โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อสอน วัดปรกสุธรรมาราม (วัดปรกคลองอ้อม) พระนักพัฒนาของเมืองแม่กลอง

ภาพถ่ายหลวงพ่อสอน วัดปรกสุธรรมาราม สมุทรสงคราม
หลวงพ่อสอน วัดปรกสุธรรมาราม สมุทรสงคราม

          หลวงพ่อสอน วัดปรกสุธรรมาราม หรือ พระครูบริหารสุตกิจ (สอน จนฺทสุวณฺโณ) วัดปรกสุธรรมาราม ท่านมีนามเดิมว่า สอน มีนุชนารถ เกิดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗  ณ บ้านคลองอ้อม หมู่ที่ ๖ ตำบลบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โยมบิดาชื่อนายสะ มีนุชนารถ โยมมารดาชื่อนางคำ มีนุชนารถ โดยท่านเป็นบุตรคนเดียว แต่มีพี่น้องต่างมารดาอันเกิดจากนางแจ่ม มีนุชนารถ  จำนวต ๕  คนคือ

         ๑. นายส่วน มีนุชนารถ

         ๒. นางแสง ปู่เถา

         ๓. นางสุก รุ่งแจ้ง

         ๔. นายสด มีนุชนารถ

         ๕. นายลม มีนุชนารถ

         เมื่อเยาว์วัยท่านได้ศึกษาเล่าเรียน ณ โรงเรียนวัดปากน้ำ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อเรียนอักขระสมัย จนสามารถอ่านออกเขียนได้

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงพ่อสอน มีอายุ ๒๑ ปีบริบูรณ์ จึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปรกสุธรรมาราม ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้รับฉายาว่า "จนฺทสุวณฺโณ" โดยมี

         พระอธิการสิน วัดปรกสุธรรมาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการลับ วัดบางแคใหญ่ เป็นพระกรรมวาจาจารณ์

         พระอธิการสอน วัดบางเกาะเทพศักดิ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่อบวชแล้วได้จำพรรษาที่วัดปรกสุธรรมารามเพื่อศึกษาภาษาบาลี จนภายหลังได้ไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ที่สำนักวัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี และสอบได้นักธรรมตรี ต่อจากนั้นก็ได้ไปฝึกหัดเทศน์และเรียนปาติโมกข์แปล กับอาจารย์ห่วง วัดแจ้ง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

หนังสืองานศพหลวงพ่อสอน วัดปรกสุธรรมาราม สมุทรสงคราม
หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อสอน วัดปรกสุธรรมาราม สมุทรสงคราม

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนวัดปรกสุธรรมารามขึ้นเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๖๖ และเริ่มเปิดเรียนขึ้น ในสมัยนั้นมีนักเรียน ๘๕ คน มีนายแคล้ว เล็กสุวรรณ เป็นครูประจำชั้นและครูใหญ่

         ต่อมาจำนวนนักเรียนมากขึ้น ทางราชการจึงแต่งตั้งให้หลวงพ่อสอนเป็นครู เพื่อช่วยสอนหนังสือเมื่อวันที่ ๑ กรกรฏาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ และแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ก่อนที่ลาออกจการาชการเมื่อวันที่ ๑ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ พระอธิการสินได้มรณภาพลง คณะศิษย์และชาวบ้านจึงได้นิมนต์หลวงพ่อสอนขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดปรกสุธรรมราม หรือ วัดปรกคลองอ้อม

         วัดปรกสุธรรมาราม เป็นวัดในพุทธศาสนาเถรวาท สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่บ้านวัดปรก หมู่ที่ ๖ ตำบลบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นวัดที่มีศาสนสถานสำคัญ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำจังหวัดสมุทรสงคราม

         ชาวบ้านนิยมเรียกติดปากกันว่า วัดปรกคลองอ้อม ถือเป็นวัดโบราณวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ริมคลองสองด้าน คือ คลองแควอ้อม กับคลองวัว แต่เดิมเป็นป่ารกชัฏไม่ค่อยมีบ้านเรือน บรรยากาศเงียบสงบ เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม 

         หลวงปู่เพ็ง อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดบางแคใหญ่ (ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๗) ได้ใช้บริเวณนี้ เป็นสถานที่อยู่ปริวาสกรรม ร่วมกับพระภิกษุที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงเสมอๆ ในเวลาออกพรรษา 

         จึงสันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะมีสำนักสงฆ์อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาคุณหญิงเกษม ณ บางช้าง บ้านอยู่ เมืองราชบุรี ได้ถวายที่ดินให้สร้างวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๑ เนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๓ งาน ๔๒ ตารางวา 

         ได้ขอจัดตั้งเป็นวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ อุโบสถหลังแรกเป็นทรงไทย ไม้เนื้อแข็ง วัดได้รับวิสุงคามสีมา ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๑๙ 

         ต่อมาสมัยหลวงปู่สินเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ได้รื้ออุโบสถหลังเดิมแล้วสร้างใหม่แบบก่ออิฐถือปูน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ตลอดมา จนกระทั่งอุโบสถเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ อันดับเจ้าอาวาสปกครองวัดคือ

         ๑. หลวงปู่เพ็ง

         ๒. หลวงปู่สิน

         ๓. หลวงพ่อสอน พระครูบริหารสุตกิจ

         ๔. พระอธิการเจิม

         ๕. พระครูปลัดอุดม อุตฺตโม

         ๖. พระปัญญา กิตฺติโก

         เมื่อหลวงพ่อสอน ท่านได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ส่งเสริมการเล่าเรียนปริยัติธรรมของสงฆ์ในวัดเป็นอย่างดี เช่นจัดหาหนังสือเรียน หาครูปริยัติธรรมที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยสอน เช่น พระอาจารย์นวม (พระครูสุทธิศีลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเขาสมอกระบัง เพชรบุรี) พระอาจารย์สาย (พระครูสมุทรมงคล เจ้าคณะตำบลบ้านปรก พระอาจารย์หริ่ม (พระครูสมุทรนวกิจ เจ้าอาวาสวัดบางเกาะเทพศักดิ์) พระมหาโชติ์ ป. ๗ (พระเมธีธรรมานุวัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใหญ่ เป็นต้น

         นอกจากนี้ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ก่อสร้างเสนาสนะ สิ่งถาวรวัตถุต่างๆ อาทิเช่น สร้างศาลาการเปรียญ โดยต่อเติมด้านหน้าและด้านหลัง ซ่อมกุฏิ ซ่อมพระอุโบสถ และสร้างวิหารทรงไทย เป็นต้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ด้วยคุณงามความดีของท่าน ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี มีราชทินนามว่า "พระครูบริหารสุตกิจ"

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยใช้ราชทินนามเดิม

         และจากการที่หลวงพ่อสอน ได้ตรากตรำงานหนัก เพื่อพัฒนาวัดและพัฒนาจิตใจของชาวบ้านรวมทั้งการสอนหนังสือ ท่าจจึงได้เริ่มป่วยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดลมอักเสบ 

ภาพในพิธีงานศพของหลวงพ่อสอน วัดปรกสุธรรมาราม สมุทรสงคราม
ภาพในพิธีงานศพของหลวงพ่อสอน วัดปรกสุธรรมาราม สมุทรสงคราม

         ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ท่านเริ่มป่วยหนัก บรรดาศิษย์ปรารภกับท่าน จะพาท่านไปโรงพยาบาล ท่านปฏิเสธและพูดว่า "คราวนี้ถึงเวลาจะกลับบ้านเก่าแล้ว ขอให้ตายอยู่ที่วัดนี้เถอะ ญาติโยมจะไม่ต้องลำบาก"

         หลวงพ่อสอน ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบ ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ เวลา ๑๒.๓๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๕๔ พรรษา และมีการพระราชทานเพลิงศพในวันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ เวลา ๑๕.๓๐ น. ยังความโศกเศร้าเสียใจมาแก่บรรดาชาววัดปรกสุธรรมารามเป็นอย่างยิ่ง.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อสอน วัดปรกสุธรรมาราม

