โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแทนดงรัง กาญจนบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี
หลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี

         หลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแทนดงรัง หรือ พระครูพุทธมัญจาภิบาล อดีตเจ้าอาวาสวัดพระแทนดงรัง ตำบลพระแทน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ท่านมีนามเดิมว่า ทองหล่อ พวงแป้น พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

         ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ โยมบิดาชื่อนายยอด พวงแป้น โยมมารดาชื่อนางพบ พวงแป้น ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานมาที่กาญจนบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ หลวงพ่อทองหล่อ ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดเขาใหญ่ ตำบลโคกตะบอง อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้รับฉายาว่า "ปนาโท" โดยมี

         พระครูวรวัตรวิบูลย์ (เฉื่อย) วัดแสนตอ เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดเขาใหญ่เรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและภาษบาลี จากพระอาจารย์ ณ สำนักวัดเขาใหญ่

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ สอบได้นักธรรมตรี ณ สำนักเรียนวัดเขาใหญ่

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สอบได้นักธรรมโท ณ สำนักเรียนวัดเขาใหญ่ และสำเร็จประโยคครูมูล (พ)

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ สอบได้นักธรรมเอก ณ สำนักเรียนวัดเขาใหญ่

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองโตนด ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ได้ว่างลง คณะสงฆ์จึงมีมติแต่งตั้งให้หลวงพ่อทองหล่อไปเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดหนองโตนดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ หลวงพ่อทองหล่อ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสังฆรักษ์ ฐานานุกรมของพระมงคลรังษีวิสุทธิ์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ หลวงพ่อทองหล่อ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระแท่นดงรัง ตำบลพระแทน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และเป็นเจ้าสำนักเรียนวัดพระแท่นดงรัง

ภาพถ่ายพระพุทธบาทจำลอง วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี
ภาพถ่ายพระพุทธบาทจำลอง วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี

         วัดพระแท่นดงรัง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณพื้นที่เป็นป่าไม้เต็งรังและเป็นที่ประดิษฐาน "พระแท่นดงรัง" ลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่ ราบคล้ายเตียง ในสมัยก่อนผู้คนเชื่อกันว่าเป็นพระแท่นที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

          ต่อมาเมื่อความรู้และข้อเท็จจริงที่ระบุชัดเจนว่าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ในประเทศอินเดีย ลักษณะความเชื่อจึงเป็นการจำลองสถานที่ปรินิพพานไว้แทน 

         นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสถานที่จำลองฉากการปรินิพพาน เช่น เขาถวายพระเพลิง จำลองสถานที่ถวายพระเพลิงพระศพพระพุทธองค์ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ๕๕ เมตร 

         ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า วัดพระแท่นดงรังก่อสร้างขึ้นเมื่อไร และก่อสร้างขึ้นโดยใคร แต่สันนิษฐานว่าก่อสร้างขึ้นในราวสมัยอยุธยา เนื่องจากมีหลักฐานพระพุทธบาทจำลองไม้สลักประดับมุก ศิลปะช่างหลวงอยุธยาสมัยพระเจ้าบรมโกศ 

         หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการกล่าวถึงพระแท่นดงรังปรากฏในนิราศพระแท่นดงรัง ปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ของสามเณรกลั่นที่เดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรังพร้อมสุนทรภู่ 

          ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จประพาสมาทางน้ำมาตรวจคณะสงฆ์ที่กาญจนบุรีขากลับ

         ได้แวะเสด็จทรงพระดำเนินขึ้นไปนมัสการพระแท่นดงรัง เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๑๒.๑๓ น.  เสร็จแล้วยังได้เสด็จขึ้นไปบนเขาถวายพระเพลิง

         ลงเขาแล้วได้เสด็จไปพักที่หอสวดมนต์ ได้ประทานของแจกแก่พระอธิการจัน เจ้าอาวาสในสมัยนั้นกับพระภิกษุอีกด้วย

          วัดพระแท่นดงรังได้รับการอุปถัมภ์ในพระบรมวงศานุวงศ์โดยดีมาตลอด นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะวัดขึ้น พระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลนับจากนั้นล้วนเคยเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดพระแท่นดงรัง 

         และได้รับพระมหากรุณาธิคุณยวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีสถานปนาสมเด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

         สุจิตต์ วงศ์เทศ นักประวัติศาสตร์ เคยให้ความเห็นว่าพระแท่นดงรังมาจากคติการบูชาหินขนาดใหญ่ของคนในสมัยโบราณ เมื่อมีแนวคิดในพระพุทธศาสนาแผ่ขยายเข้ามาจึงทำให้ความเชื่อถูกกล้นและเปลี่ยนไปเป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแทน

ภาพถ่ายเก่าพระแท่น วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี
ภาพถ่ายเก่าพระแท่น วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี

         หลังจากที่หลวงพ่อทองหล่อได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านได้สร้างหอสวดมนต์ ๑ หลัง

