โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่อ่อน วัดตึกหิรัญราษฎร์ ราชบุรี

ภาพถ่ายหลวงปู่เคลือบ วัดตึก ราชบุรี
หลวงปู่อ่อน วัดตึกหิรัญราษฎร์ ราชบุรี

         หลวงปู่อ่อน วัดตึก หรือ พระอธิการอ่อน อดีตเจ้าอาวาสวัดตึกหิรัญราษฎร์ ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

         หลวงปู่อ่อน ท่านเกิดเมืีอปี พ.ศ. ๒๓๙๐ แต่ไม่ปรากฏว่าอุปสมบทเมื่อปีใด ทราบเพียงว่าที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสมถะ ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า ""อินทสุวณฺโณ" โดยไม่ปรากฏชื่อพระอุปัชฌาย์

         หลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดสมถะ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาต่างๆ จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย เป็นที่นับถือของชาวบ้านในพื้นที่เป็นอันมาก

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ชาวบ้านเจ็ดเสมียนได้ทำการสร้างวัดขึ้นชื่อว่าวัดตึกหิรัญราษฎร์ เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วจึงได้เดินทางไปนิมนต์หลวงปู่อ่อนมาจากวัดสมถะ เพื่อให้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดตึกฯ

         วัดตึกหิรัญราษฎร์ เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่ที่ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เดิมทีวัดแห่งนี้เป็นสถานปฏิบัติธรรม 

         วัดตึกหิรัญราษฎร์ เดิมชื่อวัดหิรัญราษฎร์ ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ชาวบ้านในพื้นที่เรียกกันสั้นๆว่าวัดตึก ที่ตั้งวัดเดิมเป็นที่ดินของพระยาวงษาภูษิต เป็นวังเก่าปลูกสร้างเป็นตึกสวยงาม

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเสด็จมาประพาสไทรโยค เคยมาประทับที่ตึกหลังนี้ด้วย ภายหลังพระยาวงษาภูษิต ได้ย้ายเข้าไปอยู่ที่ตัวเมืองราชบุรี 

         ชาวบ้านจึงไปขอที่ดินและตึกวังเก่าแห่งนี้ เพื่อสร้างเป็นวัด ตั้งชื่อว่า วัดหิรัญราษฎร์ ซึ่งหิรัญ แปลว่า เงิน และราษฎร์ คือราษฎร มีความหมายว่าเอาเงินราษฎรมาทำเป็นวัด จึงตั้งเป็นชื่อว่า วัดตึกหิรัญราษฎร์ วัดได้รับวิสุงคามสีมา พ.ศ. ๒๔๗๑ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้

         ๑. พระปลัดอ่อน อินทสุวรรณโณ พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๗๔

         ๒. พระอธิการเฉื่อย ปิ่นฉ่ำ พ.ศ. ๒๔๗๔ - ๒๔๘๐

         ๓. พระอธิการป่วน (ลาสิกขา)​

         ๔. พระอธิการถวิล โตพฤกษา (ลาสิกขา)​

         ๕. พระอธิการพล ธมฺทินโณ (ลาสิกขา)​ พ.ศ. ๒๔๙๔ - ๒๕๑๐

         ๖. พระอธิการเหลือบ วรธมฺโม พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๓๒

         ๗. พระอธิการวันชัย ปริสุทโธ พ.ศ. ๒๕๓๓ - ๒๕๓๘

         ๘. พระอธิการยงยุทธ สํวโร พ.ศ. ๒๕๓๙ - ปัจจุบัน

ภาพถ่ายหลวงพ่อเหลือบ วัดตึก ราชบุรี ครึ่งองค์
หลวงพ่อเหลือบ วัดตึกหิรัญราษฎร์ ราชบุรี ผู้สร้างเหรียญหลวงปู่อ่อน วัดตึกฯ

