ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน ราชบุรี ศิษย์เอกหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร
หลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน ราชบุรี |
หลวงปู่นนท์ วราโภ วัดเหนือวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีนามเดิมว่า นนท์ ศรีจันทร์สุก เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ตรงกับวันพุธ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีจอ ณ บ้านเตาอิฐ หมู่ที่ ๑ ตำบลเตาอิฐ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี
ในวัยเด็กเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดหนองม่วง ตำบลวังเย็น อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และยังเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน นนโท วัดหนองม่วง ได้เล่าเรียนวิชาโดยหลวงพ่อเงินเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาให้ตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านคาถาอาคม เวทมนตร์ ไสยศาสตร์ ทั้งสำหรับกันและแก้ นอกจากนั้น ยังได้ศึกษาตำรับตำรายาแพทย์แผนโบราณเพิ่มเติมอีกด้วย
ปี พ.ศ.๒๔๗๐ ในขณะที่หลวงพ่อนนท์ มีอายุได้ ๑๗ ปี พระครูใบฎีกาถาวร ผู้เป็นพระอาจารย์ จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรให้ ณ วัดเหนือวน ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระครูอุดมธีรคุณ (ดา) วัดสัตตนารถปริวัตร จังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
ครั้นได้บวชเป็นสามเณรแล้ว พระครูใบฎีกาถาวรได้ส่งไปเรียนพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรม ณ วัดสนามพราหมณ์ ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี โดยหลวงพ่อสอบได้นักธรรมชั้นตรีในพรรษาแรก ที่ทำการบวชเรียน
หลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน ราชบุรี |
ในขณะที่สามเณรนนท์กำลังเรียนนักธรรมชั้นโทอยู่นั้น พระครูใบฎีกาถาวรเกิดอาพาธหนัก สามเณรนนท์จึงต้องกลับมาปรนนิบัติดูแลพระอาจารย์ จนกระทั่งท่านได้มรณภาพลง ต่อจากนั้นเมื่ออายุได้ ๑๙ ปี ได้หันมาเรียนทางด้านกรรมฐาน บำเพ็ญทางจิตเพื่อเป็นการกำราบกิเลสที่จะเกิดขึ้นกับจิตใจ
โดยฝากตัวเรียนกรรมฐานกับ หลวงปู่บุดดา ถาวโร แห่งวัดกลางชูศรีเจริญสุข อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี พระอริยสงฆ์ที่ทรงคุณด้านวิปัสสนาธุระเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เนื่องจากหลวงปู่บุดดา ถาวโร พร้อมด้วยพระสหธรรมิกได้ธุดงควัตรผ่านมา และจำพรรษาอยู่ที่วัดเหนือวน
ครั้นเมื่อสามเณรนนท์ มีอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๔ ณ พัทธสีมาวัดเหนือวน ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ได้รับนามฉายาว่า "วราโภ" ซึ่งแปลว่า "ผู้มีรัศมีอันประเสริฐ" โดยมี
พระพุทธวิริยากร(ดา) วัดสัตตนารถปริวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูเมธีธรรมานุยุต(เม้ย) วัดลาดเมธังกร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการเฉื่อย (ปุญญศิริ) วัดเหนือวน เป็นอนุสาวนาจารย์
ครั้นบวชแล้ว ก็จำพรรษาอยู่ที่วัดเหนือวนมาตลอดเพื่อศึกษาวิชา พระธรรมวินัยตามแบบพระฝ่ายธรรมยุตนิกาย จนสำเร็จวิชาหลายอย่าง
ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พระอธิการเฉื่อย เจ้าอาวาส ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ด้วยความศรัทธาชาวบ้านและพระเถระผู้ใหญ่ได้มีบัญชาแต่งตั้งพระภิกษุนนท์ วราโภ รักษาการแทนเจ้าอาวาส
ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังจากที่หลวงพ่อนนท์ รักษาการเจ้าอาวาสเป็นเวลา ๑ ปี จึงได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเหนือวนทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
ตลอดเวลาที่หลวงปู่นนท์ ได้ปกครองวัดเหนือวน ท่านได้ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรทุกรูป ส่งเสริมการเรียนรู้พระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลี เพื่อเป็นการเรียนรู้พระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า เพื่อเป็นรากฐานแห่งการปฏิบัติทางจิตอันเป็นจุดสูงสุดของพระพุทธศาสนา
เมื่อมีเวลาจะดูแลซ่อมแซมทำนุบำรุงเสนาสนะของวัด และยังได้ดูแลโรงเรียนประชาบาล อันเป็นสิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ชาวละแวกตำบลคุ้งน้ำวน เท่ากับเป็นการตอบแทนชาวบ้านทั้งหลายที่มีต่อท่าน ด้วยการอุปถัมภ์ค้ำจุนโรงเรียนประชาบาลวัดเหนือวนประชาอุทิศ ตลอดมา
หลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร ราชบุรี พระอาจารย์ของหลวงพ่อนนท์ |
การศึกษาพุทธาคมของหลวงพ่อนนท์ ท่านได้สืบทอดวิชามาจากครูบาอาจารย์หลายรูป นับตั้งแต่เป็นเด็กวัด อาทิ พระพุทธวิริยากร(ดา), พระครูเมธีธรรมานุยุต (หลวงพ่อเม้ย) วัดลาดเมธังกร อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี, พระภิกษุชม วัดบางแพเหนือ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และอาจารย์พงษ์ พรรณารักษา (ฆราวาส) ฯลฯ ครั้งยังเป็นสามเณรในสมัยเป็นผู้ใกล้ชิดกับหลวงปู่บุดดา ถาวโร พร้อมด้วยพระมหาเลื่อน ท่านได้ศึกษาด้านการกรรมฐานบำเพ็ญทางจิตจนสำเร็จ
หลวงปู่นนท์ วัดเหนือวน ท่านละสังขารลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ในเวลาประมาณ ๔ โมงเย็น ของวันพุธที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ สิริอายุรวม ๙๖ ปี ๙ เดือน ๑๙ วัน ๗๖ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน
เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ในคราวที่หลวงพ่อนนท์ ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ สร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง เพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนนท์ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์พระครูวราโภคพินิต วัดเหนือวน ราชบุรี"
ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระขอม "มะ อะ อุ"
เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ในคราวที่หลวงพ่อนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ สร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และเนื้อทองแดงผิวไฟ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อเงิน |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนนท์ครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวราโภคพินิต (นนท์) วัดเหนือวน จ.ราชบุรี"
เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสาม
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงกลมแบบมีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ในคราวที่หลวงพ่อนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นเอก มีการสร้างด้วยทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสาม ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนนท์ครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวราโภคพินิต"
ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกฉลองสมณศักดิ์พระครูชั้นเอก ๒๒ มี.ค ๓๐"
เหรียญเสมาหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสี่
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ในคราวที่หลวงพ่อนนท์มีอายุ ๘๔ ปี มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงผิวไฟ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสี่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนนท์ครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวราโภคพินิต (นนท์) วัดเหนือวน จ.ราชบุรี"
เหรียญรูปไข่หลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสี่
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ในคราวที่หลวงพ่อนนท์มีอายุ ๘๔ ปี มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงผิวไฟ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญรูปไข่หลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสี่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนนท์ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวราโภคพินิต (นนท์) ครบ ๗ รอบ ๒๒ มี.ค. ๓๖ วัดเหนือวน ต.คุ้งน้ำวน จ.ราชบุรี"
ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระขอม "มะ อะ อุ"
พระเครื่องของหลวงพ่อนนท์ กล่าวขานว่า ดีทางเมตตามหานิยม ผสมแคล้วคลาดปลอดภัย มีไว้ไม่อับจน พระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยและพระเถระผู้ใหญ่ยกย่องนับถือหลวงพ่อนนท์ ในเรื่องปฏิปทาว่ามีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ศีลาจารวัตรงดงามเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่พระเกจิอาจารย์วัดดังต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตกมีงานพุทธาภิเษกจะต้องนิมนต์หลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน ไปนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคลอยู่เป็นประจำ.
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น