โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อพยอม วัดอินทาราม(วัดหนองขาว)​ กาญจนบุรี ศิษย์หลวงพ่อดอกไม้วัด ดอนเจดีย์

ภาพถ่ายหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว กาญจนบุรี
หลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว กาญจนบุรี

         หลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว หรือ พระครูโกวิทสุตคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดอินทาราม อดีตเจ้าคณะอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ท่านมีนามเดิม พยอม นามสกุล ต้นโพธิ์ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๘ ตรงกับขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะแม โยมบิดาชื่อนายเป่า ต้นโพธิ์ โยมมารดาชื่อนางจั่น ต้นโพธิ์ มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๓ คน ประกอบไปด้วย

         ๑. นายแช่ม ต้นโพธิ์

         ๒. นางช้อย ต้นโพธิ์

         ๓. พระครูโกวิทสุตคุณ (หลวงพ่อพยอม โกวิทโท)

         เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี โยมบิดาได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือไทยในสมัยโบราณที่สำนักวัดหนองขาวกับท่านพระอาจารย์ดอกไม้ จนชำนิชำนาญดี ก็พอดีพระอาจารย์ดอกไม้ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนเจดีย์ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

         ท่านพระครูจริยาภิรัต (หลวงพ่อยันต์) จึงเป็นผู้อบรมดูแลแทน จนหลวงพ่อพยอมมีอายุได้ ๑๖ ปี ก็สามารถเรียนจารหนังสือขอมโบราณได้สำเร็จ ซึ่งการจารหนังสือโบราณนับว่าเป็นศิลปะชั้นสูง ต่อมาทางการได้จัดตั้งโรงเรียนชั้นมูลศึกษา ท่านพระครูจริยาภิรัตก็ได้ส่งให้เข้ารับการศึกษาจนสำเร็จการศึกษา จึงออกมาช่วยบิดา มารดาประกอบอาชีพทำนา

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ เมื่อท่านมีอายุได้ ๑๘ ปี โยมมารดาก็ถึงแก่กรรม พออายุได้ ๑๙ ปี จึงได้เข้ารับราชการทหารในสังกัดทหารพราน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเวลา ๒ ปี ๕ เดือน แล้วออกจากราชการทหารไปเที่ยวตามต่างจังหวัดเพื่อแสวงหาโชคลาภ ระยะนี้นับว่าชีวิตท่านลุ่มๆ ดอนๆ มาก จนเบื่อหน่ายจึงกลับภูมิลำเนาเดิม

ภาพถ่ายหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว กาญจนบุรี-ครึ่งองค์
หลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว กาญจนบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ หลวงพ่อพยอมมีอายุได้ ๒๕ ปี นายคำ ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงได้นำตัวมาฝากไว้กับท่านพระครูจริยาภิรัต (หลวงพ่อยันต์) วัดหนองขาว ซึ่งเป็นพระอาจารย์เดิมที่เคยแนะนำสั่งสอนเมื่อสมัยเด็ก ได้อยู่วัดเล่าเรียนกิจเบื้องต้น คือ วิธีการอุปสมบทได้ ๑๕ วัน 

         และได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดอินทาราม(วัดหนองขาว) ตำบลหนองขาว อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๒ ตรงกับขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก เวลา ๐๕.๐๗ น. ได้รับฉายาว่า "โกวิทโท" โดยมี

         พระวิสุทธิรังษี (หลวงปูเปลี่ยน) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระครูวัตตสารโสภณ (หลวงพ่อดอกไม้) วัดดอนเจดีย์ เป็นพระกรรมวาจารย์

         พระครูจริยาภิรัต (หลวงพ่อยันต์) วัดหนองขาว เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ วัดอินทาราม(วัดหนองขาว) และตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยรวมถึงบทสวดมนต์ต่างๆ ท่านก็สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากมีพื้นฐานที่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในพรรษาต่อมาได้เริ่มศึกษาฝึกฝนวิปัสสนากัมมัฏฐาน 

         และยังได้ศึกษาตำราโหราศาสตร์โบราณจนเชี่ยวชาญ ท่านยังปฏิบัติธรรมตามแบบของพระคณาจาย์ยุคเก่าที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอันเป็นการกำจัดอาสวกิเลส ให้เบาบางทั้งยังเป็นการเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ท่านอุปสมบทได้ ๒ พรรษา ท่านก็สามารถสอบนักชั้นธรรมตรีได้สำเร็จ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านได้เป็นพระสมุห์ฐานานุกรมของเจ้าคณะอำเภอท่าม่วง ในระหว่างนั้นพระครูจริยาภิรัต (หลวงพ่อยันต์) เกิดอาพาธไม่สามารถบริหารงานหน้าที่เจ้าอาวาสได้ จึงมอบหมายการงานหน้าที่เจ้าอาวาสให้แก่ท่านเป็นผู้ดูแลรักษาบริหารการงานในวัด

