หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร หรือ พระครูชุ่ม วัดราชคาม |
หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม หรือ พระครูชุ่ม อดีตเจ้าอาวาสวัดราชคาม เจ้าคณะหมวด ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี พระเกจิชื่อดังเจ้าของฉายา "มหาอุดแห่งวัดราชคาม"
ท่านมีนามเดิมว่า ชุ่ม กลิ่นเทพเกษร พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านตำบลบ้านไร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑ อันตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๒
โยมบิดาชื่อนายทุ้ม กลิ่นเทพเกษร โยมมารดาชื่อนางลำใย กลิ่นเทพเกษร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๙ คน โดยท่านเป็นบุตรคนโต
ปี พ.ศ. ๒๔๓๑ หลวงพ่อชุ่ม ท่านมีอายุได้ ๙ ขวบ โยมบิดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือขอมและไทยกับหลวงปู่ทอง วัดท่าสุวรรณ เพื่อเรียนเขียนอ่านภาษาไทยและภาษาขอม จนพออ่านออกเขียนได้
ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ท่านมีอายุได้ ๑๖ ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่รับใช้หลวงปู่ทองที่วัดท่าสุวรรณ ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังวหัดราชบุรี
ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ หลวงพ่อชุ่มท่านมีอายุครบบวช จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดท่าสุวรรณ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๖๐ ได้รับฉายาว่า "พุทธสโร" โดยมี
พระอธิการทอง วัดท่าสุวรรณ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการพู่ วัดราชคาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดท่าสุวรรณ บ้างก็มาจำพรรษาที่วัดราชคาม สลับกันมาโดยตลอด เพื่อร่ำเรียนวิชาอาคมและวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ และพระอธิการพู่ วัดราชคาม จนสำเร็จวิชามากมาย
ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เจ้าอธิการทอง วัดท่าสุวรรณได้มรณภาพลง หลวงปู่พู่จึงให้หลวงพ่อชุ่มไปรักษาการเจ้าอาวาสวัดท่าสุวรรณ ซึ่งท่านไปอยู่รักษาการณ์ถึง ๓ ปี
ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ หลังจากเสร็จสิ้นงานศพของพระอธิการทอง หลวงพ่อชุ่มท่านได้เดินธุดงค์ไปกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ และพระภิกษุอีกรูป(จำชื่อไม่ได้) ทั้ง ๓ องค์เดินทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมุ่งสู่จังหวัดกาญจนบุรี ติดต่อกับชายแดนของพม่า
ซึ่งใช้เวลาเดินทางกันมาแรมเดือน เมื่อถึงกำหนดที่ต้องอยู่จำพรรษาตามพระวินัยบัญญัติ ทั้ง ๓ องค์ ได้ตกลงกันว่าจะขอกำหนดจำพรรษา ณ ที่ถ้ำ ๆ หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเขตไทยและพม่า ถ้ำที่กล่าวนี้ ชาวบ้านเรียกว่า "ถ้ำมะละแหม่ง"
เมื่อทั้ง ๓ เข้าไปในถ้ำก็ได้พบกับหลวงปู่ผู้ชรารูปหนึ่งอยู่จำพรรษาก่อนแล้ว จึงขออนุญาติจำพรรษาด้วย หลวงปู่ท่านก็อนุญาติด้วยความยินดี แล้วทั้ง ๓ ก็มอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาจิตตภาวนาและวิทยาคมจากหลวงปู่
ซึ่งท่านก็รับเป็นศิษย์ด้วยจิตเมตตา ตลอดพรรษาเวลา ๓ เดือน ทั้ง ๓ ท่านได้ตั้งใจรับการถ่ายทอดวิชาการปฏิบัติทางจิตและวิทยาคมต่างๆ จากหลวงปู่ผู้ชราอย่างเต็มที่ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่
