ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแย้ม วัดท้ายเมือง ราชบุรี
![]() |
หลวงพ่อแย้ม วัดท้ายเมือง ราชบุรี |
หลวงพ่อแย้ม วัดท้ายเมือง หรือ พระครูวิสุทธิสมณวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดท้ายเมือง ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
หลวงพ่อแย้ม ท่านมีนามเดิมว่าแย้ม จรูญเรือง พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านพงสวาย เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ หลวงพ่อแย้มมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดท้ายเมือง ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า "กนตฺสิโล" โดยมี
หลวงพ่ออุ่น อินฺทสาโร วัดท้ายเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดท้ายเมืองเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาอาคมต่างๆจากพระอาจารย์อุ่น
ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ พระอธิการอุ่นได้มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงยกให้หลวงพ่อแย้มรักษาการเจ้าอาวาสวัด
ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ หลังจากที่หลวงพ่อแย้มรักษาการเจ้าอาวาสวัดได้ ๑ ปี ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดท้ายเมือง ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดท้ายเมือง เป็นวันราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๙ หมู่ที่ ๒ ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๒ งาน ๓ วา
วัดท้ายเมือง สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๓ สันนิษฐานว่า เพราะในอดีตมีการย้ายเมืองราชบุรีจากตำบลคูบัว มาอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง และมีการสร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ซึ่งฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำแม่กลองทิศที่ศาลหลักเมืองหันไปนั้น เมื่อมองไปจะเห็นสะพานรถไฟและเห็นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดมหาธาตุวรวิหารในปัจจุบัน)
จึงทำให้ที่ตั้งของวัดอยู่ในทิศตะวันตก คือด้านหลังศาลหลักเมือง ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดว่า "วัดท้ายเมือง" และเปรียบวัดพระศรีรัตนมหาธาตุว่าเป็นวัดหน้าเมือง
เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองใกล้กับวัด ถูกระเบิดพังลงจมอยู่ใต้แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงจมอยู่ที่เดิมนั่นเอง และเมื่อมีทหาร หรือชาวบ้านในแถบวัดต้องเสียชีวิตลงเนื่องจากเหตุสงครามก็จะนำศพเหล่านั้นมาฝังไว้ที่วัดท้ายเมืองมากมาย
วัดท้ายเมือง จากคำบอกเล่าต่อๆ กันมา ด้านหน้าวัดริมแม่น้ำแม่กลอง จะมีแนวหินหรืออิฐเรียงจากริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งวัด ทอดไปถึงฝั่งตรงข้าม มีลักษณะคล้ายฝายกั้นน้ำ ปัจจุบันยังมีชาวบ้านเชื่อว่าซากฝายยังมีให้เห็น
ในครั้งอดีตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เคยเสด็จพระราชทานพระกฐิน ณ วัดท้ายเมือง โดยมีความในจดหมายเหตุว่า ได้เสด็จพระราชดำเนินพระกฐินที่เมืองราชบุรี ดังปรากฏในเรื่อง ประกาศเสด็จพระราชดำเนินพระกฐินเมืองเขื่อนขันธ์และราชบุรี
ภายในวัดมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด
๑. พระพุทธชัยมงคล เป็นพระพุทธรูปศิลาแลง ปางมารวิชัย มีอายุ ๔๐๐ กว่าปี
๒. หลวงพ่อสัมฤทธิ์ เดิมเข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น แต่เมื่อคราวที่ถูกมิจฉาชีพขโมย แล้วหล่นจึงเอาไปไม่ได้ ปูนที่ฉาบองค์พระไว้กะเทาะออก จึงเห็นเป็นเนื้อสัมฤทธิ์
๓. หลวงพ่อพระศรีอาริย์ เป็นพระพุทธรูปที่จอมพลผิน ชุณหะวัณ สร้างถวายไว้ให้เป็นที่สักการบูชา (เมื่อประมาณก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เล็กน้อย)
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๓ องค์ประดิษฐาน ณ วิหารพระพุทธชัยมงคล
๔. รูปเหมือนลอยองค์พระครูวิสุทธิสมณวัตร (หลวงปู่แย้ม กนฺตสีโล) อดีตเจ้าอาวาส ประดิษฐานในวิหารหลังใหม่
วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ มีทำเนียบเจ้าอาวาสปกครองวัดตามที่ได้มีการจดบันทึกไว้มีดังนี้
๑. เจ้าอธิการอุ่น อินฺทสาโร พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๘๓
๒. พระครูวิสุทธิสมณวัตร (แย้ม กนฺตสีโล) พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๕๓๑
๓. พระปลัดอนันต์ ฌาณวฑฺฒโน พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๙
๔. พระครูสังฆรักษ์สงัด ธมฺมโชโต พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๗
๕. พระครูสมุห์มงคล สิริมงฺคโล (นามเดิม มงคล ทองเจริญ) พ.ศ. ๒๕๔๘ - ปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อแย้มได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ทำการพัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูวิสุทธิสมณวัตร
หลวงพ่อแย้ม ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ นับรวมสิริได้ ๗๕ ปี ๕๔ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อแย้ม วัดท้ายเมือง
เหรียญหลวงพ่อแย้ม วัดท้ายเมือง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อแย้ม วัดท้ายเมือง ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อแย้ม วัดท้ายเมือง ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้ออัลปาก้ากระไหล่เงิน ของคุณภัทรเมท ธรรมกิจวัฒน์ |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อแย้มครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิสุทธิสมณวัตร"
เหรียญหลวงพ่อแย้ม วัดท้ายเมือง รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อแจกในงานทำบุญอายุครบ ๖๐ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อแย้ม วัดท้ายเมือง ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อแย้มครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิสุทธิสมณวัตร วัดท้ายเมือง ราชบุรี"
เหรียญหลวงพ่อแย้ม วัดท้ายเมือง รุ่น ๓
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เพื่อแจกในงานทำบุญอายุครบ ๗๒ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อแย้ม วัดท้ายเมือง ราชบุรี รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อแย้มครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิสุทธิสมณวัตร (หลวงพ่อแย้ม)"
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น