วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ประวัติการสร้างวัดช่องลม และวัตถุมงคลหลวงพ่อแก่น วัดช่องลม สมุทรสาคร

ภาพถ่ายหลวงพ่อแก่น วัดช่องลม สมุทรสาคร
หลวงพ่อแก่น วัดช่องลม สมุทรสาคร

          หลวงพ่อแก่น วัดช่องลม หรือ พระครูธรรมสาคร วัดช่องลม ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านนครปฐม แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเกิดเมื่อใด ที่ไหน โยมบิดาและโยมมารดาชื่ออะไร

        ท่านอุปสมบทที่วัดตุ๊กตา ตำบลบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยมีหลวงพ่อปั่น เป็นพระอาจารย์สั่งสอนวิชา

         ต่อมาหลวงพ่อปั่น ซึ่งเป็นญาติของคุณย่าอ่วม ผู้สร้างวัดช่องลม ขณะนั้นหลวงพ่อเอี่ยมได้มรณภาพลง ทางวัดขาดเจ้าอาวาส คุณย่าอ่วม จึงอารธนาหลวงพ่อปั่น ที่จำพรรษาอยู่ที่วัดตุ๊กตา ตำบลบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มาเป็นเจ้าอาวาส

        ซึ่งหลวงพ่อแก่น ซึ่งเป็นศิษย์รับใช้ใกล้ชิดของหลวงพ่อปั่นได้ ขอเดินทางตามมาปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์ของท่านด้วย

         กาลต่อมาเมื่อหลวงพ่อปั่น ได้มรณภาพลง ชาวบ้านพร้อมทั้งฝ่ายสงฆ์เห็นว่าหลวงพ่อเชียง ซึ่งเป็นน้องชายจางวางโต มีคุณสมบัติครบถ้วนจึงได้นิมนต์ให้ท่านเป็นพระเจ้าอาวาสวัดช่องลม นับเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ของทางวัด

         ต่อมาหลวงพ่อเชียง ได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อแก่น ซึ่งย้ายมาจากวัดตุ๊กตา ตำบลบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ตามหลวงพ่อปั้นมาเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่นั้น ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง นับเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ของ ทางวัด

         วัดช่องลม เป็นวัดเก่าเป็นที่ดินที่ คุณปู่และคุณย่าอ่วม แซ่เล้า ซึ่งเป็นคุณปู่ คุณย่า ของคุณทองอยู่ บูรณกิจ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ตรอก บี.แอล.ฮั้ว พระนครฯ ได้บริจาคที่สร้างวัด

         ปู่แซ่เล้า มาจากประเทศจีน (ไม่ปรากฏชื่อ ลูกหลานลืมไม่ได้จดบันทึกไว้) ส่วนย่าอ่วม แซ่เล้า เป็นคนไทยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ได้บริจาคที่ดินจำนวน ๖๐ ไร่

         เริ่มสร้างวัดเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๐ โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ได้มีพระรูปหนึ่งพายเรือสำปั้นเล็กๆ ลำหนึ่ง หลังคามีประทุนอยู่ด้วย มีผู้เห็นว่าเมื่อพายเรือมาถึงบริเวณวัดช่องลมในปัจจุบันนี้ เรือพายไม่ขึ้น พายเท่าไหร่ๆ ก็พายไม่ขึ้น

         จะเป็นด้วยแรงลมหรือน้ำเชี่ยวเหลือที่จะเดา เรือจึงลอยติดตลิ่งหน้าที่ดินที่เป็นวัดช่องลมเดี๋ยวนี้พอดี พระรูปนี้อายุ พรรษาเท่าไหร่ มาจากไหนไม่ปรากฏ ปราฏเพียงชื่อว่า เอี่ยม เรียกกันว่า หลวงพ่อเอี่ยม บ้างก็เรียกท่านว่า ขรัวอีโต้ เพราะในเรือปรากฏว่าไม่มีสมบัติอะไร มีเพียงอีโต้เล่มเดียว

