โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน (วัดสันติคีรีศรีบรมธาตุ) กาญจนบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน กาญจนบุรี
หลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน กาญจนบุรี

         หลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน หรือ พระครูภาวนาวกิจ (เปรมสีโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดสันติคีรีศรีบรมธาตุ กาญจนบุรี ท่านเกิดเมื่อวันที ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ แต่ไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่านว่าชื่ออะไร หลวงพ่อท่านเป็นพระเกจิยุคหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่โด่งดังของเมืองกาญจนบุรีอีกรูปหนึ่ง

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เมื่อหลวงพ่อเล็กมีอายุได้ ๑๔ ปี ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ครอบครัวของท่านต้องลำบาก หลวงพ่อต้องลาออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อแม่ทำงานอยู่ระยะหนึ่ง 

         ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงพ่อมีอายุได้ ๑๗ ปี ท่านได้ออกจากบ้านไปฝึกช่างเชื่อมโลหะที่กรุงเทพฯ เป็นอยู่ได้ประมาณ ๑ ปีเศษ และได้มีโอกาสเป็นครูช่างฝึกสอนนักเรียนโรงเรียนการช่างที่ กรุงเทพฯ 

         ในระหว่างที่ประกอบอาชีพเป็นครูช่างอยู่นั้นท่านได้สนใจศึกษาพุทธศาสนาทางไสยศาสตร์ควบคู่กันไป โดยอาจารย์คนแรกของท่านเป็นฆราวาสชื่อว่าอาจารย์ทองสุก ไม่ทราบนามสกุล เป็นคนบ้านกล้วย จังหวัดราชบุรี 

อาจารย์ทองสุก วัดบ้านกล้วย ราชบุรี
ฆราวาสทองสุก บ้านกล้วย ราชบุรี อาจารย์ของหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน

         อาจารย์ทองสุก เป็นทหารสนิทของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ และเคยติดตามกรมหลวงไปวัดปากคลองมะขามเฒ่า วิชาที่อาจารย์ทองสุกเชี่ยวชาญคือวิชาจับผีไล่ผี 

         ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านมีอายุครบ ๒๑ ปี ท่านต้องเข้ารับราชการทหาร ครั้นเมื่อท่านจับได้ใบดำ ไม่ต้องเป็นทหาร ท่านจึงเอาเวลามุ่งไปทางไสยเวทย์ที่ท่านสนใจอยู่ ท่านได้พยายามสืบเสาะหาพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเพื่อน้อมนำเป็นลูกศิษย์ศึกษาพระเวทย์ตามความคิดและความต้องการของท่าน

         ทำให้ท่านได้พบกับพระอาจารย์ชื่อดังแห่งยุค สมญานามว่า ผู้ชนะสิบทิศ คือพระอาจารย์ทองดี อุชัยอังกุโร แห่งวัดท่าเกวียน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 

         หลวงพ่อเล็กได้กราบและขอบวชเป็นศิษย์ท่าน เพื่อขอเล่าเรียนวิชาอาคมกับท่าน โดยพระอาจารย์ทองดี นั้นได้รับสมญานามว่าผู้ชนะสิบทิศ เพราะว่า มีอยู่คราวหนึ่งที่วัดชนะสงครามฯ ได้จัดให้มีการแข่งขันพระเกจิอาจารย์ ๑๐๘ รูปซึ่ง ๑ ใน ๑๐๘ รูป นั้นก็มีพระอาจารย์ทองดีรวมอยู่ด้วย การคัดเลือกได้เป็นไปทีละขั้นตอนจนกระทั่งในที่สุดการคัดเลือกก็มาถึงช่วงสุดท้าย ซึ่งมีพระเกจิอาจารย์เข้ารอบเพียง ๘ รูปเท่านั้น 

