โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม ศิษย์รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่ชุ่ม วัดราชคาม

ภาพถ่ายหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม ราชบุรี
หลวงพ่อป้อม วัดราชคาม ราชบุรี

         หลวงพ่อป้อม วัดราชคาม หรือ พระครูกัลยาณวัตรวิบูลย์ ท่านมีชื่อเดิมของป้อม นามสกุลบุญเรือง เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ที่บ้านท่าใหญ่ หมู่ที่ ๔ ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อนายบุญ บุญเรือง โยมมารดาชื่อนางหวาน บุญเรือง 

         เมื่อยังเล็กโยมบิดาและโยมมารดาของท่านได้ฝากท่านไปเป็นเด็กวัดรับใช้และเรียนหนังสือกับหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่าน จากนั้นท่านได้ร่ำเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดสัตตนารถปริวัตร อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ หลวงพ่อป้อม ท่านมีอายุครบบวชพอดี โยมบิดาและโยมมารดาจึงจัดพิธีอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมาวัดราชคาม ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้รับฉายาว่า "กลฺยาโณ" โดยมี

         พระครูชุ่ม (พุทธสโร) วัดราชคาม เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอาจารย์แดง วัดราชคาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์แก้ว วัดราชคาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อชุ่ม เพื่อร่ำเรียนวิชาอาคม และวิชากรรมฐานจากท่าน หลังจากบวชได้ครบพรรษาท่านได้บอกหลวงพ่อชุ่ม ว่าจะขอสึก 

         แต่หลวงพ่อชุ่มไม่อนุญาติด้วยเหตุผลบางอย่างที่ตอนนั้นท่านก็ไม่ทราบ (เข้าใจว่าหลวงพ่อชุ่ม รู้อนาคตข้างหน้าว่าหลวงพ่อป้อมจะเป็นเจ้าอาวาสที่พัฒนาวัดราชคามให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป หรือหากสึกแล้วจะมีเหตุไม่ดีอันได้ นั้นไม่สามารถทราบถึงจิตใจของหลวงพ่อชุ่มได้)

         จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๘ หลวงพ่อชุ่มได้มรณภาพลง หลวงพ่อป้อม จึงรับหน้าที่รักษาการณ์เจ้าอาวาส วัดราชคาม เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๑ จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชคาม

         หลังจากรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชคามแล้ว ท่านได้พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา ทั้งการปรับปรุงกุฏิวัดราชคามที่สร้างด้วยไม้และมีความเก่าแก่ และการนี้เองท่านได้ย้ายตำแหน่งหน้าวัดออกถนน ซึ่งแต่เดิมหน้าวัดหันออกทางแม่น้ำ เพื่อให้สะดวกแก่ญาติโยมมากขึ้น

         ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ สร้างโรงเรียนวัดราชคาม (ชุ่มประชานุกูล) หลังใหม่แทนหลังเดิมที่อยู่ติดริมน้ำ (ปัจจุบันถูกยุบ และรื้อออกไปทั้งหมดแล้ว)

         ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ด้วยคุณงามความดีของท่าน ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสชั้นโท ที่พระครูกัลยาณวัตรวิบูลย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒

         ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ สร้างพระอุโบรถหลังปัจจุบันแทนที่พระอุโบสถหลังเก่าที่ชำรุด

         ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ สร้างวิหารหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

         ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ปรับปรุงศาลาการเปรียญและแยกโรงครัวที่แต่เดิมปลูกติดกับศาลาการเปรียญ ให้เป็นสัดเป็นส่วน

         หลวงพ่อป้อม ท่านรักและศรัทธาหลวงปู่ชุ่มเป็นอันมาก โดยจะสังเกตุได้จากเหตุการณ์หนึ่งซึ่งหลวงพ่อป้อม ท่านป่วยด้วยโรคเบาหวานต้องฉีดอินซูลีนทุกวัน จนมีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงพ่อท่านช็อคหมดสติ ลูกศิษย์ต้องช่วยกันนำตัวท่านส่งโรงพยาบาล 

ใต้ฐานพระหล่อใหญ่องค์ของหลวงพ่อป้อม วัดราชคามที่ถูกขโมยไป
ใต้ฐานพระหล่อใหญ่องค์ของหลวงพ่อป้อม วัดราชคามที่ถูกขโมยไป

