โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ พระนักพัฒนาของดำเนินสะดวก ราชบุรี

หลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี
หลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี

         หลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ หรือ พระครูโสภณกิจจารักษ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดตาลบำรุงกิจ ตำบลสี่หมื่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวีดราชบุรี ท่านมีนามเดิมว่าเชย พัดเย็น เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน ณ บ้านตำบลเกาศาลพระ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี โบมบิดาชื่อนายจอน พัดเย็น โยมมารดาชื่อนางถมยา พัดเย็น มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน คือ

         ๑. นางเชื่อม 

         ๒. นายหุ่น พัดเย็น

         ๓. พระครูโสภณกิจจารักษ์ (หลวงพ่อเชย)

         เมื่อเจริญวัยท่านได้ศึกษาจบหลักสูตร ชั้นประถมศึกษา ซึ่งในสมัยนั้นการศึกษายังไม่เจริญรุ่งเรืองเหมือนในปัจจุบันนี้ เมื่อท่านจบการศึกษาแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาการอ่านและการเขียนหนังสือขอม ในสำนักของท่านพระครูอินทร์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดตาลบำรุงกิจ จนท่านสามารถอ่านและเขียนหนังสือขอมได้จนคล่องแคล่ว

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ หลวงพ่อเชย ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดตาลบำรุงกิจ ตำบลสี่หมื่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับฉายาว่า "คงฺคสุวณฺโณ" โดยมี

         ท่านพระครูอินทร์ วัดตาลบำรุงกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระครูสุทธิ์ วัดใหม่สี่หมื่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         ท่านพระครูชุ่ม วัดราชคาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านจึงได้อยู่จำพรรษาที่วัดตาลบำรุงกิจเรื่อยมา เพื่อศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่ออินทร์ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน โดยท่านได้เป็นธุระดูแลรักษาวัดตาลบำรุงกิจ แทนพระครูอินทร์ ซึ่งขณะนั้นท่านชราภาพมากแล้ว

ภาพถ่ายหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี
หลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี

         นอกจากนี้เมื่อท่านมีเวลาว่าง ท่านก็มักจะเดินทางไปเรียนวิชาอาคมกับหลวงพ่อสุทธิ์ และยังพายเรือข้ามฝั่งไปร่ำเรียนวิชากับหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ซึ่งถือเป็นพระเกจิชื่อดังในสมัยนั้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านสอบได้นักธรรมตรี ในสำนักจังหวัดราชบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ และยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านสอบได้นักธรรมโท

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านจึงสอบได้นักธรรมเอก

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐

         เมื่อพระครูอินทร์ เจ้าอาวาสวัดตาลบำรุงกิจได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านพร้อมทั้งคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์ให้ท่านรักษาการเจ้าอาวาสวัดเรื่อยมา จนท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดตาลบำรุงกิจ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสงฆ์ (เผยแผ่ อำเภอดำเนินสะดวก) เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ด้วยคุณงามความดีของท่านที่อุทิศตนรับใช้บวรพระพุทธศานามาอย่างยาวนาน ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูโสภณกิจจารักษ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

ภาพถ่ายหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี
ภาพถ่ายหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี

         ในสมัยที่ท่านริเริ่มให้ตั้งการศึกษาพระปริยัติธรรมโดยท่านเป็นเป็นครูสอน นักธรรมชั้นตรีด้วยตัวท่านเอง พร้อมกันนั้นตัวท่านเองก็ศึกษษนักธรรมชั้นโท และชั้นเอก มีพระภิกษุสามเณรที่ศึกษาและสอบไล่ ชั้นนักธรรมได้ในสมัยนั้น และได้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสหลายท่านด้วยกัน อาทิเช่น

         ๑. พระครูใบฏีกาสาย น.ธ. เอก เจ้าอาวาสวัดกระโจมทอง จังหวัดสมุทรสาคร

         ๒. พระครูสุวรรณสมุทรคุณ น.ธ. โท เจ้าอาวาสวัดเทพประสิทธิ์คณาวาส จังหวัดสมุทรสงคราม

         ๓. พระครูสมุทรเวที น.ธ. เอก ป.ธ. ๔ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

         ๔. พระครูสุวรรณวรกิจ น.ธ. เอก เจ้าอาวาสวัดรางตันนิลประดิษฐ์ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร 

หนังสืองานศพหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี
หนังสืองานพระราชทานเพลิงหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี

         ในด้านของการพัฒนาวัดหลวงพ่อเชย ท่านถือเป็นพระนักพัฒนาอักรูปหนึ่ง เพราะท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อสร้างและพัฒนาวัดวาต่างๆ ดังที่มีจดบันทึกไว้ดังนี้

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ สร้างกุฏิสงฆ์วัดตาลบำรุงกิจ เป็นตัวตึกก่ออิฐถือปูน จำนวน ๒ หลัง ยาวหลังละ ๙ ห้อง

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ สร้างกุฏิเจ้าอาวาสวัดตาลบำรุงกิจ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ สร้างโรงเรียนวัดเกาะศาลพระ ๑ หลัง ๒ ชั้น ชื่อโรงเรียนวัดเกาะศาลพระ (เชยพรหมโหมด)

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ สร้างโรงเรียนวัดสีดาราม ๑ หลัง ชื่อโรงเรียนวัดสีดาราม (เทพเชยประชานุกูล)

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ซ่อมมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ที่วัดตาลบำรุงกิจ