ซึ่งเหตุที่เกิดศรัทธาเลื่อมใสในตัวหลวงปู่ก็คือ คืนแรกที่ได้เข้าจำพรรษาในถ้ำนั้น พอรุ่งขึ้นทั้ง ๓ ก็เตรียมตัวบิณฑบาตอันเป็นกิจวัตรของภิกษุทั้งหลาย
แต่พอหลวงปู่เห็นก็บอกว่าทั้ง ๓ ไม่ต้องออกบิณฑบาตรหรอก หลวงปู่จะบิณฑบาตรนำอาหารมาเลี้ยงเอง ทั้ง ๓ จึงปฏิบัติภาระกิจด้วยการทำความสะอาดปัดกวาดที่พัก
ซักครู่หลวงปู่ก็กลับมาที่ถ้ำพร้อมอาหารคาวหวานและผลหมากรากไม้ มีจำนวนพอที่จะทำภัตตกิจได้ทั้ง ๔ องค์
ซึ่งทั้ง ๓ คิดเพียงในใจตรงกันว่า หลวงปู่ผู้ชรานี้ต้องมีอิทธิปาฏิหารย์อย่างแน่นอน เพราะว่าบริเวณใกล้ๆ ถ้ำนั้นไม่มีหมู่บ้านให้เห็นเลย หลวงปู่ออกไปบิณฑบาตรเพียงครู่ก็กลับมาพร้อมอาหารอันเพียงพอ
เมื่อถึงกำหนดปวารณาออกพรรษา ภิกษุทั้ง ๓ ก็กระทำปวารณา เมื่อผ่านไปไม่กี่วัน หลวงปู่ก็เรียกหาให้เข้าพบและบอกว่า ถึงกำหนดเวลาแล้วให้ท่านทั้ง ๓ จะต้องเดินธุดงค์ต่อไป
เพื่อศึกษาหาความรู้จากผู้อื่น ขอให้ธุดงค์ไปทางทิศเหนือแล้วจะได้รับการศึกษาเพิ่มเติมตามที่ต้องการ แต่ระหว่างเดินทางขอให้ระวังอย่าได้ประมาท
เมื่อกราบนมัสการลาแล้วทั้ง ๓ ก็ได้ธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ บางครั้งเจอหมู่บ้านป่า บางครั้งก็อิ่ม บางครั้งก็อด ธุดงค์เป็นเวลาแรมเดือนก็เข้าเขตติดต่อระหว่างกาญจนบุรีกับชัยนาท
ขณะที่ธุดงค์ระหว่างทางทั้ง ๒ จังหวัด ภิกษุองค์ที่ไม่ทราบชื่อก็ป่วยเป็นไข้ป่าอย่างรุ่นแรก และมรณภาพลงในที่สุด
หลวงพ่อชุ่มและหลวงพ่อรุ่ง ไม่สามารถช่วยได้และได้ทำการเผากันในป่านั่นเอง เสร็จแล้วเก็บกระดูกห่อผ้าติดตัวมาด้วย
ต่อมาหลวงพ่อชุ่มและหลวงพ่อรุ่ง ได้เดินทางเข้าสู่จังหวัดชัยนาท และได้ไปเรียนวิชากับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นระยะเวลา ๒ พรรษา จึงเดินทางกลับวัดท่าสุวรรณ
ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ พระอธิการพู่ เจ้าอาวาสวัดราชคามก็ได้มรณภาพ ชาวบ้านจึงได้นิมนต์หลวงพ่อชุ่มให้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดราชคามสืบแทน
หลวงพ่ออู่ทอง พระพุทธรูปศิลปอู่ทอง พระศักดิ์สิทธิ์คู่วัดราชคาม |
วัดราชคาม เป็นวัดราษฏร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๔ ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
วัดราชคาม เริ่มสร้างเมื่อใดไม่เป็นที่แน่ชัด (บางตำราว่าสร้างปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ) ตามข้อมูลตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่สามารถอ้างอิงได้ กล่าวว่าพื้นที่ตั้งวัดราชคามในปัจจุบันนั้น เดิมเป็นจวนที่อยู่และที่ว่าความของพระยาราชเดชะ
ปี พ.ศ. ๒๔๐๙ (ตรงกับปีขาล อัฐศก จ.ศ. ๑๒๒๘ ร.ศ. ๘๕) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่พระสมุหกลาโหม เป็นผู้อำนวยการขุดคลองดำเนินสะดวก
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้มีบัญชาให้ พระยาราชเดชะ ย้ายไปช่วยทำการขุดคลองดำเนินสะดวกด้วย
พระยาราชเดชะ จึงได้มอบจวนเก่า (ทั้งบ้านและที่ดิน) ถวายให้เป็นที่สร้างวัด ในขั้นแรกใช้ชื่อเดิมว่า "วัดราชคาม" (ราชคาม - บ้านของพระยาราช) หลังจากนั้นเจ้าอาวาสวัดรูปถัดมาได้ทำซุ้มประตูวัดที่อยู่ท่าน้ำหน้าวัด (สมัยนั้นวัดหันหน้าออกแม่น้ำ) โดยในป้ายมีข้อความว่า "วัดราชประดิษฐ์"
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ ทรงแวะที่วัดราชคาม เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๑๕.๑๕ น. ทรงพบเห็นป้ายชื่อวัด จึงทรงตัดพ้อว่าชื่อพ้องกับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารในเมืองหลวงให้ปลดลงเสีย เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ป้ายดังกล่าวเลยหายไป