         หลวงพ่อเล็กเล่าให้ฟังว่า เท่าที่จำได้ก็มีหลวงพ่อจง หลวงพ่อจัด หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง และพระอาจารย์ทองดีซึ่งหนุ่มที่สุด หลวงพ่อแช่มท่านอาวุโสกว่าเพื่อนเป็นองค์นั่งบริกรรมแข่งขันกันว่าใครจะมีอำนาจพลังจิตสูงสุด ท่านได้นำเหล็กจารมาบริกรรมคาถาโดยให้พระเกจิอาจารย์ที่เหลือนั่งล้อมวง เมื่อบริกรรมเสร็จท่านก็เอาเหล็กจารวางบนพื้นแล้วตบลงไป เหล็กจารกลับกลายเป็นจิ้งเหลนในทันที จิ้งเหลนจากเหล็กจารของหลวงพ่อแช่มวิ่งวนไปรอบๆ พระเกจิที่นั่งล้อมรอบ

พระอาจารย์ทองดี วัดท่าเกวียน
พระอาจารย์ทองดี อุชัยอังกุโร วัดท่าเกวียน พระอาจารย์ของหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน

         ในรอบแรกผ่านไปไม่มีใครจับได้ แต่พอรอบสองหลวงพ่อจัดจับไว้ได้แต่ยังเป็นจิ้งเหลนอยู่ไม่กลับเป็นเหล็กจารอันเป็นต้นกำเนิด จึงปล่อยจิ้งเหลนให้วิ่งวนไปตามเดิมแต่ก็ไม่มีใครสามารถจับได้หลวงพ่อแช่มจึงบอกให้พระอาจารย์ทองดีลองจับดูซึ่งพระอาจารย์ทองดี นั่งเงียบมาตลอดเพราะมีอาวุโสน้อยกว่าเพื่อน พระอาจารย์ทองดีจึงจับจิ้งเหลนตามคำสั่ง หลวงพ่อแช่ม ปรากฏว่าจับได้และที่มหัศจรรย์คือจิ้งเหลนเสกหลวงพ่อแช่มกลับกลายเป็นเหล็กจารตามสภาพเดิมทันที 

         คณะกรรมการจึงตัดสินให้พระอาจารย์ทองดีเป็นผู้ชนะในการแข่งขันและได้รับสมญานามว่า ผู้ชนะสิบทิศ หลวงพ่อเล็กได้ศึกษาวิชากับ พระอาจารย์ทองดีในฐานะทายาทพุทธาคม เมื่อพระอาจารย์ทองดี มรณภาพ ก็ได้มอบตำราคาถาอาคมต่างๆ ให้กับหลวงพ่อเล็ก ซึ่งท่านรักและเมตตาเพื่อให้เป็นทายาทสืบแทนท่านต่อไป 

         วิชาอาคมที่หลวงพ่อเล็กได้ร่ำเรียนมาจากพระอาจารย์ทองดีนั้นเป็นวิชาที่ลึกลับและศึกษายากมาก เช่น วิชาตะกรุดใต้น้ำ หนุมานห้ามทัพ หนุมานงำเมือง หนุมานสะกดทัพ หลวงพ่อเล็กสามารถรับการถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี

         ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ หลวงพ่อเล็กได้ออกธุดงค์มาจำพรรษา ณ วัดพระญาติการาม อยุธยา และได้ศึกษาคาถาอาคมกับพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอีก ๒ รูป ได้แก่ หลวงพ่ออั้น ศิษย์หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ หลวงพ่ออั้นได้ถ่านทอดวิชามหาราช ลบถม และสอนการฝึกกรรมฐาน ส่วนพระรูปที่สองคือ หลวงพ่อเภา ผู้ได้รับสมญานามว่า อาจารย์หินทุ่ม ท่านได้สอนวิชามหาชาตรี ให้

         ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านธุดงค์ผ่านมาที่สุพรรณบุรี และได้มาศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่ออ่อน ญาตุโน ผู้เชี่ยวชาญด้าน สมถกัมมัฏฐาน ตำรายา และโดยเฉพาะการหยั่งรู้อนาคต จนเชี่ยวชาญแตกฉานแล้วท่านจึงออกธุดงค์ต่อไปอีก

         ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านได้เดินทางเข้าสู่เขตจังหวัดนครสวรรค์ และได้ไปขอศึกษาวิชากับหลวงพ่อทูล คือวิชาแต่งคน ซึ่งเป็นวิชาเสกอาคมคุ้มครองให้ปลอดภัยจากศัตรู วิชาทำเขต เป็นวิชาเกี่ยวกับการสร้างเขตคุ้มครอง เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ไม่ให้รบกวนและวิชาเมตตามหานิยม

         ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้ธุดงค์เข้าสู่เขตจังหวัดชัยนาท เพื่อติดตามวิชาวัดปากคลองมะขามเฒ่า เมื่อท่านไปถึงได้พบกับศิษย์ของหลวงปู่ศุข ชื่อพระสมุห์กลับ แสงเขียว ท่านผู้นี้อยู่กับหลวงปู่ศุข มาตลอด และเป็นผู้ใกล้ชิดที่สุดตำราจึงตกอยู่กับพระสมุห์กลับมากมาย 

         หลวงพ่อเล็กจึงขอเรียนวิชาอาคมต่างๆ ตลอดตำราพิชัยสงคราม ตำราพิชัยยุทธ ซึ่งเป็นวิชาวิชาหลักในการศึกษาไสยศาสตร์ พระสมุห์กลับ ท่านมีความสามารถมาก ตามประวัติท่านนั้นเล่ากันว่าสามารถแปลงตัวเป็นหมูป่าไปตามสถานที่ต่างๆ ได้และท่านก็ได้สอนวิชาสำคัญต่างๆ ให้กับหลวงพ่อเล็กเป็นอย่างดี 

         หลังจากได้ศึกษาวิชาจนเชี่ยวชาญแตกฉานหลวงพ่อเล็กก็ธุดงค์มายังจังหวัดกาญจนบุรี และเริ่มสร้างกระท่อมร้างกลางป่าช้า และลองไสยศาสตร์ต่างๆ เช่นการผูกหุ่นพยนต์ การปลุกผีในป่าช้า ฯลฯ

         ใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งช่วงนั้นทางวัดเขาดิน ได้รับการจัดตั้งเป็นวัดขึ้น และยังว่างเว้นตำแหน่งเจ้าอาวาส ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงสืบเสาะหาจนมาพบหลวงพ่อเล็ก ซึ่งเป็นพระที่น่าเลื่อมใส จึงได้นิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดเพื่อปกครองวัดเขาดินต่อไป

วัดเขาดิน หรือ วัดสันติคิรีศรีบรทธาต์ กาญจนบุรี
วัดเขาดิน หรือ วัดสันติคิรีศรีบรมธาตุ กาญจนบุรี

         วัดสันติคิรีศรีบรมธาตุ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "วัดเขาดิน" ตั้งอยู่บริเวณถนนแสงชูโต  ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ ๑๑๘ – ๑๑๙ หมู่ ๔ ตำบลท่าล้อ  อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นที่ดินที่กองทัพบกยกให้ ณ หมู่บ้านเขาดิน  ตรงข้ามศูนย์การฝึกของกรมการขนส่งทางบก วัดนี้เดิมเรียกกันว่า "วัดเขาดิน" ตามสภาพภูมิประเทศที่ตั้งของวัดเป็นภูเขาดินสูง ๑๑ วา

         วัดสันติคิรีศรีบรมธาตุเป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔  เริ่มแรกเป็นเพียงสำนักสงฆ์ เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๘ อดีตสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณศิริ)  ขณะดำรงสมณศักดิ์  พระธรรมดิลก  ได้รับวัดนี้อยู่ในความอุปถัมภ์และได้ขนานนามให้วัดใหม่มีชื่อปรากฎตามหลักฐานว่า "วัดสันติคิรี" 

         เมื่อหลวงพ่อเล็ก ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาดิน ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ จนวัดได้เจริญขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ท่านยังได้อบรมชาวบ้านเขาดินให้อยู่ในศีลในธรรม 

