โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลพระปรากรมมุนี หรือ หลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติสมาคม ราชบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี
หลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติสมาคม ราชบุรี

         หลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ หรือ พระปรากรมมุนี (ธวัช ธมฺเมสโน ป.ธ.๗) อดีตเจ้าอาวาสวัดอมรญาติสมาคม เจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก ตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี

         ท่านมีนามเดิมว่า ธวัช ยิ่งยวด พื้นเพท่านเป็นชาวบบ้านตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖ โยมบิดาชื่อนายชม ยิ่งยวด โยมมารดาชื่อนางเหรียญ ยิ่งยวด มีเป็นชาวประมงทำโป๊ะ 

         ในสมัยเด็กท่านได้รับการศึกษาข้างต้น โดยนเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนประจำจังหวัดบำรุงวิทยา จังหวัดสมุทรสาคร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ) จนกระทั้งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลวงพ่อธวัช ท่านมีอายุได้ ๑๓ ปี ญาติผู้ใหญ่คือ ก๋งของท่านชอบพอกับหลวงพ่อติ้ว เจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ท่านมีสมณศักดิ์เป็นพระครูธรรมสุนทร 

         ก๋งได้พามาฝากให้บรรพชาเป็นสามเณร และได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดคูหาสวรรค์ ความที่ท่านเป็นผู้มีสติปัญญาดี

         ต่อมาหลวงพ่อธวัชท่านสามารถสอบนักธรรมชั้นตรี ได้ในปีแรกที่บวชเป็นสามเณร และสอบนักธรรมชั้นโทได้ในปีที่ ๒ เรียกว่าท่านสอบ นักธรรมได้ปีละ ๑ ชั้น 

         ที่วัดคูหาสวรรค์นี่เองที่ท่านได้เริ่มเรียนบาลีควบคู่ไปกับการเรียนปริยัติธรรมด้วย ด้วยหลวงพ่อติ้วผู้เป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้นท่านได้ส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาในสมัยนั้นมาก มีเยาวชนมาบรรพชาเป็นสามเณร และศึกษาเล่าเรียนทั้งบาลีและปริยัติธรรม

         ครั้นเมื่อหลวงพ่อติ้ว มรณภาพ การศึกษาเล่าเรียนได้หยุดชะงักลง สามเณรเหล่านั้นขาดที่พึ่ง ต่างพากันไปศึกษาเล่าเรียนที่อื่น

         ปี พ.ศ.๒๔๗๕ สามเณรธวัช ยิ่งยวด พร้อมด้วยเพื่อนๆสามเณรอื่น ได้พากันไปศึกษาที่วัดสัตนารถปริวัตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

         เนื่องจากที่วัดสัตนารถปริวัตรเป็นนิกายธรรมยุต สามเณรที่มาจากวัดมหานิกาย หากจะจำพรรษา ณ ที่วัดแห่งนี้ต้องทำพิธีบรรพชาตามแบบธรรมยุตใหม่ก่อน จึงจะอยู่จำพรรษาที่นี้ได้ ด้วยเหตุนี้สามเณรธวัชจึงต้องกระทำพิธีบรรพชาใหม่อีกครั้งหนึ่ง 

         และศึกษาเล่าเรียนบาลีอยู่ได้ประมาณ ๑ ปี เนื่องจากสามเณรธวัช  ยิ่งยวด เป็นผู้มีความตั้งใจ ศึกษาเล่าเรียนมาก เมื่อไปอยู่ที่วัดสัตนารถปริวัตรใหม่ๆ การศึกษาเล่าเรียนก็เป็นไปด้วยดี 

         ต่อมาระยะหลังๆ ครูผู้สอนย่อหย่อนไปมากจึงคิดเดินทางไปศึกษาที่กรุงเทพมหานคร ไปอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และได้เรียนบาลีที่วัดนี้ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านสอบได้ ป.ธ.๓ และ น.ธ.เอก 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านสอบได้ ป.ธ.๔

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงพ่อธวัชท่านมีอายุครบ ๒๑ ปีย่าง ๒๒ ปี ญาติทางบ้านเกิดตำบลท่าฉลอม ได้มารับสามเณรธวัช ยิ่งยวด จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ไปทำการอุปสมบทที่วัดช่องลม ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้ฉายาว่า "ธมฺเมสโน" โดยมี

         สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระวินัยธรบัว วัดกลางอ่างแก้ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทเสร็จ ท่านก็ไปอยู่จำพรรษาที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระบาลีตามเดิม

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านสอบได้ ป.ธ.๕

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหลักหกรัตนาราม ช่วยเหลือหลวงพ่อเถ่ง ผู้เคยมีอุปการะมาก่อน โดยท่านรับหน้าที่สอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ย้ายเข้าไปวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร อีกครั้งเพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อ

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ย้ายไปอยู่วัดแหลมสุวรรณาราม จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อหลับภัยสงครามโลก ครั้งที่ ๒ และได้ช่วยสอนพระปริยัติธรรมอยู่ประมาณ ๑ ปี

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้ย้ายไปอยู่วัดดอนมะโนรา จังหวัดสมุทรสงคราม เนื่องจากมีญาติหลายคนที่วัดนี้ได้ไปขอร้องให้ไปอยู่ และช่วยสอนพระปริยัติธรรม ปัจจุบันญาติทางวัดดอนมะโนรานี้ยังไปหาสู่หลวงพ่ออยู่เสมอ

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ได้ย้ายกลับมาอยู่วัดหลักหกรัตนารามอีกครั้ง ด้วยเหตุที่หลวงพ่อเถ่ง เจ้าอาวาสวัดหลักหกรัตนาราม ผู้เคยมีอุประการะที่ครั้งหนึ่งเคยนำไปฝากที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 

          ท่านได้ไปร้องเรียนต่อพระพิมลธรรม (อาจ) ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อมหาธวัช ขอให้เรียกพระมหาธวัชกลับไปช่วยงานพระศาสนาที่วัดหลักหกรัตนารามด้วย 

         พระมหาธวัชนั้นเป็นผู้มั่นคงในความกตัญญูยิ่งนัก แม้ในใจจะไม่อยากอยู่วัดหลักหกรัตนาราม แต่ด้วยสำนึกในบุญคุณ จึงจำใจมาอยู่ตามคำแนะนำของอาจารย์ การมาอยู่ที่วัดหลักหกรัตนาราม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ครั้งหลังนี้เป็นการอยู่ที่ยาวนาน

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ สอบได้ ป.ธ.๗

         การดำรงตำแหน่งพระคณาธิการนั้น เนื่องจากในต่างจังหวัด พระมหาเปรียญประโยคสูง ถึง ป.ธ.๗ นั้น หาได้ยากท่านจึงได้การพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆดังนี้

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสงฆ์ในหน้าที่ศึกษาธิการอำเภอดำเนินสะดวก

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก เนื่องจากในขณะนั้นเจ้าคุณธรรมวิรัติสุนทร(เชย) เจ้าอาวาสวัดโชติทายการาม ซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก ท่านอาพาธ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ 

         ผู้มีความรู้สูงที่สุดของอำเภอนี้ได้แก่ พระมหาธวัช ธมฺเมสโน จึงได้รับแต่งตั้งให้รักษาการก่อน การอยู่ที่วัดหลักหกนั้น ได้รับความลำบากมาก หลวงพ่อเถ่งที่เป็นผู้ขอท่านมาช่วยมาลาสิกขาไปก่อนแล้ว แต่ด้วยความหนักแน่นมั่นมั่นคงในความกตัญญูท่านก็อดทนอยู่ 

         การที่ท่านมีหน้าที่รักษาการเจ้าคณะอำเภอท่านได้หมั่นออกตรวจเยี่ยมเยือนวัดต่างๆอยู่เสมอ จึงมีโอกาสรู้จักกับพระครูอดุลสารธรรม (หลวงพ่อเฟื่อง ธมฺมปาโล) เจ้าอาวาสวัดอมรญาติสมาคม เจ้าคณะตำบลท่านัด

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวกแทน พระธรรมวิรัตสุนทร เจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก เจ้าอาวาสวัดโชติทายการาม ที่มรณภาพ ซึ่งขณะนั้น พระมหาธวัช ยังเป็นพระลูกวัด จำพรรษาอยู่ที่วัดหลักหกรัตนาราม

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พระมหาธวัช ธมฺเมสโน ได้เดินทางไปปฏิบัติธรรมกรรมฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยได้ขออาจารย์ผู้ฝึกสอนกรรมฐานมาจากประเทศพม่า ที่มีความเชี่ยวชาญทางนี้ 

