โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

หลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม พระเนื้อดินเก่าหายากของบางคนที สมุทรสงคราม

ภาพถ่ายหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม
หลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม

         หลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม หรือ หลวงพ่อปู่เกษรชินวรปฏิมา เป็นพระประธานของวัดปากง่าม ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ถือเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่คู่วัดปากง่ามมาตั้งแต่ครั้งสร้างวัด องค์พระมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนพระพุทธรูปทั่วไป 

         ดังจะเห็นได้จาก "เมื่อเข้าประตูพระอุโบสถแล้วจะแลเห็นท่านยิ้มรับ แต่เมื่อเข้าพิจารณาใกล้ๆองค์พระ จะแลเห็นพระพักตร์ท่านนิ่งเฉย" ข้างองค์หลวงพ่อมีพระอัครสาวกทั้ง ๒ นั่งคุกเข่านมัสการท่านอยู่

         หลวงพ่อเกษร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย เดิมองค์หลวงพ่อนั้นประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังเก่า แต่เมื่อมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ 

         ทางวัดได้ย้ายองค์หลวงพ่อเกษรเข้าไปประดิษฐานในพระอุโบสถหลังใหม่ แต่องค์พระมีขนาดเล็กกว่าตัวพระอุโบสถมากไม่สมส่วนกัน

         ทางวัดจึงได้ว่าจ้างช่างปูนปั้นฝีมือดีในจังหวัดสมุทรสงคราม มาทำการปั้นองค์พระทับองค์เดิม เพื่อให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและสวยสมบูรณ์เพิ่มขึ้น

         ปัจจุบันหลวงพ่อเกษรจึงมีขนาดหน้าตักกว้าง ๒ เมตร ๑๘ เซนติเมตร องค์พระสูง ๓ เมตร องค์หลวงพ่อเกษรมีความสวยสมบูรณ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

หน้าบรรณพระอุโบสถวัดปากง่าม สมุทรสงคราม
พระอุโบสถวัดปากง่าม สมุทรสงคราม สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐

         วัดปากง่ามเป็นวัดเก่าแก่ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเถรวาท สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย (ภาค ๑๕) ตั้งอยู่ที่ ๘/๑ หมู่ ๑๑ ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้าง คาดว่ามีอายุกว่า ๒๐๐ ปี 

         มีหลักฐานว่าขอตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๕ ในสมัยก่อนการคมนาคมไปมาของชาวบ้านจะนิยมการขนส่งทางเรือเป็นหลัก อาศัยคลองบางน้อย และคลองบางใหญ่ เชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลองเป็นหลักสำคัญ

         แต่ด้วยวัดตั้งอยู่ตรงคลองสามแพร่ง ของคลองบางน้อย และคลองบางใหญ่ทั้งสอง จึงได้ชื่อว่า "วัดปากง่าม" จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ได้เล่าว่า 

         ตอนที่เป็นเด็กเล็กๆเกิดมาจำความได้ก็เห็นวัดนี้แล้ว เป็นวัดเก่าๆ ไม่ค่อยเจริญมากนัก เพราะตั้งอยู่ในสวน บ้านเรือนมีน้อย อุโบสถสร้างมา ๓ หลังแล้ว ตั้งอยู่ต่างสถานที่กัน 

         หลังปี พ.ศ. ๒๔๗๙ วัดจึงได้เจริญรุ่งเรืองตามลำดับเนื่องด้วยการคมนาคมที่สะดวกขึ้น รวมทั้งชุมชนมีการขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับความสามารถของเจ้าอาวาสที่สืบทอดต่อๆ กันมา และเนื่องด้วยชุมชนขยายใหญ่ขึ้น บ้านเรือนหนาแน่นขึ้น 

         รวมถึงประชาชนมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา วัดจึงมีศาสนสถาน และศาสนวัตถุครบถ้วน มีอุโบสถ และศาลาการเปรียญที่สวยงาม กุฏิสงฆ์ หอฉันท์ 

