โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลพระปลัดจู วัดใต้(วัดไชยชุมพลชนะสงคราม) อดีตเสือร้ายของเมืองกาญจนบุรี

ภาพถ่ายพระปลัดจู วัดใต้ กาญจนบุรี
พระปลัดจู วัดไชยชุมพลชนะสงคราม(วัดใต้) กาญจนบุรี

         พระปลัดจู วัดไชยชุมพลชนะสงคราม(วัดใต้) ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เก่งกาจด้านวิทยาคมอีกรูปหนึ่งของวัดใต้ กาญจนบุรี นามเดิมท่านมีชื่อว่า จู เป็นคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เกิดเมื่อวันอังคาร ปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ณ บ้านชุกโดน ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานถึงวันเดือนเกิด และโยมบิดาโยมมารดาของท่าน

         พระปลัดจูท่านเก่งเรื่องคาถาอาคมต่างๆ ตั้งแต่ยังเป็นเสือ เมื่อสมัยเป็นเสือนั้น ตำรวจมิสามารถปราบท่านได้ เพราะท่านหนังเหนียวมาก ยิงฟันมิเข้า ไปที่เห่งใดก็จะสร้างชื่อเสียงโดยการปล้นทุกที่ 

ภาพถ่ายพระปลัดจู วัดใต้ กาญจนบุรี ที่มีข้อมูล
พระปลัดจู วัดใต้ กาญจนบุรี

         ต่อมาได้มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่นับถือหลวงพ่อเปลี่ยน ได้เดินทางมาหาหลวงพ่อเปลี่ยน ให้พูดกับเสือจูให้ยอมมอบตัว เพราะเสือจู เป็นรุ่นน้องที่สนิทกับหลวงพ่อเปลี่ยนมาก อาจจะเชื่อฟังหลวงพ่อ

ภาพถ่ายพระปลัดจู วัดใต้ กาญจนบุรี ยืน
พระปลัดจู วัดไชยชุมพลชนะสงคราม(วัดใต้) กาญจนบุรี

         เมื่อเสือจูเดินทางมาหาหลวงพ่อเปลี่ยน ท่านจึงขอให้เสือจู หยุดเป็นเสือหยุดปล้น และมาบวชเรียน ประกอบกับเสือจูเบื่อหน่ายกับการใช้ชีวิตเป็นเสือ ท่านจึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดไชยชุมพลชนะสงคราม(วัดใต้) ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับฉายาว่า "จนฺทโชติ" โดยมี

         หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ เป็นพระอุปัชฌาย์

         เมื่อพระปลัดจูบวชแล้ว นายตำรวจจะมาจับตัว หลวงพ่อเปลี่ยนจึงขอไม่ให้จับตัวไป ถ้าไม่จับตัวท่านให้สัจจะวาจาว่าจะให้เสือจูบวชไม่สึก เสือจูก็รับปาก นายตำรวจผู้นั้นก็รับปาก เสือจูจึงบวชไม่สึก และได้อยู่จำพรรษาที่วัดใต้ เรื่อยมาเพื่อรับใช้พระอุปัชฌาย์ และได้ศึกษาวิทยาคมเพิ่มเติมกับหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย

ภาพถ่ายหลวงพ่อเปลี่ยน-พระปลัดจู วัดใต้ กาญจนบุรี
ภาพถ่ายหลวงพ่อเปลี่ยน (ซ้าย) และพระปลัดจู (ขวา) วัดใต้ กาญจนบุรี

         ในส่วนของปีที่บวชนั้นคาดว่าน่าจะก่อน ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็นอย่างแน่นอน เพราะมีบันทึกว่าท่านเป็นพระอนุสาวนาจารย์ของหลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้าที่บวชเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ 

         นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระอนุสาวนาจารย์ของหลวงพ่อนารถ วัดศรีโลหะอีกด้วย รวมทั้งท่านน่าจะได้รับตำแหน่งพระปลัดก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๘ จากหลักฐาน

