ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อทองอยู่ วัดบางนางจีนนอก(แม่น้ำ) ผู้สร้างพระเนื้อดินเก่าหายากของสมุทรสงคราม
หลวงพ่อทองอยู่ วัดแม่น้ำ สมุทรสงคราม |
หลวงพ่อทองอยู่ วัดแม่น้ำ ( วัดบางนางจีนนอก ) ตำบลบางขันแตก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเป็นหนึ่งในพระเกจิยุคเก่าระดับตำนานของเมืองสมุทรสงคราม ที่เชียวชาญด้านแพทย์แผนโบราณ และการลงตะกรุดใต้น้ำและตะกรุดจันทร์เพ็ญ
หลวงพ่อทองอยู่ พื้นเพเดิมท่านเป็นชาวบ้านบางเค็ม จังหวัดเพชรบุรี ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดกุฏิ แต่ไม่ปรากฏชื่อพระอุปัชฌาย์และฉายาของท่าน
ต่อมาท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดบางนางจีนใน (วัดวชิรคาม) ซึ่งขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก โดยท่านได้ใช้วิชาและความรู้ในด้านหมอยาโบราณ ซึ่งท่านเชี่ยวชาญทางการแพทย์แผนโบราณรักษาชาวบ้านบางนางจีน จนท่านเป็นที่นับถือจากชาวบ้านเป็นอันมาก
ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ พระอธิการคล้ำ เจ้าอาวาสวัดบางนางจีนนอก(วัดแม่น้ำ)ได้มรณภาพลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อทองอยู่มาเป็นเจ้าอาวาสทอแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดบางนางจีนนอก หรือ วัดแม่น้ำ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางขันแตก อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ด้านหน้าจดแม่น้ำแม่กลอง ด้านข้างมีคลองบางนางจีนกลาง
วัดแม่น้ำเป็นวัดโบราณ ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ข้อมูลของกรมการศาสนาระบุตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เดิมมีชื่อว่า วัดบางนางจีนนอก มีวัดอยู่ในกลุ่มบางนางจีน ๓ วัด หรือเรียกกันว่า "วัดสามจีน" คือ วัดบางนางจีนนอก (วัดแม่น้ำ), วัดบางนางจีนกลาง (วัดกลาง) และวัดบางนางจีนใน (วัดวชิรคาม)
แต่เดิมคงเป็นวัดใหญ่ที่เจริญรุ่งเรืองวัดหนึ่ง มีกุฏิสงฆ์มากหลัง แบ่งออกเป็นคณะเหนือและคณะใต้ สำหรับคณะใต้สันนิษฐานว่าคงจะเป็นวัดบางนางจีนกลาง เพราะมีที่ธรณีสงฆ์ติดต่อกันระหว่างวัดแม่น้ำกับวัดกลาง
วิหารก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ด้านหน้ามีพาไลยื่นออกมา ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันปูนปั้นลวดลายพันธ์พฤกษาประดับเครื่องถ้วยลายคราม
ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น วิหารได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยเปลี่ยนจากกระเบื้องมุงหลังคาเป็นมุงสังกะสี ด้านนอกมีกำแพงแก้วล้อมรอบ เจดีย์มุมพระวิหาร
เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองก่ออิฐถือปูน ฐานเจดีย์เป็นฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมรองรับฐานสิงห์ ๒ ชั้น องค์ระฆังขนาดเล็กทรงเครื่อง มีบัวรองรับปากระฆังส่วนยอดชำรุดมีการซ่อมแซมใหม่ วัดมีพระพุทธรูปสำคัญ ๖ องค์ ในจำนวนนี้ ๕ องค์เป็นโลหะขนาดใหญ่แบบศิลปะสุโขทัย
หลังจากที่หลวงพ่อทองอยู่ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันดับ
หลวงพ่อทองอยู่ ท่านเป็นพระเกจิยุคเดียวกันกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม และเป็นเจ้าอาวาสก่อนหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ อีกทั้งท่านยังเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆให้กับหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒
รวมทั้งท่านยังเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆให้กับหลวงพ่อพูน วัดบางนางจีนกลาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ อีกด้วย
ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านหาชมได้ยากมากที่พบเห็นได้แก่ ตะกรุด ผ้ายันต์ ผ้าประเจียดแขน และพระเนื้อดินเผา นอกจากนี้ท่านยังเก่งกาจในวิชาตำหรับยาแผนโบราณ
เป็นที่น่าเสียดายที่ประวัติของหลวงพ่อทองอยู่นั้นไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่เพียงชื่อปรากฏอยู่ในประวัติของหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำเจ้าอาวาสรูปถัดมาแต่เพียงเท่านั้น
คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนเล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อทองอยู่นั้นท่านเก่งกาจและมีชื่อเสียงในด้านวิชาอาคม และเชี่ยวชาญการแพทย์แผนโบราณ โดยเฉพาะในด้านยาสมุนไพร และว่านยาต่างๆ ในสมัยนั้นชาวบ้านคนไหนเจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะเดินทางมาให้หลวงพ่อรักษา
ส่วนในด้านวิชาอาคมนั้น ท่านได้ช่วยเหลือชาวบ้าน ใครที่ติดขัดปัญหาทุกข์ใจดวงตก ก็มักจะเดินทางมารดน้ำมนต์กับหลวงพ่อ
นอกจากนี้ชื่อของท่านยังปรากฏอยู่ในหนังสือพระเกจิยุคเก่า ที่กล่าวถึงท่านด้านการสร้างพระเนื้อดินที่หายาก และมีพุทคุณโดดเด่นในด้านมหาอุดและเมตตามหานิยม พระของท่านยังเป็นต้นแบบในการสร้างพระโคนสมอของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อมอีกด้วย
หลวงพ่อทองอยู่ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นที่น่าเสียดายที่ประวัติของท่านมีบันทึกไว้น้อยมาก.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อทองอยู่ วัดแม่น้ำ
พระขุนแผนหลวงพ่อทองอยู่ วัดแม่น้ำ (พระประธานนั่งบัว)
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ลักษณะเป็นพระเนื้อดินพิมพ์สามเหลี่ยม หลวงพ่ออยู่สร้างขึ้นเพื่อแจกให้กับชาวบ้านและลูกศิษย์ของท่าน พระพิมพ์นี้ไม่ได้จัดอยู่ในชุดพระเจ้าห้าพระองค์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระเนื้อดินพิมพ์พระประธานนั่งบัว หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ |
ด้านหน้า จำลองเป็นพระสัมมาพระพุทธเจ้า องค์พระประทับนั่งปางสมาธิบนฐานบัวภายในซุ้มเรือนแก้ว
ด้านหลัง บนสุดมีตัว "อุ" หรือเรียกว่าอุณาโลม แถวที่ ๒ มีอักขระยันต์พระพุทธเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ" แถวล่างสุดเป็นคาถามหาอุด ย่อมาจากบนกรณียเมตตาสูตร อ่านว่า "อุท ธัง อัต" เป็นพระคาถาทั้งเมตตาและมหาอุด
พระเนื้อดินพิมพ์พระกกุสันธะ(ทรงไก่) หลวงพ่อทองอยู่ วัดแม่น้ำ
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ลักษณะเป็นพระเนื้อดินพิมพ์สามเหลี่ยม สร้างตามคติความเชื่อธัมม์เรื่อง กาเผือก ตำนานความเชื่อเรื่องของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัทรกัลป์ โดยมีเรื่องเล่าว่า แม่กาเผือกตัวหนึ่งทำรังอยู่บนต้นมะเดื่อใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคาและได้ออกไข่ไว้ ๕ ฟอง
อยู่มาวันหนึ่งแม่กาออกไปหาอาหารก็เกิดพายุพัดฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ลมฝนได้พัดพาเอาไข่ตกลงไหลตามน้ำกระจายไปคนละทิศคนละทาง เมื่อแม่กาเผือกกลับมาจากหาอาหารไม่เห็นไข่ลูกน้อยทั้ง ๕ ก็ออกเที่ยวตามหาไปทั่วทุกสารทิศแต่ก็ไม่เจอ จนตรอมใจตายในที่สุด และด้วยกุศลบุญบารมีที่แม่กาเผือกได้กระทำไว้ ทำให้ไปเกิดเป็นพรหมในพรหมโลก โดยสร้างขึ้นตามตำนานไข่ใบที่ ๑ พระกกุสันธะที่มีแม่บุญธรรมเป็นไก่ ที่ได้นำไปเลี้ยง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระเนื้อดินพิมพ์พระกกุสันธะ(ทรงไก่) หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ของคุณหลอด พระราม ๒ |
พระเนื้อดินพิมพ์พระกกุสันธะ(ทรงไก่) หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ของคุณณภัทร์ วัฒนธรรม |
ด้านหน้า จำลองเป็นพระกกุสันธะ พระพุทธเจ้าองค์แรกที่มีแม่บุญธรรมเป็นไก่ องค์พระประทับนั่งปางสมาธิบนฐานบัวภายในครอบแก้ว ใต้องค์พระมีรูปไก่
