หลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย กาญจนบุรี |
หลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย หรือ ท่านกั๊กเง้ง (เหมี่ยวซำ) วัดเขามังกร ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ท่านถือเป็นปฐมบูรพาจารย์วัดถ้ำเขาน้อย
หลวงพ่อแห้ง ท่านเกิด ณ ประเทศจีน มีนามเดิมว่า กั๊กเง้ง ได้บวชที่ประเทศจีน พำนักอยู่ที่ วัดดังง่ำยี่ ณ ภูเขากิวฮั่วซัว จังหวัดกังน้ำ ประเทศจีน ได้รับฉายาว่า "เหมี่ยวซำ"
เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยตามหลักพุทธศาสนานิกายมหายานที่วัดดังง่ำยี่ ณ ภูเขากิวฮั่วซัว จนสำเร็จวิชามากมาย
ต่อมาท่านได้จาริกเข้ามาในประเทศไทย โดยเริ่มแรกท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดจีนในกรุงเทพ ต่อมาท่านได้เดินทางมายังที่บ้านลิ้นช้าง ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และได้รู้จักกับหลวงพ่อสาร์ท วัดบ้านถ้ำ
หลวงพ่อสาร์ท จึงได้แนะนำให้หลวงพ่อแห้งมาอยู่ที่ถ้ำเขาน้อย ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ตรงกับในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
หลวงพ่อแห้งเห็นเป็นสถานที่สงบมีสภาพแวดล้อมที่ดี ท่านจึงได้มาพำนักอยู่ภายในถ้ำเขาน้อย ตามคำอารธนาของชาวบ้านในแถบนี้
โดยหลวงพ่อแห้งได้บุกเบิกสร้างวัดนิกายมหายานบนพื้นที่ถ้ำเขาน้อยแห่งนี้ โดยเริ่มแรกตั้งชื่อเป็นสำนักสงฆ์เล่งซัวหยี่(วัดเขามังกร) และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดแห่งนี้
วัดถ้ำเขาน้อย เป็นวัดพุทธศาสนานิกายมหายาน (ฝ่ายอนัมนิกาย) ตั้งอยู่ ณ ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี วัดก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖ โดยหลวงพ่อแห้ง ปัจจุบันเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี
บนเขามีถ้ำเล็กๆ ภายในถ้ำมีบริเวณข้างถ้ำใหญ่(โบสถ์เก่า) วัดถ้ำเขาน้อย เป็นสถานที่ประดิษฐานรูปจำลองหลวงปู่เหมี่ยวซำ (หลวงพ่อแห้ง) ด้านขวามือในถ้ำมีป้ายวิญญาณสลักอักษรจีนตรงกลางแผ่นไว้ว่า "圓寂重興妙參垠大師之塔" สามารถถอดรหัสได้ใจความว่า "สถานที่ตั้งป้ายวิญญาณปรมาจารย์เหมี่ยวซำที่ได้จัดทำขึ้นไว้หลังการมรณภาพ"
ป้ายจารึกหลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย กาญจนบุรี |
ด้านข้างขวามือของป้ายมีแกะสลักอักษรจีน "光緒二十五年四月八日吉立" แปลความได้ว่า "ช่วงสมัยราชวงศ์ชิงของจักรพรรดิกวงสวี่ ปีที่ ๒๕ เดือน ๔ วันที่ ๘ เวลาดิถีอันเป็นมงคลฤกษ์"
ภายในวัดมีพระเจดีย์คีรีบรมธาตุ เจดีย์หมื่นพุทธ วัดแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมจีน รูปแบบพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ชาวญวนนับถือ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้
๑. หลวงปู่แห้ง(กั๊งเง้ง) ๒๔๒๖ - ๒๔๔๒
๒. พระอาจารย์เยินงู ๒๔๔๒ - ๒๔๔๕
๓. พระอาจารย์ทิพย์ ๒๔๔๕ - ๒๔๕๕
