โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลพระอาจารย์หมั่น วัดดงสัก เจ้าของเหรียญหล่อที่เข้มขลังของกาญจนบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก กาญจนบุรี-ยืน
หลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก กาญจนบุรี

         พระครูสุกิจวิริยากร (หมั่น อาจิณโณ) เจ้าอาวาสวัดดงสัก เจ้าคณะตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี นามเดิมหมั่น มูลเมียง เกิดที่ตำบลท่าไม้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันอาทิตย์แรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๙ เป็นบุตรนายฉ่ำและนางพ่วง มูลเมียง ในปฐมวัยได้เข้าศึกษาเล่าเรียน ณ โรงเรียนวัดปากบาง จนจบหลักสูตรในสมัยนั้น แล้วออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพอยู่จนอายุ ๒๐ ปี ได้เข้ารับราชการทหารเป็นทหารช่าง ณ จังหวัดราชบุรี ศกร.๑๒๖ ทบ. ๔ มณฑลราชบุรี

         เมื่อออกจากทหารแล้วได้มาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพตามเดิมคือทำนาทำไร่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ท่านมีอายุได้ ๒๕ ปี จึงได้ทำการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากบาง ตำบลท่าเสา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับฉายาว่า "อาจิณโณ" โดยมี

         พระครูไชยคีรีศรีสวัสดิ์(หลวงปู่เข็ม) วัดม่วง อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการชื่น วัดปากบาง เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระครูวรวัตวิมล วัดปากบาง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่ออุปสมบทแล้วได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดปากบางพอสมควรแล้ว จึงได้เข้าไปศึกษาปรัยัติธรรมต่อที่วัดทองนพคุณ อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี จนสำเร็จการศึกษา แล้วจึงได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดปากบาง ตามเดิม 

         ต่อมาได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดคร้อพนัน ตำบลท่าไม้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ถึง ๔ พรรษา 

ภาพถ่ายหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก กาญจนบุรี
หลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก กาญจนบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดงสักได้ว่างลง เนื่องจากหลวงพ่อโต ได้จาริกธุดงค์บ่อยๆ จนจากไปไม่กลับมาอีก ชาวบ้านจึงได้เดินทางมาที่วัดคร้อพนัน เพื่อมานิมนต์หลวงพ่อหมั่น ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดดงสัก ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ท่านได้อยู่ปกครองวัดต่อมาเป็นเวลา ๓๓ ปี และได้รับการแต่งตั้งจากทางการคณะสงฆ์ดังต่อไปนี้

         ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดดงสัก เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

         ได้เป็นเจ้าคณะตำบลพงตึก เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙

         ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐

         ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓

         ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครู เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ที่ "พระครูสุกิจวิริยากร"

         ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นโท เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

         หลวงพ่อหมั่น ท่านถูกชาวบ้านเรียกท่านอีกชื่อหนึ่งว่าหลวงพ่อเสือ เพราะท่านเป็นคนดุ และเคร่งครัด นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระที่ชอบการก่อสร้าง เพราะมีความรู้ทางวิชาช่างมาแล้วเป็นอย่างดี และเป็นพระอุปัชฌาย์ที่บวชให้แก่ผู้คนจำนวนสองพันกว่ารูป 

         ท่านได้สร้างถาวรวัตถุทั้งก่อสร้างกุฏิ โรงเรียน หอฉัน หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ และสร้างพระอุโบสถ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดดงสัก ท่านได้เข้าป่าตัดไม้ ล่องแพเอง บางครั้งแทบเอาชีวิตไม่รอด 

หนังสือพระราชทานเพลิงศพอาจารย์หมั่น วัดดงสัก กาญจนบุรี
หนังสือพระราชทานเพลิงศพอาจารย์หมั่น วัดดงสัก กาญจนบุรี

         วัดดงสัก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ แต่ในบริเวณวัดนั้นมีโบราณสถานพงตึก ซึ่งมีอายุประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าปี นับเป็นโบราณวัตถุสถานที่เก่าแก่กว่ากรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา เดิมวัดดงสักเป็นเพียงสำนักสงฆ์ โดยมีชาวบ้านอู่ตะเภา ท่าหว้า ท่าไม้และวังทอง ร่วมกันสร้างวัด มีรายนามเจ้าอาวาสวัดดงสักดังนี้

         ๑. พระอธิการชม ๒๔๗๓-๒๔๗๖

         ๒. พระอธิการโต ๒๔๗๖ - ๒๔๗๙

         ๓. พระครูกิจวิริยากร(หมั่น) ๒๔๘๐-๒๕๑๘

         ๔. พระปลัดประยูร สุจิตฺโต ๑ เมษายน ๒๕๑๘ - ปัจจุบัน

         หลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก ปกครองวัดเรื่อยมาจนมรณภาพลงด้วยโรคปอด เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๐๒.๐๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๘๙ ปี ๖๔ พรรษา 

