ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อสอน วัดเขาถ้ำพระ ผู้บูรณะพระเก่าเขาถ้ำพระ ราชบุรี
หลวงพ่อสอน วัดเขาถ้ำพระ ราชบุรี |
หลวงพ่อสอน วัดเขาถ้ำพระ หรือ พระอาจารย์สอน วัดเขาถ้ำพระ ตำบลดอนพระ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี หลวงพ่อสอน ท่านมีนามเดิมว่า สอน สว่างแจ้ง พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านจังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา
หลวงพ่อสอน ท่านเกิดเมื่อวันพุธ เดือน ๔ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๔ โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน โดยท่านเป็นคนกลาง ท่านสามารถพูดได้ถึง ๓ ภาษา คือ ภาษาเขมร ภาษาไทย ภาษาฝรั่งเศส
ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๓๕ ปี ท่านจึงได้เดินทางเข้ามาทางจังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่วัดพิกุลทอง ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โดยทางวัดว่าจ้างให้ทำงานเกี่ยวกับช่างไม้ ทำอยู่ ๑ ปี แล้วได้ย้ายไปทำไร่อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี กับคนจีนผู้หนึ่ง อยู่ประมาณ ๑ ปีเศษ ท่านก็ย้อนกลับมายังวัดพิกุลทอง
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงพ่อสอน ท่านมีอายุได้ ๓๘ ปี ท่านดำริที่จะกลับบ้านเกิดเมืองนอน โดยวิธีบรรพชาเป็นสามเณรแล้วจึงจะไป ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการเดินทาง จึงเข้าไปปรึกษากับท่านเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง ท่านเจ้าอาวาสก็ยินดีรับเป็นพระอุปัชฌาย์บรรพชาให้ แล้วก็จำพรรษาอบู่ที่วัดพิกุลทอง
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงพ่อสอน ท่านมีอายุได้ ๓๙ ปี ท่านได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอน จึงขอญัติเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดพิกุลทอง ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ได้รับฉายาว่า "ฐานธมฺโม" โดยมี
พระอธิการ วัดพิกุลทอง เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดพิกุลทอง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอุปัชฌาย์ของท่านเป็นเวลา ๑ พรรษา
เมื่อออกพรรษาแล้ว (ปลายปี) ท่านได้ลาอุปัชฌาย์ไปอยู่ที่วัดเขาวงจินดา ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี จำพรรษาอยู่ ๓ พรรษา ท่านได้สร้างกุฏิ ๓ ห้อง ๑ หลัง และซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุดให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น
ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อออกพรรษาแล้ว (ปลายปี) ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดหนองปรือ ตำบลหนองปรือ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ได้สร้างกุฏิพักสงฆ์ ๑ หลัง และจำพรรษาอยู่ ๒ พรรษา และท่านได้เดินทางไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลวงพ่อสอน ท่านได้บย้ายมาอยู่ที่วัดกาญจนบุรีเก่า (วัดท่าเสา) ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี อยู่วัดนี้ได้ ๒ พรรษา ท่านได้เป็นกำลังช่วยท่านพระครูจวน เจ้าอาวาส สร้างโรงเรียนบ้านวังด้ง เป็นอาคารเรียนเรือนไม้ ๒ ชั้น และสร้างกุฏิสงฆ์ ๓ ห้อง ๑ หลัง
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านได้ย้ายลงมาอยู่ที่วัดศรีอุปลาราม ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ที่วัดนี้ท่านได้อยู่จำพรรษานานถึง ๑๐ พรรษา
ในระหว่างที่อยู่วัดนี้ พระครูนิวิฐสมาจาร(หลวงปู่เหรียญ) ท่านกำลังสร้างอาคารเรียนเป็นตัวตึก ๒ ชั้น ชื่อโรงเรียนนิวิฐพิทยาคาร หลวงพ่อสอน ท่านก็ได้เป็นกำลังในการก่อสร้างด้วย โดยรับภาระในด้านช่างไม้
หลวงพ่อสอน วัดเขาถ้ำพระ ราชบุรี |
ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงพ่อสอน ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดเขาถ้ำพระ ตำบลดอนทราย อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ตอนนั้นวัดยังอยู่ในสภาพที่ขาดผู้ช่วยปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุในวัด วัดจึงทรุดโทรมมาก พระพุทธรูปก็ปรักหักเป็นท่อน เมื่อท่านมาพบเข้าจึงมีความสังเวชสลดจิต จึงคิดที่จะทำนุบำรุงให้ดีขึ้น
วัดเขาถ้ำพระ เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๑ บ้านเขาถ้ำ หมู่ที่ ๙ ตำบลดอนทราย อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
