ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง พระเกจิยุคเก่าของเมืองกาญจนบุรี
![]() |
หลวงพ่อชื่น วัดปากบาง กาญจนบุรี |
หลวงพ่อชื่น วัดปากบาง ท่านเป็นพระเกจิยุคเก่าอีกรูปหนึ่งของเมืองกาญจนบุรี ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ของวัดปากบาง และได้พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก
วัดปากบาง เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๖ บ้านปากบาง หมู่ที่ ๑ ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๒ งาน ๑๘ ตารางวา
วัดปากบาง ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ตามตำนานเล่าว่ามีสามี-ภรรยาคู่หนึ่งเป็นผู้ก่อสร้างและบูรณะวัด มีปรากฏชื่อในเอกสารการเสด็จพระราชดำเนินการเสด็จประพาสมาแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์
แต่ไม่มีหลักฐานว่าวัดปากบางสร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากการศึกษาศิลปกรรมอย่างอุโบสถ น่าเชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงช่วงรัชกาลที่ ๖
ภายในพระอุโบสถหลังเก่าประดิษฐาน พระพุทธรูปที่เรียกว่า "หลวงพ่อพระพุทธศรีมงคล" เป็นพระพุทธรูปแบบโบราณ ๔ องค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลักษณะแก้มอิ่ม มีรอยยิ้ม นัยน์ตาพระพุทธรูปมีแววอ่อนโยน ภายในตัวโบสถ์ไม่มีภาพใดๆทั้งสิ้นฝาผนังโล่งไม่มีภาพเขียน เพดานปูด้วยไม้กระดาน มี ๒ ระดับ
หลวงพ่อชื่น วัดปากบาง กาญจนบุรี |
หน้าบันพระอุโบสถเป็นรูปปั้นพระพุทธเจ้ากับหญิงสาวที่มาถวายของ หลังคามุงด้วยกระเบื้องโบราณ มีช่อฟ้าใบระกาที่ยังอยู่ในสภาพดี ลายหน้าอุดปีกนก ๒ ชั้น ปั้นด้วยปูนเป็นตัวพยานาค ทั้ง ๒ ชั้น หน้าพระอุโบสถ มีพะไลที่สร้างด้วยไม้มุงกระเบื้อง
วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เขตวิสุงคามสีมากว่าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนามดังนี้
๑. หลวงพ่อแขก
๒. หลวงพ่อเกตุ
๓. หลวงพ่ออินทร์
๔. หลวงพ่อเปาะ (โป๊ะ)
๕. หลวงพ่อชื่น
๖. หลวงพ่อแคล้ว
๗. หลวงพ่อปลิ๋ว
๘. พระครูสุทัศน์กาญจนกิจ
หลวงพ่อชื่น จากประวัติที่สืบได้นั้น คนเฒ่าคนแก่เล่าต่อๆ กันมาว่า ท่านเป็นพระเกจิเก่งกาจด้านคาถาอาคม และยังมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้มีผู้มาฝากตัวเป็นศิษย์กับท่านมากมาย วัตถุมงคลของท่านเด่นทางด้านคลาดแคล้ว คงกระพัน
นอกจากนี้ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ที่มีลูกศิษย์ที่เป็นพระเกจิชื่อดังมากมาย อาทิเช่น หลวงพ่อจุ่น วัดเขาสะพายแร้ง ที่บวชในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ พัทธสีมาวัดสยามแย้
หลวงพ่อชื่น วัดปากบาง และหลวงพ่อแคล้ว วัดปากบาง กาญจนบุรี |
รวมทั้งท่านยังเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อเกลี้ยง วัดเขาใหญ่ ที่มาฝากตัวเรียนวิชาอยู่กับท่านในช่วง พรรษาที่ ๘ - ๑๒ นับเป็นเวลาถึง ๕ ปี กว่าจะเรียนวิชาจนหมด ซึ่งอยู่ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึง ปี พ.ศ. ๒๔๗๖
นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระอาจารย์และพระกรรมวาจาจารย์ของหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก พระเกจิยุคหลังปี ๒๕๐๐ ที่โด่งดังของเมืองกาญจนบุรีอีกด้วย
หลวงพ่อชื่น วัดปากบาง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ นับเป็นการสูญเสียพระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังอีกหนึ่งรูปของเมืองกาญจน์.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมา ข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง เหรียญรุ่นนี้แม้จะเป็นเหรียญตายแต่ก็ได้หลวงปู่เปลี่ยน วัดใต้ ปลุกเสก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อชื่นครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการฌาปนกิจพระอุปฌาชื่น ๒๔๘๐"
ด้านหลัง เป็นรูปใบเสมาอยู่ที่กลางเหรียญ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก ในงานผูกพัทธสีมาวัดปากบาง"
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ แต่แกะบล็อกด้านหน้าแบบเหรียญรุ่นแรก เพื่อแจกในให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง เหรียญรุ่นนี้แม้จะเป็นเหรียญตายแต่ก็ได้หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ปลุกเสก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง กาญจนบุรี รุ่น ๒ (ย้อน) ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อชื่นครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการฌาปนกิจพระอุปฌาชื่น ๒๔๘๐" ซึ่งไม่ใช่ปีที่สร้าง
ด้านหลัง เป็นรูปยันต์เสืออยู่ที่กลางเหรียญ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดปากบาง"
พระปิดตาหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง
เชื่อกันว่าสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ลักษณะเป็นพระปิดตามหาอุดแบบเป้าประกบ มีการสร้างด้วยเนื้อเมฆพัตรเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น ปัจจุบันเล่นหากันเป็นพระของหลวงพ่อชื่น วัดบางปาก (โปรดใช้วิจารณญาณ) จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกพระปิดตาหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื้อเมฆพัตร |
ด้านหน้า เป็นรูปพระปิดตามหาอุด ที่หัวไหล่และหัวเข่าขององค์พระ มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ธะ"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "อะ มะ อะ อุ" แถวล่างสุดมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ"
ไม่มีความคิดเห็น