัชกาลที่ ๖)
หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี |
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ประทานตราตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓
ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นสาธารณูปการจังหวัด ตำแหน่งกรรมการสงฆ์ จังหวัดกาญจนบุรี
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระครูเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในราชทินนามเดิม เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐
ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นสาธารณูปการจังหวัด ตำแหน่งกรรมการสงฆ์ จังหวัดกาญจนบุรี
ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นพระโสภณสมาจารย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖
ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ทดแทนของเดิมที่สร้างมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๒๒ สมัยหลวงปู่ยิ้ม ที่ทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก โดยทำการรื้ออุโบสถหลังเดิมที่ทรุดโทรมแล้วสร้างอุโบสถหลังใหม่ที่ตำแหน่งเดิม
หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว ครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ นับรวมสิริอายุได้ ๘๔ ปี ๖๒ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
หลวงปู่เหรียญ ท่านได้ใช้เวลาในการรวบรวมมวลสารตามตำราของพระอาจารย์ รวมทั้งใช้เวลาในการปลุกเสกด้วยกันอยู่เป็นเวลานานประมาณ ๓ ปีเศษ เมื่อท่านได้รวบรวมอุปกรณ์ในการทำพระผงได้ครบบริบูรณ์แล้ว ท่านจึงได้เริ่มทำพระผงเครื่องรางของขลังดังกล่าวขึ้น ท่านได้ทำการปลุกเสกในทางเวทวิทยาคมตามที่ท่านได้เล่าเรียนมา
และนอกจากท่านได้ทำการปลุกเสกของท่านเองแล้ว ท่านยังได้นิมนต์พระอาจารย์ผู้ที่เชี่ยวชาญในทางเวทวิทยาคมมาจากสำนักวัดต่างๆ อีก ๑๐๘ รูป มาทำพิธีปลุกเสกและสวดพุทธาภิเษก ณ วัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ เริ่มทำพิธีตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ น. จนถึงเวลา ๐๓.๐๐ น. ของวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงเสร็จพิธี
และได้นำออกมาแจกในงานฉลองอายุครบ ๗๘ ปี
และงานฉลองพระอุโบสถหลังใหม่ที่ท่านดำเนินการสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๙๗
มีรูปแบบพระเครื่องและเครื่องรางด้วยกันมากมาย หลายพิมพ์
สันนิษฐานว่าพระเครื่องทั้งหมดที่ท่านได้สร้างในคราวนั้น
มีจำนวนทั้งสิ้นถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ บางพิมพ์ก็สร้างไว้น้อยมาก
แบบพิมพ์ที่ได้รับความนิยม พอจะรวบรวมได้
พระเครื่องและวัตถุมงคลที่หลวงปู่เหรียญจัดสร้างขึ้นมานั้น รวบรวมได้ดังนี้
พระปิดตาหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว พิมพ์เส้นด้ายใหญ่(หลังอูม)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ลักษณะเหมือนพระปิดตาของหลวงปู่ยิ้ม ผู้เป็นอาจารย์แต่เนื้อพระจะเป็นสีขาว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระปิดตาเส้นด้ายใหญ่หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ของคุณInkam |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี แบบเดียวกับพระปิดตาทั่วไป แต่มือและเส้นสายจะเรียวเล็กกว่า
ด้านหลัง อูมกว่าพิมพ์อื่นๆทั่วไป พิมพ์พระไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
พระปิดตาหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว พิมพ์เส้นด้ายเล็ก (หัวตะเข้)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ลักษณะเหมือนพระปิดตาเนื้อผงสีขาว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระปิดตาเส้นด้ายเล็ก (หัวตะเข้) หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี แบบเดียวกับพระปิดตาทั่วไป แต่มือและเส้นสายจะเรียวเล็กกว่าพิมพ์เส้นด้ายใหญ่
