ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อโฝ วัดถาวรวราราม (วัดญวน) พระอาจารย์นักพัฒนามหายานของเมืองกาญจนบุรี
หลวงพ่อโฝ วัดถาวรวราราม กาญจนบุรี |
หลวงพ่อโฝ วัดถาวรวราราม (วัดญวน) หรือ ท่านอธิการพ็องเดียว อดีตเจ้าอาวาสวัดถาวรวราราม ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองจังหวัดกาญจนบุรี ท่านเป็นพระนักพัฒนา นักสังคมสงเคราะห์ฯ แห่งคณะสงฆ์ญวน (และจีน) ในจังหวัดกาญจนบุรี และประเทศไทย
หลวงพ่อโฝ ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดา
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระจีน ณ พัทธสีมาวัดถาวรวราราม ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับฉายาว่า "พ็องเดียว" โดยมี
พระอธิการเทียม วัดญวน เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดถาวรวรารามเรื่อยมา เพื่อร่ำเรียนศึกษาวิชากับพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ พระอธิการเทียม เจ้าอาวาสวัดถาวรวราราม ได้ถึงแก่มรณภาพ ทางคณะสงฆ์มหานิกายจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อโฝ ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
พระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ ณ วัดถาวรวราราม กาญจนบุรี |
วัดถาวรวราราม หรือ วัดคั้นถ่อตื่อ ตั้งอยู่ที่ ถนนเจ้าขุนเณร ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นวัดหนึ่งในบวรพระพุทธศาสนาอนัมนิกาย ฝ่ายมหายาน
วัดถาวรวราราม หรือ วัดคั้นถ่อตื่อ (วัดญวน) ได้จัดตั้งขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี สาเหตุที่ได้มีการจัดตั้งวัดถาวรวรารามขึ้นก็เพราะว่า
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นได้มีชาวญวนอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นอันมาก ในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ ทางบ้านเมืองจึงแยกย้ายให้ไปอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยไปตั้งรกรากอยู่ที่บริเวณบ้านท่าพะเนียด ตำบลท่ามะขาม และที่บ้านลิ้นช้าง ตำบลบ้านเหนือ
ชาวญวนที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเหล่านี้เป็นผู้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา จึงได้สร้างวัดฝ่ายยอนัมนิกายขึ้นที่บ้านโรงหีบ ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งชื่อว่า "วัดญวน"
ภายในวัดมีพระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ และมีหลวงพ่อโต ที่ท่านอธิการเหยี่ยวเค ได้ไปอาราธนาพระพุทธรูปศิลาแลงจากวัดร้างแห่งหนึ่งในตำบลท่าเสา แขวงเมืองกาญจนบุรีเก่า ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ มาประดิษฐานเป็นพระประธาน
หลวงพ่อโต วัดถาวรวราราม กาญจนบุรี |
พระประธานองค์นี้ต่อมาได้รับพระราชทานนามจากเจ้าฟ้าชายวชิราลงกรณ์ (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที๋ ๑๐ ในปัจจุบัน) ว่า "พระพุทธสถาพรมงคล" ลงวันที่ ๑ กันยายน พศ. ๒๕๑๓ พร้อมด้วยพระพุทธรูปเบื้องขวาเบื้องซ้ายอีก ๒ องค์ได้ทำการลงรักปิดทองเสร็จสิ้นแล้วมีความสง่างามมา
ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ท่านอธิการเหยี่ยวเค จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอความกรุณาถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ราชวงศ์จักรี ขอรับพระราชทานนามว่า "วัดถาวรวราราม" เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๓๙ รัตนโกสินทร์ศกที่ ๑๑๕ มีขอบขัณฑสีมาเป็นบริเวณที่แน่นอนจนถึงปัจจุบัน วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้
๑. ท่านอธิการบ๋าวหาย (เจ้าอาวาสองค์แรก)
๒. ท่านอธิการเหยี่ยวเค
๓. ท่านอธิการเทียม
๔. ท่านอธิการพ็องเดียว (โฝ)
๕. องสุตบทบวร
๖. ท่านอธิการโฝมั่น เกวิ๊กชัน
หลังจากที่หลวงพ่อโฝได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ทำการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมพระอุโบสถ กุฏิ ครัว และอนุสาวรีย์ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น
ภาพถ่ายในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานพัดยศแก่หลวงพ่อโฝ วัดถาวรวราราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ |
และได้ทำการก่อสร้างกุฏิคอนกรีต ๒ ชั้นขึ้นอีก ๒ หลัง ศาลาอาสนราษฎร์บำรุง ๑ หลัง อาสนราษฎร์บำเพ็ญ ๑ หลัง เพื่อเป็นที่พักอาศัยแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดจนศิษย์ทั้งหลาย นับเป็นความมานะวิริยะอย่างแรงกล้า ควรแก่การอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงพ่อโฝ ท่านได้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนให้กับบุตร-ธิดา ของชาวบ้านในพื้นที่ โดยเริ่มเปิดสอนในระดับประถมศึกษาที่ ๑ - ๓ ให้ชื่อว่าโรงเรียนหวาเฉียวกงลี่
โดยให้ก่อสร้างและจัดการเรียนการสอนขึ้นในบริเวณวัดถาวรวราราม ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนถาวรวิทยา"
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ สร้างพระอุโบสถหลังใหม่
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ หลวงพ่อโฝ ท่านได้รับสมณศักดิ์ที่ องสรภาณมธุรส จากในหลวงรัชการที่ ๙ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ท่านได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระสมณานัมวุฑธาจารย์ ไพศาลคณกิจ จากในหลวงรัชการที่ ๙ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
