ประวัติหลวงพ่อกลัด วัดบางพรหม พระเกจิยุคเก่าของสมุทรสงคราม
โกฏิบรรจุอัฐิหลวงพ่อกลัด วัดบางพรหม สมุทรสงคราม |
หลวงพ่อกลัด วัดบางพรหม หรือ พระอธิการกลัด อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพรหม ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเป็นพระเกจิยุคเก่าขจองเมืองสมุทรสงคราม
หลวงพ่อกลัด วัดบางพรหม ท่านเชี่ยวชาญทางเมตตามหานิยมมาก เสกสีผึ้งนำไปป้ายลูกไก่ทิ้งแม่ตามเรามา เก่งทางกสินมากขนาดหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ออกปากชมเลย
ท่านเคยเดินบนน้ำและย่นหนทางหลายครั้ง หลวงพ่อคงเคยมาขอเรียนวิชาทำสีผึ้งไปจากท่าน สามารถเสกทำได้ขลังดั่งอาจารย์ทีเดียว
สมัยที่หลวงพ่อคงไปเรียนวิชาท่านเล่าว่า "พอตกกลางคืน หลวงพ่อกลัดให้ฝึกวิชาเมตตา โดยให้เรียกเถาต้นฟักทองจนมาพันนิ้วมือ ภาวนาไปเรื่อยจนกว่าจะพันนิ้ว ท่านภาวนาทุกคืนยันค่อนสว่างทำอยู่ราว ๑๕ วัน เถาฟักทองเรื่อยขึ้นพันนิ้ว จึงได้เรียนวิชาหลวงพ่อกลัด"
ใครที่จะมาเรียนวิชาจากท่านต้องใช้ความมานะอดทนเป็นอย่างมาก ต้องมีความมุ่งมันและพลังจิตแก่กล้าจริงๆ ถึงจะร่ำเรียนวิชาอาคมจากท่านได้
เจดีย์ วัดบางพรหม สมุทรสงคราม |
วัดบางพรหม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองและปากคลองบางพรหม ในตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดบางกุ้ง
วัดบางพรหม ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เล่าสืบต่อกันมาว่า มีเชื้อพระวงศ์องค์หนึ่งได้ซื้อที่ดินของเอกชนประมาณ ๖ ไร่ แล้วถวายสร้างเป็นวัดขึ้น แล้วตั้งชื่อวัดว่า "วัดบางพรหม" ตามชื่อคลองบางพรหม วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๐
ในสมัยหลวงพ่อกลัดเป็นเจ้าอาวาส และเจ้าอาวาสองค์ต่อมาที่นำความเจริญมาสู่วัดคือ หลวงพ่อแดงและหลวงพ่อรุ่ง ประชาชนได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัด ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุแก่วัดจนวัดเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องกันมา
ภายในวัดมีพระอุโบสถอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น ๒ ชั้นซ้อนกันชั้นละ ๓ ตับ
ใบเสมาปูนปั้นรูปหัวเม็ดทรงมัณฑ์ เอวเสมาเหนือฐานบัวคอดกิ่ว ตรงมุมสลักเป็นเศียรนาคใบเสมามีลวดลายคล้ายสังวาลย์ประดับ
พระพุทธมงคลพรหมรังษี วัดบางพรหม สมุทรสงคราม |
ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธมงคลพรหมรังษี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอู่ทอง แกะสลักด้วยหินทรายแดงเป็นชิ้นส่วนและนำมาประกอบลงรักษ์ปิดทอง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เป็นพระประธาน ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ
นอกจากนี้ยังมี หลวงพ่อปู่บางพรหม เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องเนื้อโลหะ องค์หลวงพ่อปู่ฯประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหลังพระอุโบสถ
หลวงพ่อปู่บางพรหม วัดบางพรหม สมุทรสงคราม |
เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังตั้งอยู่บนฐานไพทีรูปสี่เหลี่ยมฐานเจดีย์เป็นฐานหน้ากระดานกลมมีบัวซ้อนกัน ๕ ชั้น พระพุทธรูปตั้งอยู่โดยรอบฐานเจดีย์ ลักษณะเป็นชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงองค์พระพุทธรูปมีแกนด้านในเป็นไม้
เจดีย์บรรจุพระพุทธรูป ทอง นาก เงิน ๑ องค์ สร้างมาพร้อมกับวัด และทางวัดได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ เป็นเจดีย์องค์ใหญ่สีทอง และมีวิหารหลังวัด มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๒ องค์ เนื้อศิลาแดง ปางมารวิชัย งดงามมาก วัดมีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดตามที่บันทึกไว้ดังนี้
๑. พระอุปัชฌาย์กลัด
๒. หลวงพ่อแดง
๓. หลวงพ่อรุ่ง (มรณภาพ ๒๔๙๙)
๔. พระอาจารย์เถา รักษาการเจ้าอาวาส ๑ พรรษา
๕. พระอาจารย์เชื่อม รักษาการเจ้าอาวาส ๔ พรรษา
๖. พระอธิการสงวน มรณภาพ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕
๗. พระอาจารย์ภักดิ์ รักษาการเจ้าอาวาส ๒ พรรษา
๘. พระอธิการวงศ์ เป็นเจ้าอาวาส ๑ พรรษา มรณภาพ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
๙. พระครูวิจิตรสมุทรคุณ (แป้ว) วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
๑๐. พระอาจารย์ประมินทร์ รักษาการเจ้าอาวาส ๘ เดือน
๑๑. พระครูพิธานปริยัติกิจ (สมศักดิ์ ขนฺติโก) วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ - ปัจจุบัน
ตัวอย่างพระบูชาเนื้อครั่งบรุเงิน บุรทอง ที่แตกกรุจากเจดีย์วัดบางพรหม |
หลวงพ่อกลัด ท่านเป็นพระเกจิชื่อดัง ตามบันทึกบอกว่า ท่านเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค โดยท่านเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้หลวงพ่อเพชร ณ พัทธสีมาวัดกลางใต้ เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕
ซึ่งถ้าเทียบปี พ.ศ. ๒๔๑๕ แล้วนั้นแปลว่า หลวงพ่อกลัด ท่านเป็นพระที่มีคุณวุฒิและอาวุโสเป็นอันดับต้นๆของเมืองแม่กลองในสมัยนั้นเลยทีเดียว เนื่องจากในสมัยนั้นคณะสงฆ์ในเขตเมืองแม่กลองยังขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์มณฑลราชบุรี
และการที่ท่านเป็นถึงพระอุปัชฌาย์นั้นย่อมแปลว่า ท่านเป็นพระเกจิยุคเก่าที่เป็นพระเกจิยุคต้นๆของเมืองแม่กลองและเป็นพระอาจารย์ให้กับพระเกจิยุคถัดๆมาของเมืองแม่กลอง อย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ
ในสมัยที่หลวงพ่อกลัด เป็นเจ้าอาวาส ท่านเชี่ยวชาญวิชาด้านมหาเสน่ห์ มหานิยม พวกแม่ค้าพ่อค้าและคหบดี นิยมให้ท่านด้วยประพรมน้ำมนต์ เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นเกราะคุ้มกาย เดินทางไปค้าขายที่ไหนก็สำเร็จด้วยดี
จากการสืบค้นหลวงพ่อกลัด ท่านไม่ได้สร้างพระเครื่องไว้เลย จะมีก็แต่พระบูชาเนื้อครั่งบรุทอง พระบูชาบรุเงิน และพระบูชาบรุนาก ที่เชื่อกันว่าท่านนำมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์เก่าแก่ของวัดที่สร้างขึ้นมาในสมัยของหลวงพ่อกลัด
ซึ่งได้ถูกแอบลอบขุดโดยโจรใจบาปในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ สมัยที่หลวงพ่อรุ่งเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดแต่ด้วยพระที่มีจำนวนมาก พวกโจรจึงลอกเอาเฉพาะโลหะมีค่าไปเท่านั้น และทิ้งไว้แต่พระเนื้อครั่งที่ลอกทอง เงิน และนาก ออกไปขายวางกอกทั้งไว้ ณ บริเวณพระเจดีย์ในตอนเช้า
