โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแก้ว วัดปราสาทสิทธิ์ (วัดหลักห้า) พระผงร้อยปีเก่าของคลองดำเนิน ราชบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อแก้ว วัดหลักห้า ราชบุรี
หลวงพ่อแก้ว วัดหลักห้า(ปราสาทสิทธิ์) ราชบุรี

         หลวงพ่อแก้ว วัดหลักห้า หรือ พระอธิการแก้ว วัดปราสาทสิทธิ์ ท่านเป็นพระเกจิยุคเก่าของคลองดำเนินสะดวก  หลวงพ่อแก้ว พื้นเพท่านเป็นชาวเพชรบุรี เกิดที่บ้านตำบลวังตะโก หมู่ ๑๐ อำเภอคลองกระแซง จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๒๓ โยมบิดาชื่อนายแดง แสงมณี โยมมารดาชื่อนางจุ้ย แสงมณี ประกอบอาชีพกสิกรรม หลวงพ่อแก้ว ท่านมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๑๒ คน คือ 

         ๑. นางแหวน

         ๒. หลวงพ่อแก้ว รตนโชติ

         ๓. นายเกตุ แดงปุ่น

         ๔. พระครูล้อม

         ๕. นางแรม

         ๖. นายดี แดงปุ่น

         ๗. นายจีน แดงปุ่น

         ๘. นางเริ่ม สงวนวงศ์

         ๙. นายเติม แดงปุ่น (อีกสองคนตายตั้งแต่ยังเยาว์)

         ราวปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ครอบครัวของท่าน ได้ย้ายถิ่นฐานภูมิลำเนาจากเพชรบุรี มาอยู่ที่บ้านตำบลดอนไผ่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี 

         ราวปี พ.ศ. ๒๔๔๔ หลวงพ่อแก้ว มีอายุได้ ๒๑ ปี ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทสีมาวัดประสาทสิทธิ์(วัดหลักห้า) ตำบลดอนไผ่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับฉายาว่า "รตนโชโต" โดยมี

         พระครูวรปรีชาวิหารกิจ(ช่วง) วัดโชติทายาการาม เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระธรรมวิรัติสุนทร (เชย) วัดโชติทายาการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์วัชร์ วัดโชติทายาการาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

          หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้อยู่จำพรรษาที่วัดประสาทสิทธิ์เรื่อยมา แต่เมื่อท่านมีเวลา ท่านก็มักจะเดินทางไปศึกษาวิชาอาคมต่างๆ กับหลวงพ่อช่วง ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน

         กาลต่อมาพระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดปราสาทสิทธิ์ได้ลาสิกขาบท ชาวบ้านดอนไผ่จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อแก้วขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

ทวดแดง  เดิมคือพระอธิการแดง อดีตเจ้าอาวาสวัดปราสาทสิทธิ์
ทวดแดง เดิมคือพระอธิการแดง อดีตเจ้าอาวาสวัดปราสาทสิทธิ์

         วัดปราสาทสิทธิ์ (วัดหลักห้า) เดิมชื่อว่า "วัดสมเด็จปราสาทสิทธิ์ธิดาราม" ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ ๕ ตำบลประสาทสิทธิ์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งแต่เดิมตำบลประสาทสิทธิ์รวมอยู่กับตำบลดอนไผ่ ในบริเวณหลัก ๕ ริมคลองดำเนินสะดวก ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า วัดโคกไผ่ วัดดอนไผ่ หรือ วัดหลักห้า วัดมีพื้นที่ ๑๒ ไร่เศษ

         เดิมวัดตั้งอยู่ห่างจากริมคลองดำเนินสะดวกประมาณ ๕๐๐ เมตร ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งพระอุโบสถ สร้างโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยสร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๔๑๑ เพื่อเป็นที่ระลึกในการขุดคลองดำเนินสำเร็จ (ขุดคลองปี พ.ศ. ๒๔๐๙ แล้วเสร็จปี พ.ศ. ๒๔๑๑) 

         และเพื่อเป็นวัดไว้สำหรับประกอบศาสนกิจ ให้กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่หลักห้าแถบนี้ ซึ่งในสมัยนั้นหลังจากขุดคลองแล้วเสร็จ ชาวบ้านได้มีการย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในเขตริมคลองมากจนเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๔ มีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้

         ๑. พระสมุห์สิน ปกครองวัดราว ๖-๗ ปี บ้างก็ว่า ๑๒ ปี ก่อนย้ายกลับวัดราชาธิวาส

         ๒. พระอธิการทอง

         ๓. พระอธิการแดง ซึ่งต่อมาได้ลาสิกขา วัดจึงว่างการปกครองไประยะหนึ่ง

         ๔. พระอธิการแก้ว รัตนโชติ

         ๕. พระครูล้อม พรหมสโร พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๙๖

         ๖. พระครูประสาทรัตนกิจ หรือ พระปลัดบุญ ปทุมสโร นามเดิมชื่อบุญ ศรีเมือง มรณภาพเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕  

