ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อขัน วัดสระตะโก และวัดบ้านสิงห์ พระเกจิที่น่านับถือของเมืองราชบุรี
หลวงพ่อขัน วัดสระตะโก ราชบุรี |
หลวงพ่อขัน วัดสระตะโก หรือ พระอธิการขัน พุทฺธญาโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระตะโก ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านสิงห์ ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ท่านมีนามเดิมว่านายขัน พื้นเพเป็นคนราชบุรี เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ที่บ้านสิงห์ ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อนายจัน (หลวงพ่อจัน จนฺทโชติ ภายหลังได้อุปสมบทและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านสิงห์) โยมมารดาชื่อนางนา ท่านมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกันทั้งสิ้น ๑๐ คน ดังนี้
๑. นางฑี
๒. นางบ้ง
๓. นางพุก
๔. นายขัน (พระอธิการขัน พุทฺธญาโณ)
๕. พระภิกษุจอม
๖. นางแดง
๗. นางอุ้ย
๘. นางน้อย
๙. นางพิน
๑๐. นางเงาะ
ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลวงพ่อขันมีอายุได้ ๒๑ ปี บริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบ้านสิงห์ ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า "พุทฺธญาโณ" โดยมี
พระอธิการจัน วัดบ้านสิงห์ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้จำพรรษาร่ำเรียนวิชากับพระอธิการจัน วัดบ้านสิงห์ ผู้เป็นบิดา ซึ่งในแต่ละปีนั้นหลวงพ่อขัน ท่านจะเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเล่าเรียนวิชากับพระเกจิอาจารย์ต่างๆ และเพื่อบำเพ็ญภาวนาวิปัสสนากรรมมัฏฐาน ในสมัยนั้นแทบทุกปี
จนราวปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ท่านได้เดินทางไปที่บ้านสระตะโก ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เห็นว่าเป็นสถานที่ร่มรื่นและเงียบสงบเหมาะแก่การ ปฏิบัติธรรม จึงได้ปักกลดพำนักอยู่ ชาวบ้านสระตะโกเกิดความศรัทธาในจริยวัตรของท่าน จึงนิมนต์หลวงพ่อขัน อยู่จำพรรษาที่บ้านสระตะโก และได้สร้างวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยชื่อวัดตั้งตามชื่อหมู่บ้านว่า วัดสระตะโก
โดยมีพระครูหัน อดีตเจ้าอาวาสวัดสระตะโก ซึ่งขณะนั้นบวชได้ ๒-๓ พรรษา มาช่วยท่านสร้างวัดและช่วยสอนหนังสือชาวบ้านอีกด้วย จนวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐
จนเมื่อสร้างวัดเสร็จชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสระตะโก รูปแรกของวัด หลังจากสร้างวัดเสร็จ ท่านได้พัฒนาวัดเรื่อยมาจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับแล้ว ท่านจึงได้เดินทางธุดงค์อีกครั้ง
ครั้นเมื่อหลวงพ่อจัน จนฺทโชติ วัดบ้านสิงห์ ได้ถึงกาลมรณภาพลง ไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อ ชาวบ้านสิงห์จึงได้เสาะหาหลวงพ่อขัน ซึ่งขณะนั้นได้ธุดงค์ไปในแถบเมืองย่างกุ้งและเขตชายแดนไทย-พม่าอยู่เสมอ ชาวบ้านจึงออกติดตามจนได้พบในที่สุด จากนั้นจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาท่านให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านสิงห์สืบต่อมา
เมื่อท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านสิงห์ ท่านได้พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ทั้งการสร้างศาลาการเปรียญสถาปัตยกรรมไทยโบราณหลังใหญ่ ที่มีความสวยงามวิจิตรพิสดาร ซึ่งแสดงถึงความวิริยะอุตสาหะของหลวงพ่อขัน ตลอดจนชาวบ้านสิงห์ในสมัยนั้น โดยได้ไปนำไม้มาจากป่าใหญ่ในเขตจังหวัดราชบุรี โดยได้นำเทียมโคลานเกวียนมาสร้างจนสำเร็จดังที่เห็นจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้น ท่านยังได้ซ่อมแซมวิหารหลังเก่า สร้างเจดีย์หมู่ไม้สิบสอง เพื่อบรรจุอัฐิบรรพบุรุษของท่านตากาลก่อน ชาวบ้านสิงห์รุ่นก่อนหน้านี้คงจะได้เห็นความงามของศิลปะในสมัยนั้น นอกจากนี้ ท่านยังได้สร้างกุฏิสามหมู่ สร้างกุฏิสิบ สร้างถาน (ห้องสุขาพระ) แม้บัดนี้ได้รื้อไปแล้วยังคงเหลือแต่ความทรงจำแล้วก็ตาม
หลวงพ่อขัน ท่านมิได้สร้างและพัฒนาแต่เพียงแค่วัดสระตะโกกับวัดบ้านสิงห์เท่านั้น ท่านยังได้สร้างเสนาสนะ-วัดวาอาราม ไว้ตามสถานที่ต่างๆอีกหลายแห่ง สามารถรวบรวมได้ดังนี้
๑. วัดขุนไทยธาราราม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
๒. วัดยางหัก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
