ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่มณี วัดกำพร้า สมุทรสาคร พระอาจารย์ของอาจารย์ป่อง น่วมมานาสำนักบ้านมีดี
หลวงปู่มณี วัดกำพร้า สมุทรสาคร |
หลวงพ่อมณี วัดกำพร้า หรือ หลวงปู่มณี วัดกำพร้า ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ศิษย์หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
หลวงพ่อมณีพื้นเพท่านเป็นชาวบ้านปากอ่าววัดกำพร้า เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลวงพ่อมณี ท่านมีอายุได้ ๒๙ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางน้ำวน ตำบลบางโทรัด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับฉายาว่า "อมโร" โดยมี
เจ้าอธิการรอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางน้ำวนเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย พระคาถา และร่ำเรียนภาษาบาลีจากพระอุปัชฌาย์ จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย
ระหว่างที่หลวงพ่อมณีจำพรรษาอยู่นั้น ท่านได้ช่วยหลวงปู่รอดจารตะกรุด ผ้ายันต์ต่างๆ ที่ญาติโยมมาขอให้หลวงปู่รอดทำให้
แต่หลวงปู่รอดท่านทำไม่ทัน ท่านจึงให้หลวงพ่อมณีเป็นผู้จารแทน (เขียน) เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีคนมาขอเครื่องรางของขลังกันมาก
หลวงพ่อมณีท่านอยู่รับใช้หลวงปู่รอดอยู่นานพอสมควร จึงกราบลาหลวงปู่รอด กลับมาจำพรรษาที่วัดกำพร้า ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน
หลวงปู่มณี วัดกำพร้า สมุทรสาคร |
วัดศรีสุทธาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๓๙ ไร่
วัดศรีสุทธาราม เดิมมีชื่อว่า วัดกำพร้า ตามประวัติเล่าต่อกันมาว่า ชาวบ้านได้ช่วยกันถากถางป่าโดยใช้มีดพร้า ชื่อเดิมของวัดจึงหมายถึงวัดที่ชาวบ้านช่วยกันกำมีด กำพร้า ถางป่าสร้างวัดขึ้นมา
แต่ต่อมาคนรุ่นหลังแปลความหมายผิดไปเป็นว่าที่น่าสงสาร วัดที่อาภัพ จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดศรีสุทธาราม" และใช้ชื่อนี้มาจนปัจจุบัน
วัดศรีสุทธารามตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ สาเหตุการสร้างวัดขึ้น สืบเนื่องมาจากประชาชนหมู่บ้านกำพร้าต้องไปทำบุญที่วัดบางหญ้าแพรก
ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำกับหมู่บ้าน เป็นความลำบากในการเดินทางเพื่อไปทำบุญ อาจเกิดอันตรายจากคลื่นลม กระแสน้ำเชี่ยว จึงเริ่มสร้างวัดขึ้น โดยผู้ริเริ่มคือ นายมะนูญ นายมะกริด นายมะแมว นายมะเหมี่ยว พร้อมด้วยประชาชนในหมู่บ้านนี้ได้ช่วยกันสละทรัพย์ โดยมีลำดับเจ้าอาวาสที่พอจะสืบนามได้ดังนี้
๑. พระอธิการปลี
๒. พระอธิการพร ติสฺสวํโส
๓. พระครูสาครธรรมสุนทร พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๒๙
๔. พระอธิการวิฑูรย์ ฐิตวิปฺปุโล พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๔๖
๕. พระครูสาครกิจจกาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ - ปัจจุบัน
หลวงปู่มณี วัดกำพร้า สมุทรสาคร |
หลังจากที่หลวงพ่อมณีได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดกำพร้า ในระหว่างนั้น ท่านมีโอกาสได้เดินทางไปเรียนวิชาสักยันต์กับครูปาน ซึ่งเป็นอาจารย์สักยันต์อยู่ในจังหวัดราชบุรี
หลวงพ่อมณี ท่านไม่ได้มีตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ แต่ด้วยการที่ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ชาวบ้านจึงยกย่องหลวงพ่อและเรียกชื่อหลวงพ่อกันว่า "หลวงปู่มณี"
หลวงปู่มณีท่านเป็นโปลิโอตั้งแต่เด็ก ขาท่านไม่มีแรง ไม่สามารถเดินได้ เวลาไปไหน ท่านต้องอาศัยขี่คอคนอื่นไป ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมุ่งมั่นในการฝึกฝนวิชาอาคมต่างๆ ที่ได้ร่ำเรียนมา เพราะว่าอย่างไรท่านก็ไม่สึกจากความเป็นพระอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ท่านยังมีชื่อเสียงด้านการรักษาโรคในอดีต มีผู้คนในพื้นที่มาให้ท่านสงเคราะห์อยู่เป็นประจำโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
วัตถุมงคลของหลวงปู่ที่ท่านสร้างแจกลูกศิษย์ของท่านนั้นมี ตะกรุดไม้รวก ,เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก , เหรียญหล่อพิมพ์สามเหลี่ยม ,รูปหล่อ และพระชัยวัฒน์
ซึ่งล้วนเป็นที่เสาะแสวงหาของชาวบ้านในพื้นที่มาช้านาน เพราะมีประสบการณ์โดดเด่นในด้านคงกระพันชาตรี แม้อัฐิของท่านยังเคยมีผู้ทดลองยิง แต่ไม่ออกมาแล้ว
หลวงปู่มณี ท่านเป็นหนึ่งในอาจารย์ของหลวงพ่อวิรัตน์ ฐานวโร วัดหนองฝ้าย พระเกจิชื่อดังของ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
และอาจารย์ป่อง น่วมมานา ฆราวาสชื่อดังเจ้าสำนักบ้านมีดี ตรอกบ้านบุ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ บุตรชายของ"พ่อเที่ยง น่วมมานา" สุดยอดฆราวาสเมืองไทย ยุคหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ อีกด้วย