         ท่านมีชื่อว่า พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภะเถระ ในระหว่างที่พระมหาธวัช ธมฺเมสโน กำลังฝึกกรรมฐานอยู่นั้น หลวงพ่อเฟื่องได้ใช้ให้พระถือหนังสือจดหมายไปส่งให้ ในใจความจดหมายฉบับนั้นสรุปได้ใจความว่า "ขอให้ท่านเจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก รับภาระเรื่องสร้างอุโบสถวัดอมรญาติสมาคมด้วย ด้วยลำพังแต่หลวงพ่อเฟื่องนั้นชราภาพมากแล้ว" 

         โดยปกติของท่าน พระมหาธวัช ธมฺเมสโน ปัจจุบันนี้ หากท่านจับทำอะไรท่านจะทำอย่างเอาจริงเอาจัง ท่านจึงตอบไปกับผู้ถือหนังสือจดหมายนั้นว่า "ขณะนี้ฉันยังปฏิบัติธรรมอยู่ แล้วค่อยพูดกัน" ผู้ถือหนังสือจดหมายจึงเดินทางกลับ 

         ภายหลังต่อมา พระมหาธวัช ธมฺเมสโน ท่านได้เดินทางกลับมาปฏิบัติหน้าที่ ที่วัดหลักหกรัตนารามตามปกติแล้ว ทางวัดอมรญาติสมาคมได้มีการประชุมคณะกรรมการ เรื่องการสร้างอุโบสถ พร้อมทั้งได้อาราธนา พระมหาธวัช ธมฺเมสโน เจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก มาเป็นประธานในการประชุม 

         ขณะที่การประชุมยังดำเนินการอยู่ ก็ได้มีผู้มาแจ้งให้พักการประชุมก่อน เพราะหลวงพ่อเฟื่องอาพาธหนักอาการไม่ค่อยดี จึงยุติการประชุมไว้ และพากันมาพยาบาลหลวงพ่อเฟื่อง แต่ด้วยสังขารของหลวงพ่อเฟื่องนั้นชราภาพมากแล้ว 

          และท่านได้อาพาธมานาน ก็ได้ถึงกาลมรณภาพลงต่อหน้าพระมหาธวัช ธมฺเมสโน เจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก ในวันนั้นเอง (วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐) สิริอายุหลวงพ่อเฟื่องได้ ๘๐ ปี ๖๐ พรรษา

          ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ นายกิตติ ศรีวัฒนา ซึ่งเป็นอุปัฏฐากของวัดอมรญาติสมาคม ได้ไปอาราธนา พระมหาธวัช ธมฺเมสโน เจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก จากวัดหลักหกรัตนาราม ให้มาจำพรรษาที่วัดอมรญาติสมาคมเพื่อช่วยสร้างอุโบสถ 

         ท่านอุปัฏฐากได้พายเรือไปอ้อนวอนอยู่หลายครั้ง ในที่สุดพระมหาธวัช ธมฺเมสโน ก็รับอาราธนามาเพียงเพื่อช่วยสร้างอุโบสถเท่านั้น และไม่ได้พักอยู่ที่วัดอมรญาติสมาคม คงไปๆมาๆ อยู่ระหว่างวัดหลักหกรัตนารามกับวัดอมรญาติสมาคม เพื่อช่วยสร้างอุโบสถเท่านั้น 

         วันหนึ่งช่างก่อสร้างอุโบสถได้มาขอเบิกเงินประจำงวดของการก่อสร้างรากฐาน แต่ปรากฏว่าทางวัดอมรญาติสมาคมไม่มีเงินจ่าย 

         นอกจากนั้นยังไม่มีผู้รับผิดชอบอีกด้วย ในที่สุดพระมหาธวัชจึงได้ตัดสินใจว่า การไปๆมาๆ โดยจะไม่รับผิดชอบเต็มที่เช่นนี้คงไม่ดีแน่ จึงได้ย้ายมาจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดอมรญาติสมาคมเป็นรูปที่ ๓ เป็นหลักฐาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา 

ภาพถ่ายหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี
หลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติสมาคม ราชบุรี

         วัดอมรญาติสมาคม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองมอญในตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี

         วัดอมรญาติสมาคมตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เดิมชื่อว่า วัดมอญ เนื่องจากคนไทยเชื้อสายมอญเป็นผู้สร้าง โดยนายเกาะ เจริญทรัพย์ ที่เป็นเสมียนของบริษัทฝรั่ง ท่านได้ไม้สักจากกรุงเทพมหานครมาเป็นจำนวนมาก เพื่อปลูกบ้าน และยุ้งข้าว 

          จึงได้นำไม้ที่เหลือจำนวนหนึ่งมาสร้างวัด ครั้งแรกได้สร้างกุฏิ ๑ หลัง อุโบสถสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังยกเว้นหลังคาซึ่งมุงด้วยสังกะสี อุโบสถหลังดังกล่าวยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ 

         เมื่อสร้างวัดเสร็จจึงได้อาราธนาหลวงพ่อน้อย จากวัดคงคาราม ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก 

         หลวงพ่อน้อยพัฒนาวัดนี้เรื่อยมา โดยสร้างเสาหงส์คู่ไว้หน้าวัด เจดีย์แบบชเวดากองแต่สร้างไม่เสร็จ ปัจจุบันยังปรากฏรากฐานเจดีย์

         หลวงพ่อเฟื่อง ธมฺมปาโล เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ มีการก่อสร้างกุฏิเพิ่มขึ้นอีก พร้อมทั้งศาลาการเปรียญขนาดใหญ่ และโรงเรียนประชาบาลอมรวิทยาคาร แบบเรือนไม้ ๒ ชั้น ๙ ห้องเรียน พร้อมทั้งได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดอมรญาติสมาคม" เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ 

         ได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ปูด้วยหินอ่อน ประตูหน้าต่างฝังมุก ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อพระศรีโสพิศ พระพุทธรูปสมัยอยุธยา เนื้อศิลาแลง วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้

         ๑. หลวงพ่อน้อย

         ๒. พระครูอดุลสารธรรม (เฟื่อง)

         ๓. พระปรากรมมุนี (ธวัช ธมฺเมสโน ป.ธ.๗)

         ๔. พระครูอมรวิสุทธาภรณ์ (มงคล) สิริธมฺโม

         หลังจากที่หลวงพ่อธวัช ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้รับผิดชอบดูแลรักษา พัฒนาก่อสร้าง บูรณปฏิสังขรณ์วัดอมรญาติสมาคม ตั้งแต่บัดนั้นมา 

         การเป็นเจ้าอาวาสวัดอมรญาติสมาคมในระยะแรกๆนั้น พระมหาธวัช ต้องพบกับอุปสรรคต่างๆ สุดแสนจะพรรณนา แต่พระมหาธวัช เป็นนักสู่ที่ทรหดที่สุด ท่านทุ่มชีวิตและจิตใจให้กับวัดนี้มาก โดยเฉพาะการศึกษา และการก่อสร้างศาสนสถาน 

         เดิมวัดอมรญาติสมาคมนี้หันหน้าวัดไปทางคลองมอญ ต่อมาได้มีถนนสายสมุทรสงคราม-บางแพ ตัดผ่านด้านหลังวัด หลวงพ่อธวัชก็วางแผนผังกลับหันวัดไปทางถนน 

         ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่ง่ายนัก ต้องมีการรื้อถอนขนย้ายโดยพยายามใช้ของทุกชิ้นที่รื้อถอนมาให้มากที่สุด พระมหาธวัชเป็นผู้ละเอียดอ่อนและประหยัด ไม้ทุกชิ้นจะไม่ทิ้งเปล่าโดยไม่ใช้ประโยชน์เลย 

         หากจำเป็นจะต้องซื้อใหม่จะต้องซื้อในราคาที่ถูกและได้ของดีทนทานที่สุดด้วย จากความจริงจัง และจริงใจของท่าน การทำงานด้วยความยากลำบากเป็นเวลายาวนาน 

         ในที่สุดชาวบ้านก็ยอมรับพระมหาธวัช ว่าเป็นพระแท้ พระจริง พระนักพัฒนา และเริ่มมีความศรัทธาเลื่อมใส ร่วมมือในการก่อสร้าง ซึ่งการก่อสร้างของท่านเป็นลำดับดังนี้

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เริ่มก่อสร้างอุโบสถ ซึ่งมาแล้วเสร็จ จัดงานผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิต เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ สร้างห้องน้ำ – ห้องสุขา สำหรับพระภิกษุ-สามเณร จำนวน ๕ ห้อง

