ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร อีกหนึ่งพระเกจิเข้มขลังของชาวแหลมใหญ่ สมุทรสงคราม
หลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร สมุทรสงคราม |
หลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร หรือ พระครูสมุทรนวการ อดีตเจ้าอาวาสวัดปากสมุทร พื้นเพของท่านเป็นชาวท่านัด ตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มีนามเดิมว่า เณร ไวยวุฒิ เกิดเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรก ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีจอ โยมบิดาชื่อนายมั่ง ไวยวุฒิ โยมมารดาชื่อนางแก้ว ไวยวุฒิ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน คือ
๑. นางอินทร์ แซ่ฉั่ว
๒. นางสุข พูลเจริญ
๓. นางใส แซ่ฉั่ว
๔. นางแจ่้ม แซ่อ้อ
๕. พระครูสมุทรนวการ (เณร) ไวยวุฒิ
๖. นางซี ตั้นธง
๗. ดญ.ไป๋ ไวยวุฒิ (ถึงแก่กรรมยังเยาว์)
เมื่อหลวงพ่อเณรมีอายุได้พอสมควร บิดามารดาได้นำท่านไปฝากหลวงพ่อแดง ที่วัดทำนบ ตำบลวัดแก้ว อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เพื่อศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย (ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน) ต้องเรียนหนังสือที่วัด จนมีความรู้อ่านออกเขียนได้ และต่อมาได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือขอม จนมีความรู้หนังสือขอมได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น
หลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร สมุทรสงคราม |
ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงพ่อเณรมีอายุได้ ๒๓ ปี จึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดอมรญาติสมาคม ตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับฉายาว่า "พุทฺธสโร" โดยมี
หลวงพ่อดำ (พระครูอินทรสุวรรณ) วัดตาลบำรุงกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อเฟื่อง (พระครูอดุลสารธรรม) วัดอมรญาติสมาคม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระใบฏีกาเฮง วัดปากสมุทร สมุทรสงคราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้อยู่จำพรรษาที่วัดอมรญาติสมาคม ๑ พรรษา และในพรรษาที่ ๒ ได้ย้ายมาอยู่กับพระใบฏีกาเฮง วัดปากสมุทร ซึ่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์ และอยู่จำพรรษาเรื่อยมา
ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านสามารถสอบได้นักธรรมตรี
ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านใบฏีกาเฮง ได้ลาสิกขาบทกลับบ้านที่เพชรบุรี ชาวบ้านวัดปากสมุทรจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเณร ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากสมุทรสืบแทน ซึ่งในณะนั้นหลวงพ่อบวชได้ ๘ พรรษา
หลวงพ่อเฮง วัดปากสมุทร สมุทรสงคราม |
วัดปากสมุทร เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ในตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม วัดตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๐๐ โดยมีประชาชนบริจาคที่ดินให้แล้วนิมนต์มาดูแลรักษา
แต่มีพระบวชน้อยมาก เพราะสมัยนั้นประชาชนแถบนี้ยังไม่หนาแน่นมากนัก พระที่มาดูแลรับช่วงกันประมาณ ๓ รูป สุดท้ายวัดไม่มีผู้ดูแลก็เสื่อมไปทุกวัน ในที่สุดก็กลายเป็นวัดร้าง ต้นไม้และเถาวัลย์ปกคลุมแทบมองไม่เห็นหลังคากุฏิ
เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะลิงแสมและเป็นที่ซ่องสุมของพวกโจรปล้นสะดม ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดลิงโจร
ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๔๕๗ ได้มีพระภิกษุจำนวนหนึ่งได้พายเรือมาจากบางตะพูน จังหวัดเพชรบุรี และได้ชักชวนชาวบ้านพัฒนาวัดขึ้นใหม่ จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยใช้นามวัดว่า "วัดปากสมุทร" มาจนทุกวันนี้
ในสมัยพระครูสมุห์มนตรีสุมังคโล เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ กุฏิมีสภาพทรุดโทรม จึงได้ดำเนินการสร้างกุฏิขึ้นมาเพื่อทดแทนหลังเก่า ปูชนีย์วัตถุสำคัญของวัดคือ ท้าวเวสสุวรรณ ตั้งอยู่หน้าเขื่อน
และมีหลวงพ่อดำ เป็นพระประธานในโบสถ์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์ศิทธิ์ หล่อด้วยทองเหลือง ปางมารวิชัย ได้มาจากวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ไม่ทราบว่าสร้างสมัยใด มีรายนามเจ้าอาวาสที่สามารถสืบค้นได้ดังนี้
๑. พระอาจารย์เฮ็ง
๒. พระครูสมุทรนวการ (หลวงพ่อเณร)
๓. พระครูสมุทรจันทคุณ
๔. พระครูปลัดเยื้อน
๕. พระครูสมุห์มนตรีสุมังคโล
หลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร สมุทรสงคราม |
หลังจากที่หลวงพ่อเณร เมื่อท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากสมุทรแล้ว ท่านได้พัฒนาและบูรณะเสนาสนะต่างๆภายในวัดอย่างสุดความสามารถ จนทำให้วัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตลอดมา
ตำแหน่งทางคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นเจ้าอาวาสวัดปากสมุทร
พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นกรรมการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นสาธารณูปการอำเภอเมือง
พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นเจ้าคณะตำบลบางจะเกร็ง
พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคลองโคน อีกตำแหน่งหนึ่ง
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมของพระธรรมวโรดม เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ราชทินนาม พระกวีวงศ์
พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นพระครูเจ้าคณะตำบลชั้นตรี ที่พระครูสมุทรนวการ
พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้เลื่อนจากพระครูตำบลชั้นตรี เป็นชั้นโท โดยใช้ราชทินนามเดิม
หลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร สมุทรสงคราม |
หลวงพ่อเณร ท่านเป็นผู้ที่เล็งเห็นประโยชน์ของการศึกษา ท่านจึงได้เปิดโรงเรียนภาษาไทยขึ้นเพื่อสอนเด็กในตำบลนั้น โดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานศึกษา เพราะตอนนั้นยังไม่มีโรงเรียน
เมื่อเปิดเรียนแล้วท่านได้ทำการสอนด้วยตัวท่านเอง และอาศัยพระภิกษุในวัดช่วยกันสอนบ้าง ทำการสอนอยู่หลายปี จึงได้โอนโรงเรียนนี้ให้กับทางราชการเพื่อให้จัดหาครูมาสอน แต่ยังใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่สอน
จนถึง ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงพ่อเณร จึงได้ก่อสร้างโรงเรียนขึ้น ๑ หลัง และในระหว่างนั้นเองทางวัดได้ถูกภัยธรรมชาติน้ำเซาะตลิ่งจนพังเสียหายถึงชานกุฏิ ทางวัดจึงจัดหาเงินซื้อที่ดินที่ติดกับที่วัดจำนวน ๓ ไร่
ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านจึงได้ทำการลื้อถอนย้ายกุฏิทั้งหมดไปปลูกสร้างในที่ดินซื้อใหม่จนสำเร็จเรียบร้อย
ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านก็ได้บูรณพระอุโบสถขึ้นใหม่ เพราะพระอุโบสถได้ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมากจนเรียบร้อย
ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ หลวงพ่อเณร ท่านได้ก่อสร้างเขื่อนหน้าวัดเพื่อป้องกันตลิ่งพัง และก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ อีกหลายอย่าง
หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร สมุทรสงคราม |
หลวงพ่อเณร ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ เวลา ๒๐.๐๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๓ ปี ๕๒ พรรษา เวลาที่ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ๔๔ ปี.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร
เหรียญหลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เพื่อแจกในคราวที่หลวงพ่อมีอายุครบ ๕ รอบ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว สร้างขึ้นด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเณรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทรนวการ วัดปากสมุทร จ.สมุทรสงคราม"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานทำบุญอายุ ๖๐ ปี ๓ มี.ค. ๒๕๐๒"
เหรียญหลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว สร้างขึ้นด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง หลวงพ่อเณรปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเณรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทรนวการ วัดปากสมุทร"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห ไม่มีอักขระภาษาไทยใดๆ
เหรียญกลมหลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว สร้างขึ้นด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง หลวงพ่อเณรปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญกลมหลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเณร นั่งเต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเณร"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห ไม่มีอักขระภาษาไทยใดๆ
เหรียญหลวงพ่อดำ วัดปากสมุทร รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว สร้างขึ้นด้วยเนื้อทองแดงรมดำเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น ซึ่งหลวงพ่อดำนี้เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัดปากสมุทรแห่งนี้ และถือเป็นเหรียญหลวงพ่อดำ รุ่นแรกของทางวัดปากสมุทรอีกด้วย โดยเหรียญนี้หลวงพ่อเณรปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อดำ วัดปากสมุทร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดงรมดำ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัดปากสมุทร มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อดำ วัดปากสมุทร"
ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๑๒" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
ข้อมูลจากเพจศรัทธาและบารมี หลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร สมุทรสงคราม
ขอบคุณพี่อึมครึม สามสี่ ที่ให้ข้อมูล
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น