ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ พระเกจิอาจารย์ของท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี
หลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ กาญจนบุรี |
หลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ หรือ พระครูวรวัตตวิบูล อดีตเจ้าอาวาสวัดแสนตอ ตำบลแสนตอ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พื้นเพท่านเป็นท่านเป็นชาวกาญจนบุรีมาแต่กำเนิด ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ โดยไม่ปรากฏบันทึกชื่อของโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน
ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านมีอายุครบบวชพอดี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดแสนตอ ตำบลแสนตอ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี
พระอธิการท้วม วัดแสนตอ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดแสนตอเรื่อยมา เพื่อศึกษาวิปัชสนาธุระและวิชาอาคมกับพระอุปัชฌาย์
ซึ่งในช่วงที่จำพรรษาอยู่ที่วัดแสนตอนั้น บางพรรษาท่านก็ได้ออกธุดงค์ไปยังที่ต่างๆ เพื่อเล่าเรียนวิชา ทั้งยังไปฝากตัวเรียนวิชากับหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ หลวงพ่อปิ๋ว วัดหวายเหนียว เป็นต้น
ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พระอธิการท้วม เจ้าอาวาสวัดแสนตอได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านในพื้นที่ต่างเห็นพ้องต้องกันนิมนต์หลวงพ่อเฉื่อย ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งขณะนั้นท่านบวชได้ ๗ พรรษา
วัดแสนตอ เป็นวัดราษฏร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๑๘ บ้านแสนตอ หมู่ที่ ๔ ตำบลแสนตอ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๘ ไร่ ๑ งาน ๕ ตารางวา อาณาเขตทั้งสี่ทิศจดทางสาธารณะ
พระอุโบสถหลังปัจจุบันของวัด สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ วิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ปูชนียวัตถุมีพระประธานประจำอุโบสถ รอยพระพุทธบาทและมณฑป
วัดแสนตอเริ่มก่อสร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๒ โดยชาวบ้านแสนตอร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นแล้วเสร็จเป็นวัดที่สมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ และได้ขอวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๕
สาเหตุที่ได้ชื่อว่า "วัดแสนตอ" จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านคือคุณตาฝอย ศรีจันทร์ ขณะที่ให้ข้อมูลท่านมีอายุ ๘๘ ปี ได้เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนโน้นบริเวณหน้าวัดแสนตอเป็นคุ้งน้ำเก่า
ช่วงฤดูน้ำหลากชาวแพที่อาศัยขึ้นล่อง ผ่านบริเวณหน้าวัดจะต้องประสบกับความยากลำบากในการล่องแพ เพราะว่าบริเวณหน้าวัดที่เป็นคุ้งน้ำเชี่ยวกราก และจะมีตอไม้จำนวนมากลอยน้ำมาและกองสุมรวมกันเป็นจำนวนมากมาย
จนไม่สามารถจะนับจำนวนได้ ชาวแพเมื่อเห็นจำนวนตอไม้จำนวนมากมายนับหมื่นนับแสนเช่นนั้น จึงเรียกชื่อคุ้งน้ำนั้นว่าคุ้งน้ำแสนตอจนเป็นที่เข้าใจกันของชาวแพ ต่อมาเมื่อสร้างวัดชาวบ้านจึงเรียกชื่อตามชื่อคุ้งน้ำว่า "วัดแสนตอ"
จนถึงทุกวันนี้คุณตายังได้เล่าต่อว่าสมัยเป็นเด็กราว ๑๐ ขวบ ยังได้เห็นคุ้งน้ำหน้าวัดและได้เล่นน้ำที่ศาลาวัดอยู่เลย ปัจจุบันแม่น้ำได้เปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่ทำให้บริเวณหน้าวัดซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นคุ้งน้ำที่กว้างแคบลงดังเช่นปัจจุบัน วัดมีอดีตเจ้าอาวาสดังนี้
๑. พระอธิการกุด ไม่ทราบปี
๒. พระอธิการช้าง ไม่ทราบปี
๓. พระอธิการเผือก ไม่ทราบปี
๔. พระอธิการวร ไม่ทราบปี
๕. พระอธิการใย ไม่ทราบปี
๖. พระอธิการท้วม ไม่ทราบปี (พระอุปัชฌาย์)
๗. พระครูวรวัตรวิบูล (เฉื่อย) ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ - ๒๕๐๕ พระอุปัชฌาย์ เจ้าคณะอำเภอท่ามะกา
๘. พระครูประกิจกาญจนคุณ (ประกอบ/วรปณฺโณ/วัดพ่วง) ปี พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๔๓ (พระอุปัชฌาย์ เจ้าคณะตำบลหวายเหนียว)
๙. พระครูกาญจนสวัสดิคุณ (แสน/เขมิโก/สมรูป) ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ - ปัจจุบัน (พระอุปัชฌาย์/เจ้าคณะตำบลหวายเหนียว)
ภาพเสานาสนะต่างๆ ภายในวัดแสนตอ กาญจนบุรี |
หลังจากที่หลวงพ่อเฉื่อย ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านจึงได้พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น อย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด และการบูรณะพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญของวัดที่เริ่มเสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา ให้สามารถใช้งานได้ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ท่านยังเล็งเห็นคุณค่าของการศึกษา ท่านจึงได้สร้างโรงเรียนขี้นภายในพื้นที่ของวัด เพื่อให้เป็นสถานที่เล่าเรียนของบุตร-ธิดาของชาวบ้านในพื้นที่ โดยเริ่มแรกให้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่
