ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อวุ้น วัดท่าเรือ กาญจนบุรี พระสายเหนียวของท่าเรือ
หลวงพ่อวุ้น วัดท่าเรือ กาญจนบุรี |
หลวงพ่อวุ้น วัดท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์อีกรูปหนึ่งที่เข้มขลังของเมืองกาญจนบุรี พื้นเพท่านเป็นชาวกาญจน์มาแต่กำเนิด โดยท่านเกิดที่ ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๒ ซึ่งไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าโยมบิดาและโยมมารดาของท่านว่าชื่ออะไร
ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ หลวงพ่อวุ้น มีอายุครบบวชจึงได้เข้ารับอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากบาง ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับฉายาว่า "พุทธสโร" โดยมี
หลวงพ่อเปาะ วัดปากบาง เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังอุปสมบทแล้วท่านได้ไปศึกษา บาลี อยู่ที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร ต่อมาหลวงพ่อเปาะ พระอุปัชฌาย์ได้มรณภาพลง ท่านจึงได้กลับมาช่วยงานศพพระอุปัชฌาย์ และได้พักอยู่ที่วัดท่าเรือ ซึ่งมีพระอาจารย์ต่อม ซึ่งเป็นญาติกันเป็นเจ้าอาวาส
ต่อมาพระอาจารย์ต่อม จะลาสิขาบทจึงฝากหลวงพ่อวุ้น ดูแลวัดแทนไปก่อนจะมีเจ้าอาวาสรูปใหม่มาแทน แต่หลังพระอาจารย์ต่อมสึกก็ยังมิได้หาพระมาอยู่แทนหลวงพ่อวุ้นได้
หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีจึงแต่งตั้งให้หลวงพ่อวุ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดท่าเรือ เป็นราษฏร์สังกัดคณะสงห์มหานิกาน วัดตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๐๘ โดยหลวงจงภักดี (ต้นสกุลพันธุ์ภักดี) เป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้น
เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว ไม่มีพระพุทธรูปที่จะบูชาประจำวัด จึงได้ไปอาราธนาพระพุทธรูปที่อยู่ในโบสถ์ร้างบ้านท่าสาร ที่อยู่เหนือจากตำบลท่าเรือขึ้นไปตามลำน้ำประมาณ ๑ กิโลเมตร ให้มาเป็นพระประธานประจำวัด และขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "หลวงพ่อเพชร"
องค์พระมีพุทธลักษณะโดยรวมเป็นพระพุทธรูปตอนปลายสมัยอยุธยา ปางขัดสมาธิ แต่ที่พิเศษสร้างด้วยศิลาแดง ขนาดหน้าตัก ๒๙ นิ้ว มีลักษณะพุทธศิลป์แตกต่างจากองค์อื่นๆ คือ มีพระพักตร์ดุ มีพระศก (เกศา) เป็นหนามขนุนซึ่งบ่งบอกว่าสร้างในสมัยอู่ทอง รวมไปถึงยอดพระเกตุบนสุด ก็เป็นลักษณะหนามขนุนด้วย
วัดท่าเรือ ถือเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง ที่อยู่บนเส้นทางสัญจรทางน้ำตามลำน้ำแม่กลอง เพราะบริเวณวัดตั้งอยู่บริเวณเดียวกับสถานที่เป็นที่ตั้งของท่าเรือสำคัญในอดีต ที่คนแต่โบราณเรียกว่า ท่าเรือพระแท่น เป็นที่พักของเรือที่ใช้สัญจรขึ้นล่องขนถ่ายสินค้า
และเป็นท่าเรือสำคัญและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี เพราะเป็นท่าที่ผู้จะเดินทางไปนมัสการพระแทนดงรัง จะต้องใช้ท่าเรือนี้เดินทางต่อไปเพื่อนมัสการพระแท่นดงรัง
โบสถ์เก่าของวัดน่าจะสร้างเมือปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื่องจากกระเบื้องหลังคาโบสถ์เดิมมุงเป็นตัวเลข ๒๔๖๐ ไว้ หากเป็นดังนั้น อุโบสถหลังนี้จะก่อสร้างตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
อุโบสถเก่านี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายคราว ภายในพระอุโบสถมีพระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย ส่วนฐานของพระมีข้อความหล่อติดไว้ดังนี้ "พระองค์นี้ นางมอน หลงกุศล สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ อุทิศมนุญผลฉลองคุณ - นายหลง - บิดา, นางพุก - มารดา" ปัจจุบันพระประธานองค์นี้ทางวัดเคลื่อนย้ายไปประดิษฐานที่กุฏิสงฆ์
วัดท่าเรือ เดิมขึ้นอยู่กับคณะแขวงพระแท่น จังหวัดราชบุรี จนถึงวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จกลับจากการตรวจคณะสงฆ์ที่กาญจนบุรี ได้แวะกลับมาที่เมืองราชบุรี ถึงพลับพลาหน้าวัดท่าเรือ แขวงพระแท่น เมืองราชบุรี