         เมื่อสองตายายและชาวบ้านได้ทราบข่าวจากเด็กๆ ที่มาเล่นอยู่แถวนั้น ว่ามีพระภิกษุมาจอดเรืออยู่ในบริเวณดังกล่าว จึงนำเรื่องไปแจ้งแก่คุณปู่และคุณย่าอ่วม แซ่เล้า เจ้าของที่และชาวบ้าน จึงต่างคนต่างไปดู

         เมื่อแน่ใจว่าเป็นพระจริง ก็เกิดศรัทธาช่วยกันหุงหาข้าวต้มแกงตามมีตามเกิดเพราะใกล้เพลแล้ว สุกก็เอาเผาดิบก็เอา แล้วต่างคนต่างไปถวายเพล แล้วพร้อมใจกันนิมนต์ท่านขึ้นมาพักบนที่ที่ถากถางไว้บ้างแล้วนี้

         คุณปู่และคุณย่าอ่วม แซ่เล้า พร้อมชาวบ้านในแถบนี้ ในสมัยนั้นได้ถือเป็น "ศุภนิมิตร" ของวัดนี้อย่างหนึ่ง โดยเข้าใจว่าถ้าสร้างเป็นวัดจะต้องเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองวัดหนึ่งเป็นแน่นอน เพราะกำลังดำริจะสร้างวัดก็พอดีมีเรือพระลอยมาติดเอาง่ายๆ โดยไม่ต้องไปเที่ยวนิมนต์มา

         เมื่อหลวงพ่อเอี่ยม ท่านขึ้นพักพิงอยู่บนตลิ่งคือสถานที่วัดนี้แล้ว ปู่ย่าตายายลูกหลานพี่น้อง พร้อมทั้งชาวบ้านต่างๆ จึงช่วยกันถากถางพื้นที่บริเวณนี้ให้เรียบร้อยตามสมควร และปลูกกระต๊อบเล็กๆ ให้ท่านอาศัยอยู่ 

         คุณปู่และคุณย่าอ่วม แซ่เล้า จึงพร้อมใจกันยกที่ดินแปลงนี้ให้เป็นที่สร้างวัดช่องลม จึงนับว่าพระเอี่ยม เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดช่องลม

         ครั้นกาลล่วงมา ก็มีผู้ศรัทธาปลูกสร้างขึ้นตามควร และก็ปรากกว่ามีพระมาอาศัยอยู่ ๔-๕ รูป ไม่ทราบว่าท่านนิมนต์กันมาหรืออย่างไรก็เหลือเดา

         ทั้งสองคนปู่ย่าก็เกิดปิติปราโมทย์เพิ่มศรัทธาขึ้นอีก ได้จัดทำสำรับกับข้าวนำมาถวายทั้งเช้าและเพลทุกวัน พร้อมทั้งมีผู้มาถวายตัวเป็นศิษย์ และมีเด็กมาอยู่ปฏิบัติพระตามธรรมเนียมเกิดขึ้นตามมาโดยลำดับ

         ในสมัยโน้นชาวบ้านพากันเรียกว่า "วัดท้ายบ้าน" เห็นจะเป็นวัดอยู่สุดหมู่บ้านจึงเรียกเช่นนั้น เพื่อความเหมาะสม 

         ต่อมาพากันเรียก "วัดช่องลม" แต่ไม่ปรากฏว่าเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมแก่สภาพความเป็นจริงนี้แต่เมื่อไร เข้าใจว่านานพอสมควรมาแล้ว จนชาวบ้านลืมชื่อ "วัดท้ายบ้าน" ไปหมดแล้ว

         ต่อมาเมื่อมีพระมาอยู่จำพรรษาหลายรูปขึ้น เสนาสนะก็มีพอพักพออาศัยแล้ว ชาวบ้านเกิดศรัทธา ใคร่จะอุปสมบทก็เกิดติดขัดเรื่องไม่มีพระอุโบสถ เพราะไม่มีอุโบสถจะทำสังฆกรรม 

