วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2567

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแก่นจันทร์ วัดป้อมแก้ว พระประทานพรเก่าแก่ของสมุทรสงคราม

ภาพหลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดป้อมแก้ว สมุทรสงคราม
หลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดป้อมแก้ว สมุทรสงคราม

         หลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดป้อมแก้ว ถือเป็นอีกหนึ่งพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เก่าแก่มาก องค์พระเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามสมุทร เนื้อโลหะทองลูกบวบ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

         วัดป้อมแก้วเป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ในคลองบางแก้ว ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เดิมชื่อวัดบางแก้ว ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง โดยผู้ทำการปฏิสังขรณ์จากวัดที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้นคือ

         อำแดงนิล ตั้งบ้านเรือนอยู่ในคลองบางแก้ว และอำแดงอู ตั้งบ้านเรือนอยู่ในคลองแม่กลอง ร่วมกับพระอธิการเมฆ บุตรของอำแดงนิล ร่วมกันบริจาคทรัพย์และเรือนไม้กระดานเพื่อบูรณะวัด

         โดยสมัยโบราณ ประมาณแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. ๒๑๙๑ บริเวณเมืองแม่กลองมีวัดเก่าแก่อยู่ ๔ วัด คือ

         ๑. วัดโคกเนิน เดิมมี ตั้งอยู่ปากคลองแม่กลองเป็นวัดโบราณ ปัจจุบันคือ วัดใหญ่ ตำบลแม่กลอง

         ๒. วัดศรีจำปา หรือวัดบ้านแหลม ปัจจุบันคือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร 

         ๓. วัดป่าเลไลย์ ชาวบ้านเรียกว่า วัดหลังบ้าน เพราะอยู่หลังวัดบ้านแหลม ต่อมาร่วงโรยกลายเป็นวัดร้าง เรียกกันว่า วัดหลังบ้านร้าง ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้า ในอดีตปัจจุบันที่ดินของวัดหลังบ้าน มีถนนผ่านกลาง คือถนนบางแพ-ดำเนินสะดวก ซอยวัดหลังบ้านอยู่ทางซ้ายมือ ก่อนขึ้นสะพานข้ามคลองแม่กลอง

         ๔. วัดค่ายสมุทรสงคราม เมื่อสร้างป้อมพิฆาตข้าศึกขึ้น ชาวบ้านจึงนิยมเรียกกันว่า วัดหลังป้อม ต่อมาวัดนี้ร้างไป 

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ทางราชการได้ทำการยุบป้อมพิฆาตข้าศึก จึงยุบวัดหลังป้อมไปรวมกับวัดบางแก้วที่ตั้งอยู่ในคลองบางแก้ว ซึ่งอยู่ลึกเข้าไป

         โดยพระปลัดทอง หรือ พระมหาสิทธิการทอง วัดบ้านแหลม ได้มีการพิจารณารวมวัด ๒ วัดเป็นวัดเดียวคือวัดบางแก้ว กับวัดหลังป้อม ชาวบ้านญาติโยมทายก ทายิกาทั้งสองฝ่ายตกลงในหลักการที่จะให้ร่วมกันได้ 

         แต่ถึงคราวพิจารณาว่าจะตั้งชื่อวัดอย่างไร ทั้งสองฝ่ายกลับตกลงกันไม่ได้ ทางฝ่ายวัดบางแก้วก็จะให้ชื่อวัดของตน ฝ่ายวัดหลังป้อมก็ยืนยันจะให้คนชื่อวัดตนไว้ เมื่อตกลงกันไม่ได้ต่างก็ยกพวกพร้อมอาวุธมาทำร้ายให้แตกหักกันไปข้างหนึ่ง

         พระปลัดทอง ท่านเห็นว่าเรื่องราวกำลังจะลุกลามไปใหญ่โต จึงเสนอให้ตั้งชื่อวัดใหม่โดยนำชื่อวัดบางแก้วกับวัดหลังป้อม มารวมกันเป็นวัดป้อมแก้ว ซึ่งก็เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย ส่วนบริเวณวัดหลังป้อมเดิม คือที่ทำการสถานีรถโดยสาร บ.ข.ส. ในปัจจุบัน 

         วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ภายในวัดมีพระพุทธมงคลวิมลสิริประทานพร ซึ่งสร้างในสมัยอยุธยา องค์พระมีอายุราว ๔๐๐ ปี เดิมเป็นพระประธานในอุโบสถวัดหลังป้อม ภายหลังรวมวัดกันจึงย้ายมาประดิษฐานเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ

         ส่วนหลวงพ่อแก่นจันทร์ เดิมเป็นพระประธานของวัดบางแก้ว มีอายุเก่าแก่ หลังจากรวมวัดกันจึงได้ย้ายมาประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารของทางวัด.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดป้อมแก้ว

         เหรียญหลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดป้อมแก้ว รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยพระครูสมุทรวุฒิคุณ (เพิ่ม วุฑฺฒิสาโร บุญสู่) เจ้าอาวาสวัดป้อมแก้ว เพื่อแจกให้กับผู่้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปหยดน้ำย่อมุมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และเนื้อทองแเดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดป้อมแก้ว สมุทรสงคราม รุ่นแรก 2510 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดป้อมแก้ว สมุทรสงคราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดป้อมแก้ว สมุทรสงคราม รุ่นแรก 2510 เงิน
เหรียญหลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดป้อมแก้ว สมุทรสงคราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดป้อมแก้ว สมุทรสงคราม รุ่นแรก 2510 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดป้อมแก้ว สมุทรสงคราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อแก่นจันทร์ประทับยืนประทานพร บนอาสนะ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแก่วจันทร์ วัดป้อมแก้ว สมุทรสงคราม" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๐" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ


โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น