โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อหรุง รุ่งเช้า วัดทุ่งสมอ พระเกจิเก่าของกาญจนบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี
หลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี

         หลวงพ่อหรุง วัดทุ่งสมอ หรือ พระอาจารย์หรุง รุ่งเช้า อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งสมอ ตำบลทุ่งสมอ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ท่านมีนามเดิมว่า ยู่หรุง เซียงฉี่ เป็นคนไทยเชื้อสายจีน พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านห้วยด้วน ตำบลท่าตะคร้อ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี 

         หลวงพ่อหรุง ท่านเกิดเมื่อปีมะโรง เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ โยมบิดาชื่อนายจ้อ เซียงฉี่ มาแต่เมืองจีน โยมมารดาชื่อนางมาก เซี่ยงฉี่ (ลูกคนไทย-จีน) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดี่ยวกัน ๔ คน เป็น ชาย ๒ หญิง ๒

         เมื่อเกิดได้ไม่นานโยมบิดามารดาได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ตำบลนครชุม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พอท่านมีอายุได้ ๕ ขวบ โยมมารดาได้ถึงแก่กรรม โยมบิดาจึงได้ย้ายกลับมาอยู่ที่ตำบลวังขนาย แขวงวังขนาย จังหวัดกาญจนบุรี มีอาชีพทำไร่ยาสูบ

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ท่านมีอายุได้ ๑๒ ปี โยมบิดาได้ถึงแก่กรรม ท่านจึงได้อยู่ในปกครองของพี่ชายคนโต 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ท่านมีอายุได้ ๑๖ ปี พี่ชายได้จัดตั้งโรงเรียนจีนขึ้นที่บ้านนั่นเอง ให้ได้ศึกษาอักษรสมัยตามลัทธิอยู่ ๒ ปี 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี ท่านจึงได้ปรารภว่าจะอุปสมบท แต่ท่านไม่รู้หนังสือไทย ที่ชายที่ ๒ จึงแนะนำให้ไปเรียนหนังสือเสียก่อน ปีหน้าจึงค่อยบวช แล้วจึงนำท่านไปฝากพระครูสิงคิบุรคณาจารย์ วัดเทวสังฆาราม อำเภอเมือง จังวหัดกาญจนบุรี เรียนได้ ๓ เดือนเศษ เป็นฤดูปลูกยา ทางบ้านจึงให้ลากลับไปช่วยงาน

         เมื่ออยู่ที่วัดนั้น ตอนเข้าพรรษา ได้ไหว้พระสวดมนต์และรับศีลทุกคืน ฉนั้นเมื่อกลับไปอยู่บ้านแล้ว ท่านก็ยังคงสวดมนต์ไหว้พระสมาทานศีลโดยลำพังอยู่เสมอ

         ช่วงนั้น มีซินแสคนหนึ่งเป็นคณาจารย์กินเจ ซึ่งสำนักอยู่ไม่ไกลนัก กลางคืนมีโอกาสว่าง จึงไปสนทนากันด้วยธรรมปฏิบัติ จนมีความเลื่อมใส

         หลวงพ่อหรุง ท่านจึงหวลคิดถึงการบวชอีกครั้ง ท่านจึงไปอยู่ที่วัดหัดสังโฆที่วัดโคกออม ในระหว่างเดือน ๕ กับเดือน ๖ ครั้นถึงเดือน ๗ จึงได้บรรพาชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ หลวงพ่อหรุง ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี ท่านจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีโลหะราษฏร์บำรุง ตำบลท่าม่วง แขวงวังขนาย จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันอังคาร แรม ๑๑ ค่ำเดือน ๗ ปีขาล   ตรงกับวันที่ ๑ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้รับฉายาว่า "คงฺคสุวณฺโณ" โดยมี

         พระอธิการวัดรางวาล เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอาจารย์ฉาว วัดศรีโลหะฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์พวง วัดถ้ำมะเกลือ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดเทวสังฆาราม เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและศึกษาวิชากับพระครูสิงคิบุรคณาจารย์ พระอาจารย์คนแรกของท่าน

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลังอุปสมบทได้ ๑ พรรษา ท่านมีความคิดที่จะลาสิกขา แต่เห็นว่าพระเหลือน้อย รู้สึกเกรงใจพระผู้ใหญ่จึงไม่ลา ต่อมามีพระภิกษุชื่อรอด มาจำพรรษาที่วัด ท่านเป็นคนเหนือ 

