โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเล็ก (พระครูสมุทรการโกวิท) วัดบังปืน พระเกจิผู้เข็มขลัง

ภาพถ่ายหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม
หลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม

         หลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน หรือ พระครูสมุทรการโกวิท อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมาวุธาราม ตำบลนางตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านมีนามเดิมว่า เล็ก อินทร์ยงค์ พื้นเพท่านเป็นชาวนางตะเคียน จังหวัดสมุทรสงคราม 

         ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ที่  ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑ ปีระกา ณ บ้านเลขที่ ๒๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลนางตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โยมบิดาชื่อนายยิ้ม อินทร์ยงค์ โยมมารดาชื่อนางเจิม อินทร์ยงค์ มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๔ คน ประกอบไปด้วย

         ๑. พระครูสมุทรการโกวิท (เล็ก ธมฺมิโย)

         ๒. นายนิ่ม อินทร์ยงค์

         ๓. นายเฉลิม อินทร์ยงค์

         ๔. นางเจียน อยู่ศรี

         ในสมัยเด็กหลวงพ่อเล็ก ท่านเป็นเด็กที่ขยัน ชอบหาความรู้ รักการศึกษาเล่าเรียน เอาจริงเอาจังกับการงาน และฉลาดกว่าเด็กทั่วไป 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ขณะที่ท่านมีอายุได้ ๑๒ ปี  ท่านจึงสำเร็จการศึกษาวิชาสามัญชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดลาดเป้ง ตำบลนางตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงพ่อเล็กมีอายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดลาดเป้ง ตำบลนางตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ตรงกับวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย เวลา ๑๒.๓๔ น. ได้รับฉายาว่า "ธมฺมิโย" โดยมี

         พระอธิการกลึง วัดสวนแก้วอุทยาน เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระครูทองพูล เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระครูถาวรสมุทรสาร (หลวงพ่อโหนด) วัดลาดเป้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดลาดเป้งเรื่อยมา เพื่อศึกษาวิชากับหลวงพ่อโหนด จนสำเร็จวิชาหลายอย่าง รวมทั้งยังได้ศึกษาภาษาบาลีจนแตกฉาน

         ต่อมาท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดมณีสรรค์ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ไม่ไกลกันนักเพื่อไปศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติกิจพระศาสนากับพระอาจารย์เหาะ

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พระอาจารย์เหาะได้ลาสิกขา ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเล็กขึ้นรักษาการเจ้าอาวาสวัดมณีสรรค์ ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และในปีเดียวกันนี้เองท่านสอบได้นักธรรมชั้นโท ณ สำนักเรียนวัดมณีสรรค์อีกด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลังจากที่ท่านรักษาการเจ้าอาวาสวัดมณีสรรค์ได้ ๑ ปี ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดมณีสรรค์สืบแทนตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งขณะนั้นท่านบวชได้ ๘ พรรษา

         วัดมณีสรรค์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม วัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เดิมเป็นสำนักสงฆ์ตั้งอยู่กลางทุ่ง 

         ประชาชนในแถวถิ่นนี้จัดสร้างกันขึ้นมาเอง แล้วช่วยกันทำนุบำรุง โดยมีนายนุ่มและนางพิมพ์ ได้ถวายที่ดินของตนให้สร้างวัด ร่วมกันสร้างโบสถ์ ศาลาการเปรียญ และกุฏิ ๒–๓ หลัง 

         ต่อมานายจิ๋ว ลิ้มกูล ซึ่งมีที่ดินติดต่อกับวัดได้ถวาย ให้วัดอีก ๑ แปลง แล้วให้ชื่อสำนักสงฆ์นี้ว่า วัดประชุมศรัทธาราษฎร์ แต่ประชาชนเรียกกันว่า วัดตากแดด เพราะอยู่กลางทุ่งตากแดด แต่เนื่องจากมีเนื้อที่จำกัด ไม่เหมาะที่จะขยับขยายสร้างวัดให้เจริญได้ อีกทั้งลำคลองวังเลนข้างวัดก็ตื้นเขินไปมาไม่สะดวก 