         ๗. พระครูประศาสน์สิทธิรักษ์ หรือ หลวงพ่อกิมใช้ รตนวณโณ นามเดิมชื่อกิมใช้ แซ่เฮ้ง มรณภาพปี พ.ศ. ๒๕๔๘ 

         ๘. พระครูประภัสสรวรคุณ หรือ หลวงพ่อพระมหาชัยพร วลลโภ ปธ.4 มรณภาพเมื่อวันที่  ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

         ๙. พระครูอนูกูลวรากร (รวีโรจน์ วรมังคโล) พ.ศ. ๒๔๖๓ - ปัจจุบัน 

         หลังจากที่พระอธิการแก้ว รตนโชโต ได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นตามกำลังที่จะสามารถทำได้ ซึ่งในสมัยนั้นวัดเจริญรุ่งเรืองมาก จนมีพระอยู่จำพรรษามากถึง ๓๐ กว่ารูป

         นอกจากนี้ท่านยังพัฒนาจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่ให้อยู่ในธรรมและรักษาศีล ทั้งยังเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อชาวบ้านมีเรื่องเดือดร้อนใดๆ ก็มักจะได้หลวงพ่อแก้ว ช่วยเหลืออยู่เสมอ เพราะท่านเชี่ยวชาญทั้งยาสมุนไพร วิชาอาคม และยังเป็นพระนักพัฒนาอีกด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ พระอธิการแก้ว ท่านได้ย้ายศาลาการเปรียญจากด้านหน้าไปไว้ริมเขื่อนด้านทิศตะวันออก แล้วมุงหลังคากระเบื้องซีเมนต์และบูรณส่วนที่เสียหายใหม่ และยังได้ปรับปรุงหอสวดมนต์และกุฏิใหม่ ทีเดิมเริ่มผุพังไปตามกาลเวลา 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ วัดเดิม กุฏิ และโบสถ์ เสนาสนะต่างๆ มักเกิดความเสียหายจากการที่วัดตั้งอยู่บนพื้นที่ดินเหนียว พอถึงหน้าน้ำดินจะแน่น แต่พอถึงหน้าแล้งดินจะแตกรานเป็นร่องลึกทำให้ต้องปฏิสังขรณ์วัดอยู่เรื่อยไป หลวงพ่อแก้วจึงได้ย้ายวัดมาตั้งริมคลองดำเนินสะดวก ดังที่เห็นในปัจจุบัน

         หลวงพ่อแก้ว ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงช่วงปั้นปลาย ท่านจึงได้ลาสิกขาไปในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ และถึงแก่กรรมที่บ้านคลองบางไผ่ จึงไม่มีประวัติให้สืบค้นได้อีกต่อไป.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแก้ว วัดหลังห้า

         พระ์เล็บมือ(ปรกโพธิ์)หลวงพ่อแก้ว วัดหลักห้า(ปราสาทสิทธิ์)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ - ๒๔๖๗ เพื่อแจกให้กับชาวบ้านและศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อแก้ว  ลักษณะเป็นพระเนื้อดินผสมผงทรงห้าเหลี่ยมแบบพระเล็บมือขนาดเล็ก หลวงพ่อแก้วปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระผงหลวงพ่อแก้ว (เจ้าอธิการแก้ว รตนโชตํ) วัดปราสาทสิทธิ์ 2460
พระเล็บมือหลวงพ่อแก้ว วัดหลักห้า ปี พ.ศ.๒๔๖๐ กว่าๆ

พระผงหลวงพ่อแก้ว (เจ้าอธิการแก้ว รตนโชตํ) วัดหลักห้า ปราสาทสิทธิ์ 2460
พระเล็บมือหลวงพ่อแก้ว วัดหลักห้า ปี พ.ศ.๒๔๖๐ กว่าๆ ของคุณอ๋อง

พระผงหลวงพ่อแก้ว (เจ้าอธิการแก้ว รตนโชตํ) วัดหลักห้า ปราสาทสิทธิ์ 2460
พระเล็บมือหลวงพ่อแก้ว วัดหลักห้า ปี พ.ศ.๒๔๖๐ กว่าๆของคุณยอดชาย ตั้งสิริกุลพร

         ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธปกโพธิ์ปางสมาธิบนฐานเขียง ๒ ชั้น มีกรอบครอบ มีเอกลักษณ์

         ด้านหลัง  เรียบ พระแทบทุกองค์จะปรากฏรอยจารอ่านได้ว่า "พุท ธะ สัง มิ" เป็นเอกลักษณ์ที่สามารถจดจำได้ง่าย


ข้อมูล : บางส่วนจากหลังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพพระครูล้อม พรหมสโร วัดปราสาทสิทธิ์ ของคุณนิพนธ์ ประไพจิต (บ้านครูโพธิ์ หลักห้า)

โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้