๔. พระอาจารย์เตี๊ยบถ่อ ๒๔๕๗ - ๒๔๘๔
๕. พระหลวงตาขาว ๒๔๘๕ - ๒๔๘๗
๖. พระอาจารย์ย้ากเหมิง ๒๔๘๗ - ๒๔๘๙
๗. พระอาจารย์โหพัฒ ๒๔๘๙ - ๒๔๙๒
๘. พระอาจารย์อันตึง(หลอย) ๒๔๙๓ - ๒๔๙๕
๙. พระอาจารย์ชุน ๒๔๙๕ - ๒๔๙๗
๑๐. พระอาจารย์ประทีป ๒๔๙๗ - ๒๔๙๙
๑๑. พระใหญ่ ๒๕๐๐ - ๒๕๐๑
๑๒. พระอาจารย์นำ(ติ่นกวาง) ๒๕๐๒ - ๒๕๐๗
๑๓. พระคณานัมธรรมวิริยาจารย์(กิจ ตัยเพือง) ๒๕๐๙ - ๒๕๕๓
๑๔. องปลัดวิเชียร (เถี่ยนอี๊) กาญจนไตรภพ ๒๕๕๓ - ปัจจุบัน
วัดถ้ำเขาน้อย กาญจนบุรี |
ตลอดเวลาที่หลวงพ่อแห้ง ท่านอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามาถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขั้นตามลำดับ
คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อแห้งท่านทานอาหารเจ และเจริญภาวนา นั่งสมาธิ เจริญกรรมฐานอยู่เสมอ และท่านยังได้ศึกษาวิชาเขียนฮู้ทำยันต์ต่างๆ เพื่อใช้ในการทำน้ำมนต์รักษาปัดเป่าเคราะห์ภัย
เพราะในอดีตมักจะมีผู้มาหาท่านให้ท่านรักษาโรคต่างๆเสมอ ท่านก็จะให้ความเมตตารักษาด้วยการให้ธรรมโอสถและใช้กระดาษเขียนฮู้ยันต์เผาทำน้ำมนต์ให้ดื่มและอาบ นับได้ว่าท่านเป็น "พระบูรพาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม" อีกทั้งยังมีความเมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างสูงอีกด้วย
หลวงพ่อแห้งปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ นับรวมระยะเวลาที่ท่านปกครองวัดได้ ๑๖ ปี
จากนั้นพระอาจารย์เยินงูจึงได้จัดการเอาศพ บรรจุในโลงเก็บไว้ที่ถ้ำเล็กนี้ รอเวลาที่จะจัดพิธีกงเต็กในฤดูแล้ง กาลต่อมาเมื่อเปิดฝาโลงออก ปรากฎว่าศพท่านไม่เน่าเปื่อย ท่านอาจารย์เยินงูจึงได้เก็บศพของท่านไว้ที่เดิมโดยมิได้เผาศพท่านแต่อย่างใด
ต่อมาเมื่อถึงฤดูทำนา ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวนาบางกลุ่มพากันคิดว่าคงจะเกิดอาเพศจากศพหลวงปู่ ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงได้ขโมยนำศพหลวงปู่ไปเผาเสีย
เมื่ออาจารย์เยินงูกลับมาจากธุระที่กรุงเทพ ทราบว่ามีคนนำสังขารหลวงปู่ไปเผาเสียแล้ว จึงได้ตามเก็บเอาอัฐิ แล้วปั้นรูปสมมติขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิเอาไว้ภายในรูปปั้นนี้.
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญพระอาจารย์โหพัฒ หลังหลวงพ่อแห้ง โรงเจเข่งซิ่วตั๊ว ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้ออัลปาก้า |
เหรียญพระอาจารย์โหพัฒ หลังหลวงพ่อแห้ง โรงเจเข่งซิ่วตั๊ว ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดง |
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กว่าๆ เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปใบโพธิ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อแห้ง วัดถ้ำเขาน้อย กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๐กว่าๆ เนื้อทองแดงรมดำ |
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น