ประวัติและวัตถุมงคลอาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว ฆราวาสจอมขมังเวทย์ อาจารย์สักเรืองวิชาของเมืองแม่กลอง
อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว |
อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว ท่านเป็นฆราวาสจอมขมังเวทย์เรืองวิชาอีกคนหนึ่งของลุ่มน้ำแม่กลอง โดยประวัติวันเดือนปีเกิดของท่านไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เมื่อตอนที่ท่านมีอายุครบบวช ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดหงษ์ เมื่อบวชได้ระยะเวลาหนึ่งจึงได้ลาสิกขาบทมามีครอบครัว โดยยึดอาชีพทำสวนในเขตพื้นที่วัดบางใหญ่ อำเภอบางคนที
ในสมัยหนุ่มๆ ท่านมีความสนใจในวิชาอาคม จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาอาคมจากพระเกจิชื่อดังต่างๆ ในสมัยนั้น ตามคำบอกเล่าจากปากของท่านเองนั้น ท่านเล่าให้ศิษย์ฟังว่า ท่านได้ไปฝากตัวเรียนวิชากับหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย เพื่อเรียนวิชาวิปัสนากัมมัฏฐาน
หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร หรือ พระครูชุ่ม วัดราชคาม |
สมัยก่อนนั้นเคยมีคนถามท่านว่าหากขึ้นราชบุรีคณาจารย์ท่านไหนขลัง ท่านอาจารย์รื่นจะบอกว่าหลวงพ่อชุ่มครบเครื่อง
ส่วนเรื่องมาฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชากับหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม เหมือนกับอาจารย์หนู ทองศิริ อาจารย์สักชื่อดังของราชบุรีที่มาฝากตัวเรียนวิชาหรือเปล่านั้นต้องตีความกันต่อไป
แต่จากคำพูดของท่านนั่นย่อมต้องแปลว่า ท่านต้องเคยพบและให้ความเคารพนับถือหลวงพ่อชุ่มเป็นอย่างมาก
ซึ่งหลวงพ่อชุ่มท่านเดินธุดงค์ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านจึงเก่งวิชาด้านมหาอุด คงกระพันแคล้วคลาด และเก่งด้านอักขระเลขยันต์และคาถาอาคมต่างๆ
ในส่วนของหลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ สมัยก่อนคนมักเข้าใจผิดว่าไปฝากตัวเรียนวิชากับหลวงพ่อเหมือน แต่ในความเป็นจริงแล้วท่านไม่ได้เรียนวิชาด้วย แต่ชื่นชอบการสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเหมือนและช่วงที่สนทนาธรรมกับหลวงพ่อเหมือนนี้เอง
อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว จึงได้รับการไหว้วานให้ รวบรวมและผสมผงเพื่อสร้างพระกลีบบัวของหลวงพ่อเหมือน อีกด้วย
นอกจากนี้ท่านอาจารย์รื่น ท่านยังสืบสายวิชามากจากปู่เปี่ยม ปานเปี่ยมเกียรติ ฆราวาสชื่อดังสายวัดพลับ กรุงเทพฯ อีกด้วย
ภาพถ่ายปู่เปี่ยม ปานเปี่ยมเกียรติ ฆราวาสสายวัดพลับ |
และจากการที่ท่านร่ำเรียนวิชาอาคม จึงได้เปิดบ้านเป็นสำนัก และเริ่มสักยันต์ให้กับผู้ที่สนใจและฝากตัวเป็นศิษย์ ซึ่งส่วนใหญ่ท่านจะสักหมึกจีน แต่ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่นิยมในสมัยนั้น คือการสักน้ำมันให้ศิษย์
โดยรอยสักที่เป็นสัญลักษณ์ของสำนักอาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว นั้นหลังจากที่ท่านสักน้ำมันที่กระหม่อนเป็นยันต์ครูแล้ว ท่านถึงจะสักยันต์ตามวิชาของท่านซึ่งก็คือ รอยสักรูปกลมๆ คล้ายกับงบน้ำอ้อย หรือเหรียญอีแปะ ศิษย์บางท่านจะเรียกว่ารอยธรรมจักร
เชื่อกันว่ามีพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ อย่างครบถ้วน ซึ่งศิษย์ที่มาสักกับท่านต้อง ผ่านพิธีกรรมตามตำหรับครูบาอาจารย์ของท่าน ท่านจึงจะสักให้ ในคราวที่มีศิษย์มาสักกับท่านหลายๆคน ท่านจะให้นั่งล้อมเป็นวงกลมแล้วเอาหัวชน แล้วท่านจึงเป่าคาถาทีเดียว
ภาพรอยสักของอาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว |
เมื่อสักเสร็จแล้ว ท่านจะลองด้วยของมีคมหรือหอกใบข้าว เฉือนเนื้อให้เห็นว่าเหนียวจริง ก่อนจะบอกเคล็ดการดำรงตนให้คาถาไม่เสื่อมถอยไปปฏิบัติตน
ในช่วงปลายชีวิตของท่าน ท่านได้เป็นสำนักรักษาคนด้วยสมุนไพร ตามตำราแพทย์ของท่าน จนท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอยาสมุนไพร นอกจากนี้ท่านยังแพทย์ประจำตำบล ใส่ชุดสีกาสีมีเข็มกลัด และเป็นครูสอนพระกรรมฐานอีกด้วย.
ปัจจุบันมีรูปหล่ออาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว ที่ตั่งอยู่ในวิหารวัดบางใหญ่ ไว้ให้ลูกศิษย์ท่านได้กราบไหว้ ส่วนสาเหตุที่วัดบางใหญ่หล่อรูปท่านนั้น เพราะท่านเป็นผู้ที่ร่วมหาทุนสร้างโบสถ์ให้กับทางวัดนั่นเอง.
วัตถุมงคลอาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว
เหรียญอาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว รุ่นแรก
สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปสี่เหลี่ยมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญอาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว สมุทรสงคราม เนื้ออัลปาก้า |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองอาจารย์รื่น นั่งสมาธิบนผืนผ้า ใต้รูปมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และมีอักขระยันต์ล้อมรอบ
เหรียญอาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว รุ่นปี ๑๙
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญอาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองอาจารย์รื่นครึ่งตัว ใต้รูปมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และมีอักขระยันต์ล้อมรอบ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๑๙" ซึ่งคิือปีที่สร้างเหรียญ
ข้อมูลบางส่วน : ฅนขลัง คลังวิชา
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น