ต่อมาได้สร้างอาคารไม้เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียน และให้ชื่อว่าโรงเรียนวัดแสนตอ (วรวัตตวิทยาคาร) ซึ่งยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน โดยโรงเรียนเริ่มเปิดการสอนในวันที ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระฐานานุกรม ได้รับตำแหน่งพระสมุหฺเฉื่อย และเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อทวน วัดหนองพังตรุ ที่บวชเรียนที่วัดแสนตอในปีเดียวกันนี้ด้วย
และด้วยการที่ท่านเก่งกาจในวิชาอาคมเป็นอย่างมาก ท่านจึงเป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านในพื้นที่ที่ตกทุกข์ต่างๆ ท่านมีชื่อเสียงด้านการอาบน้ำมนต์ และยาสมุนไพรต่างๆ ตะกรุดของท่านเด็กห้อยไม่จมน้ำ
ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อเฉื่อย ที่พัฒนาวัดและชุมชนจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูวรวัตตวิบูล ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๕๐ ปี และได้รับตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอท่ามะกาในปีเดี่ยวกันนั้นด้วย
หลวงพ่อเฉื่อย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคประจำตัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๕ นับรวมสิริอายุได้ ๖๒ ปี ๔๒ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ
พระกริ่งข้าวฟ่อน วัดแสนตอ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นพระกริ่งพิมพ์ฐานสูงของวัดราชบพิธ กรุงเทพฯ โดยหลวงพ่อเฉื่อยท่านได้มาและนำมาแจกให้กับลูกศิษย์และชาวบ้านที่มาช่วยวัดเก็บข้าวฟ่อนหนีน้ำ ลักษณะเป็นพระกริ่งหล่อโบราณเนื้อทองเหลือง พระกริ่งรุ่นนี้ทำพิธีหล่อด้วยชนวนมวลสารและจัดพิธีพุทธาภิเษกโดยพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นอย่างมากมาย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระกริ่งข้าวฟ่อน วัดแสนตอ กาญจนบุรี พิมพ์สมาธิ ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองเหลือง |
พระกริ่งข้าวฟ่อน วัดแสนตอ กาญจนบุรี พิมพ์มารวิชัย ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองเหลือง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธรูปประทับนั่งบนอาสนะมีลวดลายสวนงามมีเอกลักษณ์
ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ ใต้ฐานมีรอยอุดกริ่ง
เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ในสมัยของหลวงพ่อประกอบเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกในคราวงานบรรจุอัฐิของหลวงพ่อเฉื่อย ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้ออัลปาก้า |
เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้ออัลปาก้า |
เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองแดงรมดำ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเฉื่อยครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวรวัตตวิบูล (เฉื่อย) วัดแสนตอ อดีตเจ้าคณะอำเภอท่ามะกา"
ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ด้านบนของอักขระยันค์ห้ามีอุนาโลม ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "งานบรรจุอัฏฐิ พ.ศ. ๒๕๐๗"
เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ในสมัยของหลวงพ่อประกอบเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมาของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปหยดน้ำแบบมีหูในตัว ภายในมีรูปหลวงพ่อเฉื่อย มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ กาญจนบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปถ่ายหลวงพ่อเฉื่อยนั่งสามธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวรวัตตวิบูล"
ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา วัดแสนตอ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 22 - 28 ม.ค. 17"
ล็อกเก็ตหลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ในสมัยของหลวงพ่อประกอบเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมาของทางวัด ลักษณะเป็นล็อกเก็ตขอบหยักแบบมีหูในตัว ภายในมีรูปหลวงพ่อเฉื่อย มีการสร้างด้วยเนื้อนิกเกิ็ลกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ล็อกเก็ตหลวงพ่อเฉื่อย วัดแสนตอ กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อนิกเกิ้ลกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปถ่ายหลวงพ่อเฉื่อยครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ลงสี่เหลือง ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเฉื่อย"
ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ด้านบนของอักขระยันค์ห้ามีอุนาโลม ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา วัดแสนตอ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี พ.ศ. ๒๕๑๗"
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น