         บันทึกการเสด็จตรวจคณะสงฆ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมวชิรญาณวโรรส ที่ทรงเสด็จ ณ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ เมื่อเวลา ๑ ทุ่ม ท่านได้เสด็จเยี่ยมพระปลัดจูที่อาพาธอยู่ที่กุฏิ 

         หลังจากนั้นสมเด็จท่านจึงทรงรับสั่งให้พระวินัยธรรม (เป้า) ตรวจรักษาพระปลัดจู ฐานานุกรมของพระวิสุทธรังษี ที่ขณะนั้นอาพาธอยู่

ภาพถ่ายพระปลัดจู วัดใต้ กาญจนบุรี นั่ง
พระปลัดจู วัดไชยชุมพลชนะสงคราม(วัดใต้) กาญจนบุรี

         พระอาจารย์ปลัดจู ท่านเป็นพระที่เก่งอักขระคาถา พระเป็นผู้แปลตำราโบราณต่างๆ ที่หลวงพ่อเปลี่ยนได้ตำราโบราณมาจาก สำนักวัดจุกกระพี้ 

        ในสมัยที่หลวงพ่อเปลี่ยนท่านสร้างวัตถุมงคลต่าง อาธิเช่น เสื้อยันต์ ธงปัดระเบิด ผ้ายันต์ถ้าเช็ดหน้า หรือการเขียนยันต์ต่างๆ ท่านจะมอบหมายให้พระปลัดจู ท่านแกะยันต์ต่างๆให้เสมอ

ภาพถ่ายพระปลัดจู วัดใต้ กาญจนบุรี วงรี
พระปลัดจู วัดไชยชุมพลชนะสงคราม(วัดใต้) กาญจนบุรี

         ในสมัยนั้นหากชาวบ้านมีเรื่องทุกข์ร้อนอะไรก็จะมาขอความช่วยเหลือจากหลวงพ่อเปลี่ยนอยู่เสมอ แต่หากมาแล้วไม่พบหลวงพ่อ ก็จะนิยมไปหาพระปลัดจูเพื่อขอความช่วยเหลือแทน 

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงพ่อเปลี่ยนได้มรณะภาพลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์พระปลัดจูขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔๔ ไร่ ๒ งาน ๘๑ ตารางวา

         วัดไชยชุมพลชนะสงคราม หรือ วัดใต้ เพราะวัดอยู่ทางใต้ของกำแพงเมือง ตามเรื่องเล่าจากผู้สูงอายุเล่าว่า พระยาตาแดงเป็นผู้สร้าง แต่จะเป็นการสร้างขึ้นใหม่ หรือซ่อมแซมบูรณะต่อเติมจากของเดิมซึ่งมีอยู่มาก่อนแล้วก็ได้ เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ยังหาหลักฐานไม่ได้ 

         สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔

         ภายในวัดมีพระเจดีย์เก่าแก่ที่ตั้งอยู่ใกล้พระอุโบสถหลังเก่า กรมศิลปากรได้จัดขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ ตามประกาศครั้งที่ ๑ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘

         ในสมัยโบราณกองทัพไทยได้เคยชุมพลเหล่าทหารที่ทะแกล้วร่วมพิธีตั้งศาลเพียงตาบวงสรวงเทพารักษ์ทางไสยศาสตร์ ก่อนที่จะออกไปรบประจันกับเหล่าศัตรู 

         โดยชุมชุมร่วมพิธีกัน ณ ตรงที่ตั้งพระเจดีย์องค์นี้ และได้สร้างเจดีย์นี้เพื่อเป็นนิมิตฉลองชัย ชื่อ ไชยชุมพล แสดงว่าพระเจดีย์นี้สร้างขึ้นในที่ชุมพล ต่อมาขนานนามวัดให้เหมาะสมตามชัยนิมิตนี้

         อาคารเสนาสนะทีสำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถหลังเก่า สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๐ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เช่น ภาพพรหมลูกฟัก ภาพเทวดา ภาพพระราหูอมจันทร์ และผนังด้านข้างเขียนภาพประวัติขุนแผนย่างกุมารทอง ตามบทประพันธ์เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน 

