ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา พระเกจิสายเหนียวของวังศาลา ท่าม่วง กาญจนบุรี
หลวงพ่อหนู วัดวังศาลา กาญจนบุรี |
หลวงพ่อหนู วัดวังศาลา หรือ พระครูสุนทรวิริยาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดวังศาลา ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ท่านมีนามเดิมว่านายสมชัย สังข์ทอง พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านหมู่ ๑ ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๗ โยมบิดาชื่อนายด่วน สังข์ทอง โยมมารดาชื่อนางโก๋ สังข์ทอง มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๔ คน คือ
๑. สิบโทสมชัย สังข์ทอง (หลวงพ่อหนู)
๒. สิบตำรวจตรีค้าง สังข์ทอง
๓. นายเล็ก สังข์ทอง
๔. นางเขียน สังข์ทอง
ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ หลวงพ่อหนู ท่านสำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดวังศาลา
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงพ่อหนู ท่านมีอายุได้ ๒๖ ปี ซึ่งขณะนั้นท่านได้รับราชการทหาร ท่านได้บรรพชาเป็นระยะเวลาสั้นๆ ณ พัทธสีมาวัดวังศาลา ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี
พระวิสุทธิรังษี วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากที่บวชได้ประมาณ ๑ พรรษา ท่านจึงได้ลาสิกขา และกลับเข้ารับราชการทหารตามเดิมจนท่านได้รับยศสิบโท และรับราชการทหารเรื่อยมา
ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงพ่อหนู ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ ๓๐ ปี ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในทางโลกจึงได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดวังศาลา ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับฉายาว่า "พุทธสโร" โดยมี
พระวิสุทธิรังษี วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูยติวัตรวิบูล (หลวงพ่อพรต) วัดศรีโลหะฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระปลัดจู วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดวังศาลาเรื่อยมาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และช่วงนี้เองท่านได้เดินทางไปร่ำเรียนวิชาอาคมต่างๆ กับหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว และหลวงพ่อพรต วัดศรีโลหะฯ จนสำเร็จวิชาอาคมต่างๆ
หลวงพ่อเปลี่ยน (อินทสโร) วัดใต้ หรือ พระวิสุทธิรังษี วัดไชยชุมพลชนะสงคราม |
ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านได้เป็นกรรมการศึกษาอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวังศาลาได้ว่างลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดเห็นพ้องต้องกันนิมนต์หลวงพ่อหนู ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดวังศาลา เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี วัดตั้งเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ซึ่งตรงกับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เดิมชื่อวัดวังเหรา (อ่านว่า วัด-วัง-เห-รา)
จากบันทึกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เล่าเดิมบ้านวังศาลาชื่อว่า "บ้านวังเหรา" ซึ่งชาวบ้านเล่าว่ามีสัตว์ประหลาด ตัวเป็นจระเข้เขาเหมือนควาย ว่ายน้ำมุ่งตรงมายังต้นพลับ ซึ่งมีศาลเจ้าที่ชาวบ้านนับถืออยู่ และใต้น้ำยังมีถ้ำใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของตัวเหรา (อ่านว่า เห-รา)
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น "บ้านวังศาลา" ชื่อเดิมๆจึงค่อยๆเลือนหายไป กล่าวกันว่าชาวบ้านพร้อมใจกันสร้างวัดขึ้นมาวัดหนึ่งตรงข้ามบ้าน โดยมีนายมงคล - นางมุ่ย ยิ้มแย้ม เป็นผู้บริจาคทรัพย์ในการก่อสร้าง
เล่ากันว่าภายในพื้นที่วัดมีวังใหญ่น้ำลึกลงไปในพื้นดินอยู่ใต้วัดลงมาประมาณ ๑๐ วา และทางวัดก็ได้สร้างศาลาไว้ตรงนั้นด้วย
ต่อมาตลิ่งพังจึงทำให้ศาลาจมลงไปในน้ำ และที่ตรงนี้ปลาชุกชุมมาก ตกเย็นจะมีพวกพรานเบ็ดมาตกปลากัน และมักจะตะโกนเรียกถามพรรคพวกว่าจะไปไหน ก็จะตอบกันไปว่า ไป "วังศาลา" โว้ย (วัง ในที่นี้หมายถึง วังน้ำที่มีปลาชุกชุมและน้ำวนไหลเชี่ยว) จึงกลายเป็นชื่อบ้านวังศาลา และเรียกชื่อวัดวังศาลา จนถึงปัจจุบัน วัดรับวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙
หลังจากที่หลวงพ่อหนู ท่านได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านพัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรื่องขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดวังศาลา (เจ้าคณะตำบล) และในปีนี้เองท่านได้ก่อสร้างโรงเรียนประชาบาล ขึ้นเพื่อให้บุตร-ธิดาของชาวบ้านในพื้นที่ได้ศึกษาเล่าเรียน
ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระใบฏีกาฐานานุกรม
ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสงฆ์ในหน้าที่ องค์กรสาธารณูประการ
ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน และในปีนี้ท่านได้ก่อสร้างโรงเรียนปริยัติธรรม เพื่อสอนพระภิกษุและสามเณรของวัดและระแวกใกล้เคียง
ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อหนูที่ได้พัฒนาวัดและชุมชนจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ที่ พระครูสุนทรวิริยาคม
ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌายะ และในปีนี้ท่านได้ทำการย้ายวัดจากฝั่งแม่น้ำมาอยู่ที่อยู่ปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง
ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านได้สร้างโรงเรียนสามัญศึกษาประจำวัดวังศาลา
ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญหลังปัจจุบัน และสร้างแท็งก์น้ำ ๑ ลูก เพื่อให้วัดมีน้ำใช้ภายในวัดอย่างเพียงพอ
ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านได้ร่วมกับชาวบ้านทำถนนเข้าวัด ๒ สาย
ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ท่านได้สร้างศาลาธรรมเวช ๑ หลัง เพื่อใช้สำหรับประกอบพิธีศพ
ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ท่านได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ทดแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม
ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านได้สร้างกำแพงรอบวัด
ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ท่านได้สร้างกุฏิอนุสรณ์พระครูสุนทรวิริยาคม
หลวงพ่อหนู ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ นับรวมสิริอายุได้ ๙๔ ปี ๖๔ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา
เหรียญหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกให้กับผู้มาร่วมงานทำบุญอายุครบ ๘๐ ปี ของหลวงพ่อ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้ออัลปาก้า ของคุณภิฆาต ขุนพระ |
เหรียญหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อทองแดงรมดำ |
เหรียญหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อทองแดงผิวไฟ |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อหนูครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรวิริยคม"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีรูปกระต่าย ใต้รูปกระต่ายมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดวังศาลา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี พ.ศ. ๒๕๒๕" เหนือรูปกระต่ายมีตัวเลข "๑" ซึ่งคือรุ่นที่สร้าง
เหรียญหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา รุ่นแรก (หยดน้ำ พิมพ์เล็ก)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกให้กับผู้มาร่วมงานทำบุญอายุครบ ๘๐ ปี ของหลวงพ่อ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มหยดน้ำแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา กาญจนบุรี รุ่นแรก พิมพ์เล็ก ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อทองแดงน้ำตาล |
เหรียญหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา กาญจนบุรี รุ่นแรก พิมพ์เล็ก ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อทองแดงรมดำ |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อหนูครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้อักขระยันต์มีรูปกระต่าย
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีตัวเลข "๑" ซึ่งคือรุ่นที่สร้าง ใต้เลขหนึ่งไทยมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรวิริยาคม วัดวังศาลา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ๒๕๒๕"
เหรียญหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา รุ่น ๒
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกให้กับผู้มาร่วมงานทำบุญอายุครบ ๙๐ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา กาญจนบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เนื้อทองแดงผิวไฟ |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อหนูครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีโบภายในโบอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรวิริยคม" ใต้โบอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดวังศาลา"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีรูปกระต่าย เหนือรูปกระต่ายมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๓๗" ซึ่งคือปีที่สร้าง ใต้รูปกระต่ายมีตัวเลข "๒" ซึ่งคือรุ่นที่สร้าง
รูปหล่อหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกให้กับผู้มาร่วมงานทำบุญอายุครบ ๘๘ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณเนื้อทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
รูปหล่อหลวงพ่อหนู วัดวังศาลา กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เนื้อทองเหลือง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อหนูนั่งถือบาตรองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่สังฆาฏิมีอักขระยันต์ ที่ฐานเขียงอักขระภาษาไทยเขียนว่า "สุนทรวิริยคม"
ด้านหลัง ที่ฐานเขียงอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดวังศาลา" ใต้ฐานมีรอยอุดกริ่งด้วยทองแดง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น