ด้านหลัง บนสุดมีตัว "อุ" หรือเรียกว่าอุณาโลม แถวที่ ๒ มีอักขระยันต์พระพุทธเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ" แถวล่างสุดเป็นคาถามหาอุด ย่อมาจากบนกรณียเมตตาสูตร อ่านว่า "อุท ธัง อัต" เป็นพระคาถาทั้งเมตตาและมหาอุดพระเนื้อดินพิมพ์พระโกนาคมนะ(ทรงนาค) หลวงพ่อทองอยู่ วัดแม่น้ำ
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ลักษณะเป็นพระเนื้อดินพิมพ์สามเหลี่ยม สร้างตามคติความเชื่อธัมม์เรื่อง กาเผือก ตำนานความเชื่อเรื่องของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัทรกัลป์ โดยสร้างขึ้นตามตำนานไข่ใบที่ ๒ พระโกนาคมนะ ที่มีแม่บุญธรรมเป็นนาค (หรือ งู) ที่ได้นำไปเลี้ยง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระเนื้อดินพิมพ์พระโกนาคมนะ(ทรงนาคหรืองู) หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ |
พระเนื้อดินพิมพ์พระโกนาคมนะ(ทรงนาคหรืองู) หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ของคุณณภัทร์ วัฒนธรรม |
พระเนื้อดินพิมพ์พระโกนาคมนะ(ทรงนาคหรืองู) หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ของคุณวุฒิ ลุ่มน้ำ |
ด้านหน้า จำลองเป็นพระโกนาคมนะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ ที่มีแม่บุญธรรมเป็นนาค หรือ งู องค์พระประทับนั่งปางห้ามญาติบนฐานบัวคว่ำบัวหงายภายในครอบแก้ว ใต้องค์พระจำลองเป็นรูปนาค หรือ งู
พระเนื้อดินพิมพ์พระกัสสโป(ทรงเต่า) หลวงพ่อทองอยู่ วัดแม่น้ำ
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ลักษณะเป็นพระเนื้อดินพิมพ์สามเหลี่ยม สร้างตามคติความเชื่อธัมม์เรื่อง กาเผือก ตำนานความเชื่อเรื่องของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัทรกัลป์ โดยสร้างขึ้นตามตำนานไข่ใบที่ ๓ พระกัสสโป ที่มีแม่บุญธรรมเป็นเต่าที่ได้นำไปเลี้ยง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระเนื้อดินพิมพ์พระกัสสโป(ทรงเต่า) หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ของคุณหลอด พระราม ๒ |
พระเนื้อดินพิมพ์พระกัสสโป(ทรงเต่า) หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ |
พระเนื้อดินพิมพ์พระกัสสโป(ทรงเต่า) หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ของคุณณภัทร์ วัฒนธรรม |
ด้านหน้า
จำลองเป็นพระกัสสโป พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๓ ที่มีแม่บุญธรรมเป็นเต่า
องค์พระประทับนั่งปางประทานพรบนฐานบัวคว่ำบัวหงายภายในครอบแก้ว
ใต้องค์พระจำลองเป็นรูปเต่า
พระเนื้อดินพิมพ์พระโคตมะ(ทรงวัว) หลวงพ่อทองอยู่ วัดแม่น้ำ
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ลักษณะเป็นพระเนื้อดินพิมพ์สามเหลี่ยม สร้างตามคติความเชื่อธัมม์เรื่อง กาเผือก ตำนานความเชื่อเรื่องของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัทรกัลป์ โดยสร้างขึ้นตามตำนานไข่ใบที่ ๔ พระโคตมะ พระพุทธเจ้าในกัลป์นี้หรือพระเจ้าสิทธัตถะ ที่มีแม่บุญธรรมเป็นวัวที่ได้นำไปเลี้ยง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระเนื้อดินพิมพ์พระโคตมะ(ทรงวัว) หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ของคุณณภัทร์ วัฒนธรรม |
พระเนื้อดินพิมพ์พระโคตมะ(ทรงวัว) หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ของคุณหลอด พระราม๒ |
ด้านหน้า จำลองเป็นพระโคตมะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ ที่มีแม่บุญธรรมเป็นวัว องค์พระประทับนั่งปางสะดุ้งมาร(มารวิชัย)บนฐานบัวคว่ำบัวหงายภายในครอบแก้ว ใต้องค์พระจำลองเป็นรูปวัว