         จึงย้ายวัดมาอยู่ที่แห่งใหม่ ซึ่งนายจิ๋ว ลิ้มกุล ถวายไว้แล้วเปลี่ยนชื่อวัดว่า วัดแก้วมณีสรรค์ เพราะพระคุณพระมณีเทพกวีมหานายก อดีตเจ้าคณะมณฑลจากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ซึ่งเป็นญาติของนายจิ๋วมาเป็นองค์ประธานในการสร้างวัดครั้งนี้ด้วย ต่อมาเรียกชื่อใหม่ว่า "วัดมณีสรรค์" 

         หลังจากที่หลวงพ่อเล็กได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดมณีสรรค์ ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างกุฏิไม้ใน ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ และปลูกกุฏิเพิ่ม ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านได้สร้างหอฉัน เป็นเรือนไม้ขนาด ๙ ห้อง

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านได้สร้างศาลาขวางหน้าศาลาการเปรียญ และซ่อมแซมศาลาการเปรียญที่ชำรุด รวมทั้งยังวางรากฐานพระอุโบสถวัดมณีสรรค์อีกด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ สร้างพระอุโบสถวัดมณีสรรค์จนแล้วเสร็จ และทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๗ - ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ หลังจากที่สร้างพระอุโบสถและเสนาสนะต่างๆของวัดมณีสรรค์เรียบร้อยแล้ว ท่านจึงได้ย้ายมาที่จำพรรษาที่ทุ่งบ้านบังปืน ซึ่งเป็นสถานที่ห่างไกลไม่มีวัดใช้ในการประกอบศาสนากิจ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นสำนักสงฆ์ เพื่อทำการสร้างวัดเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยมอบหมายให้พระครูมณีสมุทรคุณ (หลวงพ่อไสว) ดูแลวัดมณีสรรค์แทน

         วัดธรรมาวุธาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลนางตะเคียน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม วัดตั้งอยู่ริมคลองบังปืน ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดว่า วัดบังปืน ตามชื่อคลอง 

         โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ นายบุญมา น้องชายหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (รัชกาลที่ ๑) หนีพม่าผ่านคลองนี้ แล้วนำต้นตาลคู่มาบังกายเพื่อหลบกระสุนปืน จึงไปหาพี่ชายที่อัมพวาได้สำเร็จ

         ชาวบ้านจึงเรียกคลองบังปืน วัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยพระครูวินัยธร (เล็ก) ธมมิโย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ตั้งอยู่กลางทุ่งนา 

         และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ในเวลาต่อมาท่านเจ้าคุณพระกวีวงศ์ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ทำการเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า "วัดธรรมาวุธาราม" 

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านได้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดธรรมาวุธาราม (วัดบังปืน) และในปีเดียวกันนั้นหลังจากที่รับการอนุญาตให้เป็นวัด หลวงพ่อเล็ก ท่านจึงขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมาวุธาราม (วัดบังปืน) รูปแรก

          หลังจากที่ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบังปืน ท่านได้พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นจากสำนักสงฆ์จนสามารถยกฐานะขึ้นเป็นวัดได้สำเร็จ

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ สร้างกุฏิไม้ ๒ แถว แถวละ ๑๑ ห้อง และสร้างกุฏิไม้อีก ๒ แถว แถวละ ๙ อีกในปี พ.ศ. ๒๕๐๒

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ สร้างหอฉันด้วยไม้ขนาด ๙ ห้อง

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ สร้างโกดังเก็บศพของวัด

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ สร้างพระประธานพุทธชินราช

         ปี พ.ศง ๒๕๑๐ เริ่มสร้างพระอุโบสถ และท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ พระครูสมุทรการโกวิท เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

         นอกจากนี้ท่านยังเล็งเห็นคุณค่าของการศึกษา จึงได้สร้างโรงเรียนวัดธรรมาวุธารามเพื่อเป็นสถานที่ศึกษาของบุตร-ธิดาของชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลลาดใหญ่

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยใช้ราชทินนามเดิม

         ปี ฑ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นพระครูสัญญาบตรและเจ้าคณะตำบลชั้นเอก เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยใช้ราชทินนามเดิม

         หลวงพ่อเล็ก ท่านเป็นพระที่สมถะ มีบรรพบุรุษที่สืบเชื้อสายมาจากหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด หลวงปู่ส่วน วัดบางใหญ่ อัมพวา ท่านเป็นพระเกจิที่เก่งกาจด้านคาถาอาคม แต่ท่านมักไม่แสดงออก นอกจากนี้ท่านยังเก่งในการดูฤกษ์ยาม การลงอักขระของขลัง รวมทั้งยังเก่งในด้านเชิงช่าง และยาสมุทรไพรต่างๆอีกด้วย

         หลวงพ่อเล็ก ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เวลา ๑๘.๔๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๘๑ ปี ๖ เดือน ๒๗ วัน ๖๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน

         เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน รุ่นแรก 

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปกรงจักรวงกลมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้ออัลปาก้ากระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่นแรก 2509 กระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้ออัลปาก้ากระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่นแรก 2509 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเล็กครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญเป็นรูปกงจักรที่กงจักรมีอักขระขอม ที่รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวินัยเล็ก วัดธรรมมาวุธาราม"

         ด้านหลัง ไม่มีขอบเหรียญ ที่พื้นเหรียญมีอักขระยันต์ต่างๆ เต็มพื้นเหรียญ มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๐๙" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ 

         เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เพื่อแจกในคราวที่หลวงพ่อได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้ออัลปาก้ากระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อบ้านแหลม วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่น 2 2510 กระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อบ้านแหลม วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อบ้านแหลม วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่น 2 2510 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อบ้านแหลม วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อบ้านแหลม วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่น 2 2510 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อบ้านแหลม วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเล็กนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทรการโกวิท วัดธรรมมาวุธาราม(บังปืน) ๕ ธ.ค. ๒๕๑๐"

         ด้านหลัง มีขอบเหรียญ ตรงกลางเหรียญมีรูปพัดยศ ล้อมรอบด้วยอักขระยันต์ต่างๆ

         เหรียญหลวงพ่อบ้านแหลม วัดบังปืน รุ่นแรก 

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปพัดยศแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อบ้านแหลม วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่นแรก 2509 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อบ้านแหลม วัดบังปืน สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบ้านแหลม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของเมืองแม่กลอง ข้างองค์พระมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ ระ อะ " ซึ่งเป็นพระคาถาที่สลักอยู่บนพระหัตถ์ขวาของหลวงพ่อ ใต้รูปหลวงพ่อบ้านแหลมมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม วัดบางปืน ๒๕๐๙"

         ด้านหลัง ไม่มีขอบเหรียญ ที่พื้นเหรียญมีอักขระยันต์ต่างๆ เต็มพื้นเหรียญ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดธรรมาวุธาราม ๒๕๐๙" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ 

         เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน รุ่นฉลองตราตั้ง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เพื่อแจกในคราวที่หลวงพ่อได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์และตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่นฉลองตาตั้ง 2518 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่นฉลองตาตั้ง ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเล็กนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทรการโกวิท"

         ด้านหลัง มีขอบเหรียญ ตรงกลางมีอักขระยันต์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกงานฉลองตราตั้งเจ้าคณะตำบล และพระอุปัชฌาย์ วัดธรรมาวุธาราม (บังปืน) สมุทรสงคราม ๒๕๑๘"

         เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน หลังยันต์หนุมานเชิญธง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กว่าๆ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการสร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณอีกด้วย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่นหนุมาน ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน หลังหนุมานเชิญธง ปี พ.ศ. ๒๕๒๐กว่าๆ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่นหนุมาน ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน หลังหนุมานเชิญธง ปี พ.ศ. ๒๕๒๐กว่าๆ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่นหนุมาน เนื้อผง
เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน หลังหนุมานเชิญธง ปี พ.ศ. ๒๕๒๐กว่าๆ เนื้อผงพุทธคุณ

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเล็กครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทรการโกวิท เจ้าอาวาส องค์ที่ ๑ สร้างวัดปี ๒๔๙๙ วัดธรรมมาวุธาราม (บังปืน) สมุทรสงคราม รุ่นที่ ๑"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์หนุมานเชิญธง

         เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน รุ่นสาม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่น 3 2523 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดบังปืน สมุทรสงคราม รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเล็กครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทรการโกวิท วัดธรรมมาวุธาราม (วัดบังปืน) จ.สมุทรสงคราม ๒๕๒๓"

         ด้านหลัง เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบ้านแหลม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของเมืองแม่กลอง ใต้รูปหลวงพ่อบ้านแหลมมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม"



ข้อมูล : หนังสือประวัติหลวงพ่อเล็กฯ ของคุณเกษม ดีรอด

โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-**

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้