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญ

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้ปฏิสังขรณ์เพดานวิหารพระแท่น

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระแท่นดงรัง ตำบลพระแทน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ย้ายกุฏิจากที่เดิมมาสร้างใหม่ ได้กุฏิ ๒ หลัง จำนวน ๒๖ ห้อง

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ สร้างบันไดเขาถวายพระเพลิง และสร้างรั้วกำแพงวัด

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ สร้างหอระฆัง และสร้างโรงเรียนปริยัติธรรม

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านได้เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่พระครูวินัยธร ฐานานุกรมของพระเทพมงคลรังษีวิสุทธิ์ และเป็นกรรมการคุมสอบธรรมสนามหลวง ปีนี้ท่านสร้างศาลาพักร้อนเชิงบันไดเขาถวายพระเพลิง

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่พระครูพุทธมัจจาภิบาล ปีนั้นท่านได้สร้างหอฉัน สร้างเมรุเผาศพ และสร้างศาลาพักร้อนเชิงบันไดเขาถวายพระเพลิง อีก ๑ หลัง รวมทั้งยังได้ปฏิสังขรณ์เพดานวิหารพระอานนท์

ภาพถ่ายเก่าวิหารพระอานนท์  วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี
ภาพถ่ายเก่าวิหารพระอานนท์  วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านได้เป็นเจ้าคณะตำบลพระแท่น ปีนั้นท่านได้เริ่มสร้างพระอุโบสถจตุรมุข โดยไปแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๒๑

          โดยปีนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จพร้อมสมเด็ขพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาบำเพ็ญกุศลวันวิสาขบูชา และทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถหลังใหม่

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ สร้างฌาปนสถาน มีเมรุ ศาลา ๒ หลัง ครัว ห้องนำ รั้วเหล็กโดยรอบ

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ปฏิสังขรณ์มณฑปเขาถวายพระเพลิง

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ มีการพัฒนาวัดจนได้รับพระราชทานยกฐานะวัดพระแท่นดงรังเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระแท่นดงรัง (พระอารามหลวง) ตำบลพระแทน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ปฏิสังขรณ์รั้วกำแพงวัดใหม่

         ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ท่านได้เป็นเจ้าคณะอำเภอท่ามะกา

         หลวงพ่อทองหล่อ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันอังคารที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ตรงกับวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีระกา ณ โรงพยาบาลมะการักษ์ นับรวมสิริอายุได้ ๕๘ ปี ๔ เดือน ๑๙ วัน ๓๙ พรรษา.

วัตถุมงคลของวัดพระแท่นดงรัง ก่อนหลวงพ่อทองหล่อ

         เหรียญพระแท่น วัดพระแท่นดงรัง รุ่นแรก พิมพ์พระพุทธบาท

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระพุทธไสยาสน์ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก 2472 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระพุทธไสยาสน์ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก พิมพ์หลังพระพุทธบาท ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นพระพุทธไสยาสน์ มีพระปัจวัคคีย์ทั้ง ๕ ประทับที่หน้าพระแท่น ด้านบนมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท ธะ สัง มิ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระแท่น" ใต้อักขระภาษาไทยมีตัวอุนาโลม ๒ ตัว

         ด้านหลัง มีรูปพระพุทธบาทจำลอง ใต้รูปมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ" บนรูปมีอักขระยันต์ บนสุดมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระฤก" 

         เหรียญพระแท่น วัดพระแท่นดงรัง รุ่นแรก พิมพ์หลังยันต์

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระพุทธไสยาสน์ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก หลังยันต์ 2472 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระพุทธไสยาสน์ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก พิมพ์หลังยันต์ ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า จำลองรูปเป็นพระพุทธไสยาสน์ มีพระปัจวัคคีย์ทั้ง ๕ ประทับที่หน้าพระแท่น ด้านบนมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท ธะ สัง มิ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระแท่น" ใต้อักขระภาษาไทยมีตัวอุนาโลม ๒ ตัว

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์

วัตถุมงคลของหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง

         เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว ขนาดใกล้เคียงเหรียญบาทไทยในปัจจุบัน มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก 2508 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก 2508 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก 2508 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นหลวงพ่อทองหล่อครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสังฆรักษ์ทองหล่อ ๒๕๐๘" 

         ด้านหลัง มีรูปพระพุทธรูปปางไสยาสน์ นางรังคู่ ด้านบนมีอักขระขอมบาลีอ่านว่า "อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ" แปลว่า "ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" ใต้รูปองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระแท่นดงรัง กาญจนบุรี" 

