โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย (วัดเขามังกร) ปฐมบทของบูรพาจารย์มหายานของกาญจนบุรี

หลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย กาญจนบุรี
หลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย กาญจนบุรี

         หลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย หรือ ท่านกั๊กเง้ง (เหมี่ยวซำ) วัดเขามังกร ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ท่านถือเป็นปฐมบูรพาจารย์วัดถ้ำเขาน้อย 

         หลวงพ่อแห้ง ท่านเกิด ณ ประเทศจีน  มีนามเดิมว่า กั๊กเง้ง ได้บวชที่ประเทศจีน พำนักอยู่ที่ วัดดังง่ำยี่  ณ ภูเขากิวฮั่วซัว จังหวัดกังน้ำ ประเทศจีน ได้รับฉายาว่า "เหมี่ยวซำ" 

         เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยตามหลักพุทธศาสนานิกายมหายานที่วัดดังง่ำยี่ ณ ภูเขากิวฮั่วซัว จนสำเร็จวิชามากมาย

         ต่อมาท่านได้จาริกเข้ามาในประเทศไทย โดยเริ่มแรกท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดจีนในกรุงเทพ ต่อมาท่านได้เดินทางมายังที่บ้านลิ้นช้าง ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และได้รู้จักกับหลวงพ่อสาร์ท วัดบ้านถ้ำ

         หลวงพ่อสาร์ท จึงได้แนะนำให้หลวงพ่อแห้งมาอยู่ที่ถ้ำเขาน้อย ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ตรงกับในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ 

         หลวงพ่อแห้งเห็นเป็นสถานที่สงบมีสภาพแวดล้อมที่ดี ท่านจึงได้มาพำนักอยู่ภายในถ้ำเขาน้อย ตามคำอารธนาของชาวบ้านในแถบนี้

         โดยหลวงพ่อแห้งได้บุกเบิกสร้างวัดนิกายมหายานบนพื้นที่ถ้ำเขาน้อยแห่งนี้ โดยเริ่มแรกตั้งชื่อเป็นสำนักสงฆ์เล่งซัวหยี่(วัดเขามังกร) และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดแห่งนี้

         วัดถ้ำเขาน้อย เป็นวัดพุทธศาสนานิกายมหายาน (ฝ่ายอนัมนิกาย)​ ตั้งอยู่ ณ ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี วัดก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖ โดยหลวงพ่อแห้ง ปัจจุบันเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี 

         บนเขามีถ้ำเล็กๆ ภายในถ้ำมีบริเวณข้างถ้ำใหญ่(โบสถ์เก่า) วัดถ้ำเขาน้อย เป็นสถานที่ประดิษฐานรูปจำลองหลวงปู่เหมี่ยวซำ (หลวงพ่อแห้ง) ด้านขวามือในถ้ำมีป้ายวิญญาณสลักอักษรจีนตรงกลางแผ่นไว้ว่า "圓寂重興妙參垠大師之塔" สามารถถอดรหัสได้ใจความว่า "สถานที่ตั้งป้ายวิญญาณปรมาจารย์เหมี่ยวซำที่ได้จัดทำขึ้นไว้หลังการมรณภาพ" 

ป้ายจารึกหลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย กาญจนบุรี
ป้ายจารึกหลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย กาญจนบุรี

         ด้านข้างขวามือของป้ายมีแกะสลักอักษรจีน "光緒二十五年四月八日吉立" แปลความได้ว่า "ช่วงสมัยราชวงศ์ชิงของจักรพรรดิกวงสวี่ ปีที่ ๒๕ เดือน ๔ วันที่ ๘ เวลาดิถีอันเป็นมงคลฤกษ์" 

         ภายในวัดมีพระเจดีย์คีรีบรมธาตุ เจดีย์หมื่นพุทธ วัดแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมจีน รูปแบบพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ชาวญวนนับถือ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้