ขณะนั้นพระครูท้วม เจ้าอาวาสวัดท่าเรือเป็นเจ้าคณะแขวง แต่เป็นผู้ขาดความเอาใจใส่ในหน้าที่ เฉื่อยชา และมึนตึง กราบทูลการงานในหน้าที่ให้ทราบไม่ได้ตลอด มีพระดำรัสถามข้อความอะไรก็ไม่เข้าใจ ไม่สมควรเป็นพระผู้ใหญ่ปกครองคณะต่อไป
พระอธิการปิ๋ว วัดกระทุ่มน้อย ผู้มาเฝ้าเป็นเพียงเจ้าอาวาส ยังสามารถกรายทูลการงานให้ทรงทราบได้มากกว่า ประกอบคณะแขวงพระแท่นนี้อยู่ติดกับคณะแขวงวังขนาย เมืองกาญจนบุรี ที่มีคณะสงฆ์ที่จัดการปกครองได้เรียบร้อยดีด้วยมี พระครูวิสุทธฺรังสีเป็นเจ้าคณะเมือง
จึงตรัสรับสั่งให้แยกคณะแขวงพระแท่น จากคณะเมืองราชบุรี ยกไปขึ้นกับคณะเมืองกาญจนบุรี และถอนพระครูท้วมออกจากตำแหน่งเจ้าคณะแขวงพระแท่น
ทรงตั้งเจ้าอธิการพรต เจ้าอาวาสวัดศรีโลหะฯ เจ้าคณะหมวดตำบลท่าม่วง อำเภอวังขนาย เมืองกาญจนบุรี เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะแขวงพระแท่นฯ นับแต่นั้นมาวัดท่าเรือก็ย้ายมาขึ้นอยู่กับคณะกาญจนบุรีจนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อวุ้น ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ส่วนวิชาอาคมของท่าน ก็มีมากมายหลายอย่าง เช่น เรียกเหล็กเข้าตัว โดยท่านเสกเหล็กผานไถย่อยเท่าเม็ดถั่วเขียว ทำพิธีเรียกเข้าตัว วิชาลงตะกรุดแคล้วคลาด วิชาลงธงมหาลาภ วิชาลงตะกรุดสาลิกา วิชาทำลูกอมบังกาย
ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีผู้ไปหาของขลังที่วัดของหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ พอหลวงพ่อทราบว่าอยู่ท่าเรือ หลวงพ่อเปลี่ยนจึงพูดว่า "พวกเอ็งนี่ใกล้เกลือกินด่าง" ซึ่งหมายความว่า อยู่ท่าเรือไม่มีของดีจากหลวงพ่อวุ้น กลับมาหาของดีจากวัดอื่น
หลวงพ่อวุ้น วัดท่าเรือ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณะภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีจอ ตรงกับ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ นับรวมสิริอายุได้ ๗๙ ปี ๕๘ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อวุ้น วัดท่าเรือ
เหรียญหลวงพ่อวุ้น วัดท่าเรือ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า จำนวน ๘๖ เหรียญ และเนื้อทองแดง ประมาณ ๒,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อวุ่น วัดท่าเรือ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อวุ้น ครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อวุ้น พุทธสโร วัดท่าเรือ"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดท่าเรือ"
รูปหล่อหลวงพ่อวุ้น วัดท่าเรือ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณ เนื้อทองผสมแก่ทองแดง พระชุดนี้ได้รับการปลุกเสกเดี่ยวจากหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
รูปหล่อหลวงพ่อวุ่น วัดท่าเรือ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองผสม |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อวุ้น นั่งสมาธิเต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีรัดประคต บนฐานเขียง มีอักขระภาษาไทยนูนออกมาจากฐานเขียนว่า "หลวงพ่อวุ้น"
ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ แต่จะมีการตอกโค้ด "ทร" ที่ฐานเขียง
ด้านฐาน เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
รูปหล่อหลวงพ่อวุ้น วัดท่าเรือ รุ่นสอง
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณ เนื้อทองผสมแก่ทองแดง หลวงพ่อปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
รูปหล่อหลวงพ่อวุ่น วัดท่าเรือ รุ่นสอง ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เนื้อทองผสม |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อวุ้น นั่งสมาธิเต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีรัดประคต บนฐานเขียง มีอักขระภาษาไทยจมลงไปในฐานเขียนว่า "หลวงพ่อวุ้น"
ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ บางองค์มีการตอกโค้ดที่ฐานเขียง
ด้านฐาน เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น