ภายในวัดมีพระพุทธรูปศิลปอู่ทอง ชื่อหลวงพ่ออู่ทอง ถือเป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่วัด องค์พระเป็นพระพุทธรูปเนื้อสำริดปางมารวิชัย สร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง ( ราวประมาณ พ.ศ. ๑๓๐๐-๑๘๙๗ )
ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่ออู่ทอง" ทางวัดนิมนต์มาจากวัดตากแดดซึ่งสมัยนั้นเป็นวัดร้าง จัดเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ หาชมได้ยากยิ่งในพื้นที่แม่กลอง สวยงาม ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงพ่อชุ่ม
รอยพระพุทธบาทจำลอง ที่หลวงพ่อชุ่ม ท่านได้สร้างไว้เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารของวัด
รอยพระพุทธบาทจำลอง วัดราชคาม สร้างเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ |
รูปหล่อหลวงพ่อชุ่มเท่าองค์จริง เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยนำเนื้อทองเหลืองที่รับบริจาคจากชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธา ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร วัดมีเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้
๑. พระอธิการโป้ย
๒. พระอธิการโต๊ะ
๓. พระอธิการพู่
๔. พระครูชุ่ม พุทฺธสโร (เจ้าคณะหมวด) ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๒๔๙๘
๕. พระครูกัลยาณวัตรวิบูลย์ (ป้อม กลฺยาโณ) พ.ศ. ๒๔๙๘ - พ.ศ. ๒๕๕๕
๖. พระวรวุฒิ ถิรจิตฺโต รักษาการเจ้าอาวาส พ.ศ. ๒๕๕๕ - พ.ศ. ๒๕๕๖
๗. พระอธิการจิตตวี ธีรปญฺโญ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๖ - ถึงปัจจุบัน
หลวงพ่อชุ่มขนาดเท่าองค์จริง เทหล่อเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ |
หลังจากที่หลวงพ่อชุ่มได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านได้สร้างพระอุโบสถ ๑ หลัง (ปัจจุบันทุบไปแล้ว) และในปีนั้นท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวด (สมัยนี้เรียกเจ้าคณะตำบล)
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน
ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านได้สร้างพระอุโบสถไม้ยกพื้นสูงให้กับวัดใหม่ต้นกระทุ่ม
หลวงพ่อชุ่ม ท่านเก่งทั้งทางด้านการพัฒนาถาวรวัตถุและจิตใจของทุกคน ได้นำความเจริญมาสู่วัดราชคาม มากด้วยความเก่งกล้ามีคาถาอาคมประกอบการช่วยเหลือชาวบ้านในทุกทาง ท่านเก่งทั้งทางการแพทย์แผนโบราณ วิชาทำน้ำมนต์การรดน้ำมนต์ ปลุกเสกลงเลขยันต์และอื่นๆ
ท่านเป็นพระที่เจ้าระเบียบและดุ สมัยท่านอยู่ไม่ว่าพระหรือเณรเดินบนพื้นกุฎิไม้กระดานดังเกินควร ท่านจะเรียกเข้าไปสั่งสอนทันที ถ้าเป็นเด็กวัดก็จะโดนตีสั่งสอนทันทีหรือไม่หลวงพ่อจะให้ตัวต่อที่ท่านเสกออกมาไล่พระเณรที่ชอบจับกลุ่มกันแตกกระเจิงไป
ด้วยความที่ท่านชอบการมีระเบียบวินัย ฉะนั้นลูกศิษย์ลูกหาของท่านทั้งหลาย จึงมีระเบียบวินัยที่ดีประกอบสัมมาอาชีพเจริญรุ่งเรืองกันเป็นส่วนใหญ่
ตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อป้อม เจ้าอาวาสองค์ถัดมาได้เล่าถึงประวัติการเดินธุดงค์ของหลวงพ่อชุ่ม ซึ่งได้รับฟังจากปากของหลวงพ่อชุ่มเองว่า เมื่อบวชได้เพิ่ง ๓ พรรษา ท่านก็เริ่มสนใจในวิชาทางคาถาอาคมได้พยายามศึกษาเล่าเรียน