         จนในปี พ.ศ. ๒๕๐๙  ร.อ.ทวี ทิวแก้ว  แห่งอาศรมชีประขาว  และคณะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระสาวกธาตุจำนวนมากมาบรรจุ ณ พระปรางค์พระบรมธาตุเจดีย์ หลวงพ่อเล็ก จึงก็ได้เปลี่ยนนามวัดให้ใหม่อีกวาระหนึ่ง ตามลิขิตซึ่งมีคณะกรรมการบริหารวัดข้อความว่า "....เมื่อปรากฎว่าวัดสินติคิรีนี้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วย ก็ควรให้ปรากฏเป็นเกียรติวัด ฉะนั้นในการตั้งชื่อวัดควรว่า วัดสันติคิรีศรีบรมธาตุ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙" 

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ หลวงพ่อเล็กและคณะกรรมการวัดได้ร่วมกันขอพระราชทานวิสุงคามสีมาวัดเขาดิน จนมีพระบรมราชโอการลงวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๒  

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ทางวัดได้สร้างพระอุโบสถจนสำเร็จลุล่วง โดยทางวัดได้รวบรวมเงินบริจาคและเงินทำบุญและด้วยบารมีของหลวงพ่อเล็ก ทำให้งานลุล่วงไปได้โดยง่าย จนสามารถประกอบพิธีผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตร  เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๔ 

         นากจากนี้ท่านยังได้ส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ท่านมีวิริยะอุตสาหะทำนุบำรุงพัฒนาวัดและสร้างถาวรวัตถุให้กับวัดอย่างมาก ได้ชักชวนผู้มีจิตศรัทธาให้ความอุปการะก่อสร้างอาคารเสนาสนะต่างๆ อาทิเช่น

        สร้างศาลาการเปรียญอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นอาคาร ๒ ชั้น ขนาดใหญ่เนื้อที่กว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๕๐ เมตร แทนที่หลังเดิมที่มีสภาพชำรุด ทรุดโทรม ไม่สามารถใช้การได้ 

         สร้างพระอุโบสถ วิหารพระร่วง โรงเรียนปริยัติธรรม วิหารพระศรีอาริย์ กุฏิสงฆ์ ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด 

เสนาสนะภายในวัดเขาดิน กาญจนบุรี
เสนาสนะต่างๆ ภายในวัดเขาดิน กาญจนบุรี

         สิ่งสำคัญภายในวัดนอกจากพระบรมสารีริกาธาตุ และสมเด็จพระร่วมฤทธิ์โรจน์ ยังมีรูปหลวงพ่อพระศรีอาริย์  รูปฤาษีบรมโกส รูปหมอชีวกโกมารภัจ  รูปหลวงปู่ทวด รูปหลวงปู่พระครูดำ  อีกทั้งพระพุทธบาท ๔ รอย จำลองมาจากพระพุทธบาทสี่รอย ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

         นอกจากนี้ยังสร้างรูปหลวงปู่ทวด ขนาดใหญ่จำลองจากรูปหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี โดยมีคุณทวี ทิวแก้ว มีศรัทธาสร้างด้วยเงินบริจาคของคณะศิษย์ อาศรมชีประขาว จังหวัดฉะเชิงเทรา 

         แล้วยังมีเงินเหลือนำมาสร้างพระอุโบสถหลังปัจจุบันพร้อมด้วยบุษบกที่ประดิษฐานรูปหลวงปู่ทวดและพระปรางค์ที่เป็นพระองค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้จดทะเบียนมีมูลนิธิ ชื่อว่า "มูลนิธิสมเด็จหลวงปู่ทวด  วันสันติคิรีศรีบรมธาตุ"  ตั้งขึ้น พ.ศ. ๒๕๑๕  จำนวนเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐  บาท  (หนึ่งล้านบาท)  เป็นเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคนานผูกพัทธสีมาปิดทองลูกนิมิตพระอุโบส

         หลวงพ่อเล็ก ปกครองวัดเขาดินเรื่อยมาจนมรณภาพอย่างสงบในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ นับรวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี ๖๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน

         หลวงพ่อทวด หลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๓ หลังจากที่หลวงพ่อเล็กได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาดิน ลักษณะเป็นพระเนื้อดินผสมว่าน คล้ายพระเล็บมือ มีการสร้างด้วยเนื้อดินผสมว่านและดินกากยายักษ์ของหลวงพ่อทวด วัดช้างไห้ และผงวิเศษต่างๆที่หลวงพ่อเล็กได้รวบรวมสะสมไว้ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระพิมพ์หลวงพ่อทวด หลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน กาญจนบุรี 2509
พระพิมพ์หลวงพ่อทวด หลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน หลังปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เนื้อดินผสมว่าน
พระพิมพ์หลวงพ่อทวด หลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน กาญจนบุรี 2509
พระพิมพ์หลวงพ่อทวด หลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน หลังปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เนื้อดินผสมว่าน

         ด้านหน้า จำลองเป็นองค์หลวงพ่อทวด วัดช้างไห้ นั่งสมาธิบนฐานบัว องค์หลวงพ่อทวดห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ บริเวณเหนือมือของหลวงพ่อมีลูกแก้ว

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         หนุมานงำเมืองหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ลักษณะเป็นทรงกลม มีการสร้างด้วยเนื้อผง และเนื้อดินผสมว่าน ซึ่งมีส่วนผสมของผงวิเศษต่างๆที่หลวงพ่อเล็กได้รวบรวมสะสมไว้ และผงวิเศษที่หลวงพ่อเล็กได้ลบผงเอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

หนุมานงำเมืองหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน กาญจนบุรี 2509-2.jpg
หนุมานงำเมืองหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้อดินผสมผง ของคุณไก่ เมืองกาญจน์
หนุมานงำเมืองหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้อดินผสมผง
หนุมานงำเมืองหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้อผง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหนุมานอมประเทศไทย โดยแปลงคติความเชื่อมาจากหนุมานอาสาอมพลับพลาตามวรรณกรรมรามเกียรติ์ ตอนศึกไมยราพ ใต้แขนหนุมานมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์เฑาะว์ตรงกลาง มีอักขระยันต์รอบยันต์อีกทีหนึ่ง

         หนุมานห้ามทัพหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ลักษณะเป็นรูปจำลองหนุมานขุกเข่าพนมมือตัดชิด มีสร้างด้วยเนื้อดินผสมผงและว่านวิเศษต่างๆ แล้วปิดทองทับทั้งองค์ โดยมีส่วนผสมของผงวิเศษต่างๆที่หลวงพ่อเล็กได้รวบรวมสะสมไว้ และผงวิเศษที่หลวงพ่อเล็กได้ลบผงเอง จัดเป็นวัตถุมงคลยุคเก่าของหลวงพ่อที่มีประวัติการสร้างที่ชัดเจน จำนวนการสร้างประมาณ ๒๐๐ ตน

หนุมานห้ามทัพหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน กาญจนบุรี 2509
หนุมานห้ามทัพหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๐๙

หนุมานห้ามทัพหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน กาญจนบุรี 2509
หนุมานห้ามทัพหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๐๙

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหนุมานขุกเข่าพนมมือ องค์หนุมานสวมรัดเกล้าและรัดแขน นุ่งผ้าลายตาราง มีเอกลักษณ์ ปิดทองทั้งองค์

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         เสือมหาอำนาจหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ลักษณะเป็นรูปจำลองเสือนั่งอ้าปาก แสดงถึงอำนาจ มีสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง จัดเป็นวัตถุมงคลของหลวงพ่อที่หายากมีประวัติการสร้างที่ชัดเจนหายาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เสือมหาอำนาจหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน กาญจนบุรี 2519 เนื้อโลหะ
เสือมหาอำนาจหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน  ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อเนื้อโลหะ

เสือมหาอำนาจหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน กาญจนบุรี 2519 เนื้อโลหะ
เสือมหาอำนาจหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน  ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อเนื้อโลหะ ของคุณมานพ ศรีโสภณ

เสือมหาอำนาจหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน กาญจนบุรี 2519 เนื้อโลหะ
เสือมหาอำนาจหลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน  ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อเนื้อโลหะ ของคุณมานพ ศรีโสภณ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปเสือนั่งอ้าปาก

         ด้านฐาน เรียบ มีอักขระยันต์เฑาะห์ อักชระยันต์ "นะมหาอุด" และอักขระขอมตัว "นะ"

 

 

หมายเหตุ : วัตถุมงคลบางรุ่นไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้.
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้