         และได้รับพระราชทานเพลิงศพในวันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙

วัตถุมงคลของหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก

         เหรียญหล่อทราวดี หลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ลักษณะเป็นพระหล่อโบราณ พิมพ์ทราวดี สร้างขึ้นด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ผสมด้วยเศษพระโลหะสมัยทวารดีที่ขุดพบในโบราณสถานพงตึก ในส่วนของการพิธีปลุกเสกนั้นได้ทำพิธีพุทธาภิเษก โดยนิมนต์หลวงปู่เปลี่ยน วัดใต้ มาร่วมปลุกเสกด้วย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อทราวดี หลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก กาญจนบุรี รุ่นแรก ทองเหลือง พิมพ์ใหญ่
เหรียญหล่อทราวดีหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เนื้อทองเหลือง พิมพ์ใหญ่

         ด้านหน้า เป็นรูปพระพิมพ์ทวารวดีประทับยืน พระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้างยกขึ้น องค์พระห่มจีวรคลุมไหล่แบบพระทวารวดีโบราณ องค์พระประทับอยู่ภายในซุ้มสวยงาม

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระภาษาใดๆ ในบางองค์มีรอยแต่งตะไบและรอยชนวนที่ใต้ฐานพระ

         เหรียญหล่อทราวดี หลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก รุ่น ๒

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ลักษณะเป็นพระหล่อโบราณพิมพ์ทราวดีแบบเดียวกับพระรุ่นแรก สร้างขึ้นด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ผสมด้วยเศษพระโลหะสมัยทวารดีที่ขุดพบในโบราณสถานพงตึกเป็นชนวนในการสร้างพระ  จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อทราวดี หลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก กาญจนบุรี รุ่น 2  ทองเหลือง
เหรียญหล่อทราวดีหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า แกะพิมพ์เหมือนกับรุ่นแรก คือเป็นรูปพระพิมพ์ทวารวดีประทับยืน พระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้างยกขึ้น องค์พระห่มจีวรคลุมไหล่แบบพระทวารวดีโบราณ องค์พระประทับอยู่ภายในซุ้มสวยงาม

         ด้านหลัง เรียบ แต่จะตอกเลข "2" ไว้เพื่อจำแนกองค์พระว่าสร้างเป็นรุ่น ๒ ในบางองค์จะมีรอยแต่งตะไบและรอยชนวนที่ใต้ฐานพระ

         เหรียญหล่อทราวดี หลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ลักษณะเป็นพระหล่อโบราณพิมพ์ทราวดีแบบเดียวกับพระรุ่นแรกและรุ่น ๒  แต่อเนื้อโลหะที่ใช้ในการสร้างพระจะเป็นเนื้อตะกั่วเก่า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อทราวดี หลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก กาญจนบุรี รุ่น3 ตะกั่ว
เหรียญหล่อทราวดีหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อตะกั่วเก่า

         ด้านหน้า เป็นรูปพระพิมพ์ทวารวดีประทับยืน พระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้างยกขึ้น องค์พระห่มจีวรคลุมไหล่แบบพระทวารวดีโบราณ องค์พระประทับอยู่ภายในซุ้มสวยงาม

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระภาษาใดๆ องค์พระมีรอยแต่งตะไบและรอยชนวนที่ใต้ฐานพระ

         เหรียญหล่อทราวดีวัดดงสัก รุ่น ๔

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคและเป็นที่ระลึกในการสร้างโรงเรียนวัดดงสัก ลักษณะเป็นพระปั๊มพิมพ์ทราวดีไม่มีหูเหรียญ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อทราวดี หลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก กาญจนบุรี รุ่น4 ทองแดง
เหรียญหล่อทราวดีหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปพระพิมพ์ทวารวดีประทับยืน พระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้างยกขึ้น องค์พระห่มจีวรคลุมไหล่แบบพระทวารวดีโบราณ องค์พระประทับอยู่ภายในซุ้มสวยงาม

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ ชา ลิ ติ" อยู่ตรงกลางเหรียญ ด้านบนของเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อนุสรณ์สร้างโรงเรียน(วัดดงสัก)" ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง"

         เหรียญหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคพัฒนาวัดดงสัก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูเหรียญ เหรียญรุ่นนี้ถือเป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายของท่าน มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก กาญจนบุรี รุ่นแรก 2518 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก กาญจนบุรี รุ่นแรก 2518 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อหมั่นครึ่งองค์ห่มวีจรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนของเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุกิจวิริยากร (หมั่น) อายุ ๘๙ปี"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์น้ำเต้า อยู่ตรงกลางเหรียญ ด้านล่างของเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดดงสัก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี พ.ศ. ๒๕๑๘"


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้