ด้านหลัง เรียบ พิมพ์พระไม่มีอักขระยันต์ใดๆ พระปิดตาหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว พิมพ์หลังกระดาษสา (นิยม)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ถือเป็นวัตถุมงคลยุคต้นของ หลวงปู่เหรียญ กล่าวกันว่ามีมวลสารของหลวงปู่เฒ่ายิ้มมากที่สุด ลักษณะเป็นพระปิดตาคลุกรักแล้วจึงจุ่มรักอีกชั้นหนึ่ง ส่วนกระดาษสาเกิดจากเมื่อจุ่มรักแล้ว รักยังไม่แห้ง เมื่อนำมาวางไว้บนกระดาษสา เมื่อแห้งกระดาษสาจึงติดด้านหลังองค์พระ จึงเป็นที่มาของ "พระปิดตาหลังกระดาษสา" จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ปิดตาหลังกระดาษาสา หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ (นิยม) |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี ประทับบนฐานเขียง แบบเดียวกับพระปิดตาทั่วไป แต่องค์พระจะดูอวบอ้วนกว่า
พระปิดตาหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว พิมพ์แข้งหมอน (หลังเบี้ย)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ลักษณะเหมือนพระปิดตาเนื้อผงสีขาวอมเหลือง แต่ด้านหลังจะอูมเหมือนเบี้ยจึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ มีจำนวนการสร้างที่น้อยมากหากนับจากจำนวนพระที่หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบัน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ปิดตาแข้งหมอน (หลังเบี้ย) หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ของพระเมืองเหนือ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี แบบเดียวกับพระปิดตาทั่วไป องค์พระประทับบนฐานหมอน จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ องค์พระจะดูอวบอิ่มมีเอกลักษณ์สวยงาม
ด้านหลัง อูมเหมือนเบี้ย พิมพ์พระไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
พระปิดตาหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว พิมพ์แขนกลม (หลังเบี้ย)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ลักษณะเหมือนพระปิดตาเนื้อผงสีขาวอมเหลือง ในบางองค์จะมีการลงรักเพื่อรักษาเนื้อพระ แต่ด้านหลังจะอูมเหมือนเบี้ยจึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ มีจำนวนการสร้างที่น้อยมากหากนับจากจำนวนพระที่หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบัน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ปิดตาแขนกลมหลังเบี้ย หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ของคุณเชิด พระหิ้ว |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี แบบเดียวกับพระปิดตาทั่วไป วงแขนที่ยกขึ้นมาปิดตาจะมีลักษณะกลม จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ องค์พระจะดูอวบอิ่มมีเอกลักษณ์สวยงาม
ด้านหลัง อูมเหมือนเบี้ย พิมพ์พระไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
พระปิดตามหาอุตย์หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว พิมพ์ท้องป่อง (พุงป่อง)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ลักษณะเหมือนพระปิดตาเนื้อผงสีขาวอมเหลือง ในบางองค์จะมีการลงรักเพื่อรักษาเนื้อพระ องค์พระเป็นแบบพระมหาอุตย์ปิดทวารทั้ง ๙ เป็นอีกพิมพ์หนึ่งมีจำนวนการสร้างที่น้อยมากหากนับจากจำนวนพระที่หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบัน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ปิดตามหาอุตย์ท้องป่อง (พุงป่อง) หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ของคุณModjung |
ด้านหน้า
เป็นรูปจำลองพระปิดตามหาอุด หรือปิดทวารทั้ง ๙ ที่ท้องขององค์ปิดตาจะมีลักษณะป่องนูน จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์
องค์พระจะดูอวบอิ่มมีเอกลักษณ์สวยงาม
ด้านหลัง เรียบ พิมพ์พระไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