         เหรียญพระแท่น วัดพระแท่นดงรัง รุ่นรับเสด็จ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อแจกให้ผู้ที่ร่วมในงานรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จพร้อมสมเด็ขพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาบำเพ็ญกุศลวันวิสาขบูชาและทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถหลังใหม่ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้ออัลปาก้าเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระพุทธไสยาสน์ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี 2512 เงิน
เหรียญพระพุทธไสยาสน์ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นรับเสด็จ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อเงิน
เหรียญพระพุทธไสยาสน์ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี 2512 อัลปาก้า
เหรียญพระพุทธไสยาสน์ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นรับเสด็จ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า จำลองรูปเป็นพระพุทธไสยาสน์ ใต้องค์พระมีอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ" แปลว่า "ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" เหนือองค์พระอักขระมีตัวอุนาโลม

         ด้านหลัง ตรงกลางจำลองเป็นรูปพระแท่น มีต้นนางรังคู่ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกเสด็จพระราชดำเนินพระแท่นดงรัง ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๑๒" 

         เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว ขนาดใกล้เคียงเหรียญบาทไทยในปัจจุบัน มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่น 2 2514 ทองแดงไม่ตัดขอบ
เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองแดงไม่ตัดขอบ
เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่น 2 2514 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองแดงรมดำ

         ด้านหน้า จำลองเป็นหลวงพ่อทองหล่อครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูพุทธมัญจาภิบาล(ทองหล่อ) ๒๕๐๘" 

         ด้านหลัง มีรูปพระพุทธรูปปางไสยาสน์ นางรังคู่ ด้านบนมีอักขระขอมบาลีอ่านว่า "อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ" แปลว่า "ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" ใต้รูปองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระแท่นดงรัง กาญจนบุรี" 

         พระกริ่งพระแท่นดงรัง วัดพระแท่นดงรัง พิมพ์ใหญ่

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อแจกในคราวพระราชทานยกฐานะวัดพระแท่นดงรังเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ลักษณะเป็นพระกริ่งหล่อโบราณขนาดเท่าพระกริ่งทั่วไป มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองรมดำเพียงชนิดเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระกริ่งวัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก 2515 ทองผสม
พระกริ่งวัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก พิมพ์ใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อทองผสม

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระกริ่ง

         ด้านหลัง มีเลข ไทย ใต้ฐานมีรอยอุดกริ่งและตอกอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระแท่นดงรัง" 

         พระกริ่งพระแท่นดงรัง วัดพระแท่นดงรัง พิมพ์เล็ก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อแจกในคราวพระราชทานยกฐานะวัดพระแท่นดงรังเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ลักษณะเป็นพระกริ่งหล่อโบราณขนาดเท่าพระชัยวัฒน์ทั่วไป มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระกริ่งวัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก พิมพ์เล็ก 2515 ทองผสม
พระกริ่งวัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก พิมพ์เล็ก ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อทองผสม

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระกริ่งขนาดเล็กเท่ากับพระชัย ที่ฐานตอกอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระแท่นดงรัง" 

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระใดๆ ใต้ฐานมีรอยอุดกริ่ง 

         เหรียญพระประธาน วัดพระแท่นดงรัง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อแจกในคราวในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จเททององค์พระประธานของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระประธาน วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี 2515 ทองแดงรมดำ
เหรียญพระประธาน วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อทองแดงรมดำ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระประธานของทางวัด ข้างองค์พระและใต้องค์พระมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกเสด็จพระราชดำเนินเททองหล่อพระประธานวัดพระแท่นดงรัง ๒๕๑๕" 

         พระผงพิมพ์ประธาน วัดพระแท่นดงรัง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อแจกในคราวในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จเททององค์พระประธานของทางวัด ลักษณะเป็นพระผงพิมพ์สี่เหลี่ยมแบบพระสมเด็จ มีการสร้างด้วยเนื้อผงน้ำมันผสมผงพุทธคุณที่หลวงพ่อทองหล่อเก็บสะสมไว้เป็นมวลสารหลัก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระผงพิมพ์พระประธาน วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี 2515 ผงน้ำมัน
พระผงพิมพ์พระประธาน วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อผงน้ำมัน

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระประธานของทางวัด

         ด้านหลัง ตรงกลางจำลองเป็นรูปพระแท่น มีต้นนางรังคู่ ด้านบนมีอักขระขอมบาลีอ่านว่า "อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ" แปลว่า "ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" ใต้รูปพระแท่นมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดพระแท่นดงรัง" 

         เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่น 3 2521 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อทองหล่อ วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นหลวงพ่อทองหล่อครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "(ทองหล่อ)" ที่โบว์ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูพุทธมัญจาภิบาล" 

         ด้านหลัง มีรูปจำลองพระแท่นดงรัง นางรังคู่ ด้านบนมีอักขระขอมบาลีอ่านว่า "อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ" แปลว่า "ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" ใต้รูปองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๕๒๑ วัดพระแท่นดงรัง จ.กาญจนบุรี" 



หมายเหตุ : วัตถุมงคลบางรุ่นไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้.

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้