โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลพระครูไกรสรวิลาศ(สนั่น ธมฺมเสวี) วัดสอนประดิษฐ์วราราม(วัดเม็ง)

ภาพถ่ายหลวงพ่อสนั่น หรือ พระครูไกรสรวิลาศ วัดสอนประดิษฐ์วราราม(วัดเ็มง) ราชบุรี
หลวงพ่อสนั่น หรือ พระครูไกรสรวิลาศ วัดสอนประดิษฐ์วราราม(วัดเม็ง) ราชบุรี

         หลวงพ่อสนั่น วัดเม็ง หรือ พระครูไกรสรวิลาศ วัดสอนประดิษฐ์วราราม ตำบลขุนพิทักษ์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ท่านเป็นพระเกจิชื่อดังอีกรูปหนึ่งของคลองดำเนินสะดวก ท่านมีอีกชื่อหนึ่งว่า  หลวงพ่อมหาลาภ เพราะท่านมีวิชามหาลาภ ถูกสลากกินแบ่งทุกรางวัลมาแล้วติกต่อกันถึง ๖๕ ครั้ง

         หลวงพ่อสนั่น ท่านมีชื่อเดิมว่า สนั่น สายทองคำ พื้นเพท่านเป็นคนบ้านคลองเม็ง ตำบลขุนพิทักษ์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เกิดปีวอก วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ เวลาย่ำค่ำ (๑๘ นาฬิกา ๑๙ นาทีเศษ) ตรงกับวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ โยมบิดาชื่อนายผัน สายทองคำ โยมมารดาชื่อนางจันทร สายทองคำ ท่านมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๑๑ คน

         เมื่อท่านมีอายุได้ ๕ ขวบ โยมบิดาได้นำท่านไปฝากไว้กับพระอาจารย์เย็น วัดเม็ง(วัดสอนประดิษฐ์วราราม) ผู้เป็นหลวงน้า เพื่อให้ร่ำเรียนหนังสือในเบื้องต้น จากนั้นพระอาจารย์เย็น ได้นำท่านไปฝากไว้กับหลวงพ่อสอน เจ้าอาวาสวัดเม็ง อีกต่อหนึ่งเพื่อจะได้เข้าเรียนหนังสือในชั้นประถมศึกษาอีกต่อไป

         ซึ่งในสมัยนั้นหลวงพ่อสอน ได้ให้ครูเยี่ยม ซึ่งเป็นคนเพชรบุรี มาทำการสอนให้กับเด็กที่วัดและลูกหลานของชาวบ้านในพื้นที่ โดยจัดการเรียนการสอนกันที่ศาลาวัดเม็ง (ตอนนั้นยังไม่มีโรงเรียนประชาบาล)    

         แรกเริ่มเดิมที่หลวงพ่อสนั่น ท่านมีชื่อจริงๆว่าตรุษ เพราะท่านเกิดในวันตรุษจีน ต่อมาเมื่อโยมมารดาของท่านเสียชีวิตลง พี่สาวยวงซึ่งเป็นผู้ที่เลี้ยงน้องแทนมารดา จึงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า สนั่น

         ครั้งอายุได้ ๑๒ ปี ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านพระครูธรรมคุต วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ (ปัจจุบันรับตำแหน่ง พระครูโวทานธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดดาวดึงษาราม กรุงเทพฯ) ท่านได้เดินทางมาเทศน์ที่วัดเม็ง หลวงพ่อสอนจึงได้ฝากฝั่งหลวงพ่อสนั่น ให้กับท่านพระครู เพื่อให้นำไปศึกษาเล่าเรียนต่อไป

         หลวงพ่อสนั่น ท่านจึงได้ติดตามท่านพระครูไปอยู่ที่วัดมหาธาตุ จนมีอายุได้ ๑๘ ปี จึงได้บวชเณร โดยบวชอยู่ ๔ พรรษา จึงได้บรรพชาเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ได้รับฉายาว่า "ธมมฺเสวี" โดยมี

         ท่านเจ้าคุณธรรมไตรโลกาจารย์ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์

         ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดมหาธาตุ เพื่อร่ำเรียนวิชาและช่วยเหลืองานให้กับท่านเจ้าคุณธรรมไตรโลกาจารย์ เจ้าคณะตรวจการภาค ๑ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ 

         ด้วยความเข้มแข็งในงานสมณะกิจ ต่อมาจึงได้รับตำแหน่งเป็นพระครูไกรสรวิลาศ ของท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ

         นอกจากนี้ท่านยังได้แสวงหาความรู้ในด้านของคาถาอาคม โดยท่านได้เดินทางไปขอเรียนวิชาอาคมกับหลวงปู่เปลี่ยน วัดใต้ กาญจนบุรี ร่ำเรียนอยู่หลายเดือนจนสำเร็จวิชาอยู่ยงคงกระพัน และวิชามหานิยม

         หลังจากนั้นท่านได้เดินทางไปขอเรียนวิชาทางเมตตา และคลาดแคล้ว กับหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดนครปฐมอีกด้วย

         หลังจากที่ร่ำเรียนวิขาอาคมกับหลวงพ่อแช่มแล้ว ท่านจึงได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดเม็งอีกครั้ง เพื่อเยี่ยมโยมบิดาและพระอาจารย์สอน