พระปิดตามหาอุตย์หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว พิมพ์ท้องแฟบ (พุงแฟบ)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ลักษณะเหมือนพระปิดตาเนื้อผงสีขาวอมเหลือง ในบางองค์จะมีการลงรักเพื่อรักษาเนื้อพระ องค์พระเป็นแบบพระมหาอุตย์ปิดทวารทั้ง ๙ เป็นอีกพิมพ์หนึ่งมีจำนวนการสร้างที่น้อยมากหากนับจากจำนวนพระที่หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบัน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ปิดตามหาอุตย์ท้องแฟบ (พุงแฟบ) หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า
เป็นรูปจำลองพระปิดตามหาอุด หรือปิดทวารทั้ง ๙ ที่ท้องขององค์ปิดตาจะมีลักษณะตามปกติแตกต่างจากพิมพ์พุงป่อง จึงทำให้ถูกเรียกตามชื่อพิมพ์ว่าพุงแฟบ
องค์พระจะดูอวบอิ่มมีเอกลักษณ์สวยงาม
ด้านหลัง เรียบ พิมพ์พระไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
พระปิดตาหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว พิมพ์แข้งซ้อน
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ลักษณะเหมือนพระปิดตาเนื้อผงสีขาวอมเหลือง ในบางองค์จะมีการลงรักเพื่อรักษาเนื้อพระ องค์พระเป็นแบบพระปิดตาทั่วไป จัดเป็นพระปิดตาพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ปิดตาแข้งซ้อน หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ |
ด้านหน้า
เป็นรูปจำลองพระปิดตามหาอุด หรือปิดทวารทั้ง ๙
ที่ท้องขององค์ปิดตาจะมีลักษณะตามปกติแตกต่างจากพิมพ์พุงป่อง
จึงทำให้ถูกเรียกตามชื่อพิมพ์ว่าพุงแฟบ
องค์พระจะดูอวบอิ่มมีเอกลักษณ์สวยงาม
ด้านหลัง เรียบ พิมพ์พระไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
พระพุทธชินราชบูชา หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาดบูชา คือมีขนาดกว้าง ๔ นิ้ว สูง ๖ นิ้ว เนื้อผงสีขาวอมเหลือง ในบางองค์จะมีการปิดทองพระ จัดเป็นพระเนื้อผงพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระพุทธชินราชบูชา หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธชินราช องค์พระอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม
ด้านหลัง เรียบ มีอักขระยันต์โภคทรัพย์อ่านได้ว่า "นะ ชา ลี ติ" ตรงกลางมีตัวอุณาโลม
พระพิมพ์ปางประทานพร หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นพระพิมพ์สี่เหลี่ยมปลายแหลม เป็นพระเนื้อผงมีสีขาวอมเหลือง แบ่งออกเป็นพิมพ์เล็ก และพิมพ์ใหญ่ จัดเป็นพระเนื้อผงพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระพิมพ์ปางประทานพร หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
พระพิมพ์ปางประทานพร หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
พระพิมพ์ปางประทานพร หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
พระพิมพ์ปางประทานพร หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
พระพิมพ์ปางประทานพรนิ้ว(พิมพ์เล็ก) หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ของคุณใจ แผ่นดิน |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางประทานพร องค์พระประทับยืนบนฐานบัวมีนาคซ้ายขวา องค์พระอยู่ในซุ้มกระหนกสวยงาม
ด้านหลัง เรียบ มีอักขระยันต์
พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นพระพิมพ์สมเด็จสี่เหลี่ยมแบบทั่วๆไป องค์พระ เป็นพระเนื้อผงมีสีขาวอมเหลือง ในองคืที่ใช้จะมีเนื้อจัดคล้ายพระสมเด็จ จัดเป็นพระเนื้อผงพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ (พระใช้เนื้อจัด) |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิบนฐาน ๓ ชั้นแบบพระสมเด็จทั่วไป องค์พระเป็นแบบสมเด็จทั่วไปแต่มือจะชนกันเป็นรูปตัววี
ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆพระสมเด็จหลังยันต์อุ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นพระพิมพ์สมเด็จสี่เหลี่ยมปลายหมน เป็นพระเนื้อผงมีสีขาวอมเหลือง จัดเป็นพระเนื้อผงพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระสมเด็จพิมพ์กลางหลังยันต์อุ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิบนฐาน ๓ ชั้นแบบพระสมเด็จทั่วไป โดยองค์พระจะตัดขอบล้อไปกับเส้นซุ้มระฆังครอบ องค์พระเป็นแบบสมเด็จอกร่อง