หลวงปู่มณีจำพรรษาที่วัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เวลา ๒๓.๒๔ น. นับรวมสิริอายุได้ ๘๔ ปี ๕๔ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงปู่มณี วัดกำพร้า
เหรียญหลวงปู่มณี วัดกำพร้า รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เพื่อแจกศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงปู่มณี วัดกำพร้า สมุทรสาคร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อมณีครึ่งอง์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่มณี อมโร"
ด้านหลัง เป็นยันต์ตาราง เหนืออักขระยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "๒๕๒๑" ใต้ยันต์ตารางมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท โธ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดกำพร้า สมุทรสาคร"
เหรียญหล่อหลวงปู่มณี วัดกำพร้า พิมพ์พนมมือ
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เพื่อแจกศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญหล่อพิมพ์สามเหลี่ยม โดยถอดพิมพ์ด้านหน้ามาจากพระหล่อสามเหลี่ยมของหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวนผู้เป็นพระอาจารย์ สร้างด้วยเนื้อนวะโลหะเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหล่อหลวงปู่มณี วัดกำพร้า สมุทรสาคร พิมพ์พนมมือ ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อนวะ |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธปางพนมมือแบบเดียวกับพระพิมพ์ของหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวนผู้เป็นพระอาจารย์
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตัว "อุ" ๒ ตัว
พระชัยวัฒน์หลวงปู่มณี วัดกำพร้า รุ่นแรก
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยลูกศิษย์พ่อเที่ยง น่วมนามาเป็นผู้สร้างถวายหลวงปู่ ลักษณะเป็นพระชัยวัฒ์ขนาดเล็ก สร้างด้วยเนื้อเมฆสิทธิ์ ซึ่งมีแผ่นยันต์และมวลสารหลายชนิดรวมกัน จำนวนการสร้างประมาณ ๓๐๐ องค์ (หายาก)
พระชัยวัฒน์หลวงปู่มณี วัดกำพร้า สมุทรสาคร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อเมฆสิทธิ์ |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระชัยวัฒน์ประทับนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย
ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระใด ใต้ฐานองค์พระเรียบและมีรูกลวง มีเอกลักษณ์
รูปหล่อหลวงปู่มณี วัดกำพร้า รุ่นแรก
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อแจกศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นรูปหล่อปั๊มตัดขอบ มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองเหลือง และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
รูปหล่อหลวงปู่มณี วัดกำพร้า สมุทรสาคร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เนื้อเงิน |
รูปหล่อหลวงปู่มณี วัดกำพร้า สมุทรสาคร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เนื้อทองเหลือง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อมณีนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อมณี"
ด้านหลัง ที่ฐานเขียงไม่ปรากฏอักขระใดๆ ใต้ฐานมีรอยจารของหลวงปู่
ตะกรุดไม้รวกหลวงปู่มณี วัดกำพร้า
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อแจกศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นไม้รวกขนาดยาว ๒ - ๓ นิ้วแล้วแต่ขนาด โดยหลวงปู่จะดูฤกษ์ยามในการสร้าง และลงมือจารอักขระยันต์ด้วยตัวเอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ตะกรุดไม้รวกหลวงปู่มณี วัดกำพร้า สมุทรสาคร |
ถือเป็นเครื่องรางที่ท่านได้สร้างในยุคแรก เรียกกันติดปากในหมู่ลูกศิษย์ว่าตะกรุดไม้รวก หรือ ตะกรุดหมากัดไม่เข้า โดยหลวงปู่จะจารอักขระยันต์พระคาถาพระเจ้าห้ามอาวุธ
ถือเป็นเครื่องรางที่สร้างชื่อเสียง และเป็นที่แสวงหาเป็นอย่างมาก เพราะผู้นำไปบูชามีประสบการณ์กันมากมาย ถึงกับกล่าวขานกันว่า "แขวนตะกรุดหลวงปู่มณี ไม่ต้องกลัวเขี้ยวหมาเลย"
ผ้ายันต์ดอกบัวหลวงปู่มณี วัดกำพร้า
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อแจกศิษยานุศิษย์ของท่าน ลักษณะเป็นผ้ายันต์สี่เหลี่ยมไม่มีการเย็บขอบ สกรีนยันต์รูปดอกบัวด้วยหมึกสีน้ำเงิน นิยมทางเมตตาค้าขาย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ด้านหน้า มีอักขรยันต์รูปดอกบัว ด้วยหมึกสีน้ำเงิน
ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระใดๆ
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น