         ๑. หลวงปู่แห้ง(กั๊งเง้ง) ๒๔๒๖ - ๒๔๔๒

         ๒. พระอาจารย์เยินงู ๒๔๔๒ - ๒๔๔๕

         ๓. พระอาจารย์ทิพย์ ๒๔๔๕ - ๒๔๕๕

         ๔. พระอาจารย์เตี๊ยบถ่อ ๒๔๕๗ - ๒๔๘๔

         ๕. พระหลวงตาขาว ๒๔๘๕ - ๒๔๘๗

         ๖. พระอาจารย์ย้ากเหมิง ๒๔๘๗ - ๒๔๘๙

         ๗. พระอาจารย์โหพัฒ ๒๔๘๙ - ๒๔๙๒

         ๘. พระอาจารย์อันตึง(หลอย) ๒๔๙๓ - ๒๔๙๕

         ๙. พระอาจารย์ชุน ๒๔๙๕ - ๒๔๙๗

         ๑๐. พระอาจารย์ประทีป ๒๔๙๗ - ๒๔๙๙

         ๑๑. พระใหญ่ ๒๕๐๐ - ๒๕๐๑

         ๑๒. พระอาจารย์นำ(ติ่นกวาง)  ๒๕๐๒ - ๒๕๐๗

         ๑๓. พระคณานัมธรรมวิริยาจารย์(กิจ ตัยเพือง) ๒๕๐๙ - ๒๕๕๓

         ๑๔. องปลัดวิเชียร (เถี่ยนอี๊) กาญจนไตรภพ ๒๕๕๓ - ปัจจุบัน

วัดถ้ำเขาน้อย กาญจนบุรี
วัดถ้ำเขาน้อย กาญจนบุรี

         ตลอดเวลาที่หลวงพ่อแห้ง ท่านอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามาถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขั้นตามลำดับ

         คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อแห้งท่านทานอาหารเจ และเจริญภาวนา นั่งสมาธิ เจริญกรรมฐานอยู่เสมอ และท่านยังได้ศึกษาวิชาเขียนฮู้ทำยันต์ต่างๆ เพื่อใช้ในการทำน้ำมนต์รักษาปัดเป่าเคราะห์ภัย 

         เพราะในอดีตมักจะมีผู้มาหาท่านให้ท่านรักษาโรคต่างๆเสมอ ท่านก็จะให้ความเมตตารักษาด้วยการให้ธรรมโอสถและใช้กระดาษเขียนฮู้ยันต์เผาทำน้ำมนต์ให้ดื่มและอาบ นับได้ว่าท่านเป็น "พระบูรพาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม" อีกทั้งยังมีความเมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างสูงอีกด้วย

         หลวงพ่อแห้งปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ นับรวมระยะเวลาที่ท่านปกครองวัดได้ ๑๖ ปี

         จากนั้นพระอาจารย์เยินงูจึงได้จัดการเอาศพ บรรจุในโลงเก็บไว้ที่ถ้ำเล็กนี้ รอเวลาที่จะจัดพิธีกงเต็กในฤดูแล้ง  กาลต่อมาเมื่อเปิดฝาโลงออก ปรากฎว่าศพท่านไม่เน่าเปื่อย ท่านอาจารย์เยินงูจึงได้เก็บศพของท่านไว้ที่เดิมโดยมิได้เผาศพท่านแต่อย่างใด

         ต่อมาเมื่อถึงฤดูทำนา ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวนาบางกลุ่มพากันคิดว่าคงจะเกิดอาเพศจากศพหลวงปู่ ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงได้ขโมยนำศพหลวงปู่ไปเผาเสีย

         เมื่ออาจารย์เยินงูกลับมาจากธุระที่กรุงเทพ ทราบว่ามีคนนำสังขารหลวงปู่ไปเผาเสียแล้ว จึงได้ตามเก็บเอาอัฐิ แล้วปั้นรูปสมมติขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิเอาไว้ภายในรูปปั้นนี้.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย

          เหรียญพระอาจารย์โหพัฒ หลังหลวงพ่อแห้ง

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระอาจารย์โหพัฒ หลังหลวงพ่อแห้ง โรงเจเข่งซิ่วตั๊ว ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้ออัลปาก้า

เหรียญพระอาจารย์โหพัฒน์หลังหลวงพ่อแห้ง  ปี พ.ศ. 2512 ทองแดง
เหรียญพระอาจารย์โหพัฒ หลังหลวงพ่อแห้ง โรงเจเข่งซิ่วตั๊ว ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดง
 
           ด้านหน้า เป็นรูปอดีตเจ้าอาวาสหลวงพ่อโหพัฒครึ่งองค์ ด้านบนมีอักขระยันต์จีน ด้านข้างมีอักขระเลขไทยอ่านได้ว่า "๒๕๑๒" บอกปีที่สร้าง ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "อาจารย์โหพัฒ"

          ด้านหลัง เป็นรูปหลวงพ่อแห้งครึ่งองค์ มีอักขระยันต์จีนอยู่ด้านบน ด้านข้างมีอักขระเลขไทยอ่านได้ว่า "๒๕๑๒" บอกปีที่สร้าง ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "หลวงพ่อแห้ง"

          เหรียญหลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กว่าๆ เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปใบโพธิ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย กาญจนบุรี 2510 กว่า ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๐กว่าๆ เนื้อทองแดงรมดำ

           ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อแห้งนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรแบบมหายาน รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแห้ง ถ้ำเขาน้อย ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์จีน



โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้