โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลเจ้าคุณหยง วัดตึกมหาชยาราม พระเกจิชื่อดังหลังปี 2500 ของสมุทรสาคร

ภาพถ่ายหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร
หลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร

         หลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม หรือ พระสมุทรคุณากรณ์ วัดตึกมหาชยาราม ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ท่านมีนามเดิมว่า ยรรยง วัฒนไพรสาณฑ์  พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลเกาะเรียน อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

         เกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ โยมบิดาชื่อนายฮะ วัฒนไพรสาณฑ์ โยมมารดาชื่อนางชื่น วัฒนไพรสาณฑ์ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงพ่อหยง ท่านมีอายุได้ ๑๔ ปี ท่านได้ศึกษาจบชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดช่างทอง ตำบลเกาะเรียน อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ หลังจากจบการศึกษา ท่านได้ย้ายมาอยู่ญาติที่วัดตึกฯ และได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดตึกฯ เพื่อศึกษาพระธรรม เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยมีพระสมุทรคุณากร (ชิต ชิตวิปุโล) เป็นบรรพชาจารย์

         ในระหว่างที่ท่านเป็นสามเณรนั้น ท่านสามารถสอบได้นักธรรมตรี และนักธรรมโท ณ สำนักเรียนวัดตึกฯ แห่งนี้

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงพ่อหยง ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เดินทางกลับไปที่อยุธยา เพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ แทนคุณโยมบิดาและโยมมารดา ณ พัทธสีมาวัดช่างทอง ตำบลเกาะเรียน อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้รับฉายาว่า "ติสสเทโว" โดยมี

         พระครูบุญวิทยโสภณ วัดช่างทอง เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระครูอมรวิชัย วัดพระเชตุพน เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระธัมกิตติ วัดบพิตรพิมุข เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ย้ายกลับไปจำพรรษาที่วัดตึกฯตามเดิม เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาอาคมต่างๆ กับพระอาจารย์ชิต

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านสอบได้นักธรรมเอก ในสำนักเรียนวัดตึกมหาชยาราม

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านสอบเปรียญธรรม ๔ ประโยคได้ ในสำนักเรียนวัดตึกมหาชยาราม และได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศึกษาแขวงเมืองสมุทรสาคร เป็นกรรมการตรวจธรรม และเป็นครูสอนบาลี

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านได้เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะแขวงเมืองสมุทรสาคร

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านได้เป็นผู้เทศนาอบรมประชาชนประจำแขวงเมืองสมุทรสาคร

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญบัตรที่ "พระครูสาครคณารักษ์"

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านได้เป็นอนุกรรมการ ก.อ.ช ประจำจังหวัด

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลวงพ่อแฉล้ม เจ้าอาวาสวัดตึกฯได้ถึงแก่มรณภาพลง หลวงพ่อหยงจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดตึกมหาชยาราม และเป็นวินัยธรจังหวัด

         วัดตึกมหาชยาราม เดิมเรียก วัดคงคาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกายในตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๐ ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘ (สมเด็จพระเจ้าเสือ) ต่อมาได้ร้างลงไม่มีพระอยู่จำพรรษา 

         จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีนายอากรชาวจีนแผ่นดินใหญ่ชื่อ ตั๋วตี๋ ได้เดินทางมาพักแรม ณ หน้าบริเวณวัด แล้วเกิดนิมิตรขึ้นในคืนนั้นว่า พระประธานในอุโบสถได้แนะนำให้ไปตั้งหลักฐานรกราก ณ บริเวณแม่น้ำสมุทรปราการจะมีโชคลาภใหญ่อย่างแน่นอน 

         และเมื่อไปตั้งตามที่ได้นิมิตรแล้วนั้นปรากฏว่า นายตั๋วตี๋ท่านนั้นได้มีความรุ่งเรืองในอาชีพการงาน จนร่ำรวยขึ้นมา จึงได้กลับมาบูรณะวัดโดย สร้างวัดคงคารามขึ้นใหม่ เช่น สร้างกุฏิเป็นตึกแบบจีน จำนวน ๒ หลัง วิหาร ๑ หลัง ตั้งแต่บัดนั้นมา ชาวบ้านจึงไ้ด้เรียกวัดใหม่ว่า "วัดตึก"

         จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พระธรรมสิริชัย(ชิต ชิตวิปุโล) มาดำรงเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่นิล จึงได้เริ่มให้มีการศึกษาสอนบาลี และมีพระภิกษุสอบได้มหาเปรียญเป็นจำนวนมาก 

         วัดได้เปลี่ยนนามมาเป็น "วัดตึกมหาชยาราม" และใช้ชื่อนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐ วัดมีเจ้าอาวาสที่ปรากฏเป็นหลักฐาน มีรายนามดังต่อไป

         ๑. พระอุปัชฌาย์ ศรี ( พ.ศ. ไม่มีปรากฏ )

         ๒. พระครูสมุทรคุณากร ( นิน ) พ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๖๕

         ๓. พระสมุทรคุณากร ( ชิต ชิตวิปุโล ) ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ นฐ. พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๙๕

         ๔. พระครูสุทธิสุนทร ( แฉล้ม กลฺยาโณ ) พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๕๐๐

         ๕. พระสมุทรคุณากร ( ยรรยง ติสฺสเทโว ) พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๓๕

         ๖. พระครูเมธีสาครเขต (ชื่น รติวฑฺฒโน ) พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๔๗

         ๗. พระครูสาครคุณากร ( เชิญ ปุญฺญกาโม ) พ.ศ. ๒๕๔๗ - ๒๕๔๘

         ๘. พระอธิการ ชำนาญ กนฺตวณฺโณ พ.ศ.๒๕๔๘ - ปัจจุบัน

          หลังจากที่หลวงพ่อหยงท่านได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดจนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ท่านได้เป็นพระอุปัชฌายะ

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ "พระสมุทรคุณากร"

         หลวงพ่อหยง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เวลา ๑๘.๐๕ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๘ ปี ๕๘ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม

          เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม รุ่นแรก 

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกในคราวฉลองอายุครบ ๖๐ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว เหรียญได้รับการปลุกเสกเพิ่มเติมจากหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี มีการสร้างด้วย

         ๑. เนื้อทองคำ                              จำนวน ๙ เหรียญ

         ๒. เนื้อนาค                                   จำนวน ๕ เหรียญ

         ๓. เนื้อเงิน                                    จำนวน ๑๙๙ เหรียญ

         ๔. เนื้อตะกั่ว                                 จำนวน ๖๐ เหรียญ

         ๕. เนื้อนวะ                                   จำนวน ๑,๐๐๐ เหรียญ

         ๖. เนื้อสตางค์กะไหล่ทอง            จำนวน ๑,๐๐๐ เหรียญ

         ๗. เนื้อทองแดงรมดำ                   จำนวน ๙,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่นแรก 2517 เงิน
เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อเงิน ของคุณณรงค์เดช บัณฑิตอาภรณ์
เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่นแรก 2517 นวะ
เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อนวะโลหะ
เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่นแรก 2517 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดงรมดำ

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อหยงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสมุทรคุณากร"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ครบรอบ ๖๐ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ วัดตึกมหาชยาราม"

          พระปรกใบมะขามหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม รุ่นแรก 

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกในคราวฉลองอายุครบ ๖๐ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระปรกใบมะขามขนาดเล็ก พระได้รับการปลุกเสกเพิ่มเติมจากหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปรกใบมะขามหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่นแรก 2517 ทองแดง
พระปรกใบมะขามหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า จำลองรูปพระนาคปรก

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ติสฺสเทโว" ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดตึกมหาชยาราม"

          เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม รุ่นสอง 

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในคราวฉลองอายุครบ ๗๒ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อนาก เนื้อเงิน เนื้อนวะโลหะ เนื้อทองเหลือง และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่น 2 2529 เงิน
เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่น 2 2529 กระไหล่ทองลงยา
เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อกระไหล่ทองลงยา
เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่น 2 2529 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อหยงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสมุทรคุณากร" มีการต้อกโต้ดไว้ที่สังฆาฏิ

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม เหนืออักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๒๙" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อายุครบ ๗๒ ปี วัดตึกมหาชยาราม"

          พระปรกใบมะขามหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม รุ่นสอง 

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในคราวฉลองอายุครบ ๗๒ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระปรกใบมะขามขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปรกใบมะขามหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่น 2 2529 ทองแดง
พระปรกใบมะขามหลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า จำลองรูปพระนาคปรก

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม ใต้อักขระยันต์มีรูปเสือ ที่ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหยง วัดตึกมหาชยาราม"




โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้