หลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี |
หลวงพ่อหรุง วัดทุ่งสมอ หรือ พระอาจารย์หรุง รุ่งเช้า อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งสมอ ตำบลทุ่งสมอ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ท่านมีนามเดิมว่า ยู่หรุง เซียงฉี่ เป็นคนไทยเชื้อสายจีน พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านห้วยด้วน ตำบลท่าตะคร้อ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี
หลวงพ่อหรุง ท่านเกิดเมื่อปีมะโรง เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ โยมบิดาชื่อนายจ้อ เซียงฉี่ มาแต่เมืองจีน โยมมารดาชื่อนางมาก เซี่ยงฉี่ (ลูกคนไทย-จีน) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดี่ยวกัน ๔ คน เป็น ชาย ๒ หญิง ๒
เมื่อเกิดได้ไม่นานโยมบิดามารดาได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ตำบลนครชุม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พอท่านมีอายุได้ ๕ ขวบ โยมมารดาได้ถึงแก่กรรม โยมบิดาจึงได้ย้ายกลับมาอยู่ที่ตำบลวังขนาย แขวงวังขนาย จังหวัดกาญจนบุรี มีอาชีพทำไร่ยาสูบ
ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ท่านมีอายุได้ ๑๒ ปี โยมบิดาได้ถึงแก่กรรม ท่านจึงได้อยู่ในปกครองของพี่ชายคนโต
ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ท่านมีอายุได้ ๑๖ ปี พี่ชายได้จัดตั้งโรงเรียนจีนขึ้นที่บ้านนั่นเอง ให้ได้ศึกษาอักษรสมัยตามลัทธิอยู่ ๒ ปี
ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี ท่านจึงได้ปรารภว่าจะอุปสมบท แต่ท่านไม่รู้หนังสือไทย ที่ชายที่ ๒ จึงแนะนำให้ไปเรียนหนังสือเสียก่อน ปีหน้าจึงค่อยบวช แล้วจึงนำท่านไปฝากพระครูสิงคิบุรคณาจารย์ วัดเทวสังฆาราม อำเภอเมือง จังวหัดกาญจนบุรี เรียนได้ ๓ เดือนเศษ เป็นฤดูปลูกยา ทางบ้านจึงให้ลากลับไปช่วยงาน
เมื่ออยู่ที่วัดนั้น ตอนเข้าพรรษา ได้ไหว้พระสวดมนต์และรับศีลทุกคืน ฉนั้นเมื่อกลับไปอยู่บ้านแล้ว ท่านก็ยังคงสวดมนต์ไหว้พระสมาทานศีลโดยลำพังอยู่เสมอ
ช่วงนั้น มีซินแสคนหนึ่งเป็นคณาจารย์กินเจ ซึ่งสำนักอยู่ไม่ไกลนัก กลางคืนมีโอกาสว่าง จึงไปสนทนากันด้วยธรรมปฏิบัติ จนมีความเลื่อมใส
หลวงพ่อหรุง ท่านจึงหวลคิดถึงการบวชอีกครั้ง ท่านจึงไปอยู่ที่วัดหัดสังโฆที่วัดโคกออม ในระหว่างเดือน ๕ กับเดือน ๖ ครั้นถึงเดือน ๗ จึงได้บรรพาชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕
ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ หลวงพ่อหรุง ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี ท่านจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีโลหะราษฏร์บำรุง ตำบลท่าม่วง แขวงวังขนาย จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันอังคาร แรม ๑๑ ค่ำเดือน ๗ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้รับฉายาว่า "คงฺคสุวณฺโณ" โดยมี
พระอธิการวัดรางวาล เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์ฉาว วัดศรีโลหะฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์พวง วัดถ้ำมะเกลือ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดเทวสังฆาราม เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและศึกษาวิชากับพระครูสิงคิบุรคณาจารย์ พระอาจารย์คนแรกของท่าน
ปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลังอุปสมบทได้ ๑ พรรษา ท่านมีความคิดที่จะลาสิกขา แต่เห็นว่าพระเหลือน้อย รู้สึกเกรงใจพระผู้ใหญ่จึงไม่ลา ต่อมามีพระภิกษุชื่อรอด มาจำพรรษาที่วัด ท่านเป็นคนเหนือ
พระรอด ท่านเป็นคนเสียงใหญ่ นั่งสวดมนต์ใช้เสียงสูง หลวงพ่อหรุง ท่านก็เลยสวดมนต์ด้วยเสียงสูงบ้าง ประมาณครูหนึ่งขัดข้องในลำคอจึงหยุด ต่อมาไม่กี่วันได้รับนิมนต์ไปสวดมนต์บ้าน จึงรู้สึกว่าเสียงมีปัญหา แล้วก็แห้งลงเรื่อยๆจนเสียงแหบ
ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เข้าพรรษาที่ ๒ ท่านจึงเข้าไปขอลาสิกขาบทกับพระอาจารย์ด้วยเหตุที่เสียงแหบ ไม่มีเสียงสวดมนต์ แต่ไม่ได้รับอนุญาติ ก็เลยลาไปนมัสการพระบาที่สระบุรี เมื่อกลับมาแล้วก็อยู่จำพรรษาไม่คิดสึก