ภาพถ่ายหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว กาญจนบุรี-ยืน
หลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว กาญจนบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านพระครูจริยาภิรัต (หลวงพ่อยันต์) เจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านได้มรณภาพลง ท่านจึงได้รักษาการณ์เจ้าอาวาส

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ล่วงไปถึงเดือน ๕ ท่านได้จัดการงานฌาปณกิจศพของท่านพระครูจริยาภิรัต (หลวงพ่อยันต์) จนเสร็จสมบูรณ์

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะอำเภอท่าม่วง และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดอินทาราม

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้รับตราตั้งเจ้าคณะหมวดตำบลหนองขาว รวมถึงท่านได้สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาธรรมสังเวช และจัดสร้างกำแพงล้อมวัด

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ พระครูโกวิทสุทธิคุณ และท่านได้สร้างโรงเรียนโกวิทอินทราทร ซึ่งเป็นตึก ๒ ชั้น จำนวน ๑๐ ห้องเรียน

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้รับตราตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอท่าม่วง

         ปี พ.ศ.๒๔๘๖ ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านได้สร้างโรงเรียนบ้านห้วยตลุงเป็นตึก ๔ ห้องเรียน

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท และปีนี้เองท่านได้สร้างสุขศาลาอนามัย เพื่อให้รักษาชาวบ้านที่ป่วยไข้

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ สร้างศาลาการเปรียญ เพื่อทดแทนหลังเก่าที่เสื่อมโทรมลง

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านจัดสร้างห้องสมุดประชาชน

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ให้ธรณีสงฆ์เพื่อสร้างโรงเรียนหนองขาวโกวิทพิทยาคม ไว้สำหรับเป็นที่เล่าเรียนของบุตรธิดาของชาวบ้านในพื้นที่ และยังได้ปฏิสังขรณ์กุฏิ ๓ หลัง ที่เสื่อมโทรมผุพังลง

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านได้สร้างอุโบสถจัตุรมุข ๒ ชั้น หลังใหญ่ ซึ่งมีค่าก่อสร้างประมาณ ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งถือว่าสูงมากในสมัยนั้น

ภาพถ่ายหลวงพ่อแน่น -หลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว กาญจนบุรี
หลวงพ่อแน่น - หลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว กาญจนบุรี

         จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อพยอม มีชีวิตอยู่นั้น ท่านสร้างคุณประโยชน์ต่อศาสนา ต่อชาวบ้านหนองขาวมาโดยตลอด ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยแม้ล่วงเลยมาถึงบั้นปลายชีวิตของท่านก็ยังคงปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอ

         หลวงพ่อพยอม ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันอังคารที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ตรงกับขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ เวลา ๐๕.๑๐ นาที นับรวมสิริอายุได้ ๘๗ ปี ๙ เดือน ๑๖ วัน ๖๔ พรรษา 

         และได้มีพระราชทานเพลิงศพที่เมรุวัดอินทาราม เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๗
โดยท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทาราม ถึง ๕๙ ปี และหลังจากนั้นทางวัดได้นิมนต์หลวงพ่อแน่น ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว

         เหรียญหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกในงานทำบุญวันเกิดของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว รุ่นแรก 08 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อพยอม นั่งสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสุทธิคุณ"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดอินทาราม (หนองขาว) กาญจนบุรี"

         เหรียญหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว รุ่นสอง (สมเด็จขี่เสือ)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว รุ่น 2 2520  ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อพยอม นั่งสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสุตคุณ วัดอินทาราม อายุ ๘๒ ปี"

         ด้านหลัง ตรงกลางมีรูปจำลองพระสมเด็จขี่หลังเสือ มีอักขระยันต์ ใต้รูปขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๒๐"

         สมเด็จขี่เสือหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยม สร้างด้วยเนื้อผงวิเศษ และผงพุทธคุณที่หลวงพ่อได้รวบรวมไว้เป็นมวลสาร มีการจัดสร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณ เนื้อผงใบลาน และเนื้อเมหพัตร จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

สมเด็จขี่เสือหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว 2514 เนื้อผงพุทธคุณ
สมเด็จขี่เสือหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อผงพุทธคุณ ของคุณยุทธนา คำคม

สมเด็จขี่เสือหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว 2514 เนื้อผงใบลาน
สมเด็จขี่เสือหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อผงใบลาน ของคุณยุทธนา คำคม

สมเด็จขี่เสือหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว 2514 เนื้อเมฆพัตร
สมเด็จขี่เสือหลวงพ่อพยอม วัดหนองขาว ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อเมฆพัตร

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธนั่งสมาธิเต็มองค์บนหลังเสือ

         ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระใดๆ



ข้อมูล : พระสมุห์สมโภชน์ อินฺวิริโย วัดอินทาราม กาญจนบุรี
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้