หลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี |
หลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง หรือ พระครูโสภณกิตติคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านฆ้อง ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ท่านนามเดิมชื่อ ยศ จันทร์ทอง พื้นเพเป็นชาวบ้านตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดา เมื่อเจริญวัยในวัยเด็ก บิดาได้นำไปฝากเรียนหนังสืออยู่ที่วัดบ้านฆ้อง กับพระอาจารย์สด เจ้าอาวาสในสมัยนั้น เพื่อศึกษาเล่าเรียนหนังสือ
หลวงพ่อยศ ท่านเป็นเด็กที่เรียนเก่งมีปัญญาดีมาก อยู่วัดได้ไม่นานก็สามารถอ่านออกเขียนได้ และสามารถสวดมนต์ไหว้พระท่องบทได้อย่างคล่องแคล่ว
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านมีอายุย่างเข้า ๒๐ ปีเจริญวัยใกล้บวชได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยมีหลวงปู่กล่อม วัดดีบอน เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ เมื่อเป็นสามเณรก็ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดบ้านฆ้องตลอด
ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ หลวงพ่อยศ ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี มีอายุครบบวช จึงเข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบ้านฆ้อง ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้รับฉายาว่า "กิตฺติโสภโณ" โดยมี
หลวงปู่กล่อม วัดดีบอน เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูอินทวุฒาจารย์ (หลวงพ่อเอาะ) วัดม่วง สิงห์บุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูพิพิธธรรมาภิรม (หลวงปู่ย่น) วัดบ้านฆ้อง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดดีบอน เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและภาษาบาลี เป็นระยะเวลา ๑ พรรษา โดยช่วยดูแลปฏิบัติพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และช่วยในการก่อสร้างวัด
ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พรรษาที่ ๒ ชาวบ้านญาติโยม ก็นิมนต์หลวงพ่อให้ไปจำวัดอยู่กับพระอาจารย์เอาะ พระกรรมวาจาจารย์ของท่านที่วัดม่วง จังหวัดสิงห์บุรี
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังออกพรรษาแล้ว ท่านจึงได้ย้ายกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านฆ้องตามเดิม และได้ช่วยอาจารย์ย่น พัฒนาและสร้างปฏิสังขรณ์ศาสนถานต่างๆ และได้มีความสนใจในการศึกษาเล่าเรียนอีกด้วย
ในช่วงนี้เอง ท่านได้ศึกษาวิชาภาษาขอมโบราณ วิชาโหราศาสตร์และลงอักขระเลขยันต์ต่างๆได้จากตำราของอาจารย์วัดบ้านฆ้องอีกทั้งวิชาสะเดาะเคราะห์ต่างๆ
นอกจากหลวงพ่อยศ ท่านจะเล่าเรียนวิชาทางไสยศาสตร์แล้ว ท่านยังได้เรียนปริยัติธรรมควบคู่กันไปด้วย จนสามารถสอบได้นักธรรมโท ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗
ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ พระครูพิพิธธรรมาภิรม (หลวงปู่ย่น) วัดอาวาสวัดบ้านฆ้องได้มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อยศขึ้นเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดบ้านฆ้อง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๘๖ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ ๓๑ ไร่ ๑ งาน ๘๑ ตารางวา
วัดบ้านฆ้อง เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เดิมเป็นสำนักสงฆ์ ต่อมาได้ขอจัดตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมือปี พ.ศ.๒๕๐๙ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ มีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้
๑. พระอาจารย์มะนาวเชี่ยว เป็นชื่อผู้ตั้งวัดบ้านฆ้องใหญ่
๒. พระอาจารย์ปทุมมา
๓. พระอาจารย์แจ้ง
๔. พระอาจารย์สด
๕. พระอาจารย์ดำ
๖. พระอาจารย์หริ่ว
๗. พระอาจารย์พั่ว
๘. พระอาจารย์ปัด
๙. พระอธิการหลน
๑๐. พระอธิการชื่น
๑๑. เจ้าอธิการย่น ฐิตฺปญฺโญ (พระครูพิพิธธรรมาภิรมย์)
๑๒. พระอธิการยศ กิตฺติโสภโณ (พระครูโสภณกิตฺติคุณ)
๑๓. พระครูโสภณกิตฺติคุณ (ด้วง สวาคโต)
หลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี |
หลังจากที่หลวงพ่อยศได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านฆ้อง
ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน ที่ "พระครูยศ กิตฺติโสภโณ"
ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี ที่ "พระครูโสภณกิตติคุณ"
ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโท ในราชทินนามเดิม
ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ท่านได้ก่อสร้างพระอุโบสถขึ้น ๑ หลัง เนื่องจากอุโบสทหลังเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก หลวงพ่อจึงทำการรื้อเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ตรงกับวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔
ครั้นรื้อเสร็จหลวงพ่อยศก็เริ่มลงมือสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นทันที โดยสร้างที่เดิมแต่ขยายให้ใหญ่และกว้างกว่าเดิม ชาวบ้านและพระสงฆ์ที่วัดได้ช่วยหลวงพ่อสร้างโบสถ์
บางครั้งบางวันหลวงพ่อก็ระดมชาวบ้านทำทั้งกลางวันกลางคืน หลวงพ่อติดไฟให้สว่างทั่ววัด ติดเครื่องขยายเสียงประกาศโฆษณาให้ชาวบ้านมาช่วยสร้างโบสถ์ ปรากฏว่าชาวบ้านในตำบลและต่างตำบลมาร่วมสร้างกันเป็นร้อยๆคน
ในขณะเริ่มสร้างพระอุโบสถหลวงพ่อก็มีร่างกายแข็งแรง สุขภาพสมบูรณ์ดี ไม่มีร่องรอยว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อสร้างอุโบสถได้ประมาณ ๖ - ๗ เดือน หลวงพ่อก็เริ่มเจ็ปป่วยบ้างเล็กๆน้อยๆ
แต่เมื่อมีเวลาว่างก็จะช่วยลงไปสร้างโบสถ์อยู่ตลอด พอย่างเข้าเดือน ๘ หลวงพ่อท่านตรากตรำกรำแดดมากจึงทำให้ป่วยลง
คณะศิษยานุศิษย์เห็นว่าหลวงพ่อป่วยจึงได้นิมนต์ท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลดำเนินสะดวก เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ช่วงแรกๆหลวงพ่อมีอาการดีขึ้น มีศิษยานุศิษย์ไปเยี่ยมหลวงพ่อทุกวัน มาระยะหลังๆหลวงพ่อมีอาการไม่ดีขึ้น
ทางคณะกรรมการวัดและลูกศิษย์จึงได้ตกลงว่าให้หลวงพ่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ในสัปดาห์แรกอาการหลวงพ่อก็ดีขึ้นปกติ ในสัปดาห์ที่ ๒ อาการของหลวงพ่อทรุดลงหนัก
หลวงพ่อยศปกครองวัดเรือยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕ เวลา ๐๗.๐๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๓ ปี ๕๑ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง
เหรียญพญาเต่าเรือนหลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อแจกให้แก่ลูกศิษย์ญาติโยมที่มาวัด และแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ร่วมทำบุญสร้างอาคารโรงเรียน (ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดบ้านฆ้อง) ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเต่าแบบมีหูในตัว โดยใช้บล็อกด้านหน้าของเหรียญเต่ารุ่น ๔ หลวงพ่อย่นมาปั๊ม พื้นจึงมีกลาก มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง มีแบบเนื้อทองเหลืองกะหลั่ยทอง ทองเหลืองกะหลั่ยเงิน ทองเหลืองชุบทองแดง และทองแดงผิวไฟ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญพญาเต่าเรือนหลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองเหลือง |
เหรียญพญาเต่าเรือนหลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองแดง |
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ "นะ มะ พะ ทะ" ตรงกลางมียันต์ "อุ" และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้องใหญ่"
เหรียญหลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อแจกให้แก่ลูกศิษย์ญาติโยมที่มาวัด และแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ร่วมทำบุญสร้างอาคารโรงเรียน (ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดบ้านฆ้อง) ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้ออัลปาก้า |
เหรียญหลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อยศครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักษรไทยเขียนว่า "หลวงพ่อพระครูยศ"
ด้านหลัง มัอักขระยันต์ ใต้มีอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบ้านฆ้องใหญ่ พ.ศ. ๒๕๑๔"
เหรียญหลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้ออัลปาก้า |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อยศครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูโสภณกิติคุณ"
ด้านหลัง มัอักขระยันต์ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์ วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี พ.ศ. ๒๕๑๗"
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยพนักงาน กฟผ. สร้างถวายหลวงพ่อ เพื่อแจกให้แก่ลูกศิษย์ญาติโยมที่มาวัด และแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเต่าหล่อเหวี่ยง (ฉีดโลหะ) ขนาดเล็ก มวลสารของเต่ารุ่นนี้ มีตะกรุดแผ่นยันต์ที่หลวงพ่อยศท่านจารมอบให้ และตะกรุดโทนและตะกรุดชุด ๙ ดอกของหลวงปู่อินทร์ วัดโบสถ์ มีการสร้างด้วยเนื้อทองผสมแก่เหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๑๙๙ ตัว
เต่าหล่อหลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองเหลือง ของคุณเค บ้านฆ้อง |
เต่าหล่อหลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองเหลือง ของคุณเค บ้านฆ้อง |
ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิ ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิ ประทับบนฐานบัว
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ "นะ มะ พะ ทะ" ตรงกลางมียันต์ "อุ" และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อยศ วัดบ้านฆ้องใหญ่" และตอกโค้ตที่คอเต่า
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น