วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแช่ม โสฬส วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม พระอาจารย์ของหลวงพ่อเนื่อง

ภาพถ่ายหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม
หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม

         หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี หรือ พระอธิการแช่ม อดีตเจ้าอาวาสวัดจุฬามณี ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พื้นเพท่านเป็นพระเกจิยุคเก่าอีกรูปหนึ่ง ที่ไม่มีประวัติบันทึกไว้อย่างแน่ชัด         

         เมื่อหลวงพ่อแช่ม ท่านมีอายุครบบวช ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท เป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางกะพ้อม ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับฉายาว่า "โสรสะ" โดยไม่ปรากฏชื่อพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระอธิการนุ่ม เจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ ของวัดจุฬามณีได้ถึงแก่มรณภาพลง วัดจึงอยู่ในสภาพเกือบเป็นวัดร้าง มีพระจำพรรษาอยู่เพียงไม่กี่รูป จนวัดเสื่อมสภาพทรุดโทรมปรักหักพังเสียเป็นส่วนใหญ่ 

         กำนันตำบลปากง่าม (ปัจจุบันคือตำบลบางช้าง) ขอให้หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ในฐานะเจ้าคณะตำบล พิจารณาหาพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถไปปกครองดูแล 

         หลวงพ่อคง ท่านจึงมอบหมายให้พระแช่ม โสฬส ศิษย์ผู้ใกล้ชิดรูปหนึ่งของท่านไปเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด

          วัดจุฬามณี เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ในหมู่ที่ ๙ บ้านคลองวัดจุฬามณี ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดแม่เจ้าทิพย์ สร้างมาแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๗๒ - ๒๑๙๐ 

          ตามประวัติว่าท่านท้าวแก้วผลึก (น้อย) ธิดาคนหนึ่งของท่านพลายซึ่งเป็นนายตลาดบางช้าง มีหน้าที่เก็บภาษีอากรขนอนตลาด ต้นวงศ์ราชนิกูลบางช้าง เป็นผู้สร้าง

         ในช่วงสงครามกรุงศรีอยุธยากับพม่า ท่านนาค (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) พระอัครชายาเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะทรงครรภ์แก่ ได้หลบซ่อนพม่าอยู่ในป่าทึบหลังวัดจุฬามณี 

          ต่อมาได้มีประสูติการท่านฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) คาดว่าสถานที่ประสูติน่าจะใกล้ต้นจันทน์อันเป็นนิวาสถานหลังเก่าของท่านเศรษฐีทอง 

          อีกทั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระพี่นางองค์ที่ ๒ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ได้หลบภัยพม่ามาอาศัยอยู่กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชด้วย กำลังอยู่ในระหว่างทรงพระครรภ์แก่และได้มีพระประสูติการพระธิดาในป่าหลังวัดจุฬามณีด้วยเช่นกัน คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

          วัดจุฬามณี เคยรุ่งเรืองในสมัยท่านพระอธิการเนียมเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ ท่านตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยและหนังสือขอมขึ้นในวัดจุฬามณี 

          เมื่อสิ้นท่านไปเสียแล้วในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๙ วัดอยู่ในสภาพเกือบเป็นวัดร้าง มีพระจำพรรษาอยู่เพียงไม่กี่รูป จนวัดเสื่อมสภาพทรุดโทรมปรักหักพังเสียเป็นส่วนใหญ่ กำนันตำบลปากง่าม (ปัจจุบันคือตำบลบางช้าง) ขออาราธนาพระอาจารย์แช่ม โสฬส ซึ่งเป็นพระลูกวัดจำพรรษาอยู่ในวัดบางกะพ้อม มาปกครองวัดให้เจริญรุ่งเรือง

          ในสมัยหลวงพ่อแช่ม ท่านได้ริเริ่มปลูกสร้างเสนาสนะสงฆ์และสร้างศาลาการเปรียญจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ วัดจุฬามณี มีเจ้าอาวาสปกครองเท่าที่สืบได้ดังนี้

         ๑. พระอธิการยืน

         ๒. พระอธิการเนียม

         ๓. พระอาจารย์แป๊ะ

         ๔. พระอาจารย์ปาน

         ๕. หลวงพ่ออ่วม

         ๖. พระอาจารย์นุ่ม

         ๗. หลวงพ่อแช่ม

         ๘. หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท

         ๙. พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (พระอาจารย์ อิฏฐ์ ภทฺทจาโร) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อแช่มได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ รวมทั้งถาวรวัตถุต่างๆภายในวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างสุดความสามารถ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ทดแทนหลังเก่าที่ชำรุด

         หลวงพ่อแช่ม ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ทางวัดได้จัดงานฌาปนกิจ ๒๘ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๙๑

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี

        รูปถ่ายอัดกระจกหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ โดยหลวงพ่อนื่องเจ้าอาวาสรูปถัดมา เพื่อแจกในงานฌาปนกิจของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นรูปถ่ายขนาดเล็กอัดกระจกปิดทับทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ภาพอัดกระจกหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม 2491
ภาพอัดกระจกหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๔๙๑

         ด้านหน้า มีรูปถ่ายหลวงพ่อแช่มครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระยันต์รอบรูปหลวงพ่อ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ฌาปนานุสรณ์ หลวงพ่อแช่ม โสรสะ วัดจุฬามณี อัมพวา สมุทรสงคราม ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑" 

         ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น