หลวงพ่อโฝ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพด้วยโรคหัวใจ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด ของจีน นับรวมสิริอายุได้ ๖๙ ปี ๔๗ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อโฝ วัดถาวรวราราม
เหรียญหล่อหลวงพ่อโต วัดถาวรวราราม (ล้างป่าช้า)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ในสมัยที่หลวงพ่อโฝเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์และมาร่วมในงานล้างป่าช้ากับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญหล่อทรงห้าเหลี่ยม โดยเหรียญได้รับการปลุกเสกจากหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อโต วัดถาวรวราราม กาญจนบุรี รุ่นล้างป่าช้า ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เนื้อทองเหลือง |
เหรียญหลวงพ่อโต วัดถาวรวราราม กาญจนบุรี รุ่นล้างป่าช้า ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เนื้อทองเหลือง |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งมารวิชัย บนฐานชุกชี องค์พระปรากฏเส้นสังฆาฏิชัดเจน ใต้รูปองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๔๘๙"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์
เหรียญปั๊มหลวงพ่อโต วัดถาวรวราราม
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ในสมัยที่หลวงพ่อโฝเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกในงานฉลองพระอุโบสถ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อทรงห้าเหลี่ยม โดยเหรียญพิธีใหญ่มีเกจิชื่อดังมากมายร่วมในพิธีและที่สำคัญคือ ๑.หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว เป็นประธานในพิธี ๒. หลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า ๓.หลวงพ่อโฝ วัดญวณ ๔. อาจารย์ก้าน วัดใต้ ๕. หลวงพ่อหรุง รุ่งเช้า วัดทุ่งสมอ ๖. หลวงปู่ดี วัดเหนือ ๗. อาจารย์หัง วัดเหนือ ๘. อาจารย์กิมซา วัดเหนือ ๙. สมาคมชาวกาญจน์ คณะศิษย์ หลวงปู่เดินหน อิเกสาโร จัดงาน ๓ วัน ๓ คืน เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อโต วัดถาวรวราราม กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งมารวิชัย บนฐานชุกชี องค์พระปรากฏเส้นสังฆาฏิชัดเจน ใต้รูปองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดถาวรวราราม"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์
ผ้ายันต์หลวงพ่อโฝ วัดถาวรวราราม
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ในสมัยที่หลวงพ่อโฝเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกในงานฉลองพระอุโบสถ ลักษณะเป็นผ้ายันต์สี่เหลี่ยม โดยเหรียญพิธีใหญ่มีเกจิชื่อดังมากมายร่วมในพิธีและที่สำคัญคือ ๑.หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว เป็นประธานในพิธี ๒. หลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า ๓.หลวงพ่อโฝ วัดญวณ ๔. อาจารย์ก้าน วัดใต้ ๕. หลวงพ่อหรุง รุ่งเช้า วัดทุ่งสมอ ๖. หลวงปู่ดี วัดเหนือ ๗. อาจารย์หัง วัดเหนือ ๘. อาจารย์กิมซา วัดเหนือ ๙. สมาคมชาวกาญจน์ คณะศิษย์ หลวงปู่เดินหน อิเกสาโร จัดงาน ๓ วัน ๓ คืน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ผ้ายันต์หลวงพ่อโฝ วัดถาวรวราราม กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ |
ด้านหน้า มีรูปเจ้าแม่กวนอิมพันมืออยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานฉลองพระอุโบสถ วัดถาวรวราราม กาญจนบุรี ๒๔๙๔"
ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ
พระกริ่งวัดญวน (วัดถาวรวราราม) รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ในสมัยที่หลวงพ่อโฝเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระกริ่งปั๊มตัดขาด อุดกริ่ง สร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระกริ่งวัดถาวรวราราม กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองเหลืองรมดำ |
ด้านหน้า มีรูปพระพุทธปางประทานพร ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดถาวรวราราม"
ด้านหลัง มีอักขระภาษาจีน ใต้ฐานอุดกริ่งตอกโค้ด
พระบูชาหลวงพ่อโต วัดถาวรวราราม
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ในสมัยที่หลวงพ่อโฝเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกในรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ลักษณะเป็นพระบูชาหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระบูชาหลวงพ่อโต วัดถาวรวราราม จ.กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ขนาด ๙ นิ้ว เนื้อทองเหลือง |
พระบูชาหลวงพ่อโต วัดถาวรวราราม จ.กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ขนาด ๙ นิ้ว เนื้อทองเหลือง |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งมารวิชัย บนฐานชุกชี องค์พระปรากฏเส้นสังฆาฏิชัดเจน ที่ฐานพระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระพุทธสถาพรมงคล"
ด้านหลัง ที่ฐานพระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "นามพระราชทานจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พิธีมหาพุทธาภิเศก วัดถาวรวราราม จ.กาญจนบุรี ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑"
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น