ประวัติและวัตถุมงคลพระครูห่วง วัดดอนเจดีย์ กาญจนบุรี ศิษย์หลวงปู่ดี วัดเหนือ
หลวงพ่อห่วง วัดดอนเจดีย์ กาญจนบุรี |
หลวงพ่อห่วง วัดดอนเจดีย์ หรือ พระครูห่วง อีดตเจ้าอาวาสวัดดอนเจดีย์ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ท่านมีนามเดิมว่าห่วง คชายุทธ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๘ โยมบิดาชื่อนายคุ้ม คชายุทธ โยมมารดาชื่อนางสายทอง คชายุทธ ที่บ้านมีอาชีพทำนา โดยท่านเป็นลูกคนโต มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน คือ
๑. นางโย่ เพียรทอง
๒. นายชั้น คชายุทธ
๓. นายประชุม คชายุทธ
๔. นางมาลัย
๕. นายใหม คชายุทธ
ในวัยเด็กท่านได้ร่ำเรียนเขียนอ่านศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้นที่วัดหนองขาว ตำบลหนองขาว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี จนสามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ดี
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงพ่อห่วง ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดดอนเจดีย์ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี
พระครูสิงคีคุณธาดา (ม่วง) วัดบ้านทวน เป็นพระอุป้ชฌาย์
พระครูวัตตสารโสภณ (หลวงพ่อดอกไม้) วัดดอนเจดีย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดดอนเจดีย์ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และวิชาอาคมต่างๆ กับพระอาจารย์ได้เพียง ๒ พรรษา ท่านก็ได้ลาสิกขาไป
โดยท่านลาสิกขาไปครองชีวิตฆราวาส เมื่อท่านลาสิกขาแล้วออกไปแล้ว ก็ถูกเกณฑ์เป็นตำรวจ เพราะสมัยนั้นมีการเกณฑ์ตำรวจแบบเดียวกับเกณฑ์ทหารในปัจจุบัน ต่อมาท่านได้สมรสกับนางลิ้นจี่ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ
๑. นางสังเวียน
๒. นายหึ่ง คชายุทธ
หลวงพ่อห่วง ท่านได้รับราชการตำรวจต่อมาจนได้รับยศนายสิบตำรวจตรี แต่ทว่าชีวิตตนเรานั้นไม่แน่นอน ย่อมผันแปรไปตามกระแสของกรรมที่ตนได้กระทำไว้ ท่านพระครูห่วงในสมัยที่เป็นสิบตำรวจตรีนั้นก็เช่นกัน ได้ดำเนินชีวิตและประพฤติตนไปในทำนองที่เรียกว่า "นักเลง" และในที่สุดก็ออกจากราชการ
เมื่อเป็นดังนั้นพระอธิการเปาะ ธมฺมโชโต เจ้าอาวสดอนเจดีย์ ในสมัยนั้นเห็นว่า การดำเนินชีวิตของอดีตตำรวจตรีชักจะเลยเถิดไปไกลไร้สาระยิ่งขึ้น พระอธิการเปาะจึงได้ชักชวนให้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาอีกครั้ง
ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ หลวงพ่อห่วงซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๔๗ ปี ท่านจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้ง ณ พัทธสีมาวัดดอนเจดีย์ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้รับฉายาว่า "ธมฺมปาโล" โดยมี
พระวิสุทธรังษี (ดี) วัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูวัตตสารโสภณ (ก้าน) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูโกวิทสุตคุณ (ยอม) วัดหนองขาว เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังบวชแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดดอนเจดีย์เรื่อยมา เพื่อศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัย และแม้อายุจะมากแล้ว ท่านก็ยังตั้งใจเรียนพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบได้ นักธรรมตรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖
ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ท่านอธิการเปาะได้ลาสิกขา ทำให้ตำแห่นงเจ้าอาวาสวัดได้ว่างลง
ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ทางคณะกรรมการวัดจึงอารธนาให้หลวงพ่อห่วงซึ่งขณะนั้นบวชได้ ๓ พรรษา อายุ ๕๐ ปี อยู่รักษาการเจ้าอาวาส
ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลังจากที่หลวงพ่อห่วง รักษาการเจ้าอาวาสวัดดอนเจดีย์ได้ ๒ ปี ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดดอนเจดีย์ เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่บ้านดอนเจดีย์ หมู่ที่ ๒ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวนจังหวัดกาญจนบุรี วัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕
เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีในทางศาสนา วัดได้รับวิสุงคามสีมา ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ มีเจ้าอาวาสปกครองวัดที่มีการจดบันทึกปรากฏตามหลักฐานดังนี้
๑. พระอธิการด้วง พ.ศ. – ๒๔๔๗ (ลาสิกขา)
๒. พระครูวัตตสารโสภณ (หลวงพ่อดอกไม้) ปทุมรัตโน พ.ศ. ๒๔๔๗ – ๒๔๗๖
๓. พระใบฎีกากรึก
๔. พระอธิการพรหม
๕. พระอธิการเปาะ ธรรมโชโต พ.ศ.– ๒๔๘๗ (ลาสิกขา)
๖. พระครูห่วง ธรรมปาโล พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๕๑๒
๗. พระมหาแอ่ม ธฺติวณฺโน พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๑๘ (ต่อมาเลื่อนเป็นพระครูนิโครธโยคาภิรักษ์ เจ้าคณะอำเภอไทรโยค)
๘. พระครูโสภณกาญจนกิจ(ประยูร) ปสนฺโน พ.ศ.๒๕๑๙ – ๒๕๓๔
๙. พระอธิการสุชล ถาวโร พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๓๘
๑๐. พระครูสารกาญจนกิจ (สมพงษ์) กิจจสาโร พ.ศ. ๒๕๓๙ – ปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อห่วงได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้บริจาคทรัพย์ในการสร้างโรงเรียนประชาบาลวัดดอนเจดีย์
ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านได้ดำริที่จะสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เนื่องจากพระอุโบสถหลังเดิมชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่สะดวกแก่การทำสังฆกรรมของภิกษุ ได้ทำการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๐
ท่านเคยพูดเสมอว่า "จะตายก็ไม่ว่า ขอแต่ให้ได้สร้างโบสถ์สักหลัง แม้ได้เพียงครึ่งเดียวก็ยังดี" ซึ่งดูคล้ายกับทานจะรู้ว่าชิวิตท่านคงจะดำรงอยู่ต่อไปได้ไม่นานนัก เพราะท่านอาพาธหลายโรค แต่การก่อสร้างดำเนินไปได้อย่างล่าช้าด้วยขาดทุนทรัพย์
หลวงพ่อห่วง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๒ เวลา ๙.๑๕ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๒๗ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อห่วง วัดดอนเจดีย์
เหรียญหลวงพ่อห่วง วัดดอนเจดีย์ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยพระมหาแอ่มเจ้าอาวาสรูปถัดมา เพื่อแจกในงานฌาปนกิจของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหู มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อห่วง วัดดอนเจดีย์ กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดง |
เหรียญหลวงพ่อห่วง วัดดอนเจดีย์ กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดง ของคุณนคร ราชบุรี |
ด้านหน้า เป็นภาพถ่ายหลวงพ่อห่วงครึ่งองค์ห่มลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูห่วง วัดดอนเจดีย์ กาญจนบุรี"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๓"
ไม่มีความคิดเห็น