         เหรียญหลวงพ่อสอน วัดปรกสุธรรมาราม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ สมัยที่พระอาจารย์เจิมเป็นเจ้าอาวาส  ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ซึ่งเหรียญรุ่นนี้เข้าพิธีปลุกเสกพร้อมเหรียญไตรภาคี วัดปรกสุธรรมมาราม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญหลวงพ่อสอน วัดปรกสุธรรมาราม สมุทรสงคราม รุ่นแรก  2519 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดปรกสุธรรมาราม รุ่นแรก  ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อสอนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูบริหารสุตตกิจ หลวงพ่อสอน"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ ยะ ธา พุท โม นะ" ด้านบนของอักขระยันต์มีตัว อุ (อุนาโลม) หนึ่งตัว ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดปรกสุะรรมาราม"

         เหรียญไตรภาคี วัดปรกสุธรรมาราม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว สร้างขึ้นในสมัยที่พระอาจารย์เจิมเป็นเจ้าอาวาส มีการสร้างด้วยเนื้อนวะโลหะ และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญไตรภาคี วัดปรกสุธรรมาราม สมุทรสงคราม 2519 นวะ
เหรียญไตรภาคี วัดปรกสุธรรมาราม สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อนวะ

เหรียญไตรภาคี วัดปรกสุธรรมาราม สมุทรสงคราม 2519 ทองแดง
เหรียญไตรภาคี วัดปรกสุธรรมาราม สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

        ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงปู่ทวด สมเด็จพุทธาจารย์โต และครูบาศรีวิชัย ด้านบนมีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "เหรียญไตรภาคี วัดปรก ส.ส."

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อยู่เต็มเหรียญ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๗ ส.ค. ๑๙" 

         ซึ่งเหรียญรุ่นนี้เข้าพิธีปลุกเสกพร้อมเหรียญไตรภาคี วัดปรกสุธรรมมาราม โดยมีพระเถราจารย์สายเหนือเข้าร่วมพิธีดังรายนามต่อไปนี้ ๑.หลวงปู่คำแสน วัดสวนดอก ๒.หลวงปู่คำแสน วัดดอนมูล ๓.หลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง ๔.ครูบาอินทรจักรสังวร วัดน้ำบ่อหลวง ๕.ครูบาชุ่ม วัดวังมุ่ย ๖.ครูบาธรรมาชัย วัดทุ่งหลวง ๗.ครูบาคำตัน วัดดอนจีน ๘.ครูบาอินถา วัดเชียงมั่น และ ๙.ครูบาไฝ วัดพันอ้น

         ต่อมาทางผู้สร้างคือพระอาจารย์เจิมได้นำเหรียญทั้งหมดไปให้ครูบาอาจารย์สายพระอาจารย์มั่นปลุกเศกเดี่ยวดังนี้

         ๑. หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่

         ๒. หลวงพ่อครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า ลำพูน

         ๓. หลวงพ่อครูบาสิริธรรมวารี วัดศรีโสดา เชียงใหม่

         ๔. หลวงปู่ผั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร

         ๕. หลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขต ขอนแก่น

         ๖. หลวงปู่อ่อน วัดป่านิโครธาราม อุดรธานี

         ๗. หลวงปู่ชอบ วัดป่าสัมมานุสรณ์ เลย

         และมาเข้าพิธีพุทธาพิเศกที่วัดเพิ่มเติมอีกเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยมีรายนามพระเถราจารย์ที่เข้าร่วมพิธีดังนี้

         ๑. พระราชสมุทรเมธี(หลวงพ่อเจริญ) วัดอัมพวัน 

         ๒. หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี 

         ๓. หลวงปู่บุญ วัดวังมะนาว

         ๔. หลวงพ่อคลี่ วัดประชาโฆษิตาราม

         ๕. หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

         ๖. หลวงพ่อนวม วัดเขาสมอบัง

         ๗. หลวงพ่อหนู วัดภุมรินทร์

         ๘. หลวงพ่อแดง วัดบางเกาะเทพศักดิ์ 

         ๙. หลวงพ่อเพิ่ม วัดสรรเพชญ์

         ซึ่งจากรายนามและพระเกจิอาจารย์ที่เข้าพิธีดังกล่าวย่อมเชื่อถือได้ว่าเหรียญหลวงพ่อสอน ถึงแม้จะไม่ทันหลวงพ่อแต่ก็ได้พระเกจิชื่อดังตามที่กล่าวมาปลุกเศก เหรียญรูปเหมือนของท่านย่อมจะไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน.


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้