แต่กระนั้นทุกปี ท่านจะถือธุดงค์วัตรไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อศึกษาพระกรรมฐานและวิชาอาคมต่างๆ ทั้งกับพระอาจารย์เภา วัดหนองแห้ว ลพบุรี พระรามัญสมณคุต วัดกวิด เป็นต้น
ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ท่านได้กลับไปจำพรรษาที่วัดเหนืออีกครั้ง พอช่วงเข้าพรรษาท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดม่วงชุม พอดีปีนั้นพระครูสิงคิบุรคณาจารย์ได้มรณภาพลง ท่านจึงเดินทางมาเคารพศพเลยอยู่จำพรรษาที่วัดเหนือ
ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พระอธิการทด วัดท่ามะขามได้ถึงแก่มรณภาพ ชาวบ้านและทายกจึงอารธนาหลวงพ่อหรุงไปเป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ในช่วงที่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่ามะขามนั้น ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญไม้ ๑ หลัง
ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ หลังจากที่เป็นเจ้าอาวาสวัดท่ามะขามได้ ๓ ปี ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส แล้วธุดงค์ไปนมัสการพระธาตุสิงคุดร ที่จังหวัดระนอง และไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ บนเกาะสอง ประเทศพม่า
ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านจึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดเหนืออีกครั้ง ช่วงที่มานั้นเป็นเดือนเมษายน
ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระปลัดหรุง ได้เป็นฐานนุกรมของพระครูอดุลย์สมณกิจ วัดเทวสังฆาราม
ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ท่านได้ย้ายจำพรรษาที่วัดป่าเลไลย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านจึงได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดท่ามะขามอีกครั้ง อยู่จำพรรษาได้ ๑ พรรษา ท่านทำฝาลูกกรงที่ศาลาเสร็จแล้วก็ลาออก
ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านปลัดทา วัดทุ่งสมอ มรณภาพลง ท่านพระครูอดุลยสมณกิจ จึงนิมนต์หลวงพ่อหรุงให้ไปงานศพ เมื่อเดือน ๔ แรม ๑ ค่ำ กว่าจะเสร็จงานก็ย่างเข้าเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗
เมื่อสิ้นงานศพแล้ว ท่านพระครูวัตตสารกับพระครูอดุลยสมณกิจ พร้อมด้วยทายกได้จัดตั้งให้หลวงพ่อหรุง เป็นสมภาร ทั้งรั้งตำแหน่งเจ้าคณะหมวด
หลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี |
วัดทุ่งสมอ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลทุ่งสมอ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
สันนิษฐานว่าวัดทุ่งสมอสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพบการนำเครื่องถ้วยมาประดับที่ส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมดังเช่นที่ วิหารวัดน้อย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี อุโบสถวัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น
อย่างไรก็ดีข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัด ได้แก่ พระโพธิสัตว์กวนอิมองค์ใหญ่ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่อันเป็นพระประธานของอุโบสถ หลวงพ่อเทพมงคลในพระอุโบสถ โบราณสถานภายในวัดทุ่งสมอประกอบด้วย เจดีย์ ๓ องค์ และสระน้ำ ๑ สระ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐
หลังจากที่หลวงพ่อหรุงได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านได้สร้างกุฏิหลังใหญ่ มุงกระเบื้องซีเมนต์ ทรงปั้นหยา มีมุขด้านหน้า ๑ มุข โดยกุฏิหลังนี้เสารื้อถอนมาจากหอฉันหลังเก่า ส่วนกระดานขนมาจากวัดเทวสังฆาคาม
ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ สร้างกุฏิไม้แบบเรือนไทย มุงกระเบื้องดินเผา กุฏิหลังนี้รื้อถอนหอสวดมนต์เก่า มาก่อสร้างดัดแปลงขึ้นใหม่
ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สร้างกุฏิไม้แบบเดียวกับที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ อีก ๑ หลัง
ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ สร้างกุฏิไม้แบบเดียวกับที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ อีก ๒ หลัง แต่หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ และสร้างเว็จกุฏิแบบใหม่ (ส้วมซึม) ๑ หลัง ๖ ห้อง ผนังถือปูนมุงกระเบื้องซีเมนต์