         หลังจากหลวงปู่อ่อนได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดตึกแล้ว ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด และสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดฐานานุกรมของหลวงปู่แดง วัดบางโตนด เจ้าคณะมณฑลราชบุรี ท่านไปอุปสมบทให้กับบุตรหลานในพื้นที่ตำบลเจ็ดเสมียนและพื้นที่ใกล้เคียงเมื่อใด ท่านจะนิมนต์หลวงปู่อ่อนไปเป็นพระกรรมวาจาจารย์ด้วยเสมอ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลวงปู่อ่อน ท่านได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในคราวอุปสมบทให้กับหลวงพ่อเหลือบ วัดตึก และได้สั่งสอนวิชาอาคมให้กับหลวงพ่อเหลือบ จนหลวงพ่อเหลือบศรัทธาในตัวหลวงปู่อ่อนเป็นอย่างมาก

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงปู่อ่อน ท่านได้สร้างพระอุโบสถ และได้จัดงานวิสุงคามสีมา เพื่อให้วัดตึกฯ มีสถานที่สำหรับประกอบพิธีอุปสมบทและเป็นวัดได้อย่างสมบูรณ์

         หลวงปู่อ่อนปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ นับรวมสิริอายุได้ ๘๔ ปี ทางวัดจึงแต่งตั้งหลวงพ่อพล ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบแทน

วัตถุมงคลของหลวงปู่อ่อน วัดตึก

         เหรียญหลวงปู่อ่อน วัดตึก รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ในสมัยที่หลวงพ่อเหลือบยังเป็นพระลูกวัด เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่อ่อน วัดตึก ราชบุรี รุ่นแรก 2504 อัลปาก้า
เหรียญหลวงปู่อ่อน วัดตึก ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงปู่อ่อน วัดตึก ราชบุรี รุ่นแรก 2504 อัลปาก้าออกเหลือง
เหรียญหลวงปู่อ่อน วัดตึก ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื้ออัลปาก้า (ออกเหลือง)

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่อ่อนครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระไทยเขียนว่า "หลวงปู่อ่อน อินทสุวณฺโณ วัดตึก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี" 

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันพระเจ้าห้าพระองค์มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะโมพุทธายะ นะมะพะมะ มะอะอุ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๔"

         เหรียญหลวงปู่อ่อน วัดตึก รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ในสมัยที่หลวงพ่อเหลือบยังเป็นพระลูกวัด เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว โดยใช้บล็อกหน้าของเหรียญรุ่นแรกมาปั๊มใหม่แต่แกะบล็อกด้านหลังใหม่ มีการสร้างด้วยเนื้อตะกั่วเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่อ่อน วัดตึก ราชบุรี รุ่น2 2507 ตะกั่ว
เหรียญหลวงปู่อ่อน วัดตึก ราชบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อตะกั่ว

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่อ่อนครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระไทยเขียนว่า "หลวงปู่อ่อน อินทสุวณฺโณ วัดตึก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี" 

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันพระเจ้าห้าพระองค์มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะโมพุทธายะ นะมะพะมะ มะอะอุ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๗"

         เหรียญกลมหลวงปู่อ่อน วัดตึก รุ่นสาม

         สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ในสมัยที่หลวงพ่อเหลือบยังเป็นพระลูกวัด เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มวงกลมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญกลมหลวงปู่อ่อน วัดตึก ราชบุรี รุ่นแรก 2504 อัลปาก้า
เหรียญกลมหลวงปู่อ่อน วัดตึก ราชบุรี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื้ออัลปาก้า

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่อ่อนครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระยันต์ ขอบเหรียญด้านล่างมีอักขระไทยเขียนว่า "หลวงปู่อ่อน วัดตึก" 

          ด้านหลัง เรียบ ในบางเหรียญมีจาร

         เหรียญหลวงปู่อ่อน วัดตึก รุ่นเต็มองค์

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ในสมัยที่หลวงพ่อเหลือบเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่อ่อน วัดตึก ราชบุรี รุ่นเต็มองค์ 2515 ทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงปู่อ่อน วัดตึก ราชบุรี รุ่นเต็มองค์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อทองแดงรมดำ

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่อ่อนนั่งสมาธิเต็มครึ่ง องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระไทยเขียนว่า "หลวงปู่อ่อน วัดตึก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี" 

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันพระเจ้าห้าพระองค์มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะโมพุทธายะ นะมะพะมะ มะอะอุ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๑๕"


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้