วัดเขาถ้ำพระ ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เดิมชื่อสำนักสงฆ์เขาถ้ำพระ สร้างในสมัยใดไม่มีหลักฐาน ได้ขออนุญาตกรมการศาสนาตั้งเป็นวัดเขาถ้ำพระ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปเก่าแก่
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ กรมศิลปากร ได้มาสำรวจสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี จึงได้ขออนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติ จำนวน ๔๒ องค์ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ วัดมีนามนามเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้
๑. หลวงปูสอน ฐานธมโม
๒. พระมหาบัณฑิต
๓. พระครูสมุห์สวาสดิ์ ฉวิวณโณ
๔. พระวียศ เขมจิตโต
๕. พระอธิการคณินธิป สุจิตฺโต
หลังจากที่หลวงพ่อสอน ท่านได้มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์เขาถ้ำพระ ขณะนั้นถาวรวัตถุในวัดทรุดโทรมลงมาก หลวงพ่อสอนได้สร้างมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมทั้งเทพื้นปูนภายในถ้ำและทำบันไดจากเชิงเขาขึ้นถ้ำ
พระพุทธรูปในวัดถ้ำเขาพระ ราชบุรี |
หลังจากที่สร้างมณฑปจนแล้วเสร็จ ท่านจึงได้ซ่อมแซมพระพุทธรูปที่ชำรุดให้คงสภาพดีแล้ว ก็เอาขึ้นประดิษฐานไว้บนมณฑป เทพื้นซีเมนต์ในถ้ำใหม่
สร้างกุฏิสงฆ์ สร้างถังเก็บน้ำฝน และบันไดขึ้นไปที่ถ้ำพระ ตลอดไปถึงองค์เจดีย์บนยอดเขา แล้วได้ช่วยสร้างโรงเรียนบ้านเขาถ้ำ
ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านได้เริ่มสร้างเจดีย์รวม ๕ องค์ไว้บนยอดเขาถ้ำพระจนสำเร็จดี เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๖
หลวงพ่อสอน ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคมะเร็งกรามช้างเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๑ เวลา ๒๓.๐๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๗ ปี ๓๙ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อสอน วัดเขาถ้ำพระ
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดเขาถ้ำพระ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดและแจกในคราวฉลองพระเจดีย์ที่บรรจุพระสารีริกฐาตุของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปกรงจักรแบบมีหูในตัว มีการสร้างขึ้นด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดเขาถ้ำพระ ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้ออัลปาก้าลงยา |
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดเขาถ้ำพระ ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้ออัลปาก้า |
ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อสอนครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท โธ" รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสอน ฐานธมฺโม วัดเขาถ้ำพระ ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี" ที่ขอบเหรียญมีอักขระยันต์
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ฉลองพระเจดีย์ ๑๕ ก.พ. ๒๕๐๗"
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดเขาถ้ำพระ รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ สมัยที่พระมหาบัณฑิตเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปกรงจักรแบบมีหูในตัว มีการสร้างขึ้นด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อสอน วัดเขาถ้ำพระ ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้ออัลปาก้า |
ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อสอนครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท โธ" รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสอน ฐานธมฺโม วัดเขาถ้ำพระ ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี" ที่ขอบเหรียญมีอักขระยันต์
ด้านหลัง มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิบนฐานชุกชี ใต้องค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๗ เม.ย. ๒๕๑๖"
ภาพถ่ายอัดกระจกพระพทุธทวารวดี หลวงพ่อสอน วัดเขาถ้ำพระ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นภาพถ่ายอัดกระจกหน้าหลัง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ภาพอัดกระจกพระพุทธรูปใน วัดถ้ำเขาพระ ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ |
ด้านหน้า มีรูปถ่ายพระพุทธรูปสมัยทวารดีที่หลวงพ่อสอนได้ทำการซ่อมแซม แล้วนำมาประดิษฐานอยู่ในมลฑป
ด้านหลัง มีอักขระยันต์
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-**
ไม่มีความคิดเห็น