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าคณะหมวดทุ่งสมอ ตั้งโดยพระวิสุทธิรังษี วัดชัยชุมพลชนะสงคราม ด้วยตราตั้งลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ และท่านได้สร้างกุฏิไม้ ๔ ห้อง มุงกระเบื้องซีเมนต์ ๑ หลัง
ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ สร้างกูฏิไม้ ๔ ห้อง มุงกระเบื้องซีเมนต์ ๑ หลัง แบบเดี่ยวกับที่สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ และในปีนี้ได้สร้างศาลาหลังคามุงสังกะสี สำหรับเป็นที่พักคนเดินทางที่ห้วยชักพระ (ทางทุ่งสมอไปหนองกุ่ม) ๑ หลัง
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ สร้างถังน้ำคอนกรีตสำหรับเก็บน้ำฝน ๒ ถัง
ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยพระธรรมปิฏก วัดเชตุพลฯ เจ้าคณะมณฑลราชบุรี ด้วยตราตั้งเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ และท่านได้สร้างบันไดคอนกรีตคู่ ๒ ข้าง รวมทั้งมุงกุฏิใหม่ (หลังที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗)
ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงบ้านทวน โดยพระธรรมปิฏก วัดเชตุพลฯ เจ้าคณะมณฑลราชบุรี ด้วยตราตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รับนิตยภัตต์ราคาเดือนละ ๖ บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ นั้นเป็นต้นไป
หลวงพ่อหรุง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคปอดชื้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ เวลา ๑๒.๐๙ น. นับรวมสิริอายุได้ ๕๗ ปี ๓๕ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อหรุง วัดทุ่งสมอ
ภาพถ่ายที่ระลึกงานศพหลวงพ่อหรุง วัดทุ่งสมอ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เพื่อแจกในงานศพของหลวงพ่อที่จัดเมื่อวันที่ ๕ - ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ลักษณะเป็นภาพถ่ายขนาดบูชามีกรอบสำหรับแขวนรูป จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ภาพถ่ายแจกงานศพหลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ |
ด้านหน้า เป็นภาพถ่ายหลวงพ่อหรุงขนาดเท่าโปสการ์ดทั่วไป องค์หลวงพ่อหันข้างห่มคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานศพ พระอุป้ชฌาย์หรุง รุ่งเช้า อายุ ๕๗ ปี ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒"
ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ
ภาพถ่ายที่ระลึกงายศพหลวงพ่อหรุง วัดทุ่งสมอ (เปิดโลง)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เพื่อแจกในงานศพของหลวงพ่อที่จัดเมื่อวันที่ ๕ - ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ลักษณะเป็นภาพถ่ายขนาดบูชามีกรอบสำหรับแขวนรูป จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ภาพถ่ายแจกงานศพหลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ |
ด้านหน้า เป็นภาพถ่ายสรีระเมื่อเปิดโลงศพหลวงพ่อหรุง ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานศพพระอุปัชฌาย์หรุง รุ่งเช้า อายุ ๕๗ ปี เจ้าอธิการวัดทุ่งสมอ เจ้าคณะแขวงบ้านทวน จังหวัดกาญจนบุรี ในวันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีเถาะ ตรวงกับวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒"
ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ
เหรียญหลวงพ่อหรุง วัดทุ่งสมอ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยหลวงพ่อเบี่ยงเจ้าอาวาสในสมัยนั้น เพื่อแจกให้กับผู็ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบไม่มีหู มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อหรุ่ง วัดทุ่งสมอ กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นภาพถ่ายหลวงพ่อหรุงนั่งสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ องค์หลวงพ่อหันข้างห่มลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหรุง รุ่น ๑"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "เสาร์ ๕.๒๕๓๓ วัดทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี"
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น