และเมื่อถึงพรรษาที่ ๕ ท่านจึงเริ่มออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ คราวละ ๓ ปี บางครั้งก็ธุดงค์ไปพม่าบ้างจนมีเรื่องเล่าขานว่าท่านได้ไปศึกษาวิชาแปลกๆ จากพระอาจารย์ทางพม่าก็มี
จนมีครั้งหนึ่งได้เดินธุดงค์จนถึงวัดมะขามเฒ่า ชัยนาท ขณะนั้นราวปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลวงพ่อศุขได้ปกครองวัดมะขามเฒ่า หลวงพ่อชุ่มได้ศึกษาวิชาจากหลวงพ่อศุข หลายแขนงเกี่ยวกับวิชาด้านคาถาอาคม
จนครั้งหนึ่งกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เคยเสด็จมายังวัดราชคาม เนื่องด้วยเป็นศิษย์สำนักเดียวกัน และเมื่อกลับมาอยู่วัดราชคามจนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ขณะนั้นชื่อเสียงของท่านได้เป็นที่เลืองลือมาก
แม้ท่านจะเก่งด้านคาถาอาคม ปลุกเสกเครื่องรางของขลังต่างๆ แต่ท่านก็ไม่ได้ปลุกเศกวัตถุมงคลอะไรมากนัก ลูกศิษย์ลูกหาได้อ้อนวอนขอให้ท่านสร้างวัตถุมงคลเพื่อจะได้เก็บไว้บูชา และไว้ป้องกันตัวจากเหตุโพยภัยต่างๆ
ท่านจึงได้เริ่มสร้างเหรียญรุ่นต่างๆ แหวน ตะกรุด ลูกอม ผ้ายันต์ และรูปหล่อ เพื่อเป็นเครื่องรางของขลังแจกให้กับผู้ที่เลื่อมใสในตัวท่าน ซึ่งในสมัยนั้นวัตถุมงคลที่ชาวบ้านได้รับแจกไปนั้น ผู้ที่ห้อยติดคอไว้ ต่างมีประสบการณ์มากมาย จนต้องสร้างออกมาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ
ภาพเขียนหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ราชบุรี บนผนังโบสถ์หลังเก่า |
หลวงพ่อชุ่มท่านเป็นพระเถระที่สำคัญประจำจังหวัดราชบุรีมีชื่อเสียงโด่งดัง อิทธิวัตถุของท่านเป็นที่นิยมกันในท้องถิ่นและที่อื่นๆ ราคาการแลกเปลี่ยนอยู่ในเกณฑ์สูง
สมัยก่อนวัตถุมงคลที่ออกจากวัดมีราคาสูงโดยเฉพาะตะกรุด ๗ ดอกโดยแจกแก่ผู้ร่วมทำบุญ ๑๐๐ บาทขึ้นไป ผู้คนจึงนิยมรูปหล่อและเหรียญกันมากกว่า และที่เหลืออยู่โดยมิได้แจกกันมาก่อนคือลูกอม
ของดีของหลวงพ่อชุ่มที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือรูปหล่อหน้าตัก ๑ นิ้วที่สร้างปี พ.ศ. ๒๔๙๗ รองลงมาคือเหรียญทุกๆรุ่น ความนิยมเกิดจากความเคารพเลื่อมใสในวิชาอาคมของหลวงพ่อประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่งคือประสบการณ์ของผู้ที่ได้รับของดีนั้นๆ แล้วพบกับเหตุการณ์มหัศจรรย์มาแล้วจึงเล่าต่อๆกันมา
สำหรับรูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม พิมพ์ใหญ่ถือเป็นพระเครื่องรุ่นสุดท้ายของท่าน ที่มีพุทธคุณ โดดเด่น ทั้งในด้านคลาดแคล้ว คงกระพัน เป็นที่หวงแหนของชาวบ้านในพื้นที่บางคนถึงขนาดที่เจ้าของบางคนไม่ยอมให้คนแปลกหน้าได้ดูได้ชม ด้วยซ้ำไป
ด้วยพุทธคุณที่โดดเด่นด้านคงกระพัน ชาตรี คลาดแคล้ว จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วทั้งคุ้งน้ำ ขนาดที่เล่ากันว่าใครเอาปืนมาลองกับรูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รับรองได้ว่า "๑ แซะ ๒ แซะ ๓ กระบอกปืนแตก"
ทำให้วงการพระเครื่องให้การยอมรับและเรียกกันติดปากว่า "มหาอุดแห่งวัดราชคาม" และเป็นที่แสวงหาของคนทั่วไปดังเรื่องของ
เรื่องที่ ๑. สมัยก่อนเจ้าพ่อกังวาน วีระนนท์ แห่งคลองบางนกแขวก ถือเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลเป็นอย่างที่สุด ขนาดเวลาที่เด็กร้องไห้งอแง คนโบราณทั่วๆไปมักนิยมขู่เด็กว่าตำรวจมาให้หยุดร้อง แต่คนย่านบางนกแขวงและระแวงใกล้เคียงจะขู่เด็กว่า "เจ้าพ่อกังวานมา!" เด็กรายไหนรายนั้นจะหยุดร้องไห้ทันที
