ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อสมบุญ วัดสีดาราม ราชบุรี ศิษย์เอกของหลวงพ่อเจริญ วัดไผ่ล้อม
![]() |
หลวงพ่อสมบุญ วัดสีดาราม ราชบุรี |
หลวงพ่อสมบุญ วัดสีดาราม หรือ พระวินัยธรสมบุญ อดีตเจ้าอาวาสวัดสีดาราม ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ท่านมีนามเดิมว่าสมบุญ จำรูญสุข พื้นเพเป็นคนดำเนินสะดวก เกิดที่บ้านหมู่ที่ ๑๑ ตำบลดอนกรวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๓ แต่ไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงพ่อสมบุญมีอายุครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์ ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดไผ่ล้อม ตำบลบางป่า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษพาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้รับฉายาว่า "โชติปาโล" โดยมี
พระอธิการเจริญ วัดไผ่ล้อม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระนิ่ม วัดจันทคาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระน่วม วัดเทพอาวาส เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดไผ่ล้อม (บางป่า) เพื่อร่ำเรียนวิชาอาคมกับหลวงพ่อเจริญ จนมีความรู้เก่งกล้าสามารถ
![]() |
หลวงพ่อเจริญ วัดไผ่ล้อม(บางป่า) ราชบุรี |
ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ พระอธิการเถา วัดสีดารามถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะสงฆิจึงยกให้หลวงพ่อสมบุญรักษาการเจ้าอาวาส
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลังจากที่หลวงพ่อสมบุญอุปสมบทได้ ๑๗ พรรษา ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐
กลางปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลังจากหลวงพ่อสมบุญรักษาการเจ้าอาวาสได้ ๑ ปีเศษ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสีดารามทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐
วัดสีดาราม เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๗๘ หมู่ที่ ๑ ตําบลแพงพวย อําเภอดําเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๒ งาน ๘๖ ตารางวา
วัดสีดาราม ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๓ ผู้ดําเนินการก่อสร้างวัดคือ นายนิ่ม ศรีสารากร ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และได้ถึงแก่มรณภาพ
ภายในวัดมีปูชนีย์วัตถุสำคัญคือพระพุทธรูปทำด้วยไม้แก่นจันทร์ ที่อยู่คู่กับวัดมาเป็นเวลานาน เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านเชื่อกันว่าใครมาขอพรสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้นสมความตั้งใจ
วัดสีดารามได้รับความอุปถัมภ์จากราษฎรในหมู่บ้านมาโดยตลอด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๔ เมตร มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบดังนี้
๑. พระนิ่ม
๒. หลวงพ่อรอด พ.ศ. ๒๔๖๓ - ๒๔๗๒
๓. พระครูแขก พ.ศ. ๒๔๗๒ - ๒๔๘๒
๔. พระแสน พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๔๘๔
๕. พระเถา พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๙
๖. พระวินัยธรสมบุญ โชติปาโล พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๕๓๘
๗. พระครูสมุห์ขิง ถิรคุโณ พ.ศ. ๒๕๓๘ - ๒๕๔๔
๘. พระครูสุทธิวรคุณ (เล็ก อนาลโย) พ.ศ. ๒๕๔๔ - ปัจจุบัน
หลังจากที่ท่านดำรงตำแห่นงเจ้าอาวาสวัดสีดาราม ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลวงพ่อสมบุญ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นครูสอนปริยัติธรรม เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐
ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อที่พัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่พระวินัยธร เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘
หลวงพ่อสมบุญ ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ นับรวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๖๕ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อสมบุญ วัดสีดาราม
เหรียญหลวงพ่อสมบุญ วัดสีดาราม รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อแจกในงานฉลองอายุครบ ๖๑ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น โดยแบ่งเป็นเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และเนื้อทองแดงรมดำ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อสมบุญ วัดสีดาราม ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อสมบุญ วัดสีดาราม ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดงรมดำ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสมบุญครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระวินัยธรสมบุญโชติปาโล วัดสีดาราม จ.ราชบุรี"
ด้านหลัง มีอักขระยันค์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานฉลองอายุครบ ๖๑ ปี ๒๕๑๓"
เหรียญหลวงพ่อสมบุญ วัดสีดาราม รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ซ่อมพระอุโบสถ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อสมบุญ วัดสีดาราม ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสมบุญครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระวินัยธรสมบุญ โชติปาโล"
ด้านหลัง มีอักขระยันค์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกซ่อมพระอุโบสถ วัดสีดาราม จ.ราชบุรี ๒๕๒๕"
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น