๓. ได้สร้างวัดในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า อีก ๑ หรือ ๒ วัด
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจะต้องเดินธุดงค์ไปนมัสการพระธาตุในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ดังเช่นเคยได้ปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี ครั้นเมื่อท่านได้เดินทางมาถึงเขต อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ณ บริเวณพื้นที่ท่าขนุน ท่านได้เกิดการอาพาธด้วยโรคไข้ป่า
หลวงพ่อขัน ท่านถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ด้วยพิษไข้ป่า นับรวมสิริอายุได้ ๗๒ ปี ๕๑ พรรษา ยังความโศกเศร้าเสียใจมาแก่ชาวบ้านสิงห์และชาวบ้านสระตะโกเป็นอย่างยิ่ง.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อขัน วัดสระตะโก
พระพรหมสามหน้าหลวงพ่อขัน วัดสระตะโก
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถวัดสระตะโก ลักษณะเป็นพระหล่อพระพุทธสามเหลี่ยม มีการสร้างด้วยเนื้อเมฆพัตรเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระพรหมสามหน้าหลวงพ่อขัน วัดสระตะโก ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เนื้อเมฆพัตร |
พระพรหมสามหน้าหลวงพ่อขัน วัดสระตะโก ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เนื้อเมฆพัตร |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานบัว องค์พระปรากฏผ้าสังฆาฏิสวยงาม รอบองค์พระมีเส้นซุ้มรอบองค์พระ ๒ เส้น ด้านบนขององค์พระมีเส้นยอด ๓ เส้นสวยงาม โดยพระทั้ง ๓ หน้าจะมีลักษณะคล้ายกัน
ด้านฐาน เรียบ มีการแต่งตะไบ ในบางองค์มีรอยจารอักขระ
เหรียญหลวงพ่อขัน วัดบ้านสิงห์ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ หลังจากที่หลวงพ่อขันได้มรณะภาพลงแล้ว เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างเสนาสนะของวัดบ้านสิงห์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปพัดยศแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทองเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อขัน วัดบ้านสิงห์ ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อขัน นั่งเต็มองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มือซ้ายของหลวงพ่อถือตาลปัตร ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อขัน"
ด้านฐาน มีพระพุทธรูปปางสมาธิอยู่กลางเหรียญ ล้อมรอบด้วยอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้องค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบ้านสิงห์"
เหรียญหลวงพ่อขัน วัดสระตะโก รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ หลังจากที่หลวงพ่อขันได้มรณะภาพลงแล้ว เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างเสนาสนะของวัดสระตะโก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว จัดสร้างโดยหลวงพ่อหัน เจ้าอาวาสรูปถัดมาจากหลวงพ่อขัน มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงรมดำ และเนื้ออัลปาก้าชุปนิกเกิ้ล จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อขัน หลังหลวงพ่อหัน วัดสระตะโก ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดงรมดำ |
เหรียญหลวงพ่อขัน หลังหลวงพ่อหัน วัดสระตะโก ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้ออัลปาก้าชุปนิกเกิ้ล |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อขัน นั่งเต็มองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มือซ้ายของหลวงพ่อถือตาลปัตร ล้อมรอบด้วยอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ"ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อขัน"
ด้านฐาน เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหัน ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูหัน วัดสระตะโก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี"
ในด้านพุทธคุณนั้น พระเครื่องของของหลวงพ่อขันไม่เป็นสองรองใคร ทั้งอายุการสร้างที่เก่าร่วม ๑๐๐ ปี หรือจะเป็นเนื้อโลหะที่ท่านนำมาสร้าง ก็เป็นเนื้อเมฆพัตรที่ใช้กรรมวิธีการสร้างไม่ต่างกับพระปิดตาของหลวงพ่อปล้อง วัดหลุมดิน หรือพระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง แต่อย่างใด นอกจากนี้พระเครื่องของท่านยังมีประสบการณ์เรื่องของเหนียวและคล้าดแคล้วก็ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว.
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น