เจ้าพ่อกังวานผู้นี้นับถือหลวงพ่อชุ่มเป็นอย่างมากก็ได้อาศัยรูปหล่อหลวงพ่อชุ่มนี่แหละ กำบังตนให้รอดพ้นจากสายตาของตำรวจกองปราบ ที่บุกเข้ามาจับถึงในบ้าน แต่หาตัวเจ้าพ่อไม่พบอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ทั้งๆ ที่เจ้าพ่อก็ตกใจยืนตัวแข็งท่องนะโมอยู่กลางบ้าน
เรื่องที่ ๒. เป็นเหตุการณ์ของจ่าเฉื่อย เต็มเปี่ยม รับราชการเป็นตำรวจ ครั้งหนึ่งได้ออกล้อมจับปราบโจรที่ก่อเหตุปล้นทรัพย์ ได้ถูกคนร้ายที่มีปืนกรนยิงกราดมาถูกที่ต้นขาทั้ง ๒ ข้างจนล้มกลิ้ง
แต่ตัวจ่าเฉื่อยกลับไม่เป็นอะไรเลย จะมีก็เพียงรอยช้ำเป็นจุดๆ เท่านั้น ในคอจ่าเฉื่อยห้อยรูปหล่อ พิมพ์ใหญ่เพียงองค์เดียวเท่านั้น
เรื่องที่ ๓. ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ นายพิศมัย ลูกตาอั้นแม่จอน บ้านเดิมอยู่หลัก ๔ ดำเนินสะดวก ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเพราะเจ้าทรัพย์ชี้ตัวผิด ว่าเป็นพวกที่เคยปล้น ฆ่าทารุณ
นายพิศมัยเมื่อไม่ผิดก็ไม่ยอมให้จับกุม เจ้าทรัพย์ได้จ่อยิงที่ศรีษะลั่นกระสุนหลายครั้งแต่ไม่ออก เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้นำไปฝากขังที่เพชรบุรี เพื่อให้ห่างโจทย์ที่อยู่ราชบุรี
การสืบสวนครั้งสุดท้ายหากเจ้าทรัพย์ชี้ตัวได้อย่างถูกต้องอีกครั้งก็คงต้องถูกประหารแน่นอน แม่จอนจึงได้ฝากจดหมายมากับหลวงน้าเฉื่อย (อยู่วัดราชคาม) ถึงหลวงพ่อชุ่มเรื่องนายพิศมัย
หลวงพ่อว่าคนไม่ผิดจะไม่เป็นอะไรเด็ดขาด ซึ่งท่านได้เข้าญาฌดูแล้วขอให้หายกลุ้มใจไม่ต้องตกใจอะไร พอถึงวัดชี้ตัวเจ้าทรัพย์ชี้ตัวไม่ถูก จึงพ้นผิดไป นายพิศมัยรอดตายทั้งถูกยิงและประหาร ด้วยมีเหรียญหลวงพ่อชุ่มติดตัว
เรื่องที่ ๔. เป็นของภรรยาหมอปริก อ่อนละมูน บ้านข้างวัดราชคามโดยสารรถยนต์ไปเกิดพลิกคว่ำหลายทอด ตัวเองถูกของหนักทับเต็มแรงและยังมีคนอีกร่วม ๑๐ คน กระเด็นมาทับ เพราะอยู่ใต้สุดถึงกับสลบ
หมอปริกได้นำภรรยาส่งโรงพยาบาลตรวจอาการแล้ว ปรากฏว่ากระดูกหักหลายที่ แต่ไม่ปรากฏว่ามีบาดแผลให้เลือดตกเลย ที่อัศจรรย์คือขณะเกิดเหตุจนมาถึงโรงพยาบาลมือแกกำแน่นสนิท แพทย์ได้พยายามแกะอยู่นาน จนพบว่าในมือกำเหรียญหลวงพ่อชุ่มไว้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าถึงพุทธคุณของวัตถุมงคลของหลวงพ่อ ที่เล่าขานกันมาอีกมากมาย เรียกกันว่าเล่ากันทั้งวันก็ไม่จบ ดังเหรียญของท่านที่ถึงแม้จะสร้างเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ และที่พบเห็นมักจะสึกเพราะผู้ที่ได้รับไปห้อยบูชากันแทบทุกคน
ศิษย์หลวงพ่อชุ่มที่มีชื่อเสียงโด่งดังเท่าที่ทราบก็มี หลวงพ่อเชย วัดตาลบำรุงกิจ หลวงพ่อสาย วัดกระโจมทอง และหลวงพ่อเชย วัดเกาะลอย
อาจารย์หนู ทองศิริ อาจารย์สักชื่อดังราชบุรี |
นอกจากนี้ท่านยังมีศิษย์ที่เป็นฆราวาสอีกหลายท่าน แต่ท่านที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของทั่วไปคือ อาจารย์หนู ทองศิริ อาจารย์สักยันต์ธงข้างหูอันโด่งดัง ที่ยังมีศิษย์สืบทอดวิชามาจนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ หลวงพ่อชุ่ม ท่านได้เริ่มอาพาธประกอบกับย่างเข้าวัยชราไม่ได้พักผ่อนเท่าใดนัก จึงมีอาการทรุดหนักลงในเร็ววัน คณะศิษย์และผู้เคารพนับถือได้ร่วมกันรักษาพยาบาลอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถทำให้อาการทุเลาลงได้
หลวงพ่อชุ่ม ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ เวลา ๐๔.๓๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๗ ปี ๕๗ พรรษา.