ด้านหลัง เรียบ มีอักขระยันต์ตัว "อุ" จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์พระสมเด็จหลังนิวิฐ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นพระพิมพ์สมเด็จสี่เหลี่ยมปลายหมน เป็นพระเนื้อผงมีสีขาวอมเหลือง จัดเป็นพระเนื้อผงพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระสมเด็จพิมพ์เล็กหลังนิวิฐ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิบนฐาน ๓ ชั้นแบบพระสมเด็จทั่วไป โดยองค์พระจะตัดขอบชิดซุ้มระฆังครอบ องค์พระเป็นแบบสมเด็จอกร่อง
ด้านหลัง เรียบ มีอักขระยันต์ ตรงกลางยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "นิวิฐ" จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์พระขุนแผนพิมพ์ใหญ่ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นพระพิมพ์ขุนแผน องค์พระเป็นพระเนื้อผงมีสีขาวอมเหลือง จัดเป็นพระเนื้อผงพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระขุนแผนพิมพ์ใหญ่ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย องค์พระประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว สวยงาม
ด้านหลัง เรียบ มีอักขระยันต์พระขุนแผนพิมพ์เล็ก หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว (พิมพ์พระพุทธชินราช)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นพระพิมพ์ขุนแผน แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าพิมพ์พระพุทธชินราช องค์พระเป็นพระเนื้อผงมีสีขาวอมเหลือง จัดเป็นพระเนื้อผงพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ ที่พบค่อนข้างยาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระขุนแผนพิมพ์เล็ก (พระพุทะชินราช) หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐาน ๓ ชั้น องค์พระประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว สวยงาม
ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆพระกลีบบัว หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นพระพิมพ์กลีบบัว องค์พระเป็นพระเนื้อผงมีสีขาวอมเหลือง จัดเป็นพระเนื้อผงพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระพิมพ์กลีบบัว หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิบนฐานบัวหงาย องค์พระประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว สวยงาม
ด้านหลัง เรียบ มีอักขระยันต์ตัว "เฑาะห์" อยู่หนึ่งตัวพระพิมพ์ชัยวัฒน์ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นพระพิมพ์พิมพ์นี้เป็นพิมพ์พระชัยวัฒน์ ได้นำพระพุทโธพิมพ์กลางหลังยันต์อะระหังของแม่ชีบุญเรือนเป็นต้นแบบ องค์พระเป็นพระเนื้อผงมีสีขาวอมเหลือง ในองค์พระ เนื้อจัดและองค์กดพิมพ์ชัดเจนทั้งหน้าหลัง มักถูกนำไปเล่นเป็นของแม่ชีบุญเรือน เพราะเนื้อหาและอายุใกล้เคียงกัน จัดเป็นพระเนื้อผงพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระพิมพ์ชัยวัฒน์หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า
เป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในมือถือหม้อน้ำมนต์แบบพระชัยวัต์ องค์พระประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย แบบเดียวกับพระพุทโธน้อยของคุณแม่ชีบุญเรือน
พระพิมพ์แหวกม่าน หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นพระพิมพ์สี่เหลี่ยม องค์พระเป็นพระเนื้อผงมีสีขาวอมเหลือง จัดเป็นพระเนื้อผงพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อที่ค่อนข้างจะหาได้ยาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระพิมพ์แหวกม่านหลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า
เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิบนฐานเขียง องค์พระประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว มีเส้นบังคับพิมพ์สี่เหลี่ยมสวยงามคล้ายผ้าม่าน จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์
นางกวัก หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นนางกวักสี่เหลี่ยมปลายมน สร้างจากเนื้อผงมีสีขาวอมเหลือง จัดเป็นเครื่องรางเนื้อผงที่เป็นพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ ที่ค่อนข้างจะหาได้ยาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
นางกวักหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า เป็นรูปนางกวักบนฐานเขียง องค์พระประทับอยู่ในซุ้มครอบแก้ว
ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
พระท่ากระดาน หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว ปี พ.ศ. ๒๔๙๗
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นพระพิมพ์ท่ากระดานเนื้อชินตะกั่ว เล่ากันว่าทางวัดหนองบัวสมัยหลวงปู่เหรียญเป็นเจ้าอาวาส ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามขึ้น เนื่องจากมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ขณะที่รื้อซ่อมพระอุโบสถเก่าได้พระท่ากระดานจำนวน ๙๓ องค์ แต่ชำรุดเสียหายเป็นส่วนใหญ่ เหลือสภาพสมบูรณ์เพียง ๗ องค์เท่านั้น รวมถึงยังได้ค้นพบพระพิมพ์ต่างๆของหลวงปู่ยิ้มอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดถูกบรรจุรวมกันอยู่ภายใน โถโบราณ หรือ บาตร ลูกหนึ่ง ตั้งอยู่บนเพดานพระอุโบสถ ตรงกับทับหลังของประตู ด้านหลังพระประธาน ซึ่งพระท่ากระดานที่ชำรุดแตกหักเหล่านั้น ท่านได้นำมาหล่อหลอมรวมกับโลหะอื่นๆ สร้างเป็นพระท่ากระดานขึ้น โดยหลอมรวมกับตะกั่วโบราณ หรือ เนื้อชินโบราณ ซึ่งลูกศิษย์ได้นำมาถวาย จัดเป็นเครื่องรางเนื้อผงที่เป็นพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ ที่ค่อนข้างจะหาได้ยาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระท่ากระดาน เนื้อตะกั่ว หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรีปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า
เป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานเขียง องค์พระไม่ตัดชิดแบบพระท่ากระดานทั่วๆไป พระเกศขององค์พระแหลมแต่สั้นไม่โค้งงอ
ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
พระท่ากระดานเนื้อผง หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นพระพิมพ์ท่ากระดาน องค์พระเป็นพระเนื้อผงมีสีขาวอมเหลือง จัดเป็นพระเนื้อผงพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อที่ค่อนข้างจะหาได้ยาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระท่ากระดาน เนื้อผง หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรีปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า
เป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานเขียง องค์พระไม่ตัดชิดแบบพระท่ากระดานทั่วๆไป พระเกศขององค์พระแหลมแต่สั้นไม่โค้งงอ
ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
พระท่ากระดาน หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว ปี พ.ศ. ๒๕๐๐
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีลักษณะเป็นพระพิมพ์ท่ากระดานเนื้อชินตะกั่ว โดยท่านรวบรวมตะกั่วโบราณ หรือ เนื้อชินโบราณ ซึ่งลูกศิษย์ได้นำมาถวายเป็นส่วนผสมหลักในการสร้างพระ จัดเป็นพระเครื่องเนื้อชินตะกั่วที่เป็นพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ ที่ค่อนข้างจะหาได้ยาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระท่ากระดาน หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ |
ด้านหน้า
เป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานเขียง แบบพระท่ากระดานกรุศรีสวัสดิ์ พระเกศขององค์พระโค้งงอไปทางขวาขององค์พระ
ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่ยิ้ม-หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จัดเป็นพระเครื่องที่เป็นพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่ยิ้ม-หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า
เป็นรูปจำลองหลวงปู่ยิ้ม ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌาย์ยิ้ม จนฺทโชติ วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี"
ด้านหลัง เป็นรูปจำลองหลวงปู่เหรียญ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระโศภนสมาจาร หลวงพ่อเหรียญ"
แหวนเงินลงถมหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นแหวนสร้างขึ้นจากเนื้อเงิน แล้วจึงทำการลงถม เพื่อให้เกิดเป็นรูปหลวงปู่ยิ้ม จัดเป็นพระเครื่องที่เป็นพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
แหวนเงินลงถมหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า
เป็นรูปจำลองหลวงปู่ยิ้ม ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อยิ้ม"
ด้านหลัง ท้องแหวนเรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
แหวนเงินลงถมหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นแหวนสร้างขึ้นจากเนื้อเงิน แล้วจึงทำการลงถม เพื่อให้เกิดเป็นรูปหลวงปู่เหรียญ จัดเป็นพระเครื่องที่เป็นพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
แหวนเงินลงถมหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่เหรียญ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระโสภนสมาจาร"
ด้านหลัง ท้องแหวนเรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆสิงห์งาแกะหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นสิงห์แกะ สร้างขึ้นจากงาช้าง แต่ก็มีที่สร้างจากไม้เสาโบสถ์ พุทธศิลป์มีทั้งแบบที่ยืนธรรมดาและแบบที่ยกเท้าหน้าหนึ่งข้าง มีทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก โดยแบ่งออกเป็นแบบ ๒ ขวัญ และ ๓ ขวัญ จัดเป็นเครื่องรางที่เป็นพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ การเล่นหาควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
สิงห์งาแกะหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ (๒ ขวัญ) |
สิงห์งาแกะหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ (ยกขา ๒ ขวัญ) |
สิงห์งาแกะหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ (ยกขา ๓ ขวัญ) ของคุณอัทธพล |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองเป็นรูปสิงห์แกะจากงา ศิลปะเชิงช่างมีเอกลักษณ์คือขวัญจะต้องคล้ายเลขหนึ่งไทย ดวงตราของสิงห์ลงชาดสีแดงสด
ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ ในบางองค์มีรอยจารคชสีห์งาแกะหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นคชสีห์แกะ สร้างขึ้นจากงาช้าง แต่ก็มีที่สร้างจากไม้เสาโบสถ์ จัดเป็นเครื่องรางที่เป็นพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ การเล่นหาควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
คชสีห์งาแกะ หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ของคุณอัทธพล |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองเป็นรูปคชสีห์แกะจากงา ศิลปะเชิงช่างมีเอกลักษณ์
ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ ในบางองค์มีรอยจารและอุดผงนางกวักงาแกะหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีลักษณะเป็นนางกวักแกะด้วยงา แบบลอยองค์ แต่ก็มีที่สร้างจากไม้เสาโบสถ์ จัดเป็นเครื่องรางที่เป็นพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ การเล่นหาควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
นางกวักงาแกะหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ของคุณพัชรพล |
นางกวักงาแกะหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ของคุณพัชรพล |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองเป็นรูปนางกวักลอยองค์แกะจากงา ศิลปะเชิงช่างมีเอกลักษณ์
ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ ในบางองค์มีรอยจารพระกริ่งก้นย่ามหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว (กริ่งหลังยันต์)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ พร้อมพระชุดเนื้อผงหลวงปู่เหรียญและเครื่องราง ลักษณะเป็นพระกริ่งเนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง จัดเป็นพระกริ่งรุ่นเดียวที่หลวงปู่เหรียญท่านได้สร้างไว้ พระกริ่งหลังยันต์พุทธ(กริ่งก้นย่าม)หลวงปู่สร้างไว้น้อยมาก ท่านจะแจกเฉพาะญาติโยมที่ใกล้ชิด ท่านจะหยิบจากก้นย่ามออกมาแจกในสมัยนั้น จึงเป็นที่มาของการเรียกขาน ของชื่อ "พระกริ่งก้นย่าม" จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้พระกริ่งก้นย่าม หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองเป็นรูปพระกริ่ง มือข้างซ้ายถือบาตรน้ำมนต์ ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตัว "พุท" ลึกลงไปที่ฐานพระ
