ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อม่วง นาคเสโน วัดยางงาม ราชบุรี อีกหนึ่งพระดีของอำเภอปากท่อ
หลวงพ่อม่วง วัดยางงาม ราชบุรี |
หลวงพ่อม่วง วัดยางงาม หรือ พระครูสุนทรจริยาวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดยางงาม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์เรื่องวิทยาคมชื่อดังแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง หรือที่รู้จักกันดี
หลวงพ่อม่วง ท่านมีนามเดิมว่า ม่วง พุ่มโรจน์ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด ณ บ้านหมู่ที่ ๕ ตำบลปากท่อ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี แต่ไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน
ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงพ่อม่วง มีอายุครบ ๒๐ ปี ท่านจึงตัดสินใจเข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากท่อ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้รับฉายาว่า "นาคเสโน" โดยมี
พระครูอินทเขมาจารย์(เปาะ) วัดช่องลม ราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
พระธรรมเสนานี (สุข สุภทฺโท ป.ธ.๔) วัดปากท่อ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูวิบูลธรรมเวที (หลวงพ่อเส็ง) วัดปากท่อ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังครองผ้ากาสาวพัสตร์ ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดปากท่อ เพื่อมุ่งมั่นศึกษาหาความรู้ทางด้านพระธรรมวินัย
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดปากท่อ
ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ สอบได้นักธรรมชั้นโท
แม้ในชั้นแรก ตั้งใจบวชเรียนเพียง ๒-๓ พรรษา แต่เมื่อได้ศึกษาร่ำเรียนพระปริยัติธรรม แล้วเกิดความซาบซึ้งในรสพระธรรมจนไม่คิดลาสิกขา
หลวงพ่อเส็ง หรือ พระครูพิบูลธรรมเวที วัดปากท่อ ราชบุรี |
ต่อมาหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ ได้รับมอบหมายให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยางงาม หลวงพ่อม่วงจึงตัดสินใจเดินทางตามมาอยู่ที่วัดยางงามด้วย ท่านร่วมกับหลวงพ่อเส็ง พระลูกวัดและชาวบ้าน พัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง จัดสอนธรรมมะ เปิดโรงเรียนสอนพระอภิธรรม มีชาวบ้านมาเรียนมากมาย ต่อมาได้จัดให้มีการบวชชีพราหมณ์ ในแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมกันอย่างมากและยังมีบวชสามเณรภาคฤดูร้อน
วัดยางงาม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลวัดยางงาม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ตามประวัติสืบทราบได้ว่า วัดยางงามสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีหลวงปู่แย้ม เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๒
หลวงพ่อแย้ม วัดยางงาม ราชบุรี ภาพของคุณขวัญชัย สวัสดี |
วัดยางงาม มีปูชนียวัตถุที่สำคัญซึ่งได้แก่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระอุโบสถ องค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๐๐ นิ้ว ชาวบ้านมักเรียกนามว่า หลวงพ่อโต วัดยางงาม หรือ หลวงพ่อพระทศพลญาณ สันนิษฐานว่าจัดสร้างขึ้นมาในกรุงเทพมหานคร แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานในปี พ.ศ. ๒๔๙๔
หลวงพ่อม่วง ยังเดินหน้าจัดอบรมศีลธรรม จริยธรรมแก่ประชาชนทั่วไป จัดให้มีการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน อบรมวิปัสสนากัมมัฏฐานทุกปี จัดสวนพระปาฏิโมกข์และฟังอ่านพระปาฏิโมกข์แปลทุกวันพระ ๑๔-๑๕ ค่ำ กลางเดือนและสิ้นเดือน จัดให้มีการพิมพ์หนังสือ บทความธรรมะ แจกจ่ายแก่พระภิกษุสามเณรและบุคทั่วไป รวมจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาในเขตโรงเรียนประถมศึกษาต่างๆ และการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
งานสาธารณูปการ จัดการบูรณะและพัฒนากุฏิสงฆ์ทรงไทยเรือนไม้ ศาลาหอฉัน สร้างสะพานข้ามคลอง เพื่อประโยชน์ส่วนรวม จัดสร้างถาวรวัตถุอีกมากมายให้วัดและประชาชน นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้อุปการะโรงเรียนประชาบาลวัดยางงาม ในการส่งเสริมการศึกษาหรือการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นครูสอนนักธรรม ณ สำนักเรียนวัดปากท่อ
ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นเจ้าคณะตำบลจอมประทัด
ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ หลวงพ่อม่วงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดยางงามและเจ้าคณะตำบลปากท่อ แทนหลวงพ่อเส็งที่ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปากท่อ
ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นรองเจ้าคณะอำเภอปากท่อ
ลำดับสมณศักดิ์
ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ "พระครูสุนทรจริยาวัตร"
ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม
หลวงพ่อม่วง เป็นพระที่มีความเมตตา ไม่เคยดุด่าว่าใคร ทำให้ชาวบ้านต่างเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ท่านเคยปรารภว่า "อยากให้ทุกคนมีความเมตตา ด้วยมีเมตตาแล้ว สิ่งดีจะบังเกิดผลตามมา"
หลวงพ่อม่วง ป่วยด้วยโรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง จนมรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๑๗ น. นับรวมสิริอายุได้ ๙๘ ปี พรรษา ๗๘ เป็นที่เศร้าสลดแก่บรรดาสานุศิษย์และญาติโยมชาวเมืองราชบุรี
วัตถุมงคลของหลวงพ่อม่วง วัดยางงาม
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดยางงาม รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิตร ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ขนาดเล็ก มีการสร้างขึ้นด้วยเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดยางงาม ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อม่วงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทร จริยาวัตร(ม่วง)"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา วัดยางงาม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ๒๕๒๘"
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดยางงาม รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อแจกในงานทำบุญอายุครบ ๘๐ ปีของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ขนาดเล็ก
มีการสร้างขึ้นด้วยเนื้อทองคำ ๙ เหรียญ เนื้อเงินประมาณ ๒๕๐ เหรียญ และเนื้อนวะประมาณ ๒๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดยางงาม ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เนื้อทองคำ ของร้านเด็กวัดยางงาม |
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดยางงาม ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดยางงาม ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เนื้อทองคำ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อม่วงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรจริยาวัตร(ม่วง)"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ครบรอบ ๘๐ ปี สิงหาคม ๒๕๓๕ วัดยางงาม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี"
เหรียญพระทศพลญาณ วัดยางงาม
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ในสมัยที่หลวงพ่อเส็งเป็นเจ้าอาวาสวัดยางงาม เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดยางงามและฉลองพระหลวงพ่อโต โดยถอดพิมพ์คล้ายเหรียญของวัดไตรมิตร ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญพระทศพลญาณ วัดยางงาม ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อเงิน ของคุณไอดี ปักธง |
เหรียญพระทศพลญาณ วัดยางงาม ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญพระทศพลญาณ วัดยางงาม ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระทศพลญาณ พระประธานของวัดไตรมิตร ประทับนั่งบนฐานชุกชีสวยงาม ใต้องค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระทศพลญาณ"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดยางงาม ปากท่อ"
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น