         หอสวดมนต์สร้างด้วยไม้ทรงไทย ศาลาท่าน้ำ และยังมีการสร้างสะพานข้ามคลองบางน้อยในปี พ.ศ ๒๔๙๑ ตลอดจนการศึกษาก็บริบูรณ์ มีโรงเรียนปริยัติธรรม และโรงเรียนประถมศึกษา วัดนี้ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑

ภาพถ่ายหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม
หลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม

         สิ่งสำคัญของวัดที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่

          ๑. พระพุทธรูปโบราณปูนปั้น ปางมารวิชัยพระนามว่า หลวงพ่อเกษร” เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ เข้าประตูอุโบสถแล้วจะแลเห็นท่านยิ้มรับ แต่เมื่อเข้าพิจารณาใกล้ๆ จะแลเห็นพระพักตร์ท่านนิ่งเฉย มีพระอัครสาวกทั้ง ๒ นั่งคุกเข่านมัสการท่านอยู่

          ๒. ภาพผนังอุโบสถแปลกกว่าวัดอื่นๆ คือ วาดเป็นภาพเทวดารักษาทิศทั้ง ๘ งดงามยิ่งนัก

          ๓. ศาลาการเปรียญชั้นบนทรงไทย ภายในมีธรรมมาศน์เทศน์ บุษบกโบราณทรง ๓ ชั้น ฝีมือประณีต งดงามอ่อนช้อย วิจิตรตระการตา

          ๔. หลวงพ่อศิลา ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปโบราณศิลาแลง เนื้อหินสีแดง ปางสมาธิ มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง เดิมหลวงพ่ออยู่วัดอินทรประเสริฐ (วัดร้าง) แล้วได้เชิญมาที่วัดปากง่าม ในสมัยอดีต ประดิษฐานที่ศาลาเก่า ชาวบ้านมักขอพรเรื่อง พนันขันต่อ

หลวงพ่อศิลา วัดปากง่าม สมุทรสงคราม
หลวงพ่อศิลา วัดปากง่าม สมุทรสงคราม

          ๕. พระพุทธรูปหล่อสมัยอู่ทองปางห้ามสมทร สูง ๑ เมตร ๒๐ เซนติเมตร ประดิษย์ฐาน อยู่ ณ หอสวดมนต์

          ๖. เจดีย์โบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา หน้าอุโบสถใหม่ สถานที่สร้างอุโบสถเก่าของวัด

พระเจดีย์สมัยอยุธยาวัดปากง่าม สมุทรสงคราม
พระเจดีย์โบราณสมัยอยุธยา ณ วัดปากง่าม สมุทรสงคราม

          ๗. หอพระไตรปิฎกโบราณปัจจุบันเป็นศาลเจ้าแม่แก่นจันทร์ ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ

          ๘. ต้นสมอพิเภกอายุกว่า ๒๐๐ ปี อยู่หลังอุโบสถ บนต้อนสมอมีต้นกล้วยไม้ข้างกระ ขึ้นเป็นกระจุกขึ้นมากมาย เมื่อถึงฤดูออกดอก จะมีดอกบานสะพรั่งเต็มต้น สัญนิฐานว่านกต่างๆเป็นผู้พามาปลุกไว้

          ปัจจุบันต้นสมอพิเภกได้ตายแล้ว ทางวัดเลยได้สร้างพระยืน สูง ๑๘ เมตร แทนมีนามว่า พระพุทธรัตนมหามงคล (หลวงพ่อยั่งยืน) สร้างโดย พณฯ.บรรหาร ศิลปะอาชา ,นายวิจารย์ พุกพิบูลย์ และผู้มีจิตศรัทธา ด้านรอบฐานพระยืนมีองค์เทพเจ้าแปดเซียน (โป๊ยเซียนโจ้วซือ) เป็นหินออนแกะสลักจากประเทศจีน

พระพุทธรัตนมหามงคล (หลวงพ่อยั่งยืน) วัดปากง่าม สมุทรสงคราม
พระพุทธรัตนมหามงคล (หลวงพ่อยั่งยืน) วัดปากง่าม สมุทรสงคราม