         จนล่วงเข้าปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พระอธิการสอนได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อสนั่น ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทนตำแหน่งที่ว่างลง

ภาพถ่ายหลวงพ่อสอน วัดสอนประดิษฐ์วราราม(วัดเ็มง) ราชบุรี
หลวงพ่อสอน วัดสอนประดิษฐ์วราราม(วัดเ็มง) ราชบุรี เจ้าอาวาสรูปที่ ๒

         วัดสอนประดิษฐ์วราราม ตั้งอยู่เลขที่ ๗๘ หมู่ ๓ ตำบลขุนพิทักษ์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๒ เดิมชื่อ "วัดเม็ง" เนื่องจากมีลำคลองหน้าวัดชื่อคลองเม็ง ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดเม็งตลอดมา 

         จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๑ สมัยพระอธิการสอนเป็นเจ้าอาวาสได้มรณภาพลง หลวงพ่อสนั่นเจ้าอาวาสรูปถัดมาจึงขอเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงคุณงามความดีของหลวงพ่อว่า "วัดสอนประดิษฐ์" พอถึงสมัยของหลวงพ่อสระจึงเปลี่ยนชื่อวัดอีกครั้งว่า "วัดสอนประดิษฐ์วราราม"และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยมีเจ้าอาวาสวัดที่สามารถสืบค้นได้ดังนี้

         ๑. พระอธิการลาว ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๔๖๐

         ๒. พระอธิการสอน ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ - ๒๔๘๐

         ๓. หลวงพ่อสนั่น (พระครูไกรสรวิลาศ ธมฺมเสวี) ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๔๙๐

         ๔. หลวงพ่อสระ (พระครูสาทรสุตกิจ จนฺโชโต) ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ - ปัจจุบัน (รักษาการ พ.ศ. ๒๔๙๐- ๒๔๙๗) 

         หลังจากที่หลวงพ่อสนั่น ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด และการพัฒนาสิ่งก่อสร้างต่างๆภายในวัด และได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า "วัดสอนประดิษฐ์" เพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณงามความดีของหลวงพ่อสอน อดีตเจ้าอาวาส

         จนถึงสมัยของหลวงพ่อสระเป็นเจ้าอาวาส ท่านจึงเพิ่มคำว่า "วราราม" ต่อท้ายเป็น "วัดสอนประดิษฐ์วราราม" เพื่อให้ชื่อวัดดูสระสลวยขึ้นกว่าเดิมและใช้มาจนถึงปัจจุบัน

         พระครูไกรสรวิลาศ ท่านได้รับสมญาจากมวลลูกศิษย์ลูกหาของท่านว่า หลวงพ่อมหาลาภ เพราะทำให้บรรดาลูกศิษย์ของท่านมีลาภและร่ำรวยตามๆกัน โดยลูกศิษย์ของท่านส่วนมากเป็นทหารบก ทหารเรือ พ่อค้า 

         ท่านมีของวิเศษที่ประจักษ์ตาหลายอย่าง อาทิเช่น ผ้าแพรยันต์มหานิยม ตะกรุดทองแดงปราบสงคราม ตะกรุดมหาลาภ พระแก้วมรกตจำลอง(สร้างจากญี่ปุ่น) และลูกอม(ปัจจุบันที่วัดยังมีอยู่)

         ยิ่งตะกรุดปราบสงคราม บรรดาลูกศิษย์ที่เป็นทหารนิยมกันมาก ขอไปสงครามอินโดจีนกันมาก เพราะเหนียวจนแมลงวันไม่ได้กินเลือด

         และด้วยการที่ลูกศิษย์ของท่านร่ำรวยเพราะท่านเป็นจำนวนมากจึงทำให้กฐินเมื่อ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้เงินถึง ๘๐,๐๐๐ บาท ซึ่งถือว่าสูงมากในสมัยนั้น

         พระครูไกรสรวิลาศ หรือ หลวงพ่อสนั่น ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ในท่านั่งสมาธิขณะลงโบสถ์ นับรวมสิริอายุได้ ๓๙ ปี ๑๗ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อสนั่น วัดเม็ง

         เหรียญพระครูไกรสรวิลาศ วัดสอนประดิษฐ์วราราม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ในการพัฒนาวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงรมดำเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญพระครูไกรสรนิลาศ วัดเม็ง วัดสอนประดิษฐ์วราราม ราชบุรี  2496 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อสนั่น วัดสอนประดิษฐ์วราราม(วัดเม็ง) รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระครูไกรสรนิลาศ วัดเม็ง วัดสอนประดิษฐ์วราราม ราชบุรี  2496 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อสนั่น วัดสอนประดิษฐ์วราราม(วัดเม็ง) รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดง
เหรียญพระครูไกรสรนิลาศ วัดเม็ง วัดสอนประดิษฐ์วราราม ราชบุรี  2496 ทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อสนั่น วัดสอนประดิษฐ์วราราม(วัดเม็ง) รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดงรมดำ

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสนั่น ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูไกรสรวิลาศา" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์

 

ข้อมูล : หลวงพ่อ วัดสอนประดิษฐ์วราราม(วัดเม็ง)

โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้