ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเจริญ (พระครูอุดมสาครธรรม ) วัดชีผ้าขาว สมุทรสาคร
หลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว สมุทรสาคร |
หลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว หรือ พระครูอุดมสาครธรรม อดีตเจ้าอาวาสวัดชีผ้าขาว (แภ่ยแม่งโกลน) ตำบลท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ท่านเป็นพระมหาเถระรามัญแห่งคลองสุนัขหอน ปราดเปรื่องในเรื่องงานช่างไม้ระดับชั้นครู แตกฉานในวิชาภาษารามัญเป็นอย่างดี
หลวงพ่อเจริญ ท่านมีนามเดิมว่าเจริญ พานทอง พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๒ ตำบลท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙ โยมบิดาชื่อนายสมบูรณ์ พานทอง โยมมารดาชื่อนางหรั่ง อ้นเย็น ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียว ๑๐ คน ครอบครัวท่านประกอบอาชีพค้าขาย
ในวัยเด็ก โยมบิดาและโยมมารดา ได้นำท่านไปฝากเป็นศิษย์เล่าเรียนอักขระวิชาอักษรสมัยในสำนักของหลวงปู่แก้ว วัดชีผ้าขาว
ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงพ่อเจริญมีอายุได้ ๑๑ ขวบ จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดชีผ้าขาว เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเส็ง โดยมี หลวงปู่แก้ว พุทธญาโณ วัดชีผ้าขาว เป็นพระอุปัชฌาย์
เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่างๆ ทั้งภาษาไทย ภาษามอญ และวิชาการคำนวณต่างๆ จากหลวงปู่แก้ว วัดชีผ้าขาว จนสามารถอ่านออกเขียนคล่องทั้งภาษาไทยและภาษามอญได้เป็นอย่างดี แต่ที่ท่านชอบมากที่สุดก็คือวิชา คณิตศาสตร์
ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลวงพ่อเจริญ ท่านมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ มีอายุครบเกณฑ์อุปสมบท ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ พัทธสีมาวัดชีผ้าขาว (แภ่ยแม่งโกลน) ตำบลท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล ซึ่งตรงกับวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้รับฉายาว่า "อุตฺตโม" โดยมี
พระครูธรรมสาคร(หลวงพ่อแก่น) วัดช่องลม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระมหาเข็ม (โชติปาโล) วัดป้อมวิเชียรโชติการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูพ่อ (ธมฺมิโก) วัดบางกระเจ้า เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ท่านก็ได้อยู่จำพรรษาที่วัดชีผ้าขาวเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และพระปริยัตธรรม จนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ในสำนักเรียนคณะจังหวัดสมุทรสาคร ตามลำดับ
หลวงพ่อแก้ว วัดชีผ้าขาว สมุทรสาคร พระอาจารย์ของหลวงพ่อเจริญ |
หลวงพ่อเจริญ ท่านยังเป็นพระที่คงแก่เรียน ชอบค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ ท่านจึงได้ร่ำเรียนวิชารามัญต่างๆจาก หลวงปู่แก้ว พุทธญาโณ วัดชีผ้าขาวจนแตกฉาน และท่านเดินทางไปร่ำเรียนวิชาการแขนงต่างๆจากพระอาจารย์รูปต่างทั้งในเขตจังหวัดสมุทรสาคร และใกล้เคียง
จนท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญในพระธรรมวินัย พระปริยัติธรรม วิปัสสนากรรมฐาน และมูลกัจจายะนะรามัญ เป็นอย่างดี อาทิเช่น ท่านได้ไปร่ำเรียนวิชาจากหลวงพ่อแก่น วัดช่องลม จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน
และยังไปฝากตัวเป็นศิษย์ร่ำเรียนวิชาจากหลวงปู่รอด พุทธสณฺโฑ วัดบางน้ำวน , หลวงพ่อมหาเข็ม โชติปาโล วัดป้อมวิเชียรโชติการาม , พระครูพ่อ ธมฺมิโก วัดบางกระเจ้า , หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม จังหวัดนครปฐม , หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม และอีกหลายรูป
อีกทั้งท่านยังเป็นพระครูผู้สอนวิชาการคำนวณ และภาษามอญ ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และท่านยังเป็นพระช่าง ที่มีความรู้ความสามารถในงานช่างไม้ และท่านยังสามารถออกแบบวางแผนงานก่อสร้างต่างๆได้อีกด้วย
หลวงพ่อเจริญ ท่านเป็นพระสงฆ์รามัญที่มีความสามารถหลายด้าน ท่านยังเป็นพระที่มีความรู้ความสามารถในการแสดงธรรมเทศนาแบบภาษารามัญ ที่มีลีลาการแสดงธรรมชั้นเลิศที่หาตัวจับยากมากในยุคนั้น ท่านจึงเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านวัดชีผ้าขาวเป็นอย่างมาก
ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ช่วงปลายปีพระอธิการแก้ว ได้ถึงแก่มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงให้หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดไปพลางๆก่อน จนกว่าจะหาพระภิกษุที่เหมาะสมได้
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลังจากที่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชีผ้าขาวได้ว่างลงเป็นระยะเวลา ๔ ปี คณะสงฆ์และชาวบ้านจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ นิมนต์ให้พระเจริญ อุตฺตโม เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดชีผ้าขาว
ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากที่หลวงพ่อเจริญ อุตฺตโม รักษาการเจ้าอาวาสได้ ๒ ปี ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดชีผ้าขาว ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
หลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว สมุทรสาคร |
วัดชีผ้าขาว เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร มีที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา
วัดชีผ้าขาว เดิมชื่อ วัดเพี่ยแม่งโกล้น เป็นภาษารามัญ แปลว่า "วัดมะขาม" สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๒๗๕ โดยชาวรามัญจากเมืองปทุมธานี (สามโคก) ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดชีผ้าขาว" เนื่องจากประวัติความเป็นมาเล่าว่ามีชีปะขาวเคยพักอาศัยอยู่ก่อน
วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๔ เมตร รายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้
๑. พระอธิการวอ พ.ศ. ๒๔๐๕ – ๒๔๑๐
๒. พระอธิการปู้ พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๒๓
๓. พระอธิการดี พ.ศ. ๒๔๒๔ – ๒๔๓๘
๔. พระอธิการฤทธิ์ พ.ศ. ๒๔๓๙ – ๒๔๔๑
๕. พระอธิการแก้ว พ.ศ. ๒๔๔๒ – ๒๔๖๙
๖. พระครูอุดมสาครธรรม (เจริญ) พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๕๑๙
๗. พระครูโกวิทธรรมสาคร พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๕๘
๘. พระครูปลัดพิเชษฐ์ (อคฺคธมฺโม) พ.ศ. ๒๕๕๙ - ปัจจุบัน
หลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว สมุทรสาคร |
หลังจากที่หลวงพ่อเจริญได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น พระอนุสาวนาจารย์
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระกรรมวาจาจารย์
ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านได้รับแต่งเป็น เจ้าคณะตำบลท่าฉลอม เขต ๒
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น พระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูสอนพระปริยัติธรรม
ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง
ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ท่านได้สร้างพระอุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้รับอุปการะโรงเรียนวัดชีผ้าขาว และสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอน และจากคุณงามความดีของหลวงพ่อเจริญ ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี ที่ "พระครูอุดมสาครธรรม" เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔
หลวงพ่อเจริญ ท่านเป็นพระเถระที่มีจริยวัตรอันงดงามน่าเลื่อมใส ท่านเป็นพระที่มีบุคลิกภาพที่เรียบร้อย สุภาพอ่อนโยน เจรจาไพเราะ เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและกฎระเบียบข้อบังคับของคณะสงฆ์ ท่านเอาใจใส่ในกิจการงานปกครองคณะสงฆ์เป็นอย่างดีเสมอมา
และท่านยังเป็นพระเถราจารย์ที่มีวิทยาคมขั้นสูงอีกรูปหนึ่งของเมืองสมุทรสาคร ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่างด้วยกัน อาทิเช่น เหรียญรูปเหมือนตัวท่าน,รูปถ่าย,ผ้ายันต์,ตะกรุด,รูปหล่อเหมือนตัวท่าน.แหนบ เป็นต้น ท่านจึงเป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมชาววัดชีผ้าขาว และลูกศิษย์ลูกหาสายต่างๆมากมาย
หลวงพ่อเจริญ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ นับรวมสิริอายุได้ ๗๑ ปี ๕๐ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว สมุทรสาคร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเจริญครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูอุดมสาครธรรม (เจริญ)"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์ ๒๕๐๔"
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมาของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปกรงจักรแบบมีหูในตัว เหรียญรุ่นนี้ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อเต๋ คงทอง และหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ปลุกเสกให้อีกหนึ่งวาระ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว สมุทรสาคร รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดง |
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว สมุทรสาคร รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเจริญครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูอุดมสาครธรรม"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา วัดชีผ้าขาว"
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมาของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปกรงจักรตัดหูเชื่อมโลหะเป็นแหนบ รุ่นนี้ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อเต๋ คงทอง และหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ปลุกเสกให้อีกหนึ่งวาระ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงชุปนิกเกิ้ลเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
แหนบกรงจักรหลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว สมุทรสาคร ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดงชุบนิกเกิ้ล |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเจริญครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูอุดมสาครธรรม"
ด้านหลัง มีเหล็กแหนบเชื่อมที่ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา วัดชีผ้าขาว"
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว รุ่น ๓
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเจริญ วัดชีผ้าขาว สมุทรสาคร รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเจริญครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูอุดมสาครธรรม(เจริญ)"
ด้านหลัง มีเหล็กแหนบเชื่อมที่ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๕๑๘ วัดชีผ้าขาว ต.ท่าจีน จ.สมุทรสาคร"
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น