ทางคณะศิษย์ได้เก็บสรีระของท่านไว้ เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ไกลๆได้มาเคารพ จนถึงกำหนดประชุมเพลิงในเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ในงานประชุมเพลิงมีเรื่องอัศจรรย์เกิดขึ้นกับสรีระของหลวงพ่อชุ่ม นั้นมิได้เน่าเปื่อยเลย.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
เหรียญแสตมป์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม (จับเงา)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เพื่อแจกแก่ญาติโยมที่ช่วยเหลือกิจการของวัด และตอบแทนกับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างอุโบสถวัดใหม่ต้นกระทุ่ม ลักษณะเป็นแผ่นภาพอลูมิเนียมสกรีนรูปท่าน ๒ แผ่น ขนาดเล็กประกบกันมีหูในตัว โดยมีการสั่งทำจากประเทศญี่ปุ่น ชาวบ้านมักเรียกว่าเหรียญแสตมป์ หรือ เหรียญจับเงา จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุแน่ชัด บ้างก็ว่าสร้างจำนวนไม่เกิน ๒,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญแสตมป์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้ออลูมิเนียม |
เหรียญแสตมป์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้ออลูมิเนียม |
ด้านหน้า เป็นลักษณะตะแกรงลงถมเป็นรูปหลวงพ่อชุ่มหน้าตรงครึ่งองค์ มีอักษรขอม ๔ ตัวที่มุมเหรียญอ่านว่า "นะ มะ พะ ทะ" (หัวใจธาตุ) ด้านล่างองค์ท่านมีคำว่า "ชุ่ม"
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตารางมงคลเก้าตามแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของท่าน (ยันต์ครู) มุมทั้ง ๔ ด้านของแผ่นภาพเขียนอ่านได้ ว่า "อุด อัด ปัด ปิด" ด้านล่างของตารางยันต์มีภาษาขอม อ่านได้ว่า "กิริมิทิ กึรึมึทึ กุรุมุทุ เกเรเมเท"
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก (นิยม อุตั้ง)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เพื่อแจกให้กับญาติโยมที่ช่วยเหลือกิจการของวัดหรือบริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญใบสาเกแบบมีหูในตัว ขนาดกว้าง ๒ เซน สูง ๓ เซน ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า เหรียญ ๘๖ หรือ เหรียญตะพาบ มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน (หลวงพ่อป้อม สร้างไว้ใช้เองประมาณ ๓ เหรียญ) เนื้อทองฝาบาตร เนื้อทองเหลือง เนื้อทองขาว(อัลปาก้า) และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวมกันประมาณ ๕,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก (นิยม อุตั้ง) ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เนื้อเงิน จากเพจวัตถุมงคลหลวงพ่อชุ่มฯ |
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก (นิยม อุตั้ง) ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เนื้อทองเหลือง |
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก (นิยม อุตั้ง จีวรตุ่ม) ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เนื้อทองเหลือง |
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก (นิยม อุตั้ง) ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เนื้อทองแดง |
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก (นิยม อุตั้ง) ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เนื้ออัลปาก้า |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดสังฆาฎิ ด้านบนมีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูชุ่มเจ้าคณะหมวด" ใต้องค์ท่านระบุปี พ.ศ. "๒๔๘๖" มีอักษรขอม ๔ ตัวที่มุมเหรียญอ่านว่า "นะ มะ พะ ทะ" (หัวใจธาตุ)
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตารางมงคลเก้าตามแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของท่าน(ยันต์ครู) มุมทั้ง ๔ ด้านของแผ่นภาพเขียนอ่านได้ว่า "อุด อัด ปัด ปิด" ด้านล่างของตารางยันต์มีภาษาขอม อ่านได้ว่า "กะระมะทะ กิริมิทิ กึรึมึทึ กุรุมุทุ เกเรเมเท" โดยคำว่า กุรุมุทุ จะให้ตัวสระอุ จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก (อุจุด หรือ อุนอน)
สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๔๘๖ หลังจากเหรียญรุ่นแรกหมดไปอย่างรวมเร็ว ลักษณะเป็นเหรียญใบสาเกแบบมีหูในตัวแบบเดียวกับเหรียญรุ่นแรกเพราะทางวัดได้ให้โรงงานปั๊มมาเพิ่ม แต่บล็อกด้านหลังเสียหายจึงแกะบล็อกใหม่ มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวมกันประมาณ ๑๐,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก (บล็อกจุด หรือ อุนอน) ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เนื้ออัลปาก้า |
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก (บล็อกจุด หรือ อุนอน) ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดสังฆาฎิ ด้านบนมีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูชุ่มเจ้าคณะหมวด" ใต้องค์ท่านระบุปี พ.ศ. "๒๔๘๖" มีอักษรขอม ๔ ตัวที่มุมเหรียญอ่านว่า "นะ มะ พะ ทะ" (หัวใจธาตุ)
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตารางมงคลเก้าตามแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของท่าน(ยันต์ครู) มุมทั้ง ๔ ด้านของแผ่นภาพเขียนอ่านได้ว่า "อุด อัด ปัด ปิด" ด้านล่างของตารางยันต์มีภาษาขอม อ่านได้ว่า "กะระมะทะ กิริมิทิ กึรึมึทึ กฺรฺมฺทฺ เกเรเมเท" โดยคำว่า กฺรฺมฺทฺ จะให้ตัวจุด จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์
แหวนหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เพื่อแจกในคราวฉลองอายุหลวงพ่อครบ ๗ รอบ ลักษณะเป็นแหวนโลหะแบบต่างๆ มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ(หัวแหวนหายาก) ทองแดงและทองขาว(อัลปาก้า) จำนวนรวมกันประมาณ ๔,๐๐๐ วง
แหวนและหัวแหวนหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ |
ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดสังฆาฎิ ด้านบนมีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูชุ่มเจ้าคณะหมวด" ในบางแบบใต้องค์หลวงพ่อมีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูชุ่ม" และบางแบบเหนือองค์หลวงพ่อมีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูชุ่ม"
ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ในวาระที่หลวงพ่อชุ่ม ทำบุญอายุครบ ๖ รอบ (๗๒ ปี) ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว ขนาดกว้าง ๑.๕ สูง ๒.๕ เซน มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง เนื้อทองขาว และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวมกันประมาณ ๖,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองเหลือง |
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้ออัลปาก้า |
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดสังฆาฎิ ด้านบนมีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูชุ่มเจ้าคณะหมวด" ใต้องค์ท่านระบุปี พ.ศ. "๒๔๙๔" (ของแท้รูเจาะหูเหรียญจะเล็ก)
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ มีอุนาโลมบนยอดยันต์ ๓ ตัว ภายในยันต์มีอักขระขอม ๕ตัวประกอบด้วย "นะ โม พุทธ ทา ยะ" ด้านล่างของยันต์มีอักขระขอม
รูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยคณะศิษยานุศิษย์หลายจังหวัดและผู้เลื่อมใสในตัวหลวงพ่อชุ่ม ได้มีมติที่จะกระทำการตั้งพิธีหล่อรูปปฏิมากรขนาดเท่าองค์จริงของหลวงพ่อชุ่ม(กำหนดหล่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๘) จึงได้มีการสร้างรูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม ขนาดเล็กหน้าตักประมาณ ๑ นิ้ว เพื่อสมนาคุณสำหรับผู้รวมทำบุญบริจาคทรัพย์ในการหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อชุ่มองค์ใหญ่เท่าองค์จริง
ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณสร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง อุดกริ่งที่ใต้ฐานปิดทับด้วยทองแดง จำนวนการสร้าง ๑,๑๑๐ องค์
โดยในการสร้างครั้งแรกนั้น ช่างที่กรุงเทพฯได้ สร้างตัวอย่างมาถวายให้หลวงพ่อเลือกจำนวน ๑๐ องค์ (ภายหลังแจกให้แก่กรรมการวัด) โดยทั้ง ๑๐ องค์มีทั้งแบบไม่รมดำและแบบที่มีการแต่งองค์พระให้ให้เลือก
แต่ด้วยการสร้างแล้วแต่งองค์พระทีละองค์ ทำให้เสียเวลาคณะลูกศิษย์กลัวว่าจะสร้างไม่ทันวันงานหล่อรูปหลวงพ่อเท่าองค์จริง รวมทั้งต้นทุนที่แพงเกินไปจึงไม่ได้ผลิตออกมา แต่ได้เลือกเอาพระที่หล่อเสร็จแล้วไม่ได้ตกแต่ง แต่ให้รมดำมาทดแทน
และได้ตอกโค๊ตอักษรใต้ฐานว่า "พระครูชุ่ม" (บางองค์ตอกด้านหน้าที่ฐานก็มี) ซึ่งต้องสังเกตให้ดีเพราะเป็นข้อพิจารณาพระเก๊-แท้ได้เป็นอย่างดี