         พระรอด ท่านเป็นคนเสียงใหญ่ นั่งสวดมนต์ใช้เสียงสูง หลวงพ่อหรุง ท่านก็เลยสวดมนต์ด้วยเสียงสูงบ้าง ประมาณครูหนึ่งขัดข้องในลำคอจึงหยุด ต่อมาไม่กี่วันได้รับนิมนต์ไปสวดมนต์บ้าน จึงรู้สึกว่าเสียงมีปัญหา แล้วก็แห้งลงเรื่อยๆจนเสียงแหบ

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เข้าพรรษาที่ ๒ ท่านจึงเข้าไปขอลาสิกขาบทกับพระอาจารย์ด้วยเหตุที่เสียงแหบ ไม่มีเสียงสวดมนต์ แต่ไม่ได้รับอนุญาติ ก็เลยลาไปนมัสการพระบาที่สระบุรี เมื่อกลับมาแล้วก็อยู่จำพรรษาไม่คิดสึก

         แต่กระนั้นทุกปี ท่านจะถือธุดงค์วัตรไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อศึกษาพระกรรมฐานและวิชาอาคมต่างๆ ทั้งกับพระอาจารย์เภา วัดหนองแห้ว ลพบุรี พระรามัญสมณคุต วัดกวิด เป็นต้น

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ท่านได้กลับไปจำพรรษาที่วัดเหนืออีกครั้ง พอช่วงเข้าพรรษาท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดม่วงชุม พอดีปีนั้นพระครูสิงคิบุรคณาจารย์ได้มรณภาพลง ท่านจึงเดินทางมาเคารพศพเลยอยู่จำพรรษาที่วัดเหนือ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พระอธิการทด วัดท่ามะขามได้ถึงแก่มรณภาพ ชาวบ้านและทายกจึงอารธนาหลวงพ่อหรุงไปเป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ในช่วงที่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่ามะขามนั้น ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญไม้ ๑ หลัง

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ หลังจากที่เป็นเจ้าอาวาสวัดท่ามะขามได้ ๓ ปี ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส แล้วธุดงค์ไปนมัสการพระธาตุสิงคุดร ที่จังหวัดระนอง และไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ บนเกาะสอง ประเทศพม่า

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านจึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดเหนืออีกครั้ง ช่วงที่มานั้นเป็นเดือนเมษายน

          ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระปลัดหรุง ได้เป็นฐานนุกรมของพระครูอดุลย์สมณกิจ วัดเทวสังฆาราม 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ท่านได้ย้ายจำพรรษาที่วัดป่าเลไลย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านจึงได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดท่ามะขามอีกครั้ง อยู่จำพรรษาได้ ๑ พรรษา ท่านทำฝาลูกกรงที่ศาลาเสร็จแล้วก็ลาออก 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านปลัดทา วัดทุ่งสมอ มรณภาพลง ท่านพระครูอดุลยสมณกิจ จึงนิมนต์หลวงพ่อหรุงให้ไปงานศพ เมื่อเดือน ๔ แรม ๑ ค่ำ กว่าจะเสร็จงานก็ย่างเข้าเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗

         เมื่อสิ้นงานศพแล้ว ท่านพระครูวัตตสารกับพระครูอดุลยสมณกิจ พร้อมด้วยทายกได้จัดตั้งให้หลวงพ่อหรุง เป็นสมภาร ทั้งรั้งตำแหน่งเจ้าคณะหมวด 

หลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี
หลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี

         วัดทุ่งสมอ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลทุ่งสมอ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

         สันนิษฐานว่าวัดทุ่งสมอสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพบการนำเครื่องถ้วยมาประดับที่ส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมดังเช่นที่ วิหารวัดน้อย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี อุโบสถวัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น

          อย่างไรก็ดีข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

          ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัด ได้แก่ พระโพธิสัตว์กวนอิมองค์ใหญ่ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่อันเป็นพระประธานของอุโบสถ หลวงพ่อเทพมงคลในพระอุโบสถ โบราณสถานภายในวัดทุ่งสมอประกอบด้วย เจดีย์ ๓ องค์ และสระน้ำ ๑ สระ  วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐

         หลังจากที่หลวงพ่อหรุงได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านได้สร้างกุฏิหลังใหญ่ มุงกระเบื้องซีเมนต์ ทรงปั้นหยา มีมุขด้านหน้า ๑ มุข โดยกุฏิหลังนี้เสารื้อถอนมาจากหอฉันหลังเก่า ส่วนกระดานขนมาจากวัดเทวสังฆาคาม 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ สร้างกุฏิไม้แบบเรือนไทย มุงกระเบื้องดินเผา กุฏิหลังนี้รื้อถอนหอสวดมนต์เก่า มาก่อสร้างดัดแปลงขึ้นใหม่