ด้านหลัง บนสุดมีตัว "อุ" หรือเรียกว่าอุณาโลม แถวที่ ๒ มีอักขระยันต์พระพุทธเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "ธา" แถวล่างสุดเป็นคาถามหาอุด ย่อมาจากบนกรณียเมตตาสูตร อ่านว่า "อุท ธัง อัต" เป็นพระคาถาทั้งเมตตาและมหาอุดพระเนื้อดินพิมพ์พระเมตไตรยะ(ทรงราชสีห์) หลวงพ่อทองอยู่ วัดแม่น้ำ
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ลักษณะเป็นพระเนื้อดินพิมพ์สามเหลี่ยม สร้างตามคติความเชื่อธัมม์เรื่อง กาเผือก ตำนานความเชื่อเรื่องของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัทรกัลป์ โดยสร้างขึ้นตามตำนานไข่ใบที่ ๕ พระเมตไตรยะ พระพุทธเจ้าในกัลป์หน้า ที่มีแม่บุญธรรมเป็นราชสีห์ที่ได้นำไปเลี้ยง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระเนื้อดินพิมพ์พระเมตไตรยะ(ทรงราชสีห์) หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ของคุณนัท บางช้าง |
พระเนื้อดินพิมพ์พระเมตไตรยะ(ทรงราชสีห์) หลวงพ่ออยู่ วัดแม่น้ำ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ของคุณณภัทร์ วัฒนธรรม |
ด้านหน้า
จำลองเป็นพระเมตไตรยะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ ที่มีแม่บุญธรรมเป็นราชสีห์
องค์พระประทับนั่งมือทั้ง ๒ ข้างจับที่เข่า องค์พระประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงายภายในครอบแก้ว
ใต้องค์พระจำลองเป็นรูปราชสีห์
ตามตำนานเล่าต่อไปว่า เมื่อไข่ทั้งห้าใบฟักออกมาเป็นเด็กผู้ชาย เมื่อเติบใหญ่เป็นชายหนุ่มอายุได้ ๑๖ ปี ก็อยากออกไปบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่า ชายหนุ่มแต่ละคนจึงได้ขออนุญาตแม่ของตัวเองเพื่อไปบวชตามที่ได้ตั้งใจไว้
แม่บุญธรรมทั้งห้าก็อนุญาตให้บำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ในป่า ด้วยบุญบารมีที่สะสมมาชายหนุ่มก็ออกเดินทางไปบำเพ็ญศีลตามที่ต่างๆ และแล้วก็ได้มาพบกันโดยบังเอิญ ต่างก็ไต่ถามความเป็นมาของกันและกัน จึงรู้ว่าเป็นลูกแม่กาเผือกเหมือนกันทั้งสิ้น
จากนั้นฤๅษีหนุ่มทั้งห้าจึงตั้งสัจจาธิษฐานอยากพบแม่กาเผือกของตนเอง ด้วยคำอธิษฐานของลูกๆ แม่กาเผือกจึงได้เนรมิตร่างตนเองมาปรากฏต่อหน้าลูกทั้งห้า ก่อนจะจากกันลูกๆ จึงขอให้แม่กายื่นเท้ามาให้พวกเขากราบไหว้เพื่อระลึกถึงบุญคุณ
แม่กาจึงใช้ฝ้ายพันติดกันเป็นเกลียว แล้วทำให้มีลักษณะเหมือนตีนกาสามแฉก เอาให้ลูกๆ นำไปใส่ผางจุดบูชา ระลึกถึงพระคุณ
จากนั้นแม่กาก็กลับไปยังสวรรค์ตามเดิม ส่วนลูกๆ ก็กลับไปบำเพ็ญบารมี และจุดประทีปบูชาแม่กาเผือกสม่ำเสมอ จนตายไปแล้วเกิดอีกหลายชาติ ชาติสุดท้ายก็มาจุติเป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัลป์บนโลกมนุษย์ตามลำดับ
พระพุทธเจ้าองค์แรก ชื่อพระกกุสันธะ เพราะมีแม่บุญธรรมเป็นไก่
พระพุทธเจ้าองค์ที่สอง ชื่อพระโกนาคมนะ เพราะมีแม่บุญธรรมเป็นนาค(หรืองู)
พระพุทธเจ้าองค์ที่สาม ชื่อพระกัสสโป เพราะมีแม่บุญธรรมเป็นเต่า
พระพุทธเจ้าองค์ที่สี่ ชื่อพระโคตมะ เพราะมีแม่บุญธรรมเป็นโค
พระพุทธเจ้าองค์ที่ห้า ชื่อพระเมตไตรยะ เพราะมีแม่บุญธรรมเป็นราชสีห์
ในปัจจุบันเราอยู่ในช่วงของพระพุทธเจ้าองค์ที่สี่ คือพระโคตมพุทธเจ้า มีพระนามเดิมในภาษาบาลีว่า สิทธัตถะโคตม หรือมีชื่ออื่นๆ คือ พระศากยมุนี พระพุทธโคดม มีอายุพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี ซึ่งอีกประมาณ ๒,๕๐๐ ปีจะเกิดเหตุการณ์กลียุค หลังจากกลียุคแล้วพระพุทธเจ้าองค์ที่ห้า คือพระเมตไตรยะ หรือพระศรีอาริยเมตตรัย จะจุติลงมาบนโลกเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาใหม่อีกครั้ง
ข้อมูล : แม่กาเผือก โดยนางสาวฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนะธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพหลวงพ่อทองอยู่ : พระครสมุทรคุณากร เจ้าอาวาสวัดแม่น้ำ
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น