         พระอุโบสถหลังใหม่ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังคา ๓ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทำพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ 

         ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาแลงปางตรัสรู้ ขนาดหน้าตัดกว้าง ๔ ศอก ๑ คืบ สูง ๕ ศอก ๑ คืบ สร้างสมัยทวารวดี และศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๗  เมตร ยาว ๖๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังคา ๓ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา ภายในเขียนภาพจิตรกรรม วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้

         ๑. พระอธิการสวด

         ๒. พระอธิการเกด

         ๓. พระอธิการคง

         ๔. พระครูวิสุทธิรังสี (ช้าง)

         ๕. พระวิสุทธิรังสี (หลวงปู่เปลี่ยน อินฺทสโร)

         ๖. พระปลัดจู จนฺทโชติ

         ๗. พระครูวัตตสารโสภณ (พระอาจารย์ก้าน)

         ๘. พระธรรมคุณาภรณ์(ไพบูลย์ กตปุญฺโญ)

         ๙. พระเทพปริยัติโสภณ(ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙ พธ.บ. M.A)

         หลังจากที่พระปลัดจูได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         พระปลัดจู ท่านปกครองวัดใต้เรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ นับรวมสิริอายุได้ ๗๒ ปี.

วัตถุมงคลของพระปลัดจู วัดใต้

         เหรียญพระปลัดจู วัดใต้ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลังจากที่ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปจอบแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า เนื้อทองแดง และทองแดงกระไหล่ทอง โดยเหรียญนี้ได้รับการปลุกเสกจากพระปลัดจูอย่างเข้มขลัง พุทธคุณโดดเด่นด้านคงกระพันชาตรีและเมตตาค้าขาย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญพระปลัดจู วัดใต้ กาญจนบุรี 2490 เนิ้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระปลัดจู วัดใต้ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนิ้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญพระปลัดจู วัดใต้ กาญจนบุรี 2490 เนิ้ออัลปาก้า
เหรียญพระปลัดจู วัดใต้ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนิ้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปพระปลัดจูนั่งเต็มองค์ห่มจีวรแบบคลุมไหล่ มือขวาของหลวงพ่อยกขึ้นคล้ายพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ที่มือและใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์และรูปจำลองหนุมานสี่กรในกรอบวงกลม

          เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่น ๒ (หลังหนังสือ ๓ แถว)​

           สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ สมัยที่พระปลัดจูเป็นเจ้าอาวาส โดยสร้างหลังจากที่หลวงพ่อได้มรณภาพ​ลงแล้ว โดยลักษณะเหรียญเป็นเหรียญเสมาทรงสูง มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่นสอง พิมพ์หนังสือ ๓ แถว ปี พ.ศ. ๒๔๙๐

          ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเปลี่ยนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ มีหนังสือไทยในเหรียญด้านหน้าเขียนว่า "หลวงพ่อวัดใต้"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีหนังสือไทยเขียนว่า "พระวิสุทธิรังษี(เปลี่ยน) วัดชัยชุมพลชนะสงคราม ๒๔๐๕-๒๔๙๐"

          เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่น ๔ (หลังหนังสือ ๔ แถว)​

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ สมัยที่พระปลัดจูเป็นเจ้าอาวาส โดยเป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเพื่อแจกในงานศพของหลวงพ่อ โดยลักษณะเหรียญเป็นเหรียญเสมาทรงสูง แบบเดียวกับพิมพ์​หนังสือ ๓ แถว แต่มีการแก้ไขบล็อกด้านหลังใหม่ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่น ๔ พิมพ์หนังสือ ๔ แถว ปี พ.ศ. ๒๔๙๐

          ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเปลี่ยนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ มีหนังสือไทยในเหรียญด้านหน้าเขียนว่า "หลวงพ่อวัดใต้"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีหนังสือไทยเขียนว่า "พระวิสุทธิรังษี(เปลี่ยน) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี วัดชัยชุมพลฯ ชาตะ ๒๔๐๔ มรณะ ๒๔๙๐"



โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้