          ลำดับเจ้าอาวาสวัดปากง่าม

          ๑. พระอธิการดำ

          ๒.​ หลวงพ่อทรัพย์

          ๓. หลวงพ่อยนต์ พ.ศ. ๒๔๖๔ - ๒๔๗๖

          ๔. พระครูปลัดผ่อง พ.ศ. ๒๔๗๙ - ๒๔๙๘

          ๕. พระครูสมุทรธรรมนิเทศ (หลวงพ่อเอี้ยง) พ.ศ. ๒๔๙๙ - ๒๕๓๕

          ๖. พระครูมงคลอนุศาสน์ (หลวงพ่อเสือ สุจิณโณ) พ.ศ. ๒๕๓๖ - ๒๕๔๑

          ๗. พระครูสถิตกมลธรรม (หลวงพ่อนะ กมล รวิวณฺโณ)​​  พ.ศ. ๒๕๔๓ - ปัจจุบัน

ภาพถ่ายหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม
หลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม

         วัดปากง่ามมีพระเนื้อดินเก่าที่สร้างมาคู่กับวัด บางตำราว่าสร้างในสมัยพระอธิการดำ เจ้าอาวาสรูปแรกของทางวัด ท่านได้แจกจ่ายให้กับลูกศิษย์ลูกหาในพื้นที่ โดยพระนั้นสร้างโดยจำลององค์หลวงพ่อเกษรพระประธานของวัดมาเป็นแบบในการสร้าง องค์พระแต่ละองค์จะตัดขอบไม่เหมือนกัน

         ทำให้สันนิษฐานได้ว่าแม่พิมพ์คงไม่มีขอบบังคับพิมพ์ เมื่อปั๊มแล้วจึงมาตัดขอบเองอีกครั้งตามรูปของพิมพ์พระทำให้บางองค์มีเส้นซุ้มคู่ บางองค์มีเส้นซุ้มเดี่ยว แล้วค่อยนำไปเผาไฟเพื่อให้เนื้อแกร่งขึ้น

         ญาติโยมที่ได้พระรับไปที่รู้ว่าเป็นพระของวัดปากง่ามต่างก็หวงแหน และตกทอดเป็นมรดกกันในวงศ์ตะกูล ทำให้ไม่ค่อยมีพระออกมาหมุนเวียนเปลี่ยนมือจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และด้วยจำนวนการสร้างที่น้อยทำให้พบเห็นได้ยาก จึงถือเป็นพระหายากที่สุดของแม่กลองอีกพิมพ์หนึ่งเลยทีเดียว

         ด้วยความที่มีผู้รู้เป็นจำนวนน้อยนี้เอง ทำให้สมัยก่อนคนที่ได้รับพระมาจากวัดบางพรม จึงเข้าใจผิดว่าเป็นพระของหลวงพ่อกลัด วัดบางพรม ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพราะพบพระพิมพ์ดังกล่าวทายางไม้ติดไว้บนฝากระดานเพดานโบสถ์วัดบางพรม 

         เมื่อครั้งบูรณะโบสถ์ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๓๗ ในสมัยที่พระครูวิจิตรสมุทรคุณ หรือ หลวงพ่อแป้ว เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งถือเป็นการบูรณะโบสถ์ครั้งแรกหลังจากที่ผ่านเวลามาเนินนานจนทรุดโทรม

โดยพระที่ติดที่แผ่นไม้กระดานนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ และรวมถึงพระหลวงพ่อเกษร วัดปากง่ามนี้อีกด้วย โดยพระที่พบนั้นหลวงพ่อแป้วได้แจกจ่ายให้กับช่างที่มาช่วยรื้อเพดานโบสถ์ และพระลูกวัดที่บวชอยู่ที่วัดนั้นไปพอสมควร ที่เหลือนำไปบรรจุไว้ที่ฐานพระประธานในพระอุโบสถจนหมดสิ้น

โดยผู้ที่ได้รับพระพิมพ์หลวงพ่อเกษรมาในครั้งแรกนั้นก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าเป็นพระของหลวงพ่อกลัด เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดบางพรม จนเมื่อมีผู้ที่มีความรู้เรื่องพระพิมพ์โบราณของเมืองแม่กลองได้ไขคำตอบว่าแท้จริงแล้วพระพิมพ์ดังกล่าวเป็นพระหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม

ที่สร้างไว้ตั้งแต่ครั้งหลวงพ่อดำเป็นเจ้าอาวาส และน่าจะถูกญาติโยมที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานำไปติดที่แผ่นไม้กระดานเพดานโบสถ์ของวัดบางพรมเพื่อเป็นพุทธบูชา ตามหลักความเชื่อของคนโบราณในสมัยนั้น.