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ สร้างกุฏิสงฆ์ ด้านทิศเหนือ จำนวน ๑๕ ห้อง สร้างกุฏิสงฆ์ ด้านทิศใต้ จำนวน ๑๕ ห้อง สร้างกุฏิสงฆ์ ด้านทิศตะวันตก จำนวน ๙ ห้อง รวมทั้งหมด ๓๕ ห้อง

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ สร้างหอสวดมนต์ หอฉัน และสร้างหอหน้ารับแขก

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ สร้างถังเก็บน้ำฝนใต้กุฏิ จำนวน ๑๐ ถัง สร้างสะพานข้ามคลองระหว่างตำบลท่านัด และตำบลดอนกรวย ข้ามจะฝั่งกุฏิไปอุโบสถ

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ สร้างหอระฆัง หอกลอง เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กชานหน้ากุฏิ รอบหอสวดมนต์ และสร้างศาลาหน้าวัด

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ สร้างกำแพงรอบกุฏิและซุ้มหน้า

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ สร้างโรงเรียนประถมศึกษา ตึกแบบทรงไทย ๒ ชั้น

         ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ สร้างเขื่อนรอบวัด

         ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กจากถนนสายสมุทรสงคราม-บางแพ เข้าวัด

         ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ สร้างศาลาการเปรียญ สร้างห้องน้ำห้องสุขา ข้างศาลาการเปรียญ

         ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตึกแบบทรงไทย จำนวน ๕ ห้องเรียน

         ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ สร้างศาลาฌาปนสถาน

         ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตึกแบบทรงไทย จำนวน ๕ ห้องเรียน เพิ่มอีก ๑ หลัง

         ด้วยคุณงามความดีของพระมหาธวัช ธมฺเมสโน เจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก เจ้าอาวาสวัดอมรญาติสมาคม ท่านจึงได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ (เจ้าคุณ) ในราชทินนามที่ พระปรากรมมุนี เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ในปีเดียวกัน

         หลวงพ่อธวัชปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงที่โรงพยาบาลดำเนินสะดวก เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑ นับรวมสิริอายุได้ ๙๖ ปี ๗๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติสมาคม

         เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติสมาคม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เพื่อแจกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี รุ่นแรก 2511 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี รุ่นแรก 2511 ทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองแดงรมดำ

           ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อธวัชครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระปรากรมมุนี(ธวัช ธมฺมสโน) วัดอมรญาติสมาคม จ.ราชบุรี" 

           ด้านหลัง ตรงกลางมีรูปพัดยศ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานฉลองสัญญาบัตรสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ๑๒ ธ.ค. ๒๕๑๑"

         เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติสมาคม รุ่นงานผูกพัทธสีมา

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมาของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี รุ่น3 หลวงพ่อ 2515 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี รุ่นผูกพัทธสีมา ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้ออัลปาก้า

           ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อน้อย หลวงพ่อธวัช และหลวงพ่อเฟือง ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อแต่ละรูปมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อน้อย พระปรากรมมุนี พระครูอดุลสารธรรม" 

           ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "งานผูกพัทธสีมา วัดอมรญาติ ๑๓ ก.พ. ๑๕"

          เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติสมาคม รุ่นอายุ ๘๐ ปี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อแจกในคราวฉลองอายุครบ ๘๐ ปีของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่มีทั้งแบบมีหูในตัวและแบบไม่มีหูเหรียญ มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี รุ่น 80 ปี ทองคำ
เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี รุ่นอายุ ๘๐ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อทองคำ
เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี รุ่น 80 ปี เงิน
เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี รุ่นอายุ ๘๐ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี รุ่น 80 ปี ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อธวัช วัดอมรญาติ ราชบุรี รุ่นอายุ ๘๐ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อทองแดง

           ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อธวัชครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระปรากรมมุนี เจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี" 

           ด้านหลัง ตรงกลางมีรูปอักขระขอมตัว "นะ" และลายเซนต์ของหลวงพ่อ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการทำบุญอายุครบ ๘๐ ปี ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ วัดอมรญาติสมาคม"




โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

    ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

    ไม่มีความคิดเห็น

    ค้นหาบล็อกนี้