ส่วนพระที่ไม่ได้ตอกก็มีเช่นกันแต่มีจำนวนน้อยแค่ ๑๐๐ องค์โดยประมาณ เนื่องจากหลังจากสร้างเสร็จได้มีการออกให้บูชาไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ตัวตอกยังดำเนินการส่งมาไม่ถึงและพระชุดนี้ได้ออกให้บูชาไปก่อนแล้ว
รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ราชบุรี พิมพ์ใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองเหลืองไม่รมดำ |
รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ราชบุรี พิมพ์ใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองเหลืองรมดำ |
รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ราชบุรี พิมพ์ใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองเหลือง |
ด้านหน้า จำลองป็นรูปหลวงพ่อชุ่ม ในลักษณะของรูปหล่อลอยองค์ประทับนั่งสมาธิบนฐานเขียง ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิเฉียง ในบางองค์มีการตอกโค้ด "พระครูชุ่ม" ที่ฐานเขียงก็มี
ด้านหลัง เห็นสังฆาฏิ และรอยจีวรอย่างชัดเจน
ใต้ฐาน ตอกโค้ด "พระครูชุ่ม" ตรงกลางเยื้องไปด้านหลัง มีรอยอุดด้วยทองแดงอย่างเห็นได้ชัด เป็นรอยอุดเม็ดกริ่งและผงพุทธคุณไว้ด้านใน ในองค์ที่กริ่งไม่ดังหรือกริ่งขัด เพราะการใส่ผงเยอะเกินไปก็มี โดยมีทั้งแบบเจียจนค่อนข้างเรียบ แบบตะไบละเอียด และแบบตะไบหยาบ
ผ้ายันต์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อแจกในงานหล่อพระรูปเหมือนเท่าองค์จริง ในวันศุกร์ที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยทางวัดราชคามได้มีการจัดสร้างผ้ายันต์นางกวัก (ยันต์ชายธง) เพื่อแจกให้เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่มาร่วมงาน โดยมีทั้งที่ทำจากผ้าลินินและแบบที่ทำจากกระดาษพิมพ์ลาย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ผ้ายันต์ธง สร้างแจกในงานหล่อรูปหล่อเท่าองค์จริง ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ทำจากผ้าลินิน |
ผ้ายันต์ธง สร้างแจกในงานหล่อรูปหล่อเท่าองค์จริง ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ทำจากกระดาษ |
ด้านหน้า จำลองป็นรูปหลวงพ่อชุ่มในวงกลมห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิที่มุมบนซ้าย มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกงานหล่อรูปคุณพ่อพระครูชุม วัดราชคาม เพื่อมิ่งมงคลแด่พุทธศาสนิกชน" ใต้อักขระภาษาไทยมีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มียันต์ธง และรูปนางกวัก
ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ
ตะกรุด ๗ ดอก หลวงพ่อชุ่ม
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยประกอบไปด้วยเนื้อเงิน ทองเหลืองและทองแดง แต่ละดอกยาวประมาณ ๖ เซนติเมตร ลงอักขระเลขยันต์ปลุกเสกแล้วม้วนกลมร้อยเชือกขาวขวั้นเชือกกำกับแต่ละดอก จนครบทั้ง ๗ ดอก จึงขมวดปลายทั้ง ๒ ด้าน ตะกรุด ๗ ดอกของหลวงพ่อชุ่มสร้างไว้จำนวน ๕๐๐ เส้น
ลูกอมหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นลูกอมสร้างด้วยผงวิเศษที่เหลือจากการบรรจุในรูปหล่อใหญ่ขนาด ๑ นิ้วของหลวงพ่อชุ่ม ได้นำมาผสมกับว่าน ๑๐๘ ทำพิธีปลุกเสกและปั้นกลมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เซนติเมตร จำนวนค่อนบาตร เนื่องจากลูกอมนี้ถ้าถูกน้ำจะละลาย หลวงพ่อชุ่มจึงมิได้นำออกแจกแก่ประชาชนพร้อมรูปหล่อ แต่ได้เก็บไว้ตั้งแต่ปลุกเสกเสร็จ (มีนาคม ๒๔๙๘) เพื่อรอให้แกร่งและแห้งสนิทกว่าขณะทำเสร็จใหม่ๆ แต่ก็ได้มีผู้ไปขอติดตัวบ้าง
ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านได้นำเข้าปลุกเสกอีกตลอดทั้งไตรมาสเพื่อออกพรรษาจะได้นำออกแจกแก่ผู้มาทำบุญวันออกพรรษา แต่เมื่อออกพรรษาท่านก็ได้มรณภาพ หลวงพ่อป้อม เจ้าอาวาสรูปถัดมาจึงได้เก็บรักษาไว้ โดยมิได้แจกจ่ายมาจนปัจจุบัน ท่านกล่าวว่า "ตั้งใจจะลงรักปิดทองให้เรียบร้อยก่อนเพราะถ้าแจกไปแบบเดิมก็จะไม่มีเหลือเพราะใช้เป็นยาวิเศษฝนผสมน้ำกินแก้โรคภัยไข้เจ็บได้วิเศษยิ่ง"
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ไขข้อข้องใจรูปหล่อเล็กหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม เก๊-แท้ ดูกันตรงไหน? และคาถาเดินธุดงค์ครั้งแรกของหลวงพ่อ
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น