ปัจจุบันพระเนื้อดินหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม ถือเป็นพระหายากอันดับต้นๆของแม่กลอง เพราะสร้างน้อย แต่ก็อาจมีหลุดรอดให้เห็นได้บ้างเพราะคนไม่รู้ จึงน่าศึกษาและสะสมเป็นอย่างยิ่ง.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเกษร วัดปากง่า

พระพิมพ์หลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ในสมัยพระอธิการดำเป็นเจ้าอาวาส เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ลักษณะเป็นพระเนื้อดินผสมผงต่างๆ มีการสร้างด้วยเนื้อดินเผาผสมใบลาน และเนื้อดินเผา จัดเป็นพระเก่าหายากอีกพิมพ์หนึ่งของแม่กลอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

พระเนื้อดินหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม 2450 ผงผสมใบลาน
พระพิมพ์หลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ เนื้อผงผสมใบลาน
พระเนื้อดินหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม 2450 ดินเผา
พระพิมพ์หลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ เนื้อดินเผา
พระเนื้อดินหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม 2450 ดินเผา
พระพิมพ์หลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ เนื้อดินเผา
พระเนื้อดินหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม 2450 ผงดินดำ
พระพิมพ์หลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม (องค์ที่ติดไม้เพดานโบสถ์วัดบางพรม) ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ เนื้อดินเผาผสมผงใบลาน ของคุณทินกร กลั่นกลิ่น
พระเนื้อดินหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม 2450 ดินเผาสีดำ
พระพิมพ์หลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ เนื้อดินเผาผสมผงใบลาน ของคุณต๊ะ แม่กลอง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเกษร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัด ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย องค์พระนั่งขัดสมาธิเพชรปรากฏเส้นสังฆาฏิชัดเจน ข้างองค์พระมีเส้นกนก ๒ เส้น (ซุ้มคู่) ที่ท้องปรากฏร่องลึกเป็นเอกลักษณ์

         ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ ขอบองค์พระตัดตอกด้วยมือทำให้แต่ละองค์จะไม่เหมือนกัน

เหรียญจอบหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยหลวงพ่อเอี้ยง เจ้าอาวาสในสมัยนั้น เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญพระพุทธตัดชิดขอบแบบเหรียญจอบแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญจอบหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม 2518 ทองแดง
เหรียญจอบหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเกษร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัด ประทับนั่งปางมารวิชัย องค์พระนั่งขัดสมาธิเพชรปรากฏเส้นสังฆาฏิชัดเจน 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อะกขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดปากง่าม" 

เหรียญพระพุทธหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม หลัง ว.ป.ง

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยหลวงพ่อเอี้ยง เจ้าอาวาสในสมัยนั้น เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญพระพุทธตัดชิด แบ่งเป็น ๒ พิมพ์คือ พิมพ์มีหูเหรียญ และพิมพ์ไม่มีหูเหรียญ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้าเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม หลัง ว.ป.ง. 2518 อัลปาก้า
เหรียญพระพุทธหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม หลัง ว.ป.ง.(มีหู) ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม หลัง ว.ป.ง. 2518 ทองแดง
เหรียญพระพุทธหลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม หลัง ว.ป.ง.(ไม่มีหู) ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อเกษร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัด ประทับนั่งปางมารวิชัย องค์พระนั่งขัดสมาธิเพชรปรากฏเส้นสังฆาฏิชัดเจน 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อะกขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ว.ป.ง." 


ข้อมูล : พระครูปลัดสมภพ โชติวณฺโณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากง่าม

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้