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ สร้างพระอุโบสถวัดฆ้องน้อย ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ช่วยสร้างพระอุโบสถวัดชาวเหนือ 

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ สร้างโรงเรียนพระปริยัตืธรรม ๒ ชั้น ทรงปั้นหยา วัดตาลบำรุงกิจ

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ทำการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถเก่าที่ชำรุด วัดตาลบำรุงกิจ

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ - ๒๕๐๘ สร้างกำแพงหน้าวัดตาลบำรุงกิจ

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๑๑ สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก กันตลิ่งพังของวัดตาลบำรุงกิจ

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ - ๒๕๑๔ สร้างศาลาการเปรียญ

         หลวงพ่อเชย ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๑๔  เวลา ๓.๓๑ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๓ ปี ๕๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ

         เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และเนื้อทองแดงรมดำ โดยเหรียญมีการสร้างออกมา ๒ ครั้ง ครั้งแรกเหรียญไม่มีกลากและเมื่อแจกหมดจนไป ทางวัดจึงสั่งโรงงานปั๊มเพิ่มเหรียญที่ปั๊มครั้งที่ ๒ นี้จึงมีกลาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่นแรก 2503 ทองแดกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่นแรก 2503 ทองแดกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่นแรก 2503 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่นแรก 2503 ทองแดกระไหล่ทอง-กลาก
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเชยครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเชย พระอุปัชฌายะ เจ้าอาวาสวัดตาลบำรุงกิจ"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๓"

         เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออลัาปก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่น 2 2510 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้ออัลปาก้า

เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่น 2 2510 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเชยครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเชย เจ้าอาวาสวัดตาลบำรุงกิจ"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ๒๕๑๐" ในบางเหรียญตอกโค้ด "ช"

         เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปหัวใจขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี รุ่นหัวใจ 2510 ทองแดง
เหรียญหัวใจหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเชยครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่  ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเชย"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท โธ นะ ชา ลี ติ" เหนืออักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดตาลบำรุงกิจ"

         สมเด็จหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ พิมพ์เล็ก

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระสมเด็จขนาดเล็ก ทาบรอนทอง พระสร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณและผงวิเศษต่างๆ ที่หลวงพ่อเชยได้รวบรวมไว้  จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

สมเด็จหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี เล็ก 2500
สมเด็จหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี พิมพ์เล็ก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระสมเด็จหูบายศรีอกร่อง ฐาน ๓ ชั้นองค์พระมีเอกลักษณ์จดจำได้ง่าย

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ

         ผ้ายันต์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ออกวัดตาลบำรุงกิจ 

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกงานฉลองมณฑปของทางวัด ลักษณะเป็นผ้าดิบสีขาวพิมพ์ลาย โดยหลวงพ่อเชยท่านสร้างแล้วนำไปขอบารมีหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคามเสกให้ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ผ้ายันต์108 หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ออกวัดตาลบำรุงกิจ 2492
ผ้ายันต์ ๑๐๘ หลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคามปลุกเศก ปี พ.ศ. ๒๔๙๒

         ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปพระภควัมบดี ล้อมรอบไปด้วยอักขระยันต์ต่างๆ ขอบผ้าด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "เจ้าอาวาสวัดตาลบำรุงกิจ ขอประสิทธิยันต์วิเศษนี้ไว้ให้ท่านผู้มีศรัทธาบำเพ็ญกุศลในงานฉลองมลฑป เดือน ๘ แรม ๕ - ๑๐ - ๑๑ ค่ำ ๒๔๙๒ ไว้ป้องกันอันตราย ๑๐๘ ประการ ขอความสุขสำราญจงมีแด่ท่านทุกเมื่อเทอญ" ขอบผ้าด้านซ้ายมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ยันต์องค์พระภะวัม ดีทางมหาอุด ยันต์มหาราชสี่มุม ดีทางมหานิยมค้าขาย ยันต์ราชสีห์ ดีทางมีอำนาจ ยันต์เสือ ดีทางมีเดช ยันต์เต่า ดีทางกันไฟ คาถาถอนโบสถ์ ดีทางถอนอาถัน  กันผีปีศาจ กันไข้ กันโจรผู้ร้าย" ขอบผ้าด้านขวามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "และยันต์นี้ได้ประกอบพิธีปลุกเศกด้วยพระอาจารย์วิเศษ คือหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ทรงไว้ในทรงเวชมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์และขลังอย่างเรียบร้อยแล้ว"

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ

         กระดาษยันต์มหาอำนาจ วัดตาลบำรุงกิจ 

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดเพื่อร่วมบุญปูพื้นกำแพงแก้วพระอุโบสถและสุสานเก็บศพวัดตาลบำรุงกิจ ลักษณะเป็นกระดาษยันต์สีขาวพิมพ์ลาย โดยหลวงพ่อเชยท่านสร้างแล้วนำไปขอบารมีหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคามเสกให้ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

กระดาษยันต์มหาอำนาจ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ออกวัดตาลบำรุงกิจ 2493
กระดาษยันต์มหาอำนาจหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ของคุณนิพนธ์ ประไพจิตร

         ด้านหน้า ท่อนบนเป็นรูปยันต์ ครึ่งล่างมีพระคาถา "สิทธิกิจจ" และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดตาลบำรุงกิจ" และรายละเอียดในการสร้างกระดาษยันต์

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ


ข้อมูล : หนังสืองานพระราชทานเพลิงหลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ ของพระครูธรรมธรรัตนะ วัดใหม่ต้นกระทุ่ม
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้