ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อปิ่น วัดคลองครุ ศิษย์ร่วมสำนักหลวงปู่แขก วัดบางปลา
หลวงพ่อปิ่น วัดคลองครุ หรือ พระอธิการปิ่น อดีตพระเกจิฯดังมหาชัย ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ท่านเป็นคนสมุทรสาครมาแต่กำเนิด เกิดที่ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๒ โยมบิดาชื่อนายบัง จินนอก โยมมารดาชื่อนางแมะ จินนอก
ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ หลวงพ่อปิ่นมีอายุครบบวช โยมบิดาและโยมมารดา จึงจัดงานอุปสมบทให้ตามคตินิยมของคนในสมัยนั้น ณ พัทธสีมาวัดเกาะ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้รับฉายาว่า "พุทธสณฺฑ" โดยมี
เจ้าอธิการนุต วัดบางปลา เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการแก้ว วัดเกาะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดเกาะเรื่อยมา จนถึงพรรษาที่ ๗
ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระอธิการเฒ่าเจ้าอาวาสวัดคลองครุ ถึงแก่มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคลองครุ ว่างลง ชาวบ้านจึงได้เดินทางมานิมนต์หลวงพ่อปิ่น ไปเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙
วัดคลองครุ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๘ บ้านคลองครุ ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๖ ไร่ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ มีการจัดงานวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวไทยรามัญคือ งานประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง
วัดไม่มีประวัติการก่อสร้างวัดที่แน่ชัด ชื่อของวัดมาจากตำแหน่งที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับคลองครุ มีระบุว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๖ เมตร
แต่มีเรื่องเล่าสืบต่อมาว่า เดิมเป็นสำนักสงฆ์สมัยต้นกรุงธนบุรี ชาวรามัญได้อพยพเข้ามาทำมาหากินในคลองครุเป็นจำนวนมาก แล้วได้สร้างสำนักสงฆ์แห่งนี้ขึ้น มีเจ้าสำนักสงฆ์ผลัดเปลี่ยนกันปกครองเรื่อยมา ที่ปรากฏปกครองอยู่นานถึง ๒๐ พรรษา มีชื่อว่าพระพุก
ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดได้แก่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระประธานในอุโบสถ ชาวบ้านเรียก หลวงพ่อปู่ ภายในวัดมีศาลหลวงพ่อโพธิ์ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัด วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้
๑. พระเฒ่า
๒. พระอธิการปิ่น
๓. พระครูสาครสีลคุณ
๔. พระมหาประสาน ปสนฺนธมฺโม
หลวงพ่อปู่เฒ่าเก้ายอด หรือ หลวงพ่อนุต วัดบางปลา สมุทรสาคร |
หลังจากที่หลวงพ่อปิ่น ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดคลองครุ ท่านได้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณร และสั่งสอนคฤหัสให้ยึดมั่นถือมั่น ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลอยู่ในธรรม ทำดีละชั่ว ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ยินดีในการสมาทานศีล ๕ ศีลอุโบสถ ฟังเทศน์
เมื่อย้ายมาอยู่วัดคลองครุได้ ๓ พรรษา เกิดจักษุเสียทั้งสองข้าง แต่ไม่มีปัญหากับการท่องมนต์และแสดงพระธรรมเทศนาแต่อย่างใด เพราะท่านมีความจำเป็นเลิศ ดังที่ได้มีการกล่าวขานกันทั่วไปทั้งจังหวัดสมุทรสาคร ว่าท่านมีญาณวิเศษต่างๆ พร้อมทั้งมีวาจาสิทธิ์ หากได้ด่าว่าใครแล้ว บุคคลนั้นก็จะเป็นไปตามคำที่ท่านได้ว่าด่ากล่าวตักเตือน จนคนแถวลุ่มน้ำแม่กลอง และชาวจังหวัดสมุทรสาคร ต่างปรารถนารับพรจากท่านเป็นจำนวนมาก