ด้านใต้ฐาน เรียบ มีรอยจาร
ตะกรุดลูกอม ลงหัวใจโลกธาตุ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมา โดยตะกรุดโลกธาตุนี้หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ท่านสำเร็จวิชาตะกรุดโลกธาตุ มีพระเกจิที่เป็นลูกศิษย์ลูกหามาร่ำเรียนกับหลวงปู่ยิ้มหลายองค์ และหลวงปู่เหรียญก็เป็นหนึ่งในผู้ที่สำเร็จวิชาตะกรุดโลกธาตุ ซึ่งตะกรุดของหลวงปู่เหรียญจะมีการสร้างเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนาค เนื้อกระดาษสา และเนื้อทองแดง
ตะกรุดโลกธาตุ หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี เนื้อทองแดง ของคุณแจ็ค เชียงดาว |
โดยเอกลักษณ์คือการคลิบปลายเป็นแนวโค้งสวยได้รูป ยุคต้นจะม้วยด้วยแกนไม้จึงไม่แน่น และมีการโรยผงลงในช่องว่างระหว่างแผ่นโลหะ ส่วนยุคหลังจะม้วนด้วยเครื่องม้วน ม้วนแน่นและไม่คลายง่ายๆ
เชือกคาดเอวพร้อมตะกรุดเงิน หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ลักษณะจะเป็นเชือกด้ายดิบกวั้น จัดเป็นของดีหายาก
โดยหลวงปู่เหรียญท่านนำผ้าขาวมาจารยันต์ลงอาคม
แล้วถักเป็นเชือกคาดเอวด้วยมือท่านเองทั้งเส้น และท่านจะสร้างพร้อมตะกรุดเงินจารมืออีกหนึ่งดอก
เชือกคาดเอวหลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี |
โดยที่จะใช้เชือกที่ควั้นเสร็จแล้วสอดเข้าไปในรูตะกรุด
โดยตะกรุดส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นตะกรุดเงิน มีขนาดยาวตั้งแต่ ๒.๕ - ๕ นิ้ว
จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ขันน้ำมนต์ไม้ส้มป่อย หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว
สร้างขึ้นปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ลักษณะจะเป็นขันน้ำไว้สำหรับใส่หรือทำน้ำมนต์ โดยใช้ไม้ส้มป่อยมาแกะเป็นรูปขัน จัดเป็นของดีหายาก โดยหลวงปู่เหรียญท่าน จะนำพระปิดตา โดยหลวงปู่เหรียญท่าน จะนำพระปิดตามาติดไว้ที่ก้นขัน แล้วจึงจารอักขระยันต์ต่างๆ ตามตำราการสร้างของอาจารย์ของท่าน แล้วจึงทำการลงรักปิดทองที่ขอบขัน เพื่อเป็นการรักษาเนื้อไม้และเนื้อพระปิดตาที่อยู่ภายในขันขันส้มป่อยหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ของพันเอกนำพล คงพันธ์ |
เชื่อกันว่าสามารถเอาไว้ทำน้ำมนต์โดยไม่ต้องเสกถาคาใดๆ เพียงแค่ตักน้ำแล้วระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ น้ำภายในขันก็จะมีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถเอาไว้ดื่มกินหรือประพรมเพื่อเป็นศิริมงคลและแก้คุณไสย์ต่างๆได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันวัตถุมงคลของหลวงปู่เหรียญได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพระปิดตาของท่านนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่แพ้พระปิดตาของหลวงปู่ยิ้มผู้เป็นอาจารย์เลย นับวันยิ่งราคาสูงขึ้นๆทุกวัน ราคาตั้งแต่หลักพันต้นถึงหลักแสน แล้วแต่พิมพ์และความสวยขององค์
พระเครื่องของหลวงปู่ท่านจัดได้ว่าเป็นพระที่มีศิลปะสวยงาม มีเอกลักษณ์ สามารถจดจำได้ง่าย ทั้งยังมีประสบการณ์เด่นชัดมาตลอดหลายสิบปี หลวงพ่อเหรียญนับว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่รู้จัก มีชื่อเสียงในด้านเมตตามหานิยม อำนวยโชคลาภ และป้องกันเภทภัยให้กับผู้บูชา ได้รับการกล่าวขวัญถึงมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันนี้
นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อลำไย วัดทุ่งลาดหญ้า ผู้ซึ่งเป็นพระนักพัฒนาของเมืองกาญจนบุรีอีกด้วย.
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น