         และเมื่อท่านได้สติท่านพบว่ารูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่มองค์กรรมการใต้ฐานตอก ๒ โค้ด ที่ท่านหวงแหนพกติดตัวอยู่ตลอดเวลาได้หายไปยากอังสะของท่าน ท่านบ่นด้วยความเสียดายว่ามันใจบาปขโมยของฉัน และนี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ท่านตรอมใจหนักจวบจนมรณะภาพ

         หลวงพ่อป้อม ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ นับรวมสิริอายุได้ ๙๐ ปี ๗๐ พรรษา

วัตถุมงคลของหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม

         เหรียญหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่านและผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว หลวงพ่อป้อมปลุกเสกเดี่ยว เหรียญนี้ข้าพเจ้ามีประสบการณ์เล่นน้ำแล้วตกเขือบจมน้ำเมื่อยังเล็ก แต่ลอยกลับขึ้นฝั่งมาได้ทั้งที่ว่ายน้ำไม่เป็น จำได้ว่าขอหลวงพ่อช่วยด้วย สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม รุ่นแรก 2522 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อป้อมครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีการตอกโค้ดวงกลมที่สังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อป้อม วัดราชคาม ต.คุ้งน้ำวน จ.ราชบุรี"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สิงหราชอยู่ตรงกลางเหรียญ ด้านบนยันต์มีอักขระยันต์หัวใจธาตุอ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ" ใต้ยันต์มีเลขไทย "๒๕๒๒" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ  

         เหรียญหลวงพ่ออู่ทอง วัดราชคาม รุ่นพัดยศ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อป้อม ในคราวได้เลื่อนสมณศักดิ์พัดยศชั้นโท  ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัวขนาดเล็ก หลวงพ่อป้อมปลุกเสกเดี่ยว สร้างด้วยเนื้อเงินเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออู่ทอง วัดราชคาม รุ่นฉลองพัดยศ 2532 เงิน
เหรียญหลวงพ่ออู่ทอง วัดราชคาม รุ่นพัดยศ ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เนื้อเงิน

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่ออู่ทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัด ขอบเหรียญมีอักขระขอม ใต้องค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่ออู่ทอง"

         ด้านหลัง มีพัดยศและอักขระยันต์อยู่ตรงกลางเหรียญ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูกัลยาณวัตรวิบูลย์ วัดราชคาม ๒๕ ธ.ค. ๒๕๓๒" 

         เหรียญหลวงพ่ออู่ทอง วัดราชคาม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อป้อม ในคราวฉลองพัดยศชั้นโท  ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ย่อมุมแบบมีหูในตัว หลวงพ่อป้อมปลุกเสกเดี่ยว สร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าชุปนิเกิ้ลเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่ออู่ทอง วัดราชคาม รุ่นฉลองพัดยศ 2533 อัลปาก้าชุปนิกเกิ้ล
เหรียญหลวงพ่ออู่ทอง วัดราชคาม รุ่นฉลองพัดยศ ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เนื้ออัลปาก้าชุปนิกเกิ้ล

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่ออู่ทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัด ขอบเหรียญมีอักขระขอม ใต้องค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๓๓ หลวงพ่ออู่ทอง"

         ด้านหลัง มีพัดยศและอักขระยันต์อยู่ตรงกลางเหรียญ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "งานฉลองสมณศักดิ์พัดยศชั้นโท พระครูกัลยาณวัตรวิบูลย์ ๑๑ พฤษภาคม ๓๓ วัดราชคาม ราชบุรี" 

         เหรียญหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม รุ่น ๖ รอบ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่านในคราวฉลองอายุครบ ๖ รอบ ๗๒ ปี  ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปพัดยศแบบมีหูในตัว หลวงพ่อป้อมปลุกเสกเดี่ยว สร้างด้วยเนื้อโลหะชุปทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม รุ่น 6 รอบ 2536 ชุปทองเหลือง
เหรียญหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม รุ่น ๖ รอบ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อโลหะชุปทอง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อป้อมครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ  มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูกัลยาณวัตรวิบูลย์(ป้อม)" 

        ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรงกลางเหรียญ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ทำบุญอายุครบ ๖ รอบ วัดราชคาม ราชบุรี ๒๕๓๖"

         เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่น ๑๙

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่านและผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปตะพาบแบบมีหูในตัว หลวงพ่อป้อมปลุกเสกเดี่ยว เหรียญรุ่นนี้มีประสบการณ์นายแห้วลูกยายแตน บ้านท่าใหญ่โดนไล่ยิงระยะประชิดแต่รอดมาได้ สร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ปี 19 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม (หลวงพ่อป้อมสร้าง) ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ  มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูชุ่มอดีตเจ้าคณะหมวด" 

        ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรงกลางเหรียญ ด้านบนยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดราชคาม"

         เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นพิเศษ

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่านและผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปตะพาบแบบมีหูในตัว หลวงพ่อป้อมปลุกเสกเดี่ยว สร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม พิเศษ ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นพิเศษ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ  มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูชุ่มอดีตเจ้าคณะหมวด รุ่นพิเศษ" 

        ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรงกลางเหรียญ ด้านบนยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดราชคาม"

         เหรียญเสมาหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อป้อมและผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว หลวงพ่อป้อมปลุกเสกเดี่ยว สร้างด้วยเนื้อโลหะอัลปาก้าชุปนิเกิ้ลเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญเสมาหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม อัลปาก้า
เหรียญเสมาหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม (หลวงพ่อป้อมสร้าง) เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ  มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูชุ่ม วัดราชคาม" 

        ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรงกลางเหรียญ 

         เหรียญเสมาเล็กหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม (รุ่นเสาร์ห้า)

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อป้อมและผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว หลวงพ่อป้อมปลุกเสกเดี่ยว สร้างด้วยเนื้อโลหะอัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ปี 36 เงิน
เหรียญเสมาเล็กหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อเงิน

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ  มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูชุ่มอดีตเจ้าคณะหมวด" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรงกลางเหรียญ ด้านบนยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดราชคาม ๓๖"

         รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม พิมพ์เล็ก
 
         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นพระรูปหล่อบราณขนาดเล็ก ใต้ฐานตอกโค้ด "พระครูชุ่ม" และอุดกริ่งด้วยทองแดงเหมือนรูปหล่อใหญ่ ชาวบ้านเรียกติดปากว่า "หล่อเล็ก" โดยพระอธิการป้อม เจ้าอาวาสรูปถัดมาได้ว่าจ้างโรงหล่อในจังหวัดราชบุรีหล่อขึ้น จำนวนไม่เป็นที่แน่ชัด(ประมาณ ๕๐๐ องค์

         เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่มาร่วมในงานประชุมเพลิงในเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐โดยเกจิที่ร่วมทำการปลุกเก ประกอบไปด้วยหลวงพ่อเชย หลวงพ่อเม้ย หลวงพ่อเจียง ฯลฯ จากคำบอกเล่าของหลวงพ่อป้อมได้เล่าว่าในพิธีปลุกเสกได้มีการโยงสายสิญย์จากโลงบรรจุศพของหลวงพ่อชุ่มด้วย

หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
รูปหล่อเล็ก หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
ใต้ฐานรูปหล่อเล็กหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม อุดด้วยทองแดง มีโค้ด "พระครูชุ่ม"

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อชุ่ม ในลักษณะของรูปหล่อลอยองค์ประทับนั่งสมาธิบนฐานเขียง ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิเฉียง

          ด้านหลัง เห็นสังฆาฏิ และรอยจีวรอย่างชัดเจน

          ใต้ฐาน  มีการตอกโค้ด "พระครูชุ่ม" ตรงกลางเยื้องไปด้านหลังมีรอยอุดด้วยทองแดงอย่างเห็นได้ชัด เป็นรอยอุดเม็ดกริ่

         รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม (หลวงพ่อป้อมสร้าง) รุ่นจุลกฐิน

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณ ขนาดจะเล็กกว่ารูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่มปี ๙๗ เล็กน้อย หลวงพ่อป้อมปลุกเสกเดี่ยวและโยงสายสิญจน์มาจากรูปหล่อหลวงปู่ชุ่มเท่าองค์จริงเพื่อขอบารมีจากหลวงปู่ สร้างด้วยเนื้อโลหะทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น รุ่นนี้มักเข้าใจผิดไปเล่นเป็นหล่อใหญ่ บ้างก็เรียกพิมพ์กลาง จำนวนการสร้างประมาณ ๕๐๐ องค์(หายาก)

รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม หลวงพ่อป้อมสร้าง จุลกฐิน
รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม (หลวงพ่อป้อมสร้าง) ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อชุ่มนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ 

         ด้านหลัง มีผ้าสังฆาฏิพาดยาวจรดฐานเขียง ไม่มีการตอกโค้ดหรือมีอักขระใดๆ

         ใต้ฐาน  เรียบ อุดกริ่งด้วยทองเหลือง

         รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม (หลวงพ่อป้อมสร้าง) รุ่นเสาร์ ๕

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดจะเล็ก พระรุ่นนี้มีพระเกจิชื่อดังเข้าร่วมปลุกเสกมากมาย สร้างด้วยเนื้อโลหะเงิน เนื้อทองเหลือง และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น  จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม หลวงพ่อป้อมสร้าง 2536 เงิน
รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นเสาร์ห้า (หลวงพ่อป้อมสร้าง) ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อเงิน

รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม หลวงพ่อป้อมสร้าง 2536
รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นเสาร์ห้า (หลวงพ่อป้อมสร้าง) ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อทองเหลือง

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อชุ่ม ในลักษณะของรูปหล่อลอยองค์ประทับนั่งสมาธิบนฐานเขียง ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิเฉียง ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่ชุ่ม" 

          ด้านหลัง ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดราชคาม" 

          ใต้ฐาน  ตรงกลางมีรอยอุดกริ่งด้วยตัวอักขระยันต์ตัว "นะ" หรือตัว "อุ"

          ผ้ายันต์พระแม่โพสพ

          สร้างในยุคของหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม เพื่อเป็นที่ระลึกถึงหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ทำจากผ้า ด้านบนมีภาพหลวงพ่อชุ่ม มีอักขระยันต์ ด้านล่างมีรูปพระแม่โพสพ

ผ้ายันต์พระแม่โพสพ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

          ผ้ายันต์ท้าวเวสสุวรรณ

          สร้างในคราวเดียวกับผ้ายันต์พระแม่โพสพ โดยหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม ด้านบนมีภาพหลวงพ่อชุ่ม มีอักขระยันต์ ด้านล่างมีรูปท้าวเวชสุวรรณ มีทั้งแบบที่ลงสี และไม่ลงสี

ผ้ายันต์ท้าวเวชสุวรรณ หลวงพ่อชุ่มวัดราชคาม

          ผ้ายันต์สิงหราช หลวงพ่อป้อม วัดราชคาม

          สร้างขึ้นในยุคของหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม ยันต์เป็นแบบเดียวกับเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อป้อม มีทั้งหมึกสี และหมึกดำ นอกจากนี้ยังมีแบบเขียนมืออีกด้วย ซึ่งหากเป็นลายที่เขียนด้วยมือจะเป็นฝีมือของหลวงตากวย พระลูกวัดในสมัยนั้นเป็นผู้วาด

ผ้ายันต์สิงหราช หลวงพ่อป้อม หมึกน้ำเงิน วัดราชคาม

ผ้ายันต์สิงหราช หลวงพ่อป้อม วัดราชคาม หมึกดำ สภาพไม่ได้ใช้

         ซึ่งท่านเก่งกาจด้านศิลปการวาดและเขียนสีเป็นอย่างมาก โดยหลวงตากวย นอกจากจะเก่งวิชาทางศิลปะเขียนภาพ และทำว่าวจุฬาแล้ว ท่านยังทำปลักขิกไว้แจกเด็กๆ และญาติโยมจากกรุงเทพฯ 

         ลูกศิษย์ท่านมาฝากตัวเป็นศิษย์กันเยอะมาก ชนิดที่ว่าสมัยนั้นปลูกกุฏิเป็นตึกให้ทีเดียว (ปัจจุบันถูกทุบทิ้งเมื่อคราวสร้างกฏิหลังปัจจุบัน)
 
         ตะกรุดหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๔๘ - ๒๕๕๐ เพื่อแจกให้กับศิษย์ยานุศิษย์ใกล้ชิดของหลวงพ่อ ตัวตะกรุดมีขนาดยาว ๕ นิ้ว สร้างขึ้นด้วยแผ่นทองเหลืองจารอักขระตามตำหรับวิชาของท่าน แล้วพันถักด้วยด้ายดิบ ปิดทองตรงกลางตะกรุด

ตะกรุดหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม รุ่นแรก 2550
ตะกรุดหลวงพ่อป้อม วัดราชคาม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๐๐

         เสร็จแล้วร้อยด้วยเชือกร่มสีต่างๆ ทั้งแดง ฟ้า เหลือง เขียว ตะกรุดรุ่นนี้มีประสพการณ์คนที่ได้รับการต่างแคล้วคลาด และยังเมตตามีโชคลาภอีกด้วย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่ปัจจุบันหายากแล้วชาวบ้านในพื้นที่เอาไปคาดเอวใช้กันจนผุพังหมด

         หลวงพ่อป้อม ท่านถือเป็นศิษย์สายตรงของหลวงปู่ชุ่ม วัดราชคาม สืบทอดวิชามาเนินนาน แต่ด้วยเหตุที่ท่านเป็นผู้มักน้อยรักสันโดษชื่อเสียงของท่านจีงไม่ได้โด่งดังมากมายเหมือนพระเกจิอาจารย์รุ่นราวคราวเดียวกัน แต่วัตถุมงคลที่ท่านสร้างไว้นั้น แต่ละอย่างไม่ธรรมดามีประสบการณ์คลาดแคล้วเป็นที่ประจักษ์หมดสิ้นสงสัย  

         และการสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัดนั้น ท่านไม่เคยไร่เรี่ยเงินทางจากชาวบ้านเลยทั้งสิ้น แต่ก็แปลกที่วัดเล็กๆสามารถหาเงินมาสร้างทั้งพระอุโบสถ วิหาร ซ่อมศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิหลังใหม่ สร้างศาลาเอนกประสงค์ รวมทั้งเริ่มก่อสร้างเขื่อนหน้าวัด (มาแล้วเสร็จในยุดหลวงพ่อองค์ปัจจุบัน) 

         ด้วยเม็ดเงินมหาศาลเพื่อให้แล้วเสร็จราบรื่นได้นั้น ย่อมต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน และลูกศิษย์ของท่านส่วนมากจะมาจากกรุงเทพฯ หรือไม่ก็เศรษฐีมีเงินที่ขับรถผ่านวัดราชคามโดยที่ไม่รู้จักหลวงพ่อมาก่อน ต่างก็แวะถวายเงินสร้างถาวรวัตถุภายในวัดอย่างไม่น่าเชื่อเลย

         ส่วนศิษย์ฆราวาสของหลวงปู่ชู่ม ซึ่งถ้าเอ่ยถึงและหลายคนรู้จักเป็นอย่างดีคืออาจารย์หนู ทองศิริ อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว สองอาจารย์สักชื่อดังซึ่งเขียนลงในบทความก่อนหน้านี้แล้ว

         แต่ยังมีฆราวาสอีกหนึ่งท่านคือนายเต็ม สุขสวัสดิ์ คนผู้ที่เป็นศิษย์คนเดียวของหลวงปู่ชุ่มที่เรียนวิชาทำของหนักให้เบาได้ สามารถเอาผ้าข้าวม้าสอดแขนรูปหล่อองค์ใหญ่ของหลวงปุ่ชุ่ม สมัยนั้นตั้งอยู่หน้ากุฏิ ซึ่งรูปหล่อนี้หล่อตันทั้งองค์หนักมากคนธรรมดาต้องมี ๕- ๖ คนจึงจะยกได้ แต่นายเต็มนั้นสามารถยกเอาขึ้นหลังลงมาจากกุฏิ เพื่อนำไปแห่ในช่วงวันสงกรานต์ได้ด้วยตัวคนเดียว ปัจจุบันท่านเสียชีวิตแล้ว.

          หมายเหตุ : เหรียญรูปไข่พระครูชุ่ม พุทธสโร ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ นั้น ท่านเป็นพระคนละองค์กับหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๙ ของวัดจันทราวาส จังหวัดเพชรบุรี จึงไม่ถูกจัดเก็บอยู่ในบทความนี้.

 

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้