ด้านการปกครอง ท่านเป็นนักปกครอง พระภิกษุนวกะบวชใหม่ หรือ พระภิกษุบวชนานหลายพรรษา ให้ปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด และได้อบรมอุบาสก อุบาสิกา คฤหัสถ์ให้ปฏิบัติธรรมได้อย่างดีและต่อเนื่อง ตามความศัทธาในพระพุทธองค์ และตัวของท่านเองอย่างมากมาย โดยเฉพาะประชาชนในตำบลท่าทราย บ้านเกาะ นาดี เจ็ดริ้ว เปรียบเสมือนท่านเป็นที่ยึดมั่นของชาวรามัญ ไทยและจีน
หลวงพ่อปิ่น ท่านสามารถพูดภาษามอญ ไทย จีน ได้อย่างชำนาญ ได้มีคหบดีเมืองมหาชัย มาปวารณาตัวเป็นลูกศิษย์ ชื่อหมอเอ๊ (เอนก กุลพงษ์) ภายหลังได้ร่วมสร้างกุฏิ เสนาสนะหลายหลังภายในวัดคลองครุ จนขณะนั้นวัดคลองครุได้มีความเจริญในด้านถาวรวัตถุ ในด้านบุคคล และเป็นวัดชั้นนำเป็นแนวหน้าในจังหวัดสมุทรสาคร
ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึง ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้สร้างกุฏิรวม ๖ หลัง เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ สร้างอ่างแก้วไว้ ๑ ใบ(ถังเก็บน้ำ) เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ สร้างศาลาการเปรียญ ๑ หลัง เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
สร้างพระประธานในพระอุโบสถ และพระโมคคัลลา-พระสารีบุตรรวม ๓ องค์ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ สร้างอุโบสถ ๑ หลัง เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ สร้างหอฉัน ๑ หลัง สร้างพระไตรปิฎก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้ร่วมกับทางราชการก่อสร้างโรงเรียนประชาบาลวัดคลองครุ สมัยนายอำเภอเอิบ กลิ่นอุบล เป็นนายอำเภอเมืองสมุทรสาคร
ในส่วนตัวของหลวงพ่อปิ่นเป็นผู้หนักแน่นอยู่ในคารวะธรรม ๖ ประการ และเป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนสนใจอยู่ในพระอภิธรรมตถสังคหะจนชำนาญ และมีชื่อเสียงในทางนี้ ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสด้วยความเรียบร้อย เป็นที่นิยมรักใคร่เคารพนับถือของบรรพชิต และคฤหัสถ์ที่ใกล้และไกล
หลวงพ่อปิ่น ปกครองวัดคลองครุ เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ท่านได้เกิดอาพาธเป็นโรคมะเร็งในคอ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้ไปรับทำการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๖ จนออกจากโรงพยาบาล กลับมาพักรักษาอยู่ตามเดิมที่วัด อาการมีแต่ทรงกับทรุดหนักลง
หลวงพ่อปิ่น มรณภาพลงด้วยโรคมะเร็งในลำคอ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ นับรวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๕๔ พรรษา ศิษยานุศิษย์ ประชาชนและผู้ที่เคารพนับถือทั้งหลายได้พร้อมใจกันปลงศพ ประชุมเพลิง เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ เวลา ๑๖.๓๐ น. ณ เมรุวัดคลองครุ.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อปิ่น วัดคลองครุ
เหรียญหลวงพ่อปิ่น วัดคลองครุ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เพื่อใช้งานการแจกให้กับศิษยานุศิษย์ที่ร่วมในงานศพของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญเสมาแบบมีหูในตัวขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า เพียงเนื้อเดียวเท่านั้น โดยมีศิษย์สายรามัญปลุกเสกอย่างคับคั่ง อาทิเช่น หลวงพ่อเปลี่ยน วัดชัยมงคล หลวงพ่อฮะ วัดดอนไก่ดี เป็นต้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อปิ่น วัดคลองครุ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้ออัลปาก้า |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อปิ่นครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อปิ่น วัดคลองคร สมุทรสาคร"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห ใต้ยันต์มีอักขระเลขเขียนว่า "๒๕๐๗" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น