พระเนื้อดินหลวงพ่อสุ่น วัดหนองปลาหมอ อยุธยา (องค์ที่ติดไม้เพดานโบสถ์วัดบางพรม) ของคุณทินกร กลั่นกลิ่น |
หลังจากที่หลวงพ่อรุ่ง และทางวัดบางพรหมทราบว่าเจดีย์วัดโดนแอบขุด จึงรีบดำเนินการติดตามเอาพระคืน แต่ก็จับมือใครดมไม่ได้ เพราะพวกโจรหลอมทอง หลอมเงิน และหลอมนาก เอาไปขายเสียหมดแล้ว
แต่ก็ยังมีพระบางส่วนที่ยังไม่ถูกโจรกรรมไป ทำให้สามารถสืบทราบได้ว่าพระที่บรรจุกรุนั้น เป็นพระบรุทอง บรุเงิน และบรุนาก
ส่วนพระที่โดนลอกเอาโลหะไป หลวงพ่อรุ่งจึงได้ร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่ทำการซ่อมแซมและบรรจุกลับคืนไปที่พระเจดีย์องค์เดิม แล้วทำการบูรณะพระเจดีย์ดังที่เห็นในปัจจุบัน
พระเนื้อดินพิมพ์เจ้าสัวหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม (องค์ที่ติดไม้เพดานโบสถ์วัดบางพรม) ของคุณทินกร กลั่นกลิ่น |
ต่อมาในราวปี พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๓๗ ทางวัดบางพรหมได้ทำการบูรณะโบสถ์ ในสมัยที่พระครูวิจิตรสมุทรคุณ หรือ หลวงพ่อแป้ว เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งถือเป็นการบูรณะโบสถ์ครั้งแรกหลังจากที่ผ่านเวลามาเนินนานจนทรุดโทรม
ในการบูรณะพระอุโบสถครั้งนั้น ทางวัดได้รับค้นพบพระพิมพ์ทายางไม้ติดไว้บนฝากระดานเพดานโบสถ์วัดบางพรม ซึ่งประกอบไปด้วย
๑. พระพิมพ์ที่ปัจจุบันคือพระเนื้อดินของหลวงพ่อสุ่น วัดหนองปลาหมอ อยุธยา
๒. พระพิมพ์หลวงพ่อเกษร วัดปากง่าม สมุทรสงคราม
๓. พระพิมพ์หน้ากระจังคล้ายพระของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
สมัยก่อนคนที่ได้รับพระมาจากวัดบางพรหม จึงเข้าใจผิดว่าเป็นพระของหลวงพ่อกลัด วัดบางพรม ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพราะพบพระพิมพ์ดังกล่าวทายางไม้ติดไว้บนฝากระดานเพดานโบสถ์วัดบางพรหม ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระอธิการกลัดเป็นเจ้าอาวาส
|
โดยพระที่ติดที่แผ่นไม้กระดานที่พบนั้นมีจำนวนไม่ถือว่ามาก แต่พระครูวิจิตรสมุทรคุณ (แป้ว) เจ้าอาวาสปกครองวัดสมัยนั้น ท่านก็ยังมีเมตตาแจกจ่ายให้กับช่างที่มาช่วยรื้อเพดานโบสถ์ และพระลูกวัดที่บวชอยู่ที่วัดนั้นไปตามสมควร
ส่วนพระที่เหลือทั้งหมดนั้น พระครูวิจิตรสมุทรคุณ (แป้ว) เจ้าอาวาสได้นำไปบรรจุไว้ที่ฐานพระพุทธมงคลพรหมรังษี พระประธานในพระอุโบสถจนหมดสิ้น
โดยผู้ที่ได้รับพระพิมพ์ในครั้งนั้นก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าเป็นพระของหลวงพ่อกลัด เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดบางพรหม
จนมาถึงปัจจุบันจึงสามารถสืบค้นได้ว่าพระพิมพ์ต่างๆที่พบนั้นไม่ใช่ของวัดบางพรหม แต่น่าจะถูกญาติโยมที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานำไปติดที่แผ่นไม้กระดานเพดานโบสถ์ของวัดบางพรมเพื่อเป็นพุทธบูชา
หรือไม่ก็เป็นพระที่หลวงพ่อกลัดได้รวบรวมไว้ แล้วนำไปติดไว้ที่เพดานโบสถ์ เพื่อเป็นพุทธบูชา ตามหลักความเชื่อของคนโบราณในสมัยนั้น.
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น