ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อฮวด (พระครูวิมลกิติ) วัดพเนินพลู อีกหนึ่งเหรียญดีของราชบุรี
หลวงพ่อฮวด (พระครูวิมลกิตติ) วัดพเนินพลู ราชบุรี |
หลวงพ่อฮวด หรือ พระครูวิมลกิติ อดีตเจ้าอาวาสวัดพเนินพลู ตำบลบางป่า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ตามประวัติทราบว่าท่านเกิดเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ที่บ้านตำบลสี่หมื่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มีชื่อจริงว่าโกศล แซ่อึ้ง โยมบิดาชื่อนายแม้ แซ่อึ้ง มีดยมมารดาชื่อนางขลิน แซ่อึ้ง
เมื่อท่านมีอายุได้ ๒๖ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดช่องลม อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้รับฉายาว่า "สุภวโร" โดยมี
พระครูอินทเขมาจารย์ (เปาะ) เจ้าอาวาสวัดช่องลม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระปลัดจุล วัดหงษ์ทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูสังฆรักษ์ (เจิม) วัดกุฎิทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดช่องลม เพื่อศึกษาวิาความรู้ทั้งจากพระอุปัชฌาย์ นอกจากนั้นยังได้ศึกษาวิชาจากสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เมื่อครั้งยังเป็นที่ "พระธรรมดิลก" รวมทั้งยังศึกษาวิชาอาคมจากพระเกจิอีกมากมายอาทิเช่น หลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม หลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ และหลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก
ด้วยความที่ท่านเป็นคนฉลาดคงแก่เรียน จึงทำให้ท่านสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นักธรรมชั้นโท ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และนักธรรมชั้นเอกในปี พ.ศ. ๒๔๘๐
ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พระสมุห์พุ่ม เจ้าอาวาสวัดพเนินพลู ได้มรณะภาพลง ชาวบ้านจึงได้กราบเรียนหลวงพ่อเปาะ เพื่อหาเจ้าอาวาสมาปรกครองวัดพเนินพลูแทนพระสมุห์พุ่ม หลวงพ่อเปาะจึงได้ให้หลวงพ่อฮวด ไปรักษาการณ์เจ้าอาวาสวัดพเนินพลูก่อน จนถึงเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงได้มีหนังสือแต่งตั้งหลวงพ่อฮวด ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพเนินพลู
วัดพเนินพลู เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๘ โดยสมัยนั้นถือเป็นวัดเขมร เพราะชาวบ้านในพื้นที่มีเชื้อสายเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยมีเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดดังนี้
๑. พระอธิการเก๊า
๒. พระสมุห์พุ่ม
๓. พระครูวิมลกิตติ(หลวงพ่อฮวด)
๔. พระครูวิสุทธิธรรมมาภรณ์
๕. พระครูภาวนาธรรมรังสี (องค์ปัจจุบัน)
ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ หลังจากที่หลวงพ่อฮวด ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของกุลบุตรและกุลธิดาของชาวบ้านในพื้ันที่ จึงได้ปรับปรุงอาคารเรียนจากเดิมที่เป็นชั้นเดียวยกพื้นสูงให้มีชั้นล่าง โดยสร้างห้องเรียนเพิ่มเติมเป็นพื้นไม้แดง เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น
ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ด้วยคุณงามความดีของท่านทำให้ท่าน ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวดบางป่า (เจ้าคณะตำบล) เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านด้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ หลวงพ่อฮวด ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ "พระครูวิมลกิติ" เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖
ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นเอก เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
หลวงพ่อฮวด ท่านปกครองวัดพเนินพลู เรื่อยมาจวบจนมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ นับรวมสิริอายุได้ ๗๓ ปี ๔๗ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อฮวด วัดพเนินพลู
เหรียญหลวงพ่อฮวด วัดพเนินพลู รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาวัดอัมภวัน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อฮวด วัดพเนินพลู รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญหลวงพ่อฮวด วัดพเนินพลู รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อฮวด ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิมลกิติ วัดพเนินพลู งานผูกพัทธสีมา วัดอัมภวัน ๒๕๐๑"
ด้านหลัง มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิ มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุทโธ"
เหรียญหลวงพ่อฮวด วัดพเนินพลู รุ่น ๕ รอบ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในงานทำบุญอายุครบ ๕ รอบ ๖๐ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว หลวงพ่อปลุกเสกเดี่ยว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อฮวด วัดพเนินพลู ราชบุรี รุ่น ๕ รอบ ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อฮวด ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิมลกิติ"
ด้านหลัง มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุทโธ" ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่รฤกในการบำเพ็ญกุศลครบ ๕ รอบ ๒๕๑๑"***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น