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สร้างกุฏิไม้แบบเดียวกับที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ อีก ๑ หลัง

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ สร้างกุฏิไม้แบบเดียวกับที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ อีก ๒ หลัง แต่หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ และสร้างเว็จกุฏิแบบใหม่ (ส้วมซึม) ๑ หลัง ๖ ห้อง ผนังถือปูนมุงกระเบื้องซีเมนต์ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าคณะหมวดทุ่งสมอ ตั้งโดยพระวิสุทธิรังษี วัดชัยชุมพลชนะสงคราม ด้วยตราตั้งลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ และท่านได้สร้างกุฏิไม้ ๔ ห้อง มุงกระเบื้องซีเมนต์ ๑ หลัง

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ สร้างกูฏิไม้ ๔ ห้อง มุงกระเบื้องซีเมนต์ ๑ หลัง แบบเดี่ยวกับที่สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ และในปีนี้ได้สร้างศาลาหลังคามุงสังกะสี สำหรับเป็นที่พักคนเดินทางที่ห้วยชักพระ (ทางทุ่งสมอไปหนองกุ่ม) ๑ หลัง

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ สร้างถังน้ำคอนกรีตสำหรับเก็บน้ำฝน ๒ ถัง

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยพระธรรมปิฏก วัดเชตุพลฯ เจ้าคณะมณฑลราชบุรี ด้วยตราตั้งเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ และท่านได้สร้างบันไดคอนกรีตคู่ ๒ ข้าง รวมทั้งมุงกุฏิใหม่ (หลังที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗) 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงบ้านทวน โดยพระธรรมปิฏก วัดเชตุพลฯ เจ้าคณะมณฑลราชบุรี ด้วยตราตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รับนิตยภัตต์ราคาเดือนละ ๖ บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ นั้นเป็นต้นไป

         หลวงพ่อหรุง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคปอดชื้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ เวลา ๑๒.๐๙ น. นับรวมสิริอายุได้ ๕๗ ปี ๓๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อหรุง วัดทุ่งสมอ

         ภาพถ่ายที่ระลึกงานศพหลวงพ่อหรุง วัดทุ่งสมอ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เพื่อแจกในงานศพของหลวงพ่อที่จัดเมื่อวันที่ ๕ - ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ลักษณะเป็นภาพถ่ายขนาดบูชามีกรอบสำหรับแขวนรูป จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ภาพถ่ายแจกงานศพหลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี 2482-เดิม
ภาพถ่ายแจกงานศพหลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๘๒

         ด้านหน้า เป็นภาพถ่ายหลวงพ่อหรุงขนาดเท่าโปสการ์ดทั่วไป องค์หลวงพ่อหันข้างห่มคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานศพ พระอุป้ชฌาย์หรุง รุ่งเช้า อายุ ๕๗ ปี ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒" 

         ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         ภาพถ่ายที่ระลึกงายศพหลวงพ่อหรุง วัดทุ่งสมอ (เปิดโลง)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เพื่อแจกในงานศพของหลวงพ่อที่จัดเมื่อวันที่ ๕ - ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ลักษณะเป็นภาพถ่ายขนาดบูชามีกรอบสำหรับแขวนรูป จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ภาพถ่ายแจกงานศพหลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี 2482
ภาพถ่ายแจกงานศพหลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๘๒

         ด้านหน้า เป็นภาพถ่ายสรีระเมื่อเปิดโลงศพหลวงพ่อหรุง ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานศพพระอุปัชฌาย์หรุง รุ่งเช้า อายุ ๕๗ ปี เจ้าอธิการวัดทุ่งสมอ เจ้าคณะแขวงบ้านทวน จังหวัดกาญจนบุรี ในวันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีเถาะ ตรวงกับวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒" 

         ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         เหรียญหลวงพ่อหรุง วัดทุ่งสมอ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยหลวงพ่อเบี่ยงเจ้าอาวาสในสมัยนั้น เพื่อแจกให้กับผู็ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบไม่มีหู มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น  จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี รุ่นแรก 2533 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นภาพถ่ายหลวงพ่อหรุงนั่งสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ องค์หลวงพ่อหันข้างห่มลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหรุง รุ่น ๑" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "เสาร์ ๕.๒๕๓๓ วัดทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี" 


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้