         คุณปู่-คุณย่า ผู้เป็๋นเจ้าของที่ จึงได้เป็นหัวแรงในการสร้างพระอุโบสถหลังขึ้น พร้อมทั้งเที่ยวบอกบุญและขอแรง โดยร่วมมือกับาวบ้านใกล้เรือนเคียงให้มาช่วยกันสร้างพระอุโบสถ หลังแรกขึ้น เป็นโรงเรือนไม้มุงจากฝาขัดแตะ โบกปูนขาวแต่ยังขาดพระประธาน

         กาลล่วงมา ได้ยินข่าวลือกันว่า "วัดช่องสะเดา" ตำบลท่าราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้ร้างไปแล้ว และร้างมาจนเดี๋ยวนี้เหลือพระประธาน ที่สร้างจากหินศิลาแลงอยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น

         พระประธานองค์ดังกล่าว มีพระพุทธลักษณะสวยงามมาก หากได้อาราธนามาเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดช่องลมแล้วก็จะเป็นศิริมงคลมาก

         ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันไปที่วัดช่องสะเดา เสี่ยงสัจจาธิษฐานต่อหน้าหลวงพ่อปู่ (หินแดง) ด้วยการปั๊วะปวย (ภาษาจีนแปลว่าอย่างไรไม่ทราบ) ตามภาษานิยมในสมัยนั้น

         ว่าหากหลวงปู่จะไปสถิตย์ ณ วัดช่องลม แล้วขอให้เซ้งปวย และก็เป็นการสมปรารถนา เพราะหลังเสี่ยงทายผลปรากฏว่าปวยนั้นคือ "เซ้งปวย" ตามที่ได้ทำพิธีตั้งสัตยาธิษฐานไว้ในเบื้องต้น

         ชาวบ้านจึงพร้อมใจกัน อัญเชิญท่านลงเรือที่เตรียมไว้พร้อมแล้ว พร้อมด้วยขบวนเรือใหญ่โตมโหฬารยิ่งนัก ร่องเรือมาสถิตย์ประดิษฐาน ณ วัดช่องลม จนถึงทุกวันนี้

         องค์หลวงพ่อปู่หินแดง หรือ หลวงพ่อหินแดง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะแบบอยุธยาตอนปลาย ทำด้วยศิลาแดงทั้งองค์ มีลักษณะพิเศษคือพระหัตถ์ข้างซ้ายมี ๖ นิ้ว จึงเรียกว่าพระ ๑๑ นิ้ว องค์พระหน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว สูง ๕ ศอก

         อนึ่งผู้ที่ไปอาราธนาพระประธานมาจากวัดช่องสะเดา มีหลักฐานที่เชื่อถือได้แน่นอน คือมารดาของนางพยุง ลือประเสริฐ และมารดาของคุณนายทองอยู่ บูรณกิจ(ผู้เล่า) ตั้งแต่ ๒ ท่านนี้ยังรุ่นสาว อายุราว ๑๑ หรือ ๑๒ ปี ได้ไปช่วยพายเรือลากจูงเรือแห่หลวงพ่อปู่มาจากวัดช่องสะเดา

         คุณปู่และคุณย่าอ่วม แซ่เล้า ท่านได้ดำรงตำแหน่งมรรคทายก-มรรคทายิกาเรื่อยมา ต่อมาหลวงพ่อเอี่ยมมรณภาพลง 

         คุณปู่คุณย่าอ่วม จึงไปนิมนต์หลวงพ่อปั้น ซึ่งเป็นญาติของคุณย่าอ่วมเอง ขณะนั้นจำพรรษาที่วัดตุ๊กตา ตำบลบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดช่องลมแทน

         และในช่วงนี้เองคุณปู่และคุณย่าอ่วม แซ่เล้าได้ชราภาพลงมากแล้ว จึงใช้ให้นางทองคำ ซึ่งเป็นบุตรีของท่าน ไปเป็นมรรคทายิกาวัดช่องลมแทน

