โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม เจ้าของเหรียญเก่าหายากของท่าฉลอม สมุทรสาคร

ภาพถ่ายหลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม สมุทรสาคร
หลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม สมุทรสาคร

         หลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม หรือ พระครูสังบริรักษ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดแหลมสุวรรณราม ตำบล ท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ท่านมีนามเดิมว่า เหล็ง จงเกษม พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

         ท่านเกิดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๒๖ ปีวอก โยมบิดาชื่อนายจง จงเกษม โยมมารดาชื่อนางท้อ จงเกษม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๒ คน โดยท่านเป็นลูกคนโต ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพค้าขาย

         หลวงพ่อเหล็งท่านเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดกว่าเด็กทั่วไป โยมบิดาและโยมมารดาของท่านจึงนำท่านไปฝากเรียนที่สำนักวัดกลางอ่างแก้ว จนพออ่านออกเขียนได้ จึงได้ออกมาช่วยบิดามารดาประกอบสัมมาอาชีพ

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลวงพ่อเหล็ง ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ โยมบิดาและโยมมารดาจึงจัดให้มีพิธีอุปสมบท โดยไม่ปรากฏว่าบวชที่ไหนใครเป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังจากที่อุปสมบทได้ ๑ พรรษา ท่านก็ลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตตามปกติ และได้แต่งงานมีครอบครัวและมีบุตรด้วยกัน ๑ คน 

         ภายหลังภรรยาของท่านได้เสียชีวิตลง ท่านจึงได้เกิดความโศกเศร้าเสียใจและเกิดเบื่อหน่ายในทางโลก ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นครั้งที่ ๒ แต่วันเวลาที่อุปสมบทไม่มีใครทราบ โดยท่านอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดกลางอ่างแก้ว ตำบลท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับฉายาว่า "อาจินฺโน" โดยมี

         พระวินัยธรบัว วัดกลางอ่างแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอาจารย์เอี่ยม วัดแหลมสุวรรณาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลวงพ่อแก่น วัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) เป็นพระอนุสาวณาจารย์

         หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดกลางอ่างแก้ว เพื่อศึกษาวิชาอาคมจากพระอุปัชฌาย์ของท่าน หลังจากนั้นท่านจึงได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่วัดเลียบ(วัดราชฎร์บูรณะ) เป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อศึกษาเรียนภาษาขอม โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับพระศิริธรรมมุนี(หลวงพ่ออิ่ม) 

ภาพถ่ายหลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม สมุทรสาคร
หลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม สมุทรสาคร

         ซึ่งหลวงพ่ออิ่ม ท่านเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียง ในเรื่องวิชาคมเป็นอย่างมาก ซึ่งหลวงพ่อเหล็ง นั้นท่านเคยอยู่กับหลวงปู่บุญที่วัดเลียบด้วย โดยภายหลังหลวงปู่บุญได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดเศวตฉัตร ธนบุรี หลวงพ่อเหล็งได้เรียนวิชากับหลวงปู่อิ่ม จนมีความรู้แตกฉาน

         หลังจากนั้นหลวงพ่อเหล็ง จึงย้ายกลับมาจำพรรษาอยู่วัดหลังศาลฯ อีกระยะหนึ่ง จนออกพรรษาท่านจึงออกธุดงค์  ท่านไปหาหลวงพ่อบัว วัดกลางอ่างแก้ว หลวงพ่อเที่ยง วัดไทรโยค (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวัดตรีจินดาวัฒนาราม) จังหวัดสมุทรสงคราม 

         ซึ่งพระอาจารย์เที่ยงองค์นี้ ท่านเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรีอีกด้วย ซึ่งในระหว่างออกธุดงค์นั้นท่านอาจารย์ที่ไหนเก่ง ท่านก็ตามไปเรียนทุกจังหวัดในภายหลังผ่านก็กลับมาจำพรรษาอยู่วัดหลังศาลฯ อีกระยะหนึ่ง 

         ต่อมาพระอาจารย์เอี่ยม เจ้าอาวาสวัดแหลมสุวรรณาราม ได้มรณะภาพลงตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงว่าง คณะกรรมการวัด พ่อค้า ชาวบ้าน ประชาชน จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเหล็งเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ภาพถ่ายหลวงพ่อแก่น วัดช่องลม สมุทรสาคร
หลวงพ่อแก่น วัดช่องลม สมุทรสาคร

         วัดแหลมสุวรรณาราม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ในตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เดิมชาวบ้านเรียก วัดหัวแหลม หรือ วัดหัวบ้าน วัดสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ 

         ภายในวัดประดิษฐานหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัด ซึ่งแต่เดิมองค์พระเป็นไม้ แต่ปัจจุบันได้ครอบด้วยปูน วัดมีพระอุโบสถไม้เก่ามีความแปลกตาตรงที่ด้านบนสุดจะเป็นรูปหัวสิงโต ถัดลงมาเป็นหัวพญานาคไหหลำ และหัวพญานาคไทย รวมถึงกระเบื้องปูพื้นลวดลายโบราณจากจีน

         นอกจากนั้นยังมีซุ้มวงกบ ประตู ที่แกะสลักด้วยความปราณีตบรรจงอ่อนช้อยงดงาม ภายในอุโบสถยังประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงปู่แสนสุข หลวงพ่อเชียงแสน และหลวงพ่อดำ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒ ซึ่งตรงกับในสมัยรัชกาลที่ ๕ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่มีการจดบันยทึกไว้ดังนี้

         ๑. พระใหม่

         ๒. พระเอี่ยม

         ๓. พระครูสังบริรักษ์ (หลวงพ่อเหล็ง) 

         ๔. พระครูสาครวุฒิคุณ (จุน) พ.ศ. ๒๕๐๖ - ๒๕๓๕

         ๕. พระครูสุวรรณสาคร (นิพนธ์ อภิวํโส) พ.ศ. ๒๕๓๕ - ปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อเหล็งได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสลาสนะต่างๆภายในวัด ตลอดจนการอบรมสั่งสอนชาวบ้านในพื้นที่ให้รักษาศีลและประกอบสัมมาอาชีพสุจริต 

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อที่ได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขั้นเป็นอย่างมาก ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ พระครูสังบริรักษ์

ภาพถ่ายพระวินัยธรบัว วัดกลางอ่างแก้ว สมุทรสาคร
พระวินัยธรบัว วัดกลางอ่างแก้ว สมุทรสาคร

         หลวงพ่อเหล็ง ท่านเป็นพระเกจิสมัยเดียวกับหลวงปู่รุ่ง วัดท่ากระบือ ซึ่งทั้งสองท่านต่างก็เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อสุด วัดกาหลง โดยท่านมีชื่อเสียงด้านการเป็นพระหมอยา ในสมัยนั้นหากชาวบ้านไม่สบายจะมาขอยาดีเกลือจากท่าน แล้วนำกลับไปทานก็หาย ชาวบ้านจึงให้ความเคารพนับถือและศรัทธาเป็นอย่างมาก

         มีเรื่องเล่ากันมาว่า มีศิษย์ท่านหนึ่งได้ร่ำเรียนวิชาจากหลวงพ่อรุ่งไปพอสมควร เมื่อถึงเวลาได้เข้าไปถามหลวงพ่อรุ่งว่า มีพระอาจารย์ท่านอื่นอีกหรือไม่ที่เขาอยากให้ท่านแนะนำให้ไปร่ำเรียนวิชาด้วย หลวงพ่อรุ่งก็ตอบมาว่า "ก็ตาเหล็งฟากกะโน้นไง" (วัดท่ากระบือกับวัดแหลมสุวรรณารามอยู่คนละด้านของจังหวัดสมุทรสาคร)

         นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ในงานหล่อพระของสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ฯ ซึ่งหลวงพ่อเหล็ง ได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมปลุกเสกในงานนี้ด้วย แต่หลวงพ่อเหล็งท่านติดธุระจึงไม่ได้ไปงานปลุกเสกพระครั้งนั้น ในขณะที่พระสงฆ์นั่งปรกปลุกเสกพระกันอยู่นั้น สมเด็จพระสังฆราชแพ ท่านเหลือบไปเห็นอาสนะที่จัดเตรียมไว้ให้หลวงพ่อเหล็ง กลับมีร่างเงาของหลวงพ่อเหล็งมานั่งปลุกเสกอยู่ด้วย 

         จนเมื่อคราวเสร็จงานสมเด็จพระสังฆราชแพได้เดินทางมาหาหลวงพ่อเหล็งถึงวัดแหลมสุวรรณาราม และได้สอบถามเรื่องนี้ ซึ่งหลวงพ่อเหล็งไม่ได้ตอบว่ากระไร ท่านเพียงแต่ยิ้มเฉยๆ เท่านั้น

         หลังจากสมเด็จพระสังฆราชแพเดินทางกลับกรุงเทพ ในภายหลังท่านให้ศิษย์นำรูปถ่ายพระสงฆ์ที่กำลังนั่งปรกปลุกเสกในงานพิธีนั้นมาเป็นที่ระลึกแก่หลวงพ่อเหล็ง แต่ในรูปถ่ายนั้นมีแต่อาสนะเปล่าๆ ของหลวงพ่อเหล็งเท่านั้น

         หลวงพ่อเหล็ง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ นับรวมสิริอายุได้ ๗๘ ปี

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม

          เหรียญหลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อในงานทำบุญอายุของหลวงพ่อ และแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์เพื่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมาแบบมีหุในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างรวมกันประมาณ ๑,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม สมุทรสาคร รุ่นแรก 2490 เงิน
เหรียญหลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อเงิน ของคุณปรัชญา จิตรัตน์

เหรียญหลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม สมุทรสาคร รุ่นแรก 2490 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม สมุทรสาคร รุ่นแรก 2490 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเหล็งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกทำบุญอายุ หลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม"

         ด้านหลัง พื้นเหรียญมีวงเดือน มีอักขระยันต์น้ำเต้าอ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" ด้านบนของยันต์มีตัวอุณาโลม ใต้ยันต์น้ำเต้ามีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท โธ" ใต้อักขรยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "๒๔๙๐" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

          ผ้ายันต์หลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อในงานทำบุญอายุของหลวงพ่อ และแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์เพื่อสร้างเสนาสนะต่างๆภายในวัด ลักษณะเป็นผ้ายันต์สกรีนหมึกสีดำบนผืนผ้าสีขาว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ผ้ายันต์หลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม สมุทรสาคร 2495
ผ้ายันต์หลวงพ่อเหล็ง วัดแหลมสุวรรณาราม สมุทรสาคร ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

         ด้านหน้า ตรงกลางจำลองเป็นรูปหลวงพ่อเหล็งนั่งมารวิชัยเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ต่างๆ ด้านบนของยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกทำบุญประจำปี ๔ ม.ค. ๙๕ พระครูสังฆ์บริรักษ์ (หลวงพ่อเหล็ง) วัดแหลมสุวรรณาราม ต.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสังฆ์บริรักษ์ (เหล็ง) อาจินโณ"

         ด้านหลัง เรียบ



ข้อมูล :คุณอดิสร จันทร์ทอง

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้