         ซึ่งนางทองคำ ท่านนี้เองสามารถบอกบุญเรี่ยไร มาสร้างวัดวาอารามให้เจริญขึ้นตามลำดับ ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่เป็นตัวไม้หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ฝากระดาน ลูกกรงไม้ ในยุถัดมาอักด้วย

         วัดสุทธิวาตวราราม หรือ วัดช่องลม เป็นที่ตั้งอนุสรณ์สถานสถานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนท่าฉลอม และทรงตั้งเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๘ 

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกวัดช่องลมเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันพุธที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๘

         และถัดจากนั้นเป็นเวลาอีก ๕ เดือนเต็ม ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าชาย พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงทุกพระองค์ มาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดช่องลม เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้

         ๑. หลวงปู่เอี่ยม (ขรัวอีโต้)

         ๒. หลวงพ่อปั่น (ย้ายมาจากวัดตุ๊กตา นครปฐม)

         ๓. หลวงพ่อเชียง (ญาติของโยมย่า อ่วม)

         ๔. หลวงพ่อแก่น (ย้ายมาจากวัดตุ๊กตา ติดตามหลวงพ่อปั่น)

         ๕. พระอาจารย์เทิ้ม ญาโณ (มรณภาพด้วยโรคฝีที่คอ)

         ๖. พระปลัดไซ ติสฺสโร เป็นเจ้าอาวาส ๒ ปี ลาออกปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพราะชรามาก มรณภาพวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙

         ๗. พระทองใบ (ชานสโภ น.ธ.เอก) ครองวัดปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๔ (มรณภาพด้วยโรคลม) โดยมีพระสายัณธ์ รักษาการเจ้าอาวาส (พ.ศ. ๒๔๙๔ - ๒๔๙๕)

         ๘. พระราชสาครมุนี (หลวงพ่อแก้ว) วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๕๒๖

         ๙. พระสาครมุนี (ประสาท สุชีโว) ๒๕๒๖ - ปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อแก่น ท่านได้เป็นเจ้า ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ท่านได้สร้างเสริมต่อเติมวัดวาอารามเจริญวิวัฒนาการไปไกลมาก บรรดาถาวรวัตถุทั้งหลายแหล่เกิดขึ้นในสมัยนี้แทบทั้งสิ้น ท่านมีชื่อเสียงเลื่องลือไปในนานาจังหวัดก็ในสมัยนี้

         ท่านเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก รวมทั้งท่านยังได้ทำการปรับปรุงพระอุโบสถใหม่เป็นครั้งที่ ๓ โดยเปลี่ยนเป็นมีระเบียงนอก และเปลี่ยนจากกระเบื้องดินเผาเป็นซีเมนต์ จากลูกกรงไม้เป็นลูกกรงปูนดังที่เห็นอยู่นี้ และยกพระประธานให้สูงขึ้นและทำฐานชุกชีใหม่ โดยพระพิมพ์ จนฺทสโร เป็นผู้จัดทำก็อยู่ในสมัยนี้

         ต่อมาท่านได้เลื่อนตำแหน่งจากเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะอำเภอและได้สมณศักดิ์เป็นที่ "พระครูธรรมสาคร" นำเกียรติประวัติมาสู่วัดช่องลมเป็นอย่างมาก ถือเป็นปูชนียบุคคล ของพุทธศาสนิกชน

         หลวงพ่อแก่น ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา แต่ไม่ปรากฏว่าปีไหนเมื่อไหร่ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแก่น วัดช่องลม

         ภาพถ่ายอัดกระจกหลวงพ่อแก่น วัดช่องลม

         สร้างขึ้นราวปี ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ ลักษณะเป็นภาพถ่ายอัดประจกเล่มเงินจับขอบแบบมีหูในตัว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ภาพอัดกระจกห้อยคอหลวงพ่อแก่น วัดช่องลม สมุทรสาคร
ภาพอัดกระจกห้อยคอหลวงพ่อแก่น วัดช่องลม สมุทรสาคร